รถยนต์คันแรกของโลกหน้าตาเป็นอย่างไร

ประสบการณ์ใช้รถ | 25 ก.ค 2561
แชร์ 7

การจะตอบคำถาม ต่อข้อถามที่ว่า รถยนต์คันแรกของโลกหน้าตาเป็นอย่างไร มันก็อยู่ที่เราจะนิยามว่า “รถยนต์” คืออะไร เพราะหากไม่นิยามให้ชัดเจนแล้ว คำตอบก็อาจจะไม่เหมือนกัน แล้วนิยามรถยนต์ที่นักประวัติศาสตร์ใช้กันมันคืออะไร

เป็นที่ถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้แล้วในบรรดานักประวัติศาสตร์ว่ารถยนต์คันแรกคือคันไหน เมื่อรู้ว่าคันไหนก็จะรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร ซึ่งบังเอิญเรื่องราวต่างๆในประวัติศาสตร์และการใช้ชีวิตของมนุษย์ตราบอดีตจนปัจจุบัน มาจบลงตรงที่ว่ารถยนต์ที่มนุษย์ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดคือรถที่ใช้เชื้อเพลงเผาไหม้ภายในเป็นน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล คนที่สร้างรถยนต์คันแรกของโลกที่ใช้การเผาไหม้แบบเดียวกันนี้จึงกลายเป็นผู้ประดิษฐ์รถยนต์คันแรกโดยปริยาย (ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นก็มียานพาหนะคล้ายๆรถแต่ไม่ได้เผาไหม้ภายในด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง)

คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ ผู้ประดิษฐ์รถยนต์คันแรกของโลก

คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ ผู้ประดิษฐ์รถยนต์คันแรกของโลก

รถยนต์คันแรกของโลกที่ใช้การเผาไหม้ภายในจากเชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมัน ถูกคิดค้นและจดสิทธิบัตรขึ้นจากผู้ที่มีนามว่า คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ เป็นวิศวกรชาวเยอรมัน ไม่บอกก็พอจะเดาได้ว่านายคนนี้ต้องชอบรถมากแน่ๆเพราะเขายังเป็นผู้คิดค้นคลัตช์, คาร์บูเรเตอร์, และหัวเทียนขึ้นมาอีกด้วย  โดยรถคันแรกนั้นได้ชื่อว่า เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน (Benz Patent-Motorwagen) และที่เห็นชื่อคุ้นๆแบบนี้ ใช่เลยครับ เป็นต้นกำเนิดของบริษัท Mercedes-Benz ในปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติม
>> 
รถแต่งงาน คุณค่าที่ควรคู่
>> หลักการทำงานของเครื่องยนต์ VTEC

รถยนต์คันแรกของโลก เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน

รถยนต์คันแรกของโลก เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน

รถยนต์คันแรกของโลกสเปคเป็นแบบไหน

ก่อนจะเป็นรูปเป็นร่างเหมือนรถยนต์ คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์2จังหวะขึ้นมาก่อนในปี ค.ศ.1873 ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นแค่เครื่องยนต์ยังไม่สามารถโดยสารได้ แต่หลังจากนั้นราว10กว่าปี เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน หรือที่มันถูกขนานว่าเป็นรถยนต์คันแรกของโลกนั้น ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ.1885-1886 เป็นรถสามล้อ โดยมี2ล้อหลัง และล้อหน้าตรงกลาง วางเครื่องยนต์ไว้ที่ด้านหลัง การเลี้ยวซ้ายขวายังไม่ได้ใช้พวงมาลัยกลมๆแบบปัจจุบัน แต่เป็นคันโยกที่มีกลไกลฟันเฟืองขับกันจนเกิดการเบี่ยงของล้อหน้า ล้อรถทำจากยาง ณ จุดนี้คงยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เรือนไมล์ วิทยุ หรืออะไรอีกเยอะแยะที่มีในปัจจุบัน เพราะขนาดหลังคาก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ

สิทธิบัตรที่คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ได้จดไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.1886

สิทธิบัตรที่คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ได้จดไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.1886

ขุมกำลังใช้กำลังขับเครื่องจากเครื่องยนต์ส่งผ่านเพลาที่มีโซ่คล้องไปยังล้อหลังทั้ง2ข้าง และด้วยการส่งผ่านกำลังแบบเรียบง่ายผ่านสายพานโซ่แบบนี้ทำให้รถคันนี้มีความเร็วเดียว และเนื่องจากเปรียบเสมือนมีเกียร์เดียวเรื่องการขับถอยหลังก็ไม่ต้องพูดถึง เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์1สูบแบบ4จังหวะ ขนาด 954ซีซี น้ำหนักเครื่องยนต์รวมประมาณ 100กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งสร้างขุมกำลังได้ 500วัตต์ หรือประมาณ0.6แรงม้า ที่ความเร็วเครื่องยนต์250รอบต่อนาที แม้จะยังไม่ถึง1แรงม้า แต่เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ประดิษฐ์ กำลังของเครื่องถูกกล่าวไว้เป็นประโยคอันไพเราะที่ว่า “แค่เพียงแรงม้าเดียวแต่ก็ขับเคลื่อนคนทั้งโลก” และจากวันนั้นจนวันนี้การทำงานของลูกสูบในตอนนั้นก็มีหลักการทำงานพื้นฐานที่คล้ายคลึงกับลูกสูบในปัจจุบันคือมีกระเดื่องวาล์วควบคุมการเปิดปิดลิ้นไอดีไอเสีย

 ความสำเร็จไม่หยุดแค่นั้น

หลังจากสร้างรถยนต์คันแรกพร้อมจดสิทธิบัตรเรียบร้อย รถรุ่นต่อไปก็ตามออกมาราวกับเกมฟุตบอลที่ประตูแรกได้ สกอร์ก็เริ่มไหล ทำให้เกิดรถยนต์รุ่นที่2ที่มีชื่อว่า เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน หมายเลข2 เล่นง่ายๆแบบนี้เลยโดยการเติมคำว่า หมายเลข2 ลงไป ซึ่งเวอร์ชั่นนี้เน้นอัพเกรดสเปคหลักที่เครื่องยนต์ขึ้นมาอีกโดยให้กำลังเครื่องยนต์ 1.1กิโลวัตต์ หรือประมาณ1แรงม้าครึ่ง ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุดประมาณ 16กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรูปร่างหน้าตายังละม้ายคล้ายรุ่นที่1

เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกินหมายเลข2

เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกินหมายเลข2

เมียดีเป็นศรีแก่ตัว

ความสำเร็จของ คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ อาจจะไม่เป็นเหมือนทุกวันนี้ หากเขาขาดตัวละครสำคัญ นั่นคือ ภรรยาของเขา “เบอร์ธา เบนซ์” เพราะว่าเธอเป็นผู้ที่จดสิทธิบัตรของ เบนซ์พาเทนท์-มอทอร์วาเกิน หมายเลข3 ซึ่งก็คือรถรุ่นที่3 แถมยังเริ่มตระหนักได้ว่า เอ๊ะ ถ้ารถทำออกมาได้ขนาดนี้ มันต้องขายได้แน่ๆ มันต้องมีคนอยากได้ อยากซื้อมันแน่ๆ (ทุกวันนี้บนท้องถนนก็พิสูจน์ให้เรารู้แล้วว่าที่เธอคิดเป็นเรื่องจริง) เธอจึงวางแผน ประกาศให้โลกรู้โดยการเดินทางด้วยรถคันนี้จากเมืองมันไฮม์ ไปสิ้นสุดที่เมืองฟอทซ์ไฮม์ในประเทศเยอรมนี ในช่วงเดือนสิงหาคม ปีค.ศ.1888 เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 194 กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น เพราะในยุคที่รถยนต์มีไม่กี่คันแต่เดินทางไปเป็นระยะทางยาวๆได้ถึงเกือบ200กิโลเมตร โดยที่ไม่มีแอร์ ไม่มีหลังคา ไม่มีเครื่องเสียง นับเป็นการเดินทางระยะไกลครั้งแรกของโลกด้วยรถยนต์

เบอร์ธา เบนซ์ (รูปซ้าย) ผู้สร้างเส้นทางสายประวัติศาสตร์และเป็นภรรยาของคาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ (รูปขวา)

เบอร์ธา เบนซ์ (รูปซ้าย) ผู้สร้างเส้นทางสายประวัติศาสตร์และเป็นภรรยาของคาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ (รูปขวา)

เมื่อความสำเร็จแห่งประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ในปีค.ศ.2008 เส้นทางการเดินทางของ เบอร์ธา เบนซ์ ในครั้งนั้นถูกยกให้เป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยได้ชื่อว่า เส้นทางรำลึกแห่งเบอร์ธา เบนซ์ และก็ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในมรดกทางอุตสาหกรรมของมวลมนุษยชาติอีกด้วย ทุกวันนี้เพื่อนๆก็สามาถรไปตามรอยทางประวัติศาสตร์ของรถยนต์แห่งนี้ได้ เพราะได้รับการบูรณะ ติดป้ายบอกทาง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

ความยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มจากสิ่งพื้นฐาน

เป็นเวลากว่าร้อยปีนับจากรถคันแรกจนถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีต่างๆก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชนิดที่เรียกว่าถ้า คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ ได้มีโอกาสเห็นรถยนต์ในปัจจุบัน ก็คงจะต้องตะลึงกับความแตกต่างของรถปัจจุบันนี้กับสิ่งที่เขาได้ทิ้งเอาไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง จากเครื่องยนต์2จังหวะ พัฒนาสู่รถยนต์เผาไหม้ภายใน1สูบที่มี3ล้อที่ดูยังไงก็หน้าตาคล้ายรถสามล้อถีบในปัจจุบัน เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีสี่ล้อเป็นพื้นฐานอย่างในปัจจุบัน ต่อไปอนาคตรถที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติก็คงจะเริ่มแพร่หลาย ทำให้เราเห็นว่ามนุษย์ก็ยังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เฉกเช่นเดียวกับ Chobrod ที่จะคัดสรรเรื่องราวดีๆมากบอกเล่าให้กับเหล่าผู้ชื่นชอบรถยนต์ และร่วมสร้างสรรสิ่งดีๆด้านรถยนต์ต่อไปครับ

ดูเพิ่มเติม
>> 
ชอบรถมือสอง :: ย้อนดูประวัติศาสตร์ของ Civic รุ่นเอกลักษณ์คู่บารมีของ Honda
>> สี่งที่คุ้นเคยเเต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบเกี่ยวกับ Honda แบรนด์รถยนต์แห่งความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ค้นหาข้อมูลรายละเอียดสามารถเข้าดูวีวิวรถ เชิญที่นี่