เคล็ด (ไม่) ลับเพิ่มความปลอดภัยให้การขับขี่

ประสบการณ์ใช้รถ | 7 ธ.ค 2561
แชร์ 0

สำหรับคนที่ขับรถได้คล่องแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้ระแวดระวังกับสภาพถนนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยที่ฝนตกบ่อย รวมถึงมีหลุม บ่อ และถนนไม่เรียบเสมอกัน เคล็ดไม่ลับที่จะพูดถึงในวันนี้จะทำให้คนใช้รถใช้ถนนขับรถกันได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

การขับรถให้ปลอดภัยมีไม่กี่ขั้นตอนง่ายๆ เพียงแต่เรามักจะหลงลืมกันไปเพราะความเคยชิน

เคล็ด (ไม่) ลับเพิ่มความปลอดภัยให้การขับขี่ 

ประเทศไทยมีอากาศที่หลากหลาย โดยมีวันที่ฝนตกมากพอๆ กับวันที่ร้อนจัด อย่าเพิ่งงไปค่ะ แม้ว่าอากาศดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการขับขี่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก แต่ “ฝน” เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าเราจะห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้ แต่ Chobrod ก็ได้นำเคล็ดลับดีๆ ให้ขับขี่ได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ

เคล็ด (ไม่) ลับขับรถปลอดภัยในวันฝนตก

เคล็ด (ไม่) ลับขับรถปลอดภัยในวันฝนตก

เคล็ดไม่ลับขับขี่ปลอดภัยในวันฝนตกข้อแรก คือ ลดความเร็วในการขับขี่ อาจจะดูเป็นเรื่องปกติเพราะการขับรถก็ไม่ควรขับเร็วเกินจากที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่การขับขี่ในวันฝนตกยิ่งจำเป็นที่จะต้องลดความเร็วลงไปอีก เนื่องจากเมื่อฝนตกจะทำให้พื้นถนนเปียก และลื่น ส่งผลให้ระยะเบรกยาวขึ้น รวมถึงทำให้เกิดอาการเหินน้ำ หรือล้อรถไม่สัมผัสกับพื้นถนนอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อฝนตกจึงควรลดความเร็วลงในระดับสม่ำเสมอกันนะคะ

ข้อที่ 2 หลีกเลี่ยงเส้นทางที่เกิดน้ำท่วม อย่างที่รู้กันว่าไม่ว่าจะจังหวัดไหนในประเทศไทย เมื่อฝนตกหนักมากๆ ก็จะเกิดอาการน้ำรอการระบาย หรือน้ำท่วมนั่นแหละค่ะ ซึ่งเราไม่อาจทราบระดับความลึกของน้ำได้เลย บางครั้งอาจดูไม่ลึกมาก แต่กว่าจะรู้ตัวก็ถอยหลังกลับไม่ทันซะแล้ว ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถลุยน้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยของท่อไอเสีย และเครื่องยนต์ที่น่าทะนุถนอมของเรากันนะคะ

ดูเพิ่มเติม
>> 
ขับรถปลอดภัยด้วยวิธีง่ายๆ ... ระมัดระวังได้ทั้งตนเองและผู้อื่น
>> 
ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจกฎหมาย !!!​

การขับรถบนพื้นที่เปียกน้ำหากขับด้วยความเร็วอาจเกิดการเหินน้ำได้นะคะ

การขับรถบนพื้นที่เปียกน้ำหากขับด้วยความเร็วอาจเกิดการเหินน้ำได้นะคะ

ข้อที่ 3 ค่อยๆ แตะเบรก เมื่อขับรถตกหล่ม หลายคนที่ขับรถตกหล่มก็จะรีบเหยียบเบรกด้วยความตกใจ แต่สำหรับวันฝนตกอาจเป็นการซ้ำเติมให้เรื่องที่เจออยู่ แย่ลงกว่าเดิมก็ได้ เพราะการใช้งานผ้าเบรกขณะเปียกมากเกินไป อาจทำให้ผ้าเบรกหยุดทำงาน หรือไม่สามารถใช้งานได้อีก ฉะนั้น หากขับรถตกหล่มในวันฝนตก หรือตกแอ่งน้ำ สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือค่อยๆ เหยียบเบรกเพื่อเพิ่มความร้อน และการเสียดสีให้ผ้าเบรกแห้ง ซึ่งจะช่วยให้การขับรถออกจากหล่มทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ข้อ 4 คราบน้ำมันบนพื้นถนน สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องระวังที่สุดเมื่อต้องขับรถบนพื้นถนนที่เปียก เพราะหลังจากที่ฝนตกจะทำให้คราบน้ำมันจากรถยนต์ก่อตัวขึ้นใหม่ และทำให้พื้นถนนลื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งคราบน้ำมันจากรถยนต์มักจะมีปริมาณสะสมมากบริเวณสี่แยกหรือไฟจราจรที่รถยนต์มักต้องหยุดรอ เพราะฉะนั้น แม้ว่าฝนหยุดตกแล้ว แต่คุณยังคงต้องขับรถอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการลื่นไถลบนพื้นถนนโดยเฉพาะจุดดังกล่าว

การขับรถชิดกับคันข้างหน้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงยังไม่สามารถมองเห็นรถในเลนสวนได้อีกด้วย

การขับรถชิดกับคันข้างหน้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงยังไม่สามารถมองเห็นรถในเลนสวนได้อีกด้วย

นอกเหนือจากการขับรถในตอนที่ฝนตกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว การขับรถในสถานการณ์ปกติก็ต้องมีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

ข้อแรกที่ต้องระมัดระวังก็คือ การเว้นระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะบางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ที่ต้องทำให้เบรกกะทันหันได้ การเว้นระยะห่างจะช่วยให้เกิดความเสียหายได้น้อยกว่า หรืออาจไม่เกิดความเสียหายเลย โดยในการการขับขี่บนพื้นถนนที่แห้ง จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างรถประมาณ 100 เมตร ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. และ 80 เมตร ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. หรือคำนวณง่ายๆ ก็คือ 1 เมตร ต่อความเร็ว 1 กม./ชม. นั่นเอง หากขับขี่บนถนนเปียกน้ำฝน จะต้องเว้นระยะห่างเป็นสองเท่า สรุปได้ว่าผู้ขับขี่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ สภาพถนน ล้อรถ และปัจจัยอื่นๆ ในการรักษาระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการชนปะทะ หากรถคันหน้ามีการหยุดรถกะทันหัน

ข้อที่ 2 คือ ไม่ควรขับรถตัดหน้ารถคันอื่น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนเลนโดยไม่จำเป็น หรือการเปลี่ยนเลนกะทันหันนั้น ทำให้รถที่ตามมาข้างหลังต้องเบรกกะทันหัน หร้อต้องหักหลบเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ระหว่างเปลี่ยนเลน จะต้องมองกระจกหลังเสมอ และต้องมองข้ามไหล่เพื่อดูรถที่ขับตามมา อย่าประมาทเชียวนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ง่ายเลยทีเดียว

ขับรถตอนกลางคืนหากไม่ระวังอาจเกิดอันตรายได้

ขับรถตอนกลางคืนหากไม่ระวังอาจเกิดอันตรายได้

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพบเจอกันอยู่ตลอดก็คือการขับรถในเวลากลางคืน แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่จะเผลอมองข้ามเรื่องที่จะพูดถึงเหล่านี้ไม่ได้เลยนะคะ

เรื่องแรก ระวังอย่าลืมเปิดไฟหน้ารถเป็นอันขาด เพราะไฟหน้ารถไม่ได้ช่วยให้มองเห็นถนนหนทางเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนนคนอื่นมองเห็นรถยนต์ของคุณอีกด้วย และเมื่อขับขี่บนถนนที่เป็นลูกรังหรือเส้นทางที่เปลี่ยวมืด อย่าลืมเปิดไฟสูงขณะขับขี่ และลดไฟต่ำลงเมื่อมีรถสวนวิ่งมาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนท่านอื่นนะคะ

เรื่องที่ 2 คือ ไม่ควรจ้องไฟรถเป็นเวลานานๆ อย่างที่รู้กันว่ารถยนต์ทุกคันมีไฟหน้า และไฟท้ายรถ แต่เราไม่ควรจ้องแสงไฟของหน้ารถที่กำลังสวนเลนมา เพราะการจ้องแสงไฟเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ตาพร่า หรือบอดไปชั่วขณะ และยิ่งเป็นการทำให้ค่าสายตาการมองเห็นในช่วงกลางคืนลดลงอีกด้วย ดังนั้น จึงควรตั้งใจขับขี่ และมองไปที่ถนน ไม่ควรมองหรือจ้องไปที่แสงไฟของรถยนต์ที่ขับสวนเลน

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการขับขี่ก็คือ

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการขับขี่ก็คือ "สติ" และการเคารพกฎจราจรอย่างเข้มงวดนะคะ

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นการรณรงค์ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ก็คือ การไม่ขับขี่เมื่อมีอาการง่วง หรือมึนเมา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การขับขี่ในช่วงกลางคืนอันตรายกว่าเวลากลางวัน เพราะผู้ขับขี่ที่มีอาการดังกล่าวมักจะเผลอละเมิดป้ายจราจร ขับขี่บนเลนสวน หรือเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว เป็นต้น สิ่งที่จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากอุบัติเหตุขณะขับขี่ในช่วงกลางคืนได้นั้น คือ การระวังผู้ขับขี่อื่นๆ บนท้องถนน ถ้าหากเห็นรถยนต์คันอื่นมีท่าทีการขับขี่ที่อันตรายก็ควรเว้นระยะห่างจากรถยนต์คันดังกล่าว และขับให้ช้าลง สิ่งสำคัญก็คือคุณไม่ควรขับขี่รถยนต์เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ หรือแวะพักงีบเล็กน้อยเพื่อคลายอาการง่วงที่เกิดขึ้นนะคะ

ดูเพิ่มเติม
>> 
ฝ่าฝืนกฎหมาย.. คนขับรถฝ่าไฟแดงทางม้าลาย แทบไม่จอดให้คนข้าม
>> 
ว่ายังไงนะ ..."ขับขี่ปลอดภัย รับหน้าฝน กับ MG"!!

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับเคล็ด (ไม่) ลับการขับขี่รถยนต์ให้ปลอดภัยที่ได้หยิบยกมาเสนอให้ในวันนี้ แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่หลายคนก็มักจะหลงลืมเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ไป ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่อย่าลืมที่จะปฏิบัติตามบทความนี้นะคะ สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับรถดีๆ สามารถติดตามได้ที่ Chobrod.com ค่ะ

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่  
ติดตามราคารถยนต์ เชิญที่นี่