วัฒนธรรมการบีบแตร และข้อกฎหมายที่ควรรู้

ประสบการณ์ใช้รถ | 6 ก.ย 2564
แชร์ 2

เชื่อว่าทุกคนคงทราบว่าหน้าที่ของแตรคือการให้สัญญาณด้วยเสียง ทราบดีว่ารูปแบบการบีบแตรนั้นมีความหมายที่จะสื่อสารอยู่ แต่นั่นใช่ความเข้าใจที่ถูกหรือเปล่า?

แตรรถ เป็นอุปกรณ์ประจำรถที่ไม่ต้องอธิบายหน้าที่ของมัน คนใช้รถทุกคนก็น่าจะเข้าใจ ว่ามันเอาไว้ใช้ทำอะไร แต่เรื่องของแตรนั้น มีเนื้อหาที่ดูจะมีรายละเอียดเล็กน้อย ที่ถ้าหากคุณไม่ใช่คนที่ขับรถเป็น อาจจะไม่เข้าใจถึงการบีบแตรในลักษณะที่แตกต่างกัน และวันนี้ Chobrod จะพาไปชำแหละถึงเรื่องที่น่าสนใจเรื่องนี้ กับวัฒนธรรมของการบีบแตร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประวัติศาสตร์ของแตรรถ

แตรรถยนต์ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 โดย Oliver Lucas แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกสร้างขึ้นาเพื่อใช้เป็นสัญญาณในการของทาง เป็นตัวช่วยที่จะเพิ่มการขับขี่ปลอดภัยที่มากขึ้น ช่วยป้องกันและลดการอุบัติเหตุได้ และสร้างระเบียบในการใช้ถนนที่มากขึ้น

แตรรถ
แตร เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในรถยนต์

ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในรถยนต์มองว่าแตรรถยนต์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เสริมสร้างความปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยม และยอมรับว่าการใช้แตรอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้จริง และมันคือข้อเท็จจริงที่ต่อเนื่องมาอย่างถูกต้องจนถึงปัจจุบัน

แต่ส่วนหนึ่งหลายคนมองว่าวัฒนธรรมการบีบแตรนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน พวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมารยาทในการขับรถ และก็มีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นพอให้เห็นกันบ้าง ว่าการบีบแตรก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ และนั่นเป็นเพราะพวกเขา ไม่เข้าใจหลักและวิธีใช้แตรที่เหมาะสมหรือเปล่า?

จังหวะของการบีบแตร

เสียงของแตรจะดังในรูปแบบไหน ก็อยู่ที่คนเลือกกดเลือกใช้ มาลองดู 5 จังหวะของเสียงแตรที่นิยมใช้กันในทุกวันนี้ แล้วเช็กดูสิว่า คุณเข้าใจความหมายของแตรรถตรงกันกับที่เราบรรยายหรือไม่?

1.บีบแตร เพื่อทักทาย

ลักษณะของเสียงแตรจะเป็นการบีบแบบเบา ๆ สั้น ๆ ต่อเนื่อง “ปี๊ด ปี๊ด ปี๊ด” ซึ่งเป็นการกดเพื่อทักทาย สวัสดี แบบที่เราอาจจะเคยคุ้นเคยเมื่อรถประจำทางสองคันที่วิ่งสวนกัน หรือวิ่งแซงกันแบบแตรแบบนี้ใส่กัน

บีบแตรทักทาย
เจอคนรู้จัก บีบแตรทักทายสักหน่อย

เช่นเดียวกันที่เราสามารถใช้เวลาขับรถเจอกับคนรู้จัก การบีบแตรแบบนี้จะเป็นการทักทาย และอีกฝ่ายมักจะบีบตอบกลับมาในลักษณะเดียวกัน

2. บีบแตร เพื่อเตือน

เป็นจังหวะแตรที่จะพบได้บ่อยบนท้องถนน ด้วยการบีบแตรไปแบบสั้น ๆ  “ปี๊ด” ซึ่งเป็นการบีบเพื่อเตือนให้คนรอบข้างหรือรถคันอื่นระวัง เช่น บีบใส่คนที่กำลังจะข้ามถนนโดยที่ไม่ได้ดูทาง หรือบีบใส่จักรยานที่ขับกินเลนถนนออกมา การบีบเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณเบา ๆ ให้อีกฝ่ายได้รู้ถึงการมีอยู่ของรถ ไม่ได้มีเจตนาเชิงตำหนิแต่อย่างใด

3. บีบแตร เพื่อให้รู้สึกตัว

เป็นอีกรูปแบบที่เรามักจะได้ยินเวลาขับรถติดไฟแดง แล้วรถคันข้างหน้าก็จอดแช่ทั้ง ๆ ที่ไฟเขียวแล้ว  “ปี๊ดดดดดดดด”การบีบแตรเป็นลักษณะของการส่งเสียงแบบยาวและดัง

บีบแตรเตือนรถข้างหน้า
ทำไมรถข้างหน้าไม่ขยับสักที บีบแตรเตือนสักหน่อย

ซึ่งการบีบแบบนี้จะมีอาการหงุดหงิดและสงสัย พร้อมกับใส่อารมณ์เร่งรัด และให้สัญญาณคนข้างหน้าที่อาจจะเหม่อลอยหรือลืมดูสัญญาณไฟ ประมาณว่า “ไฟเขียวแล้ว เห็นหรือยัง ทำไมไม่ไปสักทีล่ะ เดี๋ยวไฟแดงก็มาอีกหรอก”

ดูเพิ่มเติม
>> ขับรถกลางคืน! มีเรื่องอะไรบางที่มือใหม่หัดขับควรรู้

>> 5 คำถาม เมื่ออยากเปลี่ยนเกียร์ธรรมดาเป็นออโต้

4. บีบแตร เพื่อระบายอารมณ์

จังหวะการบีบจะเป็นการกดแตรเสียงดังและลากยาวซ้ำ ๆ ซึ่งลักษณะแบบนี้ต้องการที่จะสื่อสารออกมาว่า เห้ย! วันนี้เรารีบ นายมัวทำอะไรอยู่เนี่ย มักพบเห็นคนใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการความเร่งด่วน และต้องการเร่งรถหรือสภาพแวดล้อมข้าง ๆ ช่วยเปิดทางให้รถของตนได้เคลื่อนที่ไปเสียที อาจเพราะรถข้างหน้าเกิดปัญหาอะไรสักอย่าง ทำให้รถข้างหลังไปไม่ได้ ซึ่งไม่แนะนำให้บีบแตรลักษณะนี้ เพราะเสี่ยงต่อการวิวาทได้

5. บีบแตร เพื่อระเบิดอารมณ์

ข้างบนแค่ระบาย แต่แบบนี้เป็นการท้าทายพร้อมปะทะ กับรูปแบบการบีบแตรที่ลากยาวเสียงดัง พร้อมเรียกความสนใจจากรถทุกคันบนถนนในบริเวณเดียวกันให้ชะโงกหาที่มาของเสียง แม้กระทั่งเด็กขายพวงมาลัยหรือแม้ค้ากล้วยแขกยังต้องชะเง้อหาว่าไอรถคันไหนที่มันกำลังจะเปิดศึก

ลากยาวแบบนี้ โมโหหรือว่าเป็นลม
ลากยาวแบบนี้ โมโหหรือว่าเป็นลม

หรือชวนให้คิดอีกแง่ว่ามีใครเป็นลมล้มทับพวงมาลัยไปหรือเปล่า? และนี่เป็นจังหวะของเสียงที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาได้มากที่สุดเลยทีเดียว ดังนั้น เลี่ยงได้ควรเลี่ยง ความใจร้อนอาจสร้างความเดือดร้อนมาสู่ตัวเองได้

6.บีบแตร เพื่อกวน…

อีกจังหวะหนึ่งที่คนถูกบีบใส่อาจจะรู้สึกถูกยียวน ชวนมีเรื่อง กับการบีบแตรเป็นจังหวะเพลงสามช่า หรือจังหวะดนตรีต่าง ๆ คนบีบอาจจะสนุก แต่คนฟังไม่ได้สนุกด้วยนะ เพราะมันดูน่ารำคาญมากกว่าจะดูเท่ดูคูลนะเออ เผลอ ๆ ถูกด่า เสี่ยงมีเรื่องให้วิวาทกันได้อีกด้วย

กฎหมาย บีบแตรที่ควรรู้

ลักษณะการบีบแตรทั้ง 6 จังหวะที่กล่าวไว้ข้างต้น มีผลทางข้อกฎหมายด้วยสำหรับการบีบในลักษณะที่สร้างความเดือดร้อนและอาจก่อให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท โดยในมาตรา 14 ระบุเอาไว้ว่า การบีบแตรจะใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น โดยจะต้องกดเป็นจังหวะสั้น ๆ และจะกดยาวหรือกดย้ำแบบถี่ ๆ ต่อเนื่องเกินไปไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

บีบแตรหาเรื่อง ระวังโทษปรับนะ
บีบแตรหาเรื่อง ระวังโทษปรับนะ

แต่ทั้งนี้การบีบแตรในจังหวะที่บีบแบบลากยาวนั้น สามารถกดได้เมื่อพบเห็นอันตรายหรือเหตุฉุกเฉินได้ เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้คนรอบข้างตระหนักรู้ เช่น เมื่อพบว่ารถที่ขับอยู่นั้นหลุดการควบคุม การบีบแตรบอกเป็นการเตือนให้คนที่อยู่ในวิถีรถระวังและออกห่าง เป็นต้น

นอกจากเรื่องของจังหวะการบีบแตรแล้ว กฎหมายยังกำหนดลักษณะของการติดตั้งแตรเอาไว้ด้วย โดยในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดไว้ว่ารถยนต์ต้องมีแตรสัญญาณ โดยกำหนดให้เป็นเสียงเดียว ดังไม่น้อยกว่า 90-155 เดซิเบลเอ จากด้านหน้ารถ 2 เมตร มีระยะได้ยินไม่น้อยกว่า 60 เมตร และอนุญาตให้ติดตั้งเพียง 1 ชุดเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ไม่อนุญาตให้ติดตั้งเสียงแตรแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นแตรสองเสียง แตรเสียงแตกพร่า หรือดัดแปลงเสียงเป็นรูปแบบสัญญาณแบบอื่น และไม่อนุญาตให้ติดตั้งแต่ลม หากฝ่าฝืน จะมีโทษปรับ 1,000-2,000 บาท

เห็นไหมว่า รูปแบบการกดแตรในจังหวะที่ไม่เหมือนกัน อาจสร้างสถานการณ์ให้ดีหรือร้ายก็ได้ ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจตรงกันถึงมารยาทการบีบแตรที่เหมาะสม และทำความเข้าใจของเสียงแตรแต่ละจังหวะ เพื่อลดการเกิดปัญหาบนท้องถนน และสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยสำหรับคุณเอง

ดูเพิ่มเติม
>> เช็กป้ายทะเบียนรถ ว่าเป็นของใคร ทำได้หรือเปล่า?
>> ประวัติศาสตร์ รถยนต์ไฟฟ้า กับที่มากว่า 140 ปี

เข้าดู ราคารถยนต์มือสอง ได้ที่นี่

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ