รถยนต์ในยุคแรก ไม่ได้ถูกบังคับด้วยพวงมาลัย แต่ถูกควบคุมด้วยคันบังคับ แล้วพวงมาลัยรถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เมื่อไหร่? มาเรียนรู้ประวัติพวงมาลัยรถยนต์กัน
หลายอุปกรณ์ในรถยนต์ ไม่ได้ถูกคิดค้นมาพร้อมกับรถยนต์คันแรก มีแต่การเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย และถูกพัฒนาไปจนเข้าที่เข้าทางในที่สุด เช่นเดียวกันกับพวงมาลัยรถยนต์ ที่เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนของรถที่เพิ่งถูกคิดค้นมาหลังมีรถยนต์คันแรก โดยสมัยก่อนนั้นรถจะหันซ้ายขวานั้น จะถูกควบคุมด้วยคันบังคับนั่นเอง
รถยนต์ยุคแรก ใช้คันโยกในการควบคุมรถ
Chobrod พาไปย้อนที่มา เปิดหน้าตำรา เผยเรื่องราวประวัติพวงมาลัยรถยนต์ เรื่องเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ กว่าจะกลายมาเป็นพวงมาลัยรถยนต์แบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ มันมีที่มาอย่างไร
พวงมาลัยรถยนต์ในรูปแบบที่เราใช้งานกันในทุกวันนี้ มีวิวัฒนาการมาจากผู้นำด้านยานยนต์ที่รู้จักกันดีนั่นคือ Mercedes-Benz ซึ่งถูกคิดค้นครั้งแรกในปี 1894 โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสนามว่า Alfred Vacheron ซึ่งเขาได้พบว่าพวงมาลัยช่วยให้สามารถควบคุมตัวรถได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และทำให้ตัวรถเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วสูงมากกว่าเดิม
Alfred Vacheron กับรถที่ติดตั้งพวงมาลัยคันแรกของโลก
ซึ่งก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ปี 1886 รถยนต์ที่ถูกผลิตขึ้นโดย คาร์ล เบนซ์ นี้ จะเป็นรถยนต์ที่ใช้คันบังคับในการควบคุม เรียกได้ว่าใช้เวลาเกือบทศวรรษ กว่าจะมีการคิดค้นพวงมาลัยขึ้นมา หลังจากรถคันแรกของโลกถูกผลิตขึ้น
โดยการถูกคิดค้นขึ้นมาในครั้งแรกนั้น มีวัตถุประสงค์คือการนำรถคันที่ติดตั้งพวงมาลัย ไปใช้ในการเข้าร่วมการแข่งขันรถแข่งเส้นทางปารีส-รูออง แต่ในเวลาต่อมามันก็ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์พื้นฐานประจำรถที่ถูกผลิตออกมาในรถรุ่นใหม่ ๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1904 ก็หมดยุคของคันบังคับไปในที่สุด
ประวัติพวงมาลัยรถยนต์ ได้เข้าสู่การพัฒนาเมื่อปี ค.ศ. 1900 โดยบริษัท Daimler Motoren Gesellschaft ประเทศเยอรมัน มีการออกแบบพวงมาลัยใหม่ เพื่อใช้ติดตั้งไว้ในรถแข่ง
พวงมาลัยของ Daimler
โดยตัวแกนของพวงมาลัยจากเดิมที่ตั้งตรงขึ้นมาจากพื้น ถูกปรับให้มีการเอียงเล็กน้อย เพื่อให้การทรงตัวในการขับขี่ที่ดีขึ้น
พวงมาลัยที่มาพร้อมระบบเสียงแตร
ต่อมาในปี 1920 เป็นครั้งแรกที่พวงมาลัยมีเสียงแตร เพื่อใช้ในการส่งสัญญาณในการขับขี่ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีการคิดค้นขึ้นมา และใช้งานได้จริง ทั้งนี้รูปลักษณ์ของแตรเองมีความสวยงาม ทันสมัย และจับได้เหมาะมือมากขึ้น
พวงมาลัยพร้อมคันเกียร์
ในปี 1951 ทาง Mercedes-Benz ติดตั้งคันเกียร์ไว้บนคอพวงมาลัยรถ 300 Adenauer-Mercedes W186 และในรุ่น 220 (W187) ด้วยเหตุผลที่ว่าจะให้ความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น
ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์รุ่นใหม่ ปลอดภัยมากขึ้น
การพัฒนาพวงมาลัยรถยนต์ยังเป็นไปอย่างต่อเรื่อง จนเข้าสู่ปี 1958 มีการเปิดตัวพวงมาลัยพาวเวอร์ ที่ถูกติดตั้งในรถเก๋งรุ่นใหม่จำนวน 300 คัน พร้อมออกแบบและผลิตแกนพวงมาลัยแบบยืดหดได้ ให้มีการดูดซับแรงกระแทก และกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์นั่งทุกรุ่นในปี 1967
พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน และปุ่มแตรแบบใหม่
เข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 – 1980 เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นด้วยพวงมาลัยแบบ 4 ก้าน ช่วยปกป้องผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น และแตรตรงกลางแบบเดิมถูกเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน
ในปี 1981 เพิ่มระดับความปลอดภัยขั้นสูง ด้วยการออกแบบถุงลมนิรภัยในพวงมาลัย โดยติดตั้งไว้ในรถซีดานสุดหรู Mercedes-Benz S-Class (W126) และกลายมาเป็นต้นแบบของการตดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐานในรถยนต์จนถึงปัจจุบัน
ถุงลมนิรภัยในพวงมาลัย
จากนั้นเข้าสู่ยุคของพวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน ที่มีจุดกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1998 ใน S-Class (W22) ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น สามารถควบคุมวิทยุและเสียงได้ และได้ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ไปตามยุคสมัย
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน
ทำให้ในปัจจุบันพวงมาลัยรถยนต์สามารถใช้งานได้ครอบคลุมแทบทุกอย่างนอกจากไว้ควบคุมการขับขี่แแล้ว ยังสามารถใช้โทรศัพท์ เปิดปิดปุ่มคำสั่ง เปิดเล่นเพลง หรืออื่น ๆ ได้อีกมากมาย อีกทั้งยังมีการออกแบบด้วยดีไซน์สมัยใหม่ให้ดูสวยงาม และใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันการพัฒนาและออกแบบพวงมาลัยรถยนต์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เคียงคู่ไปกับการพัฒนาการในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ด้านอื่น ๆ ในอนาคตวันข้างหน้า เราอาจจะเห็นพวงมาลัยรถยนต์ มีความสามารถมากกว่าที่ทำได้อย่างในปัจจุบันนี้ก็ได้ เหมือนกับที่มันพัฒนามาอย่างก้าวกระโดด ในชนิดที่เรียกว่าคนในยุคพวงมาลัยแบบสมัยแรก อาจคิดไม่ถึงเลยก็ได้ว่าพวงมาลัยที่ใช้มือหมุนในวันนั้น ทุกวันนี้มันจะมีปุ่มคำสั่งอัตโนมัติมากมายที่น่าทึ่งได้ขนาดนี้ก็เป็นได้
ดูเพิ่มเติม
>> ไฟหน้ารถยนต์ LED ทำงานอย่างไร พร้อมวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย
>> 4 ฟีเจอร์รถใหม่สุดล้ำ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องมีสำหรับรถทุกคันในอนาคต
เข้าดู รถยนต์มือสอง ได้ที่นี่