กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในไทย กับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ประสบการณ์ใช้รถ | 16 พ.ค 2566
แชร์ 9

รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยข้อดีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้น้ำมัน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicle) ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการสั่งจองรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่มียอดจองมากกว่า 9,234 คัน หรือคิดเป็น 20% จากยอดรวมทั้งหมด รวมถึงการที่ค่ายรถต่าง ๆ ทั้งจากจีนและยุโรปนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำการตลาดในไทยมากขึ้น เช่น GWM, MG, BYD, NETA V, Tesla เป็นต้น 

ผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดรถ EV อันเนื่องมาจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค 

สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 2,923.397 ล้านบาท สนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการจะต้องเซ็น MOU เข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (BEV) ของรัฐบาลไทย จึงจะได้รับส่วนลด ดังนี้ 

  • เงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะ คันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน
  • ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
  • ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์ EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถEV ในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
  • ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%

โดยผู้เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศ ชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าในช่วงปี 2565 - 2566 ภายในปี 2567 (ขยายเวลาได้ถึงปี 2568) หมายความว่า หากนำเข้ามา 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน โดยสามารถผลิตรถรุ่นใดชดเชยก็ได้ ยกเว้นรถที่มีราคาขาย 2-7 ล้านบาทจะต้องผลิตรถรุ่นเดียวกับที่นำเข้าเพื่อชดเชย

การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

นโยบาย “30@30” ตั้งเป้าปี 2030 ผลิตรถยนต์ ZEV อย่างน้อย 30%

คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกนโยบาย “30@30” ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เพื่อเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ดังนี้

  • กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน พร้อมส่งเสริมการผลิตรถประเภทอื่น ๆ ได้แก่ สามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง
  • กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน 
  • กำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,450 สถานี

สำหรับมาตรการส่งเสริม ZEV นั้น ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ ทั้งยังส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุ เป็นต้น

รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

การออกมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะทำให้ได้รถ EV ในราคาถูกลงแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดมลพิษทางอากาศ สอดคล้องกับกระแส “ลดโลกร้อน” ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังติดตั้งไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หากแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ ยานยนต์ไฟฟ้าอาจกลายเป็นระบบขับเคลื่อนหลักของประเทศไทยในอนาคตจริง ๆ ก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, กระทรวงพลังงาน 

อ่านเพิ่มเติม >>