ควรหลบ ไม่ควรลน! นี่คือสิ่งที่ผู้ใช้รถควรทำเมื่อเจอรถฉุกเฉิน!

ประสบการณ์ใช้รถ | 29 ส.ค 2562
แชร์ 1

เคยไหม? ขับรถอยู่ดี ๆ เจอรถฉุกเฉินกลับทำตัวไม่ถูกซะงั้น เชิญทางนี้สิ Chobrod มีวิธีปฏิบัติพร้อมข้อกฎหมายขณะเจอรถฉุกเฉินมาฝาก อยากรู้ก็ตามมาดูกันเลย

ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ต้องเคยเจอเหตุการณ์ที่อยู่บนถนนเดียวกันกับรถฉุกเฉิน ซึ่งหลายคนดันเลิกลั่กทำอะไรไม่ถูกซะงั้น ความคิดในหัวคงตีกันให้วุ่นประมาณว่า เอ๊ะ! ควรทำยังไง? จะหลบดีไหม? จะไปทางซ้ายหรือขวาดี? แต่ใจเย็น ๆ ก่อน วันนี้ Chobrod มีข้อควรปฏิบัติขณะเจอรถฉุกเฉินแนะนำให้คุณได้ทราบแล้ว! แต่ก่อนอื่น ต้องรู้จักกันก่อนว่า “รถฉุกเฉิน” คืออะไร

​รถฉุกเฉิน คือรถที่สามารถติดไซเรนได้
รถฉุกเฉิน คือรถที่สามารถติดไซเรนได้

รถฉุกเฉินคืออะไร?

ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคน อาจคิดว่ารถฉุกเฉิน คือ รถพยาบาลเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว รถฉุกเฉินมีความหมายกว้างมากกว่านั้น โดยครอบคลุมไปถึงรถประเภทอื่นด้วย อาทิ รถทหารหรือตำรวจ, รถดับเพลิง, รถพยาบาล หรือรถประเภทอื่น ๆ ที่ได้รับการอนุญาตให้ติดตั้งไซเรนได้ ตามความหมายในพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 4 วรรคที่ 19 ที่นิยามเอาไว้ว่า 

“รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้

​รถดับเพลิงเป็นรถฉุกเฉินประเภทหนึ่ง
รถดับเพลิงเป็นรถฉุกเฉินประเภทหนึ่ง 

โดยรถแต่ละประเภทที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติฯ จะมีแสงไซเรนคนละสีกัน เนื่องจากมีจุดประสงค์ในการใช้งานต่างกัน แบ่งออกเป็น 4 สี คือ

  • แสงสีแดง : รถที่ใช้ในงานราชการ อาทิ รถทหารหรือตำรวจ รถดับเพลิง ฯลฯ
  • แสงสีแดงและน้ำเงิน : รถสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากปลัด กระทรวงสาธารณสุข
  • แสงสีน้ำเงิน : รถพยาบาลประเภทอื่นนอกจากรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข
  • แสงสีเหลือง : สำหรับรถประเภทอื่นๆ ที่ได้รับการอนุญาตให้ติดไซเรนแล่นบนถนนได้ 

ดูเพิ่มเติม 
>> รมว.คมนาคมสั่งทดลองอีกครั้ง “ยกเลิกไม้กั้นทางด่วน” หลังยกแรกทำคนขับสับสน
>> อ่านด่วน ก่อนโดน! ขับตามหลังรถฉุกเฉิน ผิดกฏหมาย!

เมื่อเจอรถฉุกเฉินต้องทำอย่างไร?

เมื่อเจอรถฉุกเฉินสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องหลบเท่านั้น! เพื่อให้เจ้าหน้าที่ขับต่อไปได้อย่างสะดวก  ตามที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 76 ได้ระบุแยกเป็นกรณีเอาไว้ว่า

  1. สำหรับคนเดินเท้า เมื่อเจอรถฉุกเฉินต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
  2. สำหรับผู้ขับขี่ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ จะต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก  
  3. สำหรับคนเลี้ยงสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก

​เมื่อเจอรถฉุกเฉิน ควรหลบให้รถฉุกเฉินไปก่อน
เมื่อเจอรถฉุกเฉิน ควรหลบให้รถฉุกเฉินไปก่อน

หากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว จะต้องโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ทั้งนี้ เพราะรถฉุกเฉิน มีสิทธิ์ขอทางตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตราที่ 75 ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า 

  1. ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิ์ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ และเสียงสัญญาณไซเรนได้ 
  2. สามารถหยุดหรือจอดรถในที่ห้ามจอด
  3. สามารถขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
  4. สามารถขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรได้โดยไม่ต้องหยุด 
  5. ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางการขับรถ หรือเลี้ยวรถตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ 

​รถฉุกเฉิน มีสิทธิ์ขอทางได้ตามกฎหมาย
รถฉุกเฉิน มีสิทธิ์ขอทางได้ตามกฎหมาย

หากทำการฝ่าฝืน ไม่ยอมหลบรถฉุกเฉินละก็ จะต้องโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ยิ่งถ้าเป็นรถพยาบาล เมื่อขอทางแล้วไม่ยอมหลบให้ อาจถูกแจ้งจับฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้เลย! 

แต่ใครที่กำลังหัวใส ถือโอกาสนี้ขับรถตามหลังรถฉุกเฉิน เพราะคิดว่าจะขับไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร ก็ขอบอกเอาไว้เลยว่า ผิดเต็ม ๆ !! เพราะกฎหมายมีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการขับรถตามหลังรถฉุกเฉิน ตามมาตราที่ 127 แห่งพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ว่า 

  1. ห้ามผู้ขับขี่ขับรถตามหลังรถฉุกเฉินซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในระยะต่ำกว่า 50 เมตร
  2. ห้ามผ่านเข้าไปหรือจอดในบริเวณเขตปฏิบัติการดับเพลิง
  3. ห้ามทับสายสูบดับเพลิงที่ไม่มีเครื่องป้องกันสายสูบในขณะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงปฏิบัติการตามหน้าที่ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น
  4. หากไม่ปฏิบัติตามกฏจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทเลยทีเดียว 

​ห้ามเข้าใกล้รถฉุกเฉินในระยะที่ต่ำกว่า 50 เมตร
ห้ามเข้าใกล้รถฉุกเฉินในระยะที่ต่ำกว่า 50 เมตร 

​ขับรถตามหลังรถฉุกเฉินมีความผิดตามกฎหมาย
ขับรถตามหลังรถฉุกเฉินมีความผิดตามกฎหมาย 

การหลบรถฉุกเฉิน นอกจากจะเป็นการลดการก่อกวนเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติงานแล้ว หากตัดแง่ของกฎหมายออกไป แล้วมองในแง่ของศีลธรรม ถือว่าเราได้ให้ความร่วมมือช่วยชีวิตคนไปโดยปริยาย เพราะรถฉุกเฉินบางประเภทถูกใช้เพื่อจุดประสงค์เร่งด่วนที่อาจเกี่ยวกับชีวิตของคน อาทิ รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง นั่นหมายความว่า ถ้าหลบให้รถเหล่านั้นไปถึงที่หมายเร็วเท่าไหร่ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะได้รับการเยียวยาเร็วเท่านั้น ถือเป็นความดีอย่างหนึ่ง ที่ทำได้โดยไม่ต้องลงแรงอะไรมาก แค่หลบรถเท่านั้นเอง... 

ดูเพิ่มเติม 
>> เผย 5 เทคนิคการขับรถขึ้นเขาช่วงหน้าฝนอย่างไรให้ปลอดภัย
>> รวมรถมือสองอเนกประสงค์ 5 รุ่นราคาดี คุ้มค่าเกินใคร ในงบไม่เกิน 5 แสนบาท อัปเดตสิงหาคม 2562

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่ 
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้