การเสียดสีกันระหว่างกระบอกสูบและเสื้อสูบเพื่อขับส่งกำลังนั้นไปยังล้อทั้งสี่หมุนเคลื่อนไปข้างหน้านั้นจะสำเร็จไปไม่ได้เลยหากไม่มีพระเอกที่เรียกว่า น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องมันคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสามัคคีกันระหว่างกระบอกสูบและเสื้อสูบ ฉลากข้างขวดน้ำมันเครื่องนั้นเป็นเหมือนหน้าต่างบานสำคัญของสินค้าชนิดนี้เลยทีเดียว เพราะน้ำมันเครื่องเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่หากไม่มีฉลากที่ข้างขวดก็แทบจะแยกความแตกต่างของคุณภาพน้ำมันในแต่ละแบรนด์ไม่ได้เลย ดังนั้นการรู้เรื่องมาตรฐานของฉลากและตัวย่อต่างๆไว้จะทำให้คุณนำน้ำมันเครื่องมาใช้ได้เหมาะสมกับรถยนต์ของคุณที่สุด
เครื่องยนต์หัวใจสำคัญของรถยนต์
ความแตกต่างของชนิดน้ำมันเครื่อง
ชนิดน้ำมันเครื่องที่เห็นในท้องตลาดปัจจุบันจะมีตั้งแต่ชนิดธรรมดา กึ่งสังเคราะห์และสังเคราะห์100% แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นเราจะลองเปรียบเทียบเรื่องคุณภาพของน้ำมันเครื่องกับความบริสุทธิ์ของน้ำกันครับ น้ำเปล่าที่เราคุ้นเคยกันดีนี่ล่ะครับ โดยปกติก่อนที่เราจะนำน้ำมาบริโภค น้ำเหล่านี้ก็มาจากคลองประปาหรือน้ำบาดาล เอามาเข้ากระบวนการทางประปาได้ออกมาเป็นน้ำประปาที่ไหลมาตามท่อ สมมติเราลองแบ่งความบริสุทธิ์หรือความสะอาดของน้ำเปล่าออกเป็น3ระดับ คือ ระดับที่สูงที่สุดหรือสะอาดที่สุดคือน้ำกลั่น ระดับรองลงมาคือน้ำกรอง และระดับสุดท้ายคือน้ำประปา เมื่อนำระดับเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับชนิดของน้ำมันเครื่องก็พอจะแบ่งให้เข้าใจความหมายได้ดังนี้
1. น้ำมันเครื่องชนิดสังเคราะห์ 100% เปรียบเปรยเหมือน น้ำกลั่น
2. น้ำมันเครื่องชนิดกึ่งสังเคราะห์ เปรียบเปรยเหมือน น้ำกรอง
3. น้ำมันเครื่องชนิดธรรมดา เปรียบเปรยเหมือน น้ำประปา
น้ำมันเครื่องพระเอกของเครื่องยนต์
ถามว่าน้ำเปล่าทั้ง 3 ระดับนี้ดื่มได้ไหม แน่นอนว่าคำตอบคือได้ เฉกเช่นเดียวกันกับน้ำมันเครื่อง ไม่ว่าจะชนิดไหนก็สามารถใช้กับรถยนต์ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ สมมติว่าทุกครั้งที่เราดื่มน้ำเราดื่มน้ำประปาเท่านั้น ไม่สนน้ำประเภทอื่นเลยเป็นเวลานาน5ปี เปรียบเทียบกับคนที่ดื่มน้ำกลั่นโดยไม่ดื่มน้ำชนิดอื่นเลยเป็นเวลา5ปีเท่ากัน คุณว่าสุขภาพร่างกายหรือไตของใครน่าจะเสื่อมสภาพมากกว่า ถึงแม้จะยังไม่มีงานวิจัยเรื่องนี้ชัดเจนก็พอจะตอบได้ว่าคนที่ดื่มเฉพาะน้ำประปาเป็นเวลา5ปี น่าจะมีสภาพร่างกายที่เสื่อมสภาพมากกว่า
เครื่องยนต์ของรถก็เช่นกันครับ รถที่ใช้แต่น้ำมันชนิดธรรมดาตลอด5ปี เครื่องยนต์ก็ย่อมจะเสื่อมสภาพกว่ารถยนต์ที่ใช้แต่น้ำมันสังเคราะห์100%ที่ลักษณะการขับขี่คล้ายๆกันในเวลา5ปีเท่ากัน แต่คงไม่ถึงกับเครื่องยนต์พังหรอกครับหากเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องปกติ เป็นเรื่องของการเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์ที่ไม่เท่ากันมากกว่า เรียกได้ว่าความสะอาดหรือความบริสุทธิ์มีผลต่อเรื่องน้ำมันเครื่องและเครื่องยนต์อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าน้ำมันเครื่องจะสะอาดเครื่องจะใหม่หรือสะอาดแค่ไหนก็ยังต้องใช้ตัวกรองน้ำมันเครื่อง เมื่อรถขับไปได้ระยะทางหนึ่ง ตัวกรองนั้นก็เขรอะไปด้วยคราบสกปรก แต่มันก็เป็นตัวช่วยทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ชนิดน้ำมันเครื่องแบบไหน ใช้อย่างไร
กรณีของน้ำมันเครื่องที่ใช้กับรถยนต์ ต่างประเทศมีการแบ่งใช้ชนิดน้ำมันเครื่องในวงกว้าง น้ำมันชนิดต่างๆมีอายุการใช้งานที่ต่างกันผู้ผลิตจึงใช้เกณฑ์ระยะทางที่วิ่งได้มาแบ่งแยกให้ลูกค้าเข้าใจง่ายๆดังนี้
การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะทางที่ผู้ผลิตแนะนำช่วยถนอมเครื่องยนต์
ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ไม่จำเป็นต้องเป๊ะๆหรือเป็นกฎตายตัวขนาดนั้น ถ้าลองลากระยะทางเพิ่มไปกว่าที่กล่าวข้างต้นจะส่งผลอะไรหรือไม่ ก็คงไม่ส่งผลชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ครับ เพราะตัวผมเองใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์100%ลากไปถึง15,000กิโลเมตรก็ทำมาแล้ว แต่ในระยะยาวจะมีผลอย่างไรนั้นคงยากที่จะหาใครตอบได้ชัดเจน
เกรดของน้ำมันเครื่อง ทำไมมีหลายมาตรฐานและจะดูตัวไหนดี
เหตุผลที่น้ำมันมีหลายเกรดเพราะว่ารองรับโดยหลายสถาบันและแต่ละสถาบันก็รองรับในด้านที่แตกต่างกันออกไป จึงกลายเป็นว่ายิ่งรองรับจากหลายสถาบันก็ยิ่งราคาสูงเพราะผู้ผลิตก็ต้องพยายามผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของสถาบันนั้นๆจึงจะสามารถติดตราสัญลักษณ์รับรองลงไปได้ มาตรฐานที่เห็นกันบ่อยในท้องตลาดมีดังนี้
1. มาตรฐาน SAE สัญลักษณ์ตัวนี้สำคัญและมองเห็นได้ง่าย หรือถึงคุณไม่ระบุคนขายก็อาจจะถามอยู่ดี คือตัวเลข 0W-20 หรือ 5W-30 ฯลฯ พวกนี้แนะนำให้เป็นไปตามคู่มือรถแต่ละคัน เลขหน้าWคือความเป็นไขไม่เป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำมากๆซึ่งประเทศเราไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไร ประเทศที่เกี่ยวมากๆก็ประเทศที่หิมะตกหรือมีทะเลทรายเพราะอุณหภูมิก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์จะแตกต่างจากบ้านเรามาก ส่วนเลขหลังW คือความหนืดของมันเครื่อง เครื่องเก่า เครื่องหลวมก็เลขมากหน่อย อย่างไรก็ตามเลขเหล่านี้ก็ใช้ตามที่ระบุในคู่มือรถจะดีที่สุด
2. มาตรฐาน API ความล้าสมัยของน้ำมันเครื่องต่อเครื่องยนต์รถ ตั้งแต่ก่อนปี1930ก็จะใช้ตัวย่อในสมัยนั้นว่าSA เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนามาเรื่อยให้เหมาะกับเครื่องยนต์ที่ใหม่ขึ้นเป็น SB, SC, SD มาเรื่อยๆ จนล่าสุดรถที่ผลิตหลังปี 2011 ควรเป็น API SN ไม่ควรต่ำกว่านั้นเพราะน้ำมันอาจจะยังไม่รองรับกับเครื่องยนต์ที่มีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า แต่รถปีเก่าหน่อยก็ยังใช้มาตรฐาน API SN ได้
ประวัติการใช้ตัวย่อมาตรฐาน APIตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3. มาตรฐาน ACEA มาตรฐานตัวนี้เป็นมาตรฐานของยุโรป ถ้าข้างขวดไม่มีมาตรฐานตัวนี้ระบุแสดงว่าน้ำมันเครื่องนั้นไม่ได้รองรับมาตรฐานตัวนี้ ตัวA สำหรับเบนซินตัวB สำหรับดีเซลจะมีตัวเลขต่อท้าย เช่น A1,B1 หรือ A2,B2 ไปถึง A5,B5 ซึ่งเลขที่มากกว่าหมายถึงคุณภาพจะดีกว่า ที่เหลือก็แล้วแต่งบประมาณครับ ซึ่งโดยปกติคนใช้รถในชีวิตประจำวันทั่วๆไป ไม่น่าจะมีผลมาก ในบรรดามาตรฐานทั้ง3ตัวที่กล่าวมา ACEAดูจะสำคัญน้อยที่สุด เพราะถึงไม่มีก็ยังไม่กระทบกับเครื่องยนต์เท่าใดนัก
รู้เขา รู้เรา รู้รถ
รู้เขา(น้ำมันเครื่อง) รู้เรา(การใช้งานรถยนต์ของเรา) รู้รถ(รถปีไหนเครื่องยนต์ใด) พร้อมทั้งการรสังเกตที่ฉลากของน้ำมันเครื่อง ดูถึงมาตรฐานต่างๆที่รองรับจะทำให้เราเข้าใจว่ารถยนต์ของเราจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพดีแค่ไหน รถวิ่งมากหรือวิ่งน้อย รถคันนี้จะใช้ไปอีกนานกี่ปี รถคันนี้เป็นรถที่ผลิตตั้งแต่ปีใด เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับตัวย่อที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ชาวChobrodน่าจะรู้จักน้ำมันเครื่องกันมากขึ้นแล้วนะครับ และหวังว่าเสื้อสูบกับกระบอกสูบในรถของคุณจะทำงานร่วมกันอย่างสามัคคีไปอีกนาน
เพิ่มเติม
ติดตามอัพเดตข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ค้นหาข้อมูลรายละเอียดสามารถเข้าดูวีวิวรถ เชิญที่นี่