ย้อน 5 คดีดัง ค่ายรถฟ้องลูกค้าลูกตัวเอง

ประสบการณ์ใช้รถ | 9 ก.ย 2564
แชร์ 2

มีให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ กับคดีการฟ้องร้องค่ายรถโดยลูกค้า แต่ในวันนี้ Chobrod จะพาไปย้อนดูคดีดังที่น่าสนใจที่เคยเกิดขึ้นจริง กับกรณีค่ายรถฟ้องลูกค้าตัวเอง

เราคงพบเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง กับกรณีการเรียกร้อง การฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตโดยลูกค้า ที่เกิดขึ้นเป็นคดีตัวอย่างมากมาย แทบจะในทุกวงการก็ว่าได้ ไม่เว้นแต่วงการรถยนต์ ที่เราอาจพบเห็นข่าวลูกค้าฟ้องร้องบริษัทรถในรูปแบบต่าง ๆ แต่จะมีสักกี่เคส ที่เราจะเจอกับกรณีที่ค่ายรถเป็นฝ่ายฟ้องลูกค้าของตัวเอง Chobrod พาไปย้อนดู 5 คดีทั่วโลก ที่ค่ายรถฟ้องลูกค้าของตน

มาสด้าฟ้องลูกค้า เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท

เริ่มต้นที่คดีแรกจากในไทย เมื่อทางบริษัทรถชื่อดัง มาสด้า ยื่นฟ้องผู้ใช้รถมาสด้า 2 ที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท เพราะพบปัญหาเรื่องการใช้งาน ที่เป็นเรื่องเป็นราวมาตั้งแต่ปี 2018 ทางค่ายรถเรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท และนอกจากนี้ยังมีกรณีเดียวกัน ที่ทางค่ายเคยฟ้องลูกค้ามาแล้วกับลูกค้า CX-5 ที่เรียกค่าเสียหายถึง 95 ล้านบาท

Mazda ฟ้องลูกค้า
ลูกค้าออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบและทางค่ายก็ออกมาฟ้องร้องกลับ

โดยทางค่ามาสด้า ให้เหตุผลว่าทางผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคใช้ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง แต่ข้อสรุปจบลงตรงทางทางศาลฏีกาไม่รับคำฟ้องดังกล่าว และนั่นเกิดเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า มาสด้าคิดทำเกินกว่าเหตุหรือเปล่า?

VinFast ฟ้องลูกค้า ตามรอย Mazda ในไทย

อีกหนึ่งคดีที่ตามกันมาติด ๆ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา เมื่อทางบริษัทรถยนต์สัญชาติเวียดนามอย่าง VinFast ได้แจ้งความจับลูกค้าที่ทำการทดสอบและรีวิวรถยนต์ โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลทุกอย่างมีเนื้อหาอันเป็นเท็จและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงบริษัท

VinFast และ GogoTV
VinFast และ GogoTV

คลิปวิดีโอต้นเหตุถูกอัปโหลดขึ้นโดย Youtuber ชาวเวียดนามนามว่า ตราน วาน ฮวง เจ้าของช่อง GogoTV ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน โดยใช้ชื่อว่า VinFast Lux A2.0 ที่ต่อมาวิดีโอดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้ออกแถลงการณ์ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความและเรียกตัวนายวาน ฮวง เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งโพสต์ดังกล่าวนั้นได้มีผู้เข้ามาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาทั้งทาง Vinfast และคู่กรณี ได้ทำการตกลงหาทางออกร่วมกันและไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ต่อสื่อเพิ่มเติม

Ferrari ไม่ปลื้ม Wrap Nyan Cat

จ่ายเงินซื้อรถมา ลูกค้าไม่มีสิทธิ์นำรถไปแต่งตามใจตัวเองงั้นเหรอ? อีกหนึ่งคดีที่ทำให้ทางค่ายม้าลำพองต้องถูกโจมตี เมื่อ Ferrari ทำการร่อนจดหมายเตือนไปยัง Deadmau5 ดีเจ EDM ชื่อดังจากแคนาดา ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

รถ Nyan Cat
รถ Nyan Cat ของ Deadmau5

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 จากการที่ Deadmau 5 นำรถไป Wrap ตัวถังให้กลายเป็นลายสีฟ้าน่ารักลวดลาย Nyan Cat แมวสายรุ้งที่ได้รับความนิยมในโลกอินเทอร์เน็ตขณะนั้น แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้ทางค่ายออกจดหมายเตือนนั้นเป็นเพราะการดัดแปลงโลโก้ จากม้าสุดเท่ให้กลายเป็นแมวสุดห้าว พร้อมเปลี่ยนอักษรจาก Ferrari ให้กลายมาเป็น Purrari ที่ใช้ฟอนต์รูปแบบเดียวกัน

รถ Nyan Cat จุดที่ผิดลิขสิทธิ์
ส่วนดัดแปลงของรถที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ค่าย

ดูเหมือนว่าทางผู้ดัดแปลงจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์จริง ทำให้เขาต้องยอมรื้อและแก้ไขส่วนที่ละเมิดไปให้กลับมาตามเดิม แต่ก็ทำให้เขาหัวเสียไม่น้อยและตัดสินใจขายไปพร้อมกับออกมาโพสต์ในทวิตว่า รอบหน้าเขาจะไม่ซื้อรถค่ายนี้อีก และถึงแม้ทาง Deadmau จะทำผิดจริง แต่ค่ายรถก็ถูกชาวเน็ตออกมาสวด บอกว่าการกระทำของทางค่ายช่างไม่คุ้มเอาเสียเลย

ดูเพิ่มเติม
>> รถวิ่งถอยหลังได้เร็วแค่ไหน?
>> เปิด 7 อันดับท้าเซียน ถนนที่อันตรายที่สุดในโลก

ม้าลำพอง ฟ้องอีก เหตุวางรองเท้าบนรถ

คดีแมวสายรุ้ง ยังพอมีเหตุให้เข้าใจได้ว่าทางค่ายจำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องแบรนด์ แต่สิ่งที่ทำให้ Ferrari ดูมีความหยุมหยิมและดูจุกจิกกับลูกค้าที่ซื้อรถของตนไปก็คืออีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ค่ายรถฟ้องร้องดีไซเนอร์ ในข้อหาวางรองเท้าไว้บนรถ

รองเท้าของ Philipp Plein ที่ถูกวางไว้บนรถ Ferrari
ภาพรองเท้าของ Philipp Plein ที่ถูกวางไว้บนรถ Ferrari

คู่กรณีของค่ายเจ้าระเบียบนี้คือดีไซเนอร์ชื่อดังนามว่า Philipp Plein โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อทางฟิลลิปส์นำรองเท้าที่เป็นแบรนด์ของตนเองนั้นไปวางไว้บนรถ Ferrati สีเขียวของเขา และทันทีทันใดที่รูปที่เขาถ่ายเอาไว้ถูกโพสต์ลง Instragram ของเขา เพียงไม่นานจดหมายจากค่ายก็ร่อนมาถึงเขาทันที

Philipp Plein และรถ Ferrari ของเขา
Philipp Plein และรถ Ferrari ของเขา

ทางค่ายได้เหตุผลว่า การนำรองเท้ามาวางคู่กับแบรนด์ทำให้ชื่อเสียงของ Ferrari มัวหมอง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัสดุรถ อีกทั้งยังมีเพิ่มเติมว่าแบรนด์รองเท้าที่วางนั้นจะสร้างความเข้าใจผิดว่ามีการคอลแลปส์ระหว่างแบรนด์ได้ ซึ่งนั่นจะผิดต่อสัญญาที่ทางบริษัทชี้แจงว่า สิทธิ์การผลิตเครื่องแต่งกายนั้นเป็นของ Puma แต่เพียงผู้เดียว

Philipp Plein และรถ Ferrari ของเขา
Philipp ผู้ที่ทางค่ายมองว่ารองเท้าของเขา มีไลฟ์สไตล์ที่ขัดแย้งกับค่าย

อาจเป็นเรื่องพอจะทำความเข้าใจได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังจุดที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่เข้าใจ และมองว่าทาง Ferrari คิดเล็กน้อยมากไป คือข้อความระบุไว้เพิ่มเติมว่า รูปภาพรองเท้าที่ถ่ายเป็นหลักนั้น มีสัญลักษณ์ของ Ferrari ประกอบ แสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ที่ขัดแย้งกับมุมมองของแบรนด์ และการสื่อความหมายเช่นนี้ทำให้คนตั้งคำถามว่า Ferrari มีมุมมองต่อลูกค้าของตนอย่างไรกันแน่? ในเมื่อทางฟิลลิปส์เองก็เป็นผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ที่คู่ควรกับทางค่ายไม่น้อยไม่ใช่อย่างนั้นหรือ? แล้ว Ferrari มีมุมมองอย่างไรถึงพูดออกมาว่าแบรนด์รองเท้าของฟิลลิปส์นั้นไม่คู่ควรกับรถของตน

ลูกค้า Ford GT ถูกฟ้อง เหตุขายต่อรถ

อย่าเพิ่งตัดสินว่าทางค่ายทำเกินกว่าเหตุ เพราะการที่ค่ายรถฟ้องลูกค้าตัวเองครั้งนี้ มาจากการทำตามเงื่อนไขการผิดสัญญา ซึ่งเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทาง Ford ได้พบว่าทาง ซูเปอร์สตาร์จาก WWE นามว่า John Cena ได้ทำการขายซูเปอร์คาร์ Ford GT 2017 ไป แม้รถคันนั้นจะเป็นรถของเขาเอง

Ford GT 2017
Ford GT 2017 มีแค่เงินซื้อไม่ได้ 

เพราะ Ford GT 2017 ไม่ใช่รถทั่วไปที่แค่มีเงินก็จะซื้อได้ และแม้จะมีไว้ครอบครองแล้วใช่ว่าคุณจะมีสิทธิ์ทำอะไรกับมันก็ได้ เพราะรถคันนี้ถูกผลิตขึ้นในฐานะรถซูเปอร์คาร์ ที่ผู้ถูกเลือกจากทางค่ายเท่านั้นจะมีโอกาสได้รับสิทธิ์ในการซื้อ และจอห์น ซีน่า ก็คือผู้ได้รับโอกาสนั้นจากผู้สมัครพันกว่าคน

John Cena และรถ Ford GT 2017
John Cena และรถ Ford GT 2017 ที่เขาขายต่อ

ทางค่ายชี้แจงว่าทางซีน่าได้ทำข้อตกลงกับฟอร์ดเอาไว้ว่าจะต้องครอบครองรถยนต์เป็นเวลา 24 เดือน แต่เมื่อเขาขายรถไป ถือว่าทำผิดข้อสัญญา ข้อกล่าวหาคือเขาทำกำไรจากการขายรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ทางฟอร์ดได้รับความเสียหาย ขาดทุน และสูญเสียมูลค่าแบรนด์ และค่าความนิยม จากการขายที่ไม่ถูกต้อง

ทางซีน่าเองก็ยื่นคำร้องต่อศาล เขามองว่าสัญญาดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรม รถคันนี้เขาซื้อมาด้วยเงินเขาเอง เท่ากับว่าสิทธิ์การครอบครองและการตัดสินใจซื้อขายต้องเป็นของตน จนสุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปด้วยการให้รถคันดังกล่าวทำการซื้อขายได้ แต่ผู้ซื้อต่อยังไม่สามารถรับรถได้ ต้องรอจนกระทั่งครบกำหนดเวลา เพื่อเป็นการรักษามูลค่าแบรนด์ จนกระทั่งเมื่อปี 2019 รถ Ford GT 2017 ก็สามารถปล่อยออกมาจำหน่ายในฐานะรถมือสองได้ในที่สุด

และนี่คือเรื่องราวของค่ายรถฟ้องลูกค้าตัวเอง ที่อาจทำให้หลายคนได้เปิดโลกว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็มีด้วย ยังมีอีกหลายกรณีที่ค่ายรถฟ้องลูกค้า ทั้ง 5 คดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีที่เคยเกิดขึ้นจริง ยังมีอีกหลายเรื่องที่คุณไม่เคยรู้และชวนรู้ พบกับสาระที่น่าสนใจได้อีกมากมายเพียงแค่คุณติดตามเราที่ Chobrod.com

ดูเพิ่มเติม
>> มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้ กับ 3 รถหรู ที่มีเงื่อนไขในการซื้อ

>> Ford Mustang 2021 เพิ่มสีใหม่เทา คาร์บอนไนซ์ เกรย์

เข้าดู ตลาดรถ ได้ที่นี่

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ