9 อาการที่มีผลต่อการขับรถ ไม่ควรขับรถ ถ้ามีอาการเหล่านี้ !

ประสบการณ์ใช้รถ | 14 พ.ย 2566
แชร์ 3

รวบรวมมาแล้ว ! 9 อาการที่มีผลต่อการขับรถ หากมีอาการเหล่านี้ อย่าขับรถโดยเด็ดขาด ! เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นอกจากการขับรถโดยประมาท ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่เคารพกฎจราจร จะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว โรคและปัญหาสุขภาพก็มีผลต่อการขับขี่ด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือไม่ควรขับรถคนเดียวโดยเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้นั่นเอง ซึ่งจะมีอาการใดบ้าง มาดูคำตอบกัน 

อาการที่มีผลต่อการขับรถ

9 อาการมีผลต่อการขับรถ

1. อาการเกี่ยวกับสายตา

ไม่ว่าจะเป็น จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจก หรืออื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการมองเห็นเวลาขับขี่ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือบนเส้นทางที่ทัศนวิสัยไม่ดี ไม่เอื้อต่อการมองเห็น 

2. อาการหลงลืม 

อาการหลงลืม ส่งผลต่อการตัดสินใจ ทำให้จดจำเส้นทางไม่ได้ และขาดสมาธิในการขับรถ ในบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาขับรถหลงทางเลยทีเดียว จึงไม่ควรขับรถคนเดียวโดยเด็ดขาด

3. โรคหัวใจ

หากเกิดความเครียดในระหว่างการขับรถ เพราะสภาพจราจรติดขัด หรือมีเหตุให้ตกใจกับสถานการณ์ไม่คาดฝัน อาจทำให้แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจวายเฉียบพลันได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง และพกยาติดตัวไว้ตลอดเวลา 

4. อาการปวดตามจุดต่าง ๆ

อาการปวดข้อเข่า อาจทำให้เหยียบเบรกหรือคันเร่งได้ไม่เต็มที่ ส่วนอาการกระดูกคอเสื่อม จะทำให้หันหน้าดูจราจรหรือเส้นทางรอบข้างได้ลำบาก ผู้ที่มีอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถไกล ๆ เป็นระยะเวลานาน 

อาการที่มีผลต่อการขับรถ

อ่านเพิ่มเติม >>

5. พาร์กินสัน

ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน จะมีอาการมือสั่น เท้าสั่น ตัวสั่น (ขณะอยู่เฉย ๆ) เกร็ง ส่งผลต่อการขับรถ หากมีอาการรุนแรงมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดภาพหลอนได้ ซึ่งถือว่าเสี่ยงอันตรายมาก ๆ

6. เบาหวาน

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (ในระยะควบคุมไม่ได้) หากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้หน้ามืด ตาพร่ามัว ส่งผลต่อการมองเห็น ใจสั่น และอาจหมดสติได้ ส่วนผู้ที่มีอาการที่ไม่รุนแรงมาก ยังสามารถขับรถได้ แต่ควรพกลูกอม หรือน้ำหวานไว้ดื่มขณะขับรถด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

7. ลมชัก

ผู้ที่เป็นโรคลมชัก หากเจอสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด อาจเกิดอาการชักเกร็ง กระตุก หรือเหม่อนิ่งไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ชั่วขณะ จึงห้ามขับรถคนเดียวโดยเด็ดขาด 

8. โรคหลอดเลือดในสมอง

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ Stroke จะแสดงอาการอ่อนแรง หรือชาบริเวณหน้า แขน ขา อาการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจะลดลง ไม่มีแรงบังคับพวงมาลัยหรือเปลี่ยนเกียร์ ควรปรึกษาแพทย์และรักษาอาการของโรคให้หายเป็นปกติก่อนกลับมาขับรถ

9. อาการป่วยที่ต้องกินยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจทำให้มีอาการง่วงซึม หรือมึนงง ส่งผลให้การรับรู้และการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ลดลง จึงไม่ควรขับรถ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องขับจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน 

อาการที่มีผลต่อการขับรถ

หากมีอาการข้างต้น ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ร่วมถนนคนอื่น ๆ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อร่างกาย และทรัพย์สิน 

ขอบคุณข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก

หากสนใจรถมือสอง ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Chobrod.com
ตลาดรถมือสอง มีรถมากมายให้เลือกในราคาที่ถูกใจ