คอหักเพราะรถเบรก อันตรายใกล้ตัวที่คุณอาจไม่เคยรู้ พร้อมแนะวิธีรับมือ

ประสบการณ์ใช้รถ | 14 ก.ย 2562
แชร์ 4

เป็นไปได้! นั่งรถด้วยกันมาดี ๆ หันมาดูอีกทีคนข้าง ๆ เสียชีวิต! ร่วมวิเคราะห์เหตุการณ์ไม่คาดคิด กับกรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการรถเบรกกะทันหัน จะเป็นไปได้จริงหรือ ? แล้วถ้าไม่ใช่เรื่องจ้อจี้ เหตุการณ์นี้ ต้องรับมืออย่างไร ?

ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุ ย่อมเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนไม่อยากจะพานพบประสบเจอกันแน่ เพราะนั่นหมายถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หรือร้ายแรงยิ่งกว่าก็อาจจะถึงขั้นสูญเสีย การเกิดอุบัติเหตุมักจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือกับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่มักจะเกิดขึ้นบนความประมาทเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตามสถิติมักจะเป็นกรณีการเฉี่ยวชน หรือรถเสียหลัก

ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นอันดับแรกของโลก
ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นอันดับแรกของโลก

และก็มีบางเหตุการณ์ที่ใครจะไปเชื่อ! ว่าจากที่นั่งโดยสารรถอยู่ดี ๆ แล้วรถเกิดการเบรกขึ้นอย่างแรง และนั่นทำให้เกิดความผิดปกติที่ร่างกายส่วนสำคัญจนถึงขั้นเสียชีวิต! อาจจะดูไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นได้บ่อยมากกว่าที่คุณจะเชื่อว่าเป็นจริง

Chobrod จะพาไปส่องเหตุการณ์อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ผ่านคำบอกเล่าจากผู้มีประสบการณ์ที่แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันผ่านโลกออนไลน์ อาจจะเป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้างหรือไม่ ? ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ แต่ท้ั้งนี้ Chobrod ก็จะนำมาเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยนำมาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นตามข้อมูลที่ได้รับตามจริง

ระทึกโลกออนไลน์ ทวิตเตอร์เล่าเหตุการณ์สยอง รถเบรกจนคอหักตาย

นั่งรถอยู่ดี ๆ หันมาอีกที คนข้าง ๆ เสียแล้ว
นั่งรถอยู่ดี ๆ หันมาอีกที คนข้าง ๆ เสียแล้ว

“พี่ที่ทำงานเล่าให้ฟังว่า เพื่อนนั่งรถเบาะหลัง 3 คน คนตรงกลางหลับ ระหว่างทางก็มีเบรกกะทันหันแบบค่อนข้างแรง พอถึงบ้านลงจากรถกันหมด ปลุกคนกลางไม่ตื่น พบว่าตายแล้วเพราะคอหักจากที่รถเบรกแรงแล้วคอสะบัด แล้วเบาะตรงกลางไม่มีพนักพิงคอ อย่างน่ากลัว”

นี่คือข้อความจากผู้ใช้รายหนึ่งในทวิตเตอร์ ที่เล่าเหตุการณ์ที่ตนได้รับฟังมาจากคนรู้จักของตน ถึงเหตุการณ์ชวนให้หลายคนที่อ่านต้องยกมือจบต้นคอตัวเอง โดยข้อความนี้กลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกออนไลน์ มีหลายคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความยืนยันว่าเรื่องนี้เรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะตนก็เคยประสบเหตุการณ์นี้มาแล้ว

ไม่ได้มีเพียงรายเดียว มีหลาย ๆ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเหตุการณ์จริง
ไม่ได้มีเพียงรายเดียว มีหลาย ๆ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเหตุการณ์จริง

  • “เรื่องนี้จริงครับ เพื่อนผมตายเพราะนอนหลับ นั่งรถกะบะหลังคนขับ เบรกกะทันหัน จบเลย ทุกคนต้องรู้ว่า เวลาเราหลับ คอจะพับจะอ่อน แบบที่เราเคยเห็นคนสัพหงก เวลาจะนอนบนรถ ต้องนั่งดีดี หาไรรองคอนะครับทุกคน” - ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง
  • “เคสนี้รู้สึกมีเคสคล้ายๆกันเคยเข้ามาโรงพยาบาลผม” - คาดว่าผู้ใช้รายนี้อาจจะทำงานที่โรงพยาบาล
  • “จำได้ขึ้นใจ รอดมาเพราะหมอนรองคอเหมือนกัน เหอๆ” - เป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง
  • “เรื่องจริงที่อันตรายที่สุด เด็กใกล้บ้านเห็นเดินผ่านหน้าบ้านแต่หัดเดินจนเป็นหนุ่ม ม.ปลาย อยู่ก็หายไป มีคนบอกเขาประสบอุบัติเหตุ ไปเที่ยวกับเพื่อน ม.6นั่งเบาะกลางหลังหลับเพื่อนเบรกกระทันหัน ทุกคนปลอดภัย แต่เขาคอหัก พิการตั้งแต่คอจนทุกวันนี้ อันตรายมากค่ะ เสียดายเด็กวัยรุ่นหน้าตาดี อนาคตจะไปได้อีกไกล” - เรื่องราวจากผู้ที่รู้จักคนที่ประสบเหตุการณ์นี้จริง
  • “สองปีที่แล้วเพื่อนเพิ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์คล้ายๆกันคือรถชนแรงมาก สองคนหน้าบาดเจ็บ แผลเต็มตัว ดูภายนอกค่อนข้างหนัก แต่รอดชีวิต คนนั่งหลังดูเหมือนหลับเฉยๆ ไม่มีแผลอะไรเลย แต่เสียชีวิตจากคอหัก เมืองนอกเค้าถึงรณรงค์ว่านั่งข้างหลังต้องคาดเข็มขัดเหมือนกันค่ะ” - เรื่องเล่าจากเพื่อนถึงเพื่อนที่จากไปแล้ว
  • “พี่ที่สนิทกันเขานั่งรถแท็กซี่ไม่ได้หลับด้วย เผลอคุยรถเบรกกระทันคอคงสะบัดค่ะ กระดูกคอร้าวแต่กว่าจะรู้ก็ปวดคอจนปวดหันไปด้านนึงแล้ว ดีที่ระหว่างที่ยังไม่รู้ตัวว่ากระดูกร้าวไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรแรงหรือออกกำลังกายไม่งั้นคงแย่แน่ๆ” - อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่โชคดี ไม่มีใครเป็นอะไรร้ายแรง

เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เมื่อพบข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้หลายราย และนั่นก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นมา ว่าอาการคอหักสามารถเกิดขึ้นมาหลังจากการเบรกอย่างแรงของรถได้จริงหรือ ? คำตอบคือ สามารถขึ้นได้จริง โดยเรียกลักษณะอาการนี้ว่า Whiplash Effect

ดูเพิ่มเติม
>> 4 วิธีรับมือกับจุดอับสายตา

>> ไขความลับ ? ทำไมรถซีดานไม่มีที่ปัดน้ำฝนด้านหลังเหมือนแฮทช์แบ็ก

รู้จักกับ Whiplash Effect

Whiplash Effect อาการอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
Whiplash Effect อาการอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในจังหวะที่รถขับมาเร็ว ๆ แล้วเกิดอาการชนหรือเบรกแรง ๆ ทำให้ศีรษะสะบัดไปยังด้านหน้าและกระชากกลับไปด้านหลังอย่างรวดเร็วในทันทีคล้ายกับฟาดแส้นั้นเรียกว่า Whiplash Effect ซึ่งอาการลักษณะดังกล่าวส่งผลต่อกระดูกต้นคอที่จะเกิดการฉีกขาดได้ บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น อาการชาของแขน อาการหน้ามืดเกิดขึ้นได้ และขั้นเลวร้ายที่สุดคือคอหัก และส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในทันที

วิธีป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ที่รองศีรษะบนรถ ติดตั้งเอาไว้เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี นี่คือเหตุผลที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายต้องมีพนักพิงคอทุกที่นั่งและมีเข็มขัดนิรภัยในทุกจุด ซึ่งที่ต่างประเทศก็มีการระบุกฎหมายข้อนี้เอาไว้แล้วด้วย ว่าที่นั่งในรถต้องพอดีกับคนนั่งและต้องคาดเข็มขัดได้ทุกคน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย โดยระยะที่ดีที่สุดในการปรับพนักพิงควรมีวิธีในการปรับดังนี้

รถที่ดีต้องมีพนักพิงและเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง
รถที่ดีต้องมีพนักพิงและเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง

  • ปรับความสูงของหมอนพิงศีรษะให้สูงกว่าปลายบนหู
  • ต้องมีระยะห่าง Backset น้อยกว่า 10 ซม.
  • ตรวจสอบด้วยการพิงตัวลงไปที่เบาะเต็มที่ หากพบว่าศีรษะด้านหลังมีส่วนที่เป็นกระโหลกแข็ง ๆ สัมผัสพอดีกับหมอนพิงศีรษะ ถือว่าปรับได้ตำแหน่งที่ปลอดภัย
  • ถ้าพิงไปแล้วหมอนรับท้ายทอยอย่างสบายเท่ากับว่าหมอนปรับต่ำเกินไป
  • คาดเข็มขัดนิรภัยควบคู่ทุกครั้ง

คาร์ซีทจึงจำเป็น

คาร์ซีทเป็นสิ่งสำคัญมาก หากมีเด็กเล็กในการเดินทาง
คาร์ซีทเป็นสิ่งสำคัญมาก หากมีเด็กเล็กในการเดินทาง

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่เราควรมีที่นั่งสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท เพราะเด็กมีแรงกำลังต้านน้อยกว่าผู้ใหญ่ หากเกิดแรงกระชากขึ้นมา เด็กตัวเล็กอาจเสียหลักและเกิดอาการฉีกขาดที่กระดูกต้นคอได้เช่นกัน และเรื่องของหมอนรองคอที่หลายคนแนะนำ ก็เป็นเพียงการบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ทางที่ดีคือปรับพนักพิงให้เหมาะสม และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเวลาเดินทางด้วยรถโดยสารทุกประเภท

อาจดูเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะคิดว่ามีโอกาสเกิดได้น้อยแก่ตนเอง แต่อย่างที่บอก คำว่าอุบัติเหตุมันก็คือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ดังนั้นการแก้ไขที่ดีก็คือการป้องกันตัวเอง ให้รักษาระยะความปลอดภัยเอาไว้ตามคำแนะนำที่ถูกต้อง เพราะหากละเลยจุดสำคัญแม้เพียงเล็กน้อย วันหนึ่งอาจกลายเป็นคุณเองที่ไปอยู่ในเรื่องเล่าที่แสนเศร้า ดังเช่นเหตุการณ์ต้นเรื่อง

ดูเพิ่มเติม
>> พ่อแม่-ผู้ปกครองต้องอ่าน! 7 ข้อควรระวังเมื่อมีเด็กอยู่ในรถ

>> ควรหลบ ไม่ควรลน! นี่คือสิ่งที่ผู้ใช้รถควรทำเมื่อเจอรถฉุกเฉิน!

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่ 
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ