สำหรับใครที่เบื่อหน่ายกับความไม่เป็นระเบียบและไร้วินัยในการจราจรของเมืองไทยนั้น เรียกว่าเป็นฤกษ์งามยามดีเลยทีเดียว เพราะล่าสุดกฎหมายจราจรใหม่ได้เอื้อให้คนที่แจ้งจับคนกระทำความผิดจราจร ได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 50% เลยทีเดียว
เรียกว่าเป็นกฎหมายด้านการจราจรใหม่ ที่ทำให้หลาย ๆ คนร้องเฮไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างระเบียบวินัยในสังคมแล้ว ยังช่วยให้คนที่เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีรายได้อีกต่างหาก โดยในมาตรการดังกล่าวนี้ ทางกองปราบปรามได้ประกาศให้มีผลอย่างเป็นทางการ เพื่อลดการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ และช่วยสร้างระเบียบในสังคมที่หลาย ๆ คนมองข้าม ซึ่งมีข้อห้ามที่ประกาศออกมาทั้งหมด 8 ข้อ โดยใน 5 ข้อนั้น เป็นการบังคับใช้กับคนที่ใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะ
มาตรการควบคุมความเป็นระเบียบบนท้องถนนของกองปราบปราม
ทั้งนี้ ทาง Unseencar.com จะมารวบรวมมาตรการที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมาให้คุณทราบ เพราะนอกจากจะนำไปแจ้งจับคนที่กระทำความผิดได้แล้ว ก็ยังเป็นการเตือนให้ทราบว่าหากคุณทำผิดก็อาจโดนแจ้งจับแทนก็ได้เช่นเดียวกัน
มาตรการควบคุมความเป็นระเบียบบนท้องถนนของกองปราบปราม
สำหรับรถบรรทุกที่บรรทุกจำพวกหิน ทราย หรือแม้แต่ดินทุกประเภท ต้องระมัดระวังการทำร่วงหล่นบนพื้นถนนเป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการหลบหลีกหิน ดิน หรือแม้แต่ทรายที่อยู่บนพื้นถนน ดังนั้น ก่อนที่รถจะบรรทุกต้องจัดระเบียบของตัวรถให้ดีและแน่นหนา เพื่อไม่ให้เกิดการร่วงหล่นบนพื้นในยามที่ขับขี่
โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 13 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่าเจ้าของรถที่บรรทุกสัตว์ กรวด หิน ดิน เลน ทราย สิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือสิ่งอื่นใด ต้องจัดให้รถอยู่ในสภาพที่ป้องกันไม่ให้สิ่งดังกล่าวตกหล่น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท
มาตรการควบคุมรถบรรทุกไม่ให้ทำหิน ทราย หรือดิน ร่วงหล่นบนถนน
เรียกว่าเป็นมาตรการที่ทำให้เหล่าคนรักการแต่งรถซิ่งต้องครวญครางไม่ใช่น้อย เพราะตามกฎหมายนั้นได้กำหนดเรื่องการแต่งรถเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ไปรบกวนคนอื่น ๆ ซึ่งการแต่งรถนั้น หลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือแต่งรถเพื่อความสวยงามทั่วไป โดยใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและไม่ผิดกฎหมาย และอีกประเภทหนึ่งคือแต่งรถตามความชอบ ตามใจฉัน แถมไม่ได้เลือกอุปกรณ์จากมาตรฐาน ดังนั้น การแต่งรถในประเภทที่สองนั้นถือว่าค่อนข้างผิดกฎหมายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งซิ่ง การดัดแปลงเครื่องยนต์จนทำให้เกิดเสียงรบกวนเกิดค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หรือแม้แต่การดัดแปลงส่วนอื่น ๆ ของตัวรถ จนทำให้ไม่เหลือเค้าโครงเดิมตามที่จดทะเบียนเอาไว้
โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 16 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของถนนเป็นสถานที่ซ่อม เปลี่ยนแปลง ต่อเติมหรือติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม
>> ไบค์เกอร์อ่านด่วน แต่งบิ๊กไบค์แบบไหนให้ถูกใจกฎหมายปี 62
>> รวม 5 คำถาม ที่คุณควรถามประกันก่อนจะซื้อประกันภัยรถยนต์
มาตรการควบคุมการแต่งรถ หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่บนถนน
สำหรับการจดรถบนทางเท้านั้น ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงเท่าใดนัก แต่จริง ๆ แล้วกลับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากสภาพการจราจรในเมืองไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ค่อนข้างติดขัด มีพื้นที่การจราจรและจอดรถที่จำกัด จึงทำให้เหล่าคนใช้รถเลือกที่จะนำรถส่วนตัวของตนเองไปจอดไว้ตามทางเท้า ซึ่งเป็นทางที่เอื้อให้คนเดินเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกิดการนำรถมาจอดตามทางเท้าก็ถือว่าเป็นการส่งผลให้คนที่ต้องใช้ทางเท้าลำบากมากขึ้น อาจจะต้องเลี่ยงไปเดินบนถนนแทนเพราะทางเท้าไม่สามารถเดินได้ หากร้ายแรงก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับรถที่สัญจรอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน เพื่อความเป็นระเบียบในการใช้รถใช้ถนน
โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใด (1) กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย (2) จอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เว้นแต่ เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอด หรือขับขี่ได้ หากละเมิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรการควบคุมการจอดรถบนทางเท้า
การนำรถวิ่งบนทางเท้านั้น นับว่าเป็นปัญหาสุดฮิตของเหล่าคนใช้รถใช้ถนนในเมืองกรุงเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ จะสังเกตได้ว่าหากลองมาเดินบนทางเท้าหรือฟุตบาทในกรุงเทพนั้น มักจะต้องเดินหลบรถจักรยานยนต์ที่วิ่งสวนทางมาหรือวิ่งตามหลังมาอยู่เป็นประจำ บางทีก็ต้องลงไปเดินบนถนนแทนเพราะรถกินพื้นที่บนทางเท้า ซึ่งปัญหานี้นับว่าคนเมืองกรุงค่อนข้างพบเจอบ่อย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98 ต่อวัน นับว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังและแก้ไขไม่ได้เสียที เพราะฉะนั้น หากคุณกำลังหารายได้อยู่ก็ลองแจ้งจับรถที่มาวิ่งบนทางเท้าดูก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะคนที่ทำผิดจะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันผิดและรบกวนคนใช้ทางเท้าคนอื่น ๆ แถมคุณยังได้เงินค่าแจ้งจับด้วย
โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใด (1) กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย (2) จอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เว้นแต่ เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอด หรือขับขี่ได้ หากละเมิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรการควบคุมการขับขี่รถทุกประเภทที่มีเครื่องยนต์บนทางเท้า
อีกหนึ่งปัญหาที่แสดงถึงความมักง่ายในการใช้รถใช้ถนนของคนไทยส่วนหนึ่งนั้น ก็คือนิสัยการทิ้งซากหรือชิ้นส่วนของรถไว้ตามที่สาธารณะ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เฉี่ยวชน แล้วไม่เก็บเศษซากของชิ้นส่วนนั้น ๆ กลับด้วย ซึ่งตามกฎหมายแล้วนอกจากขยะที่ห้ามทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะแล้ว ยังรวมไปถึงชิ้นส่วนหรือเศษซากของยานยนต์ด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะไปกีดขวางการจราจรของผู้อื่น รวมถึงส่งผลต่อความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 18 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้ง วาง หรือกองซากยานยนต์บนถนนหรือสถานสาธารณะ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรการควบคุมการทิ้งซากรถบนถนนหรือที่สาธารณะ
เป็นอย่างไรบ้าง กับมาตรการการควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้านการจราจรทางบก ที่นอกจากผู้ที่พบเห็นและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือกองปราบปรามจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นระเบียบแล้ว ยังได้รับค่าตอบแทนจากกองปราบปรามด้วยเช่นกันและที่สำคัญหากคุณคือคนหนึ่งที่ยังทำผิดในการใช้รถใช้ถนนอยู่ก็ขอให้ลด ละ เลิก เพราะคุณอาจจะโดนแจ้งจับแล้วเสียค่าปรับเสียเองก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะหาว่า Unseencar.com ไม่เตือน
อ่านเพิ่มเติม
>> เลี้ยวซ้าย(ไม่)ผ่านตลอด เรื่องเข้าใจผิด ๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับกฎหมายจราจร
>> ชัวร์หรือไม่ Mazda2 มีข้อดีที่มากกว่าเรื่องประหยัดน้ำมัน