รถเช่าโดนใบสั่ง ถ้าคืนรถไปแล้ว ยังจะถูกปรับไหม?

ประสบการณ์ใช้รถ | 12 เม.ย 2564
แชร์ 1

เช่ารถมาใช้ แต่ไปทำผิดกฎจราจร เลยถูกเรียกเก็บค่าปรับ ถึงจะเอารถไปคืนแล้วอย่าคิดว่าจะรอด Chobrod พาไปเปิดข้อกฎหมาย รถเช่าโดนใบสั่ง จะต้องเรียกเก็บค่าปรับที่ใคร

ทางเลือกสำหรับนักเดินทางสายสัญจร ที่ไม่มีรถหรือไม่สะดวกใช้รถตัวเอง คือการใช้บริการรถเช่า แต่อย่าเพิ่งคิดว่าแค่มีเงินจ่ายค่าเช่าทุกอย่างก็จะเรียบร้อยแล้ว เพราะมีเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างที่ผู้ขับขี่ควรจะรู้เมื่อขับรถเช่า และวันนี้เราจะมาพูดถึงกรณี รถเช่าโดนใบสั่ง จะต้องเป็นความรับผิดชอบของใครกัน?

รถเช่าโดนใบสั่ง ใครเสียค่าปรับ

เช่ารถมาแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว อย่าคิดว่าจะขับรถแบบไหนไม่กลัวใบสั่งไม่ได้ เพราะในสัญญาการเช่าแทบทุกผู้ให้บริการ ล้วนแต่มีข้อกำหนดระบุเอาไว้ว่า จะสามารถเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมได้ ในกรณีที่มีค่าปรับเกิดขึ้นในระหว่างการใช้รถ

รถเช่าโดนใบสั่ง คนขับคือผู้รับผิดชอบ
รถเช่าโดนใบสั่ง คนขับคือผู้รับผิดชอบ

ใช่แล้ว ผู้เช่าที่ขับรถไปทำผิดกฎจราจร จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเมื่อถูกใบสั่ง ไม่ว่าจะในกรณีที่ถูกจับปรับซึ่งหน้าหรือถูกเรียกปรับส่งใบสั่งตามมาทีหลังก็ตาม แม้จะคืนรถไปแล้วก็ไม่รอด เพราะทางบริษัทสามารถเรียกเก็บได้ผ่านทางบัตรเครดิตที่ถูกนำไปใช้สำรองวงเงินตอนเช่ารถนั่นเอง

ใช้บัตรเครดิต ไม่ต้องเซ็นสลิปได้หรอ?

โดยทั่วไปแล้วทางบริษัทรถเช่า จะทำการอายัดวงเงินบัตรเอาไว้นับตั้งแต่วันที่ไปรับรถ และล็อกวงเงินไว้ต่อเนื่องนับตั้งแต่คืนรถประมาณ 7-14 วัน จากนั้นจะทำการคืนวงเงินกลับเข้าไปใหม่ในบัตรเมื่อครบกำหนด

​บริษัทรถเช่า มักจะเรียกเก็บวงเงินบัตรเอาไว้
​บริษัทรถเช่า มักจะเรียกเก็บวงเงินบัตรเอาไว้

ดังนั้นถึงแม้จะรับบัตรเครดิตคืนเอาไว้กับตัวตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่อย่าลืมว่าวงเงินในบัตรจะยังถูกล็อกไว้อยู่ และหากเกิดกรณีถูกเรียกเก็บค่าปรับ ซึ่งทางบริษัทรถเช่าจะเป็นผู้ถูกได้รับใบสั่งมาก่อน และจะทำเรื่องส่งไปยังผู้เช่าต่อ ซึ่งเมื่อนั้นอาจจะทำการเรียกเก็บค่าปรับไปแล้ว เอกสารที่ส่งไปยังผู้เช่าอาจเป็นเพียงจดหมายแจ้งและใบเสร็จเท่านั้น

ทางบริษัท จะเรียกเก็บเงินค่าปรับได้ทันที
ทางบริษัท จะเรียกเก็บเงินค่าปรับได้ทันที

ทางบริษัทจะทำการหักเงินผ่านบัตรเครดิตของเราได้โดยตรง โดยที่ทางเจ้าของบัตรไม่ต้องเซ็นชื่อในสลิป เพราะในสัญญาเช่ามีระบุข้อความเอาไว้ว่าสามารถเรียกเก็บได้ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น โดยค่าปรับที่เกิดขึ้นจะมีบวกค่าดำเนินการของบริษัทด้วย ซึ่งเคยมีผู้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แจ้งว่าทางบริษัทรถเช่าเรียกปรับสูงกว่าที่ถูกเรียกจริงเกือบสามเท่าเลยก็มี

ดูเพิ่มเติม
>> ต้องรู้ กำหนดความเร็วรถ 2564 เริ่มบังคับใช้แล้ว

>> ย้ายที่อยู่ ย้ายทะเบียนบ้านต้องย้ายทะเบียนรถตามไปด้วยไหม?

คืนวงเงินเข้าบัตรแล้ว ยังถูกเรียกเก็บได้?

ในกรณีที่ใบสั่งมาหลังจากทางบริษัททำเรื่องคืนวงเงินแล้ว ถึงแม้วงเงินในบัตรจะถูกคืนเข้าบัตรแล้ว แต่ก็ยังจะสามารถถูกตัดภายหลังได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าทำผิดกฎจราจรและถูกเรียกปรับมาทีหลังก็ไม่รอดเช่นกัน

แม้ใบสั่งจะมาหลังยอดเงินเข้าบัตรแล้ว ก็ยังถูกเรียกเก็บได้
แม้ใบสั่งจะมาหลังยอดเงินเข้าบัตรแล้ว ก็ยังถูกเรียกเก็บได้

แต่ทั้งนี้ทางผู้ถูกเรียกปรับ หากไม่อยากเสียค่าดำเนินการให้ทางบริษัทรถเช่า สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานไปจัดการเสียค่าปรับเองได้ แต่อาจจะยุ่งยากเพราะต้องติดต่อหลายฝ่าย อีกทั้งบางบริษัทจะยกข้อกำหนดมา แจ้งว่าทุกอย่างถูกระบุเอาไว้ในสัญญาแล้ว ว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ ทางบริษัทจะดำเนินการจัดการเองพร้อมเรียกเก็บค่าบริการ และส่วนมากแล้วผู้เช่าทุกคนแทบจะเซ็นรับทราบข้อระบุนี้ก่อนรับรถ ซึ่งทุกอย่างจะชี้ชัดเลยว่าทางผู้เช่ายินยอมให้มีการเรียกเก็บด้วยตัวเอง

ชาวต่างชาติ กลับประเทศแล้ว ต้องเรียกเก็บค่าปรับที่ใคร?

อีกหนึ่งกรณีศึกษา หากผู้ขับขี่เป็นชาวต่างชาติ เมื่อคืนรถและบินกลับประเทศไปแล้ว หากพบใบสั่งถูกเรียกเก็บค่าปรับ ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายเช่นกันไม่มีละเว้น และอาจถูกเรียกเก็บค่าปรับ ค่าดำเนินการสูงถึง 5 เท่าได้ หากสามารถตามที่อยู่เจอหรือใช้วงเงินบัตรของเจ้าตัวได้ เคยมีกรณีคนไทยที่ไปขับรถเช่าต่างประเทศ เมื่อถูกเรียกเก็บค่าปรับ ทางบริษัทก็หักเงินไปในทันที

คนไหนผิด คนนั้นก็ต้องรับโทษ
คนไหนผิด คนนั้นก็ต้องรับโทษ

สำหรับในบ้านเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ว่าด้วยมาตรา 140 วรรค ให้กรณีที่ทางเจ้าพนักงานออกใบสั่งแต่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำผิดดังกล่าว เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่ ดังนั้นหากทางบริษัทไม่สามารถยืนยันได้ว่าทางผู้เช่า ได้กระทำผิด ณ เวลาที่ขับขี่ตอนนั้นจริง ทางบริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

บริษัทต้องทำการยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนขับขี่
บริษัทต้องทำการยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนขับขี่

แต่ตามกฎหมายแล้ว ไม่สามารถบังคับให้ผู้อื่นชำระโทษปรับหรือรับโทษแทนบุคคลที่กระทำผิดได้ ต่อมามีการหาทางออกกับเรื่องนี้ใหม่เมื่อปี 2562 และได้ข้อสรุปใหม่ว่า ให้ปรับแก้โดยให้นิติบุคคลแจ้งชื่อ ที่อยู่ พร้อมหลักฐานอื่นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่ขับขี่ในขณะที่กระทำผิดภายใน 30 วัน หากไม่แจ้งนิติบุคคล มีโทษปรับ 5 เท่าของโทษปรับสูงสุด

ดังนั้นหากไม่อยากเสียค่าปรับและค่าดำเนินการ ทางที่ดีขับรถให้อยู่ในความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้จะดีกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้ว ใครเป็นผู้กระทำความผิด ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกอย่างก็มีข้อกำหนดกฎหมายสัญญาเอาไว้แล้ว ถ้าไม่อยากเสียเวลา เสียเงินในภายหลัง เคารพกฎจราจร และรักษาวินัยการขับขี่เอาไว้เป็นดีที่สุด

ดูเพิ่มเติม
>> ยังไม่ได้เงิน แต่กล้าส่งมอบรถ เจาะข่าวร้อน ตุ๋นซื้อ MG 16 คัน
>> ชาวต่างชาติขับรถในไทย มีอะไรบ้างที่ควรรู้และปฏิบัติตาม

 เข้าดู รถยนต์มือสองราคาถูก ได้ที่นี่

Knong NTP
Avatar

Knong NTP

บรรณาธิการ
ในตอนเด็ก ที่บ้านของผมเป็นอู่ซ่อมรถ ผมมักจะได้ไปเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์รถและงานเทคนิคช่างต่าง ๆ กับพ่อ และสนใจเรื่องแต่งรถกระบะจากน้า จากนั้นก็ซึมซับมาเรื่อย ๆ จากความชอบก็เป็นความรัก ความผูกพัน เริ่มสะสมนิตยสาร มอเตอร์แทร็ก,...