เทคโนโลยีที่เราใช้กันในรถยนต์ จริงๆแล้วมีต้นกำเนิดมาช้านานจนบางครั้งก็ไม่น่าเชื่อว่าคิดได้นานมากๆแล้ว และพัฒนาเรื่อยมา บางอย่างก็สูญพันธ์ไปแล้วบางอย่างก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น มีเทคโนโลยีอะไรบ้างตามไปดูกันเลย
ถ้าสีขาวตรงข้ามกับสีดำ แล้ววิทยาศาสตร์จะตรงข้ามกับอะไร เคยมีการคิดเล่นๆในการ์ตูนว่าตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์ก็คือเวทมนต์นั่นเอง เพราะไม่ต้องใช้เหตุใช้ผลอะไร แค่ร่ายเวทย์ก็ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือเวทมนต์สุดท้ายสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้คือวิทยาศาสตร์ทำให้โลกเราเจริญก้าวหน้า ช่วยให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะสาขาไหน แขนงไหน แทบจะทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ก็ล้วนมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
เทคโนโลยีหลายๆอย่างในปัจจุบันที่เราเห็นๆกันนี่ก็มีการพัฒนาและเริ่มคิดค้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตั้งนานแล้ว เรามาดูเทคโนโลยีในวงการรถยนต์กันครับว่าคิดกันมาครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร บางอันมันนานจนไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นก็คิดกันได้แล้วเหรอ
ปี 1929: นับว่าเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันแล้วสำหรับระบบ ABS ที่ย่อมาจาก Anti-lock brake system เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1929 โดยที่ตอนนั้นถูกนำไปใช้กับเครื่องบินก่อน เพราะถึงเครื่องบินจะบินบนฟ้าเป็นหลักแต่ยังไงก็ต้องลงจอดที่รันเวย์ ระบบเบรกตอนวิ่งบนรันเวย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามขณะนั้นประสิทธิภาพของระบบยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน มันจะทำงานได้ดีเฉพาะเบรกอย่างเรียบร้อยเป็นเส้นตรงเท่านั้น ในปี 1966 จึงถูกนำมาใช้ในวงการรถยนต์เป็นครั้งแรกในรถแบรนด์ Jensen รุ่น FF สัญชาติอังกฤษ ต่อมา Chrysler, Ford และ GM เห็นว่าระบบนี้เป็นประโยชน์มากในการเบรกจึงนำมาใช้เป็นระบบมาตรฐานของรถยนต์ในช่วงปี 1970 เป็นต้นมา
รถยนต์ Jensen FF ที่ถูกติดตั้งระบบ ABS เป็นรุ่นแรกของโลก
ปี 1931: ไม่ใช่เรื่องยากเลยในการที่จะรู้ว่าการมีไฟหน้ารถยนต์ที่สามารถหันไปตามทิศทางที่รถเลี้ยวได้นั้นแสนจะเป็นประโยชน์ นั่นทำให้ในปี 1931 Cadillac ได้ติดตั้งระบบไฟหน้าที่หันเหตามทิศทางการเลี้ยวได้ (ปัจจุบันคือ Adaptive Front Light System) โดยติดไว้แถวกระจังหน้าและมันจะหันเหได้ตามการเลี้ยวของพวงมาลัย
ดูเพิ่มเติม
>> 5 ฟังก์ชั่นสุดล้ำของกุญแจรถที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้
>> รถยนต์คันแรกของโลกหน้าตาเป็นอย่างไร
หลอดไฟที่หันเหตามการหักพวงมาลัยติดไว้ที่กระจังหน้ารถยนต์
ปี 1946: โทรศัพท์ในรถยนต์เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แต่ในตอนนั้นมันยังมีคงมีหลักการทำงานคล้ายกลับวิทยุสื่อสารมากกว่าจะเป็นโทรศัพท์ แถมยังต้องโทรไปยังโอเปอเรเตอร์ก่อนถึงจะโอนไปยังบุคคลที่ต้องการโทรได้ และในช่วงนั้นนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับแบบไม่มีสมาธิ และแน่นอนว่ายังไม่มีบลูทูธหรือแฮนด์ฟรีใดๆทั้งสิ้น
โทรศัพท์ถูกนำไปใช้ในรถยนต์ตั้งแต่ปี 1946
ปี 1951: ค่าย GM ได้ผลิตรถยนต์คอนเซ็ปท์ขึ้นมาชื่อว่า General Motors Le Sabre โดยการออกแบบของ Harley Earl ที่มีกลิ่นอายการดีไซน์ของเครื่องบินและมีรูปลักษณ์แบบรถเปิดประทุน ส่วนเทคโนโลยีที่ฮือฮา(แล้ว)ในตอนนั้นก็เกี่ยวกับประทุนนี่เอง เพราะมันจะปิดเองอัตโนมัติเมื่อรู้ว่ามีฝนตก แถมที่ปัดน้ำฝนก็เป็นแบบอัตโนมัติด้วยโดยจะทำงานเมื่อเซนเซอร์ตรวจจับความชื้นพบว่ามีความชื้นถึงค่าที่กำหนดและสรุปผลว่าความชื้นนั้นคือฝนตก
รถยนต์ General Motors Le Sabre ที่ติดตั้งระบบที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติเป็นรุ่นแรก
ปี 1966: Ford ได้ติดตั้งระบบ Cruise Control เพื่อจุดประสงค์หลักคือวิ่งบนทางด่วนโดยติดตั้งสวิทช์ควบคุมระบบ Cruise Control ลงบนพวงมาลัยเป็นครั้งแรกเพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนความเร็วขณะขับขี่ ระบบ Cruise Control จะถูกปิดเมื่อผู้ขับขี่เหยียบเบรก และในตอนนั้นใช้เพียงมอเตอร์ สายพานโซ่ สายไฟ และปั๊มเซนเซอร์โดยที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย รถรุ่นที่ถูกติดตั้งระบบนี้ครั้งแรกคือรถยนต์ Ford Thunderbird ซึ่งรุ่นแรกออกมาตั้งแต่ปี 1954 แต่กว่าจะได้ติดตั้งก็ปี1966 และยังคงผลิตออกมาถึง 11รุ่นถึงปี2005 ทุกวันนี้รถรุ่นนี้กลายเป็นรถกลุ่มตลาดรถหรูส่วนตัวย้อนยุคไปแล้ว
รถยนต์ Ford Thunderbird ที่ติดตั้งระบบ Cruise Control เป็นครั้งแรก
ปี 1972: Volvo รุ่น VESC ที่ย่อมาจาก Volvo Experimental Safety Car มีการติดตั้งกล้องมองหลังที่ด้านหลังระหว่างไฟท้ายทั้งสองข้าง และขนาดก็ดูใหญ่มากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน รถยนต์คันนี้เป็นรถยนต์คอนเซ็ปท์ แต่ก็เพราะมันเป็นคอนเซ็ปท์จึงทำให้คอนเซ็ปท์เรื่องกล้องมองหลังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันในด้านความปลอดภัยขณะถอยหลัง
รถยนต์ VESC ของ Volvo
กล้องมองหลังขนาดใหญ่ที่ติดอยู่ตรงกลางด้านหลังรถยนต์ VESC
ภาพจากกล้องจะมาแสดงผลที่หน้าจอบริเวณคอนโซลรถยนต์
ปี 1976: สมัยนั้นยังไม่มีระบบปฏิบัติการวินโดวส์ด้วยซ้ำ แต่ค่ายรถยนต์ Aston Martinได้นำเสนอการแสดงผลแบบดิจิตอลของความเร็วรถและมาตรวัดต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นฟังก์ชั่นแบบนี้บ่งบอกถึงความเป็นรถหรูแบบสุดๆ มันถูกติดตั้งลงในรถยนต์ Aston Martin Lagonda ก่อนเป็นครั้งแรก ตามต่อด้วยค่าย Cadillac ปัจจุบันระบบนี้สุดแสนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อก่อนในตอนนั้นเป็นแค่จอเขียวๆแล้วแสดงผลแบบดิจิตอลได้ ผู้คนก็ร้อง "ว้าว" แล้ว
รถยนต์ Aston Martin Lagonda ที่ติดตั้งจอแสดงผลแบบดิจิตอลเป็นครั้งแรก
ปี 1982: Datsun ได้ผลิตรถยนต์ที่มีเสียงเตือนเป็นเสียงคนพูดได้เป็นครั้งแรก ขนาดรถผมปัจจุบันยังทำแบบนี้ไม่ได้เลย อย่างเช่นถ้าคุณลืมรัดเข็มขัดนิรภัย ปัจจุบันก็จะเป็นรูปไอคอนเตือนที่หน้าจอ หรือเป็นเสียงปี๊บๆเตือน ถ้าคุณลืมปิดไฟหน้ารถ รถก็อาจจะส่งเสียงตี๊ดๆยาว ในขณะที่รถ Datsun 810 Maxima จะเป็นเสียงเตือนที่ได้จะเป็นเสียงพูดของผู้หญิงถูกบันทึกไว้ก่อน แล้วจะเล่นเมื่อเราลืมรัดเข็มขัดหรือลืมปิดไฟ แต่แบบนี้คนไทยอาจจะไม่ชินก็ได้ บางทีอาจจะรู้สึกหลอนมากกว่าด้วยซ้ำ โชคยังดีนะที่มันมีสวิทช์ปิด
รถยนต์ Datsun 810 Maxima ที่มีเสียงเตือนแบบคนพูด
ปี 1985: บริษัท GM ได้ร่วมมือกับบริษัท Etak พัฒนาระบบนำทางในรถยนต์ขึ้นมาสำหรับใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น (ในตอนนั้น) มันเป็นระบบการทำงานของไมโครโพรเซสเซอร์แบบ 16bit ที่ต้องอ่านข้อมูลแผนที่ออกมาจากเทปคาสเซ็ทอีกที แล้วแสดงผลออกมาที่จอขนาด 4.5นิ้วที่ยังเป็นโมโนโครม คือมีพื้นหลังสีดำและตัวอักษรหรือเส้นเป็นสีเขียว พร้อมกันนั้นยังมีเข็มทิศแบบอิเล็กทรอนิกส์กับเซนเซอร์จับการเคลื่อนที่เพื่อที่จะดูว่ารถยนต์เคลื่อนที่ไปทางไหน โดยที่ยังไม่มีการใช้สัญญาณดาวเทียมมาเกี่ยวข้องเลย นับว่าเป็นสุดยอดความคิดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ที่ต้องการทำระบบนำทางโดยไม่ใช้สัญญาณดาวเทียม
ระบบนำทางในปี 1985
เทปคาสเซ็ทที่ใช้บันทึกข้อมูลแผนที่
ปี1986: ระบบ Procon-ten มีชื่อเต็มๆว่า "programmed contraction-tension" ถึงจะมีคำว่าโปรแกรม แต่มันไม่ได้มีคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมอะไรมาเกี่ยวข้องเลย ถูกนำเสนอโดยค่ายรถยนต์ Audi ชื่ออาจจะฟังดูแปลก ระบบนี้มีหลักการคร่าวๆคือ เมื่อรถเกิดการชนจากด้านหน้า ระบบจะดึงพวงมาลัยให้หนีออกจากบริเวณผู้ขับเพื่อทำให้มีที่เหลือว่างมากขึ้นระหว่างคนขับกับชิ้นส่วนต่งๆที่อยู่ด้านหน้า (ผู้ขับจะได้ไม่โดนกระแทก) และเครื่องยนต์ที่โดนชนก็จะคอยซับแรงให้ระดับหนึ่งด้วย พร้อมกันนั้นเข็มขัดนิรภัยก็จะรัดให้แน่นขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ขับไถลตัวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามระบบนี้ได้สูญพันธ์ไปแล้วตั้งแต่ปี 1994 เพราะมีพระเอกขี่ม้าขาวคนใหม่เข้ามาแทนที่คือ Air Bag ถุงลมนิรภัยนั่นเอง ถ้าลองเทียบๆดูแล้วผมเองก็คิดว่าถุงลมน่าจะปลอดภัยกว่า เพราะระบบProcon-tenต่อให้ทำให้มีที่ว่างเหลือระหว่างเครื่องยนต์กับคนขับยังไงถ้าเกิดการชนขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมารองรับอยู่ดี
ภาพตัวอย่างโครงสร้างของระบบ Procon-ten ในรถยนต์ Audi
ปี 1988: Head Up Display (HUD) ระบบการแสดงผลที่แสดงที่กระจกบังลมหน้า ที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็พัฒนากันมาเป็นสิบปี บริษัท General Motors เป็นบริษัทแรกที่นำระบบนี้มาใช้ในปี 1988 ในรถยนต์ Oldsmobile Cutlass Supreme ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ขับไม่จำเป็นต้องละสายตาจากถนน แต่ในความจริงก็แล้วแต่คนขับด้วยว่าถนัดแบบไหน บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันขัดตายิ่งกว่าเดิมแถมทำให้ไม่มีสมาธิเข้าไปอีก
รถยนต์ Oldsmobile Cutlass Supreme ที่ติดตั้งระบบ HUD เป็นครั้งแรก
ระบบ HUD แสดงผลให้ผู้ขับเห็นทีกระจกบังลมหน้า
เป็นอย่างไรกันบ้างครับเพื่อนๆชาว Chobrod มีอันไหนที่รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อไหมครับ ผมเองพอเห็นช่วงเวลาที่ระบุแล้วก็รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อว่าคิดกันมาได้ตั้งแต่เป็นสิบๆปีที่แล้ว ปัจจุบันก็คงเช่นกัน มีเทคโนโลยีเกิดใหม่แล้วแต่ยังไม่ออกสู่ตลาด ทดลองกันอยู่ในห้องแล็บ พวกเราเองก็เลยยังไม่เห็น ต้องรอวันหนึ่งวันที่มันจะทำประโยชน์ได้ชัดและทั่วโลกก็ยอมรับและทำกำไรได้ เราต้องได้เห็นอะไรใหม่ๆอีกแน่นอนครับ
ดูเพิ่มเติม
>> ซุ่มเงียบ! Apple พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ให้บริษัทในจีน
>> Apple อัพเดท feature ใหม่สำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ใน IOS11
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ติดตามราคารถยนต์ เชิญที่นี่