เจาะคำถามล้วงคำตอบ.. การขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด!

ประสบการณ์ใช้รถ | 2 ม.ค 2562
แชร์ 0

เดี๋ยวนี้ถ้าอยากได้รถใหม่สักคันก็ไม่ยากเท่าไรแล้ว เพราะมีบริษัทมากมายที่พร้อมจะเสนอสินเชื่อให้เราพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทไฟแนนซ์ หรือลิสซิ่งต่างๆ (ที่มีทั้งในเครือธนาคาร หรือเครือค่ายรถเอง) ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า อะไรที่เราควรรู้ก่อนจะเดินไปขอสินเชื่อรถใหม่

เจาะคำถามล้วงคำตอบ.. การขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด!

เจาะคำถามล้วงคำตอบ.. การขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด!

1.สินเชื่อเช่าซื้อรถคืออะไร

ตอบ ถ้าจะตอบง่ายๆ ก็คือ การที่เราไปทำสัญญา "เช่าซื้อ" รถกับบริษัทให้สินเชื่อต่างๆ นั่นเอง โดยเริ่มแรกเราก็ต้องชำระเงินก้อนหนึ่งให้บริษัทขายรถเรียกว่าเงินดาวน์ และเงินค่ารถส่วนที่เหลือก็เข้าไฟแนนซ์โดยผ่อนเป็นรายงวดให้บริษัทสินเชื่อไปเรื่อยๆ เพื่อเราจะได้ใช้ และครอบครองรถ ซึ่งในระหว่างที่ผ่อนค่างวดอยู่นี้ บริษัทให้สินเชื่อยังเป็นเจ้าของรถตามกฎหมายอยู่ (เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่ารถเต็มจำนวนให้บริษัทขายรถไปแล้ว) แต่พอเราได้จ่ายเงินค่างวดครบตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว เราถึงจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รถ แต่ถ้าเราจ่ายไม่ครบ รถก็จะไม่เป็นของเรา และบริษัทให้สินเชื่อก็จะเข้ามายึดรถเรากลับไป ในเรื่องนี้ขอแนะนำนิดนึงนะคะว่า ถ้าเป็นไปได้ลองพิจารณาบริษัทให้สินเชื่อที่มีความมั่นคงทางการเงินหน่อยก็ดี เพราะตราบใดที่เรายังผ่อนค่างวดไม่ครบ รถที่เราขับอยู่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นของบริษัทอยู่ หากบริษัทให้สินเชื่อเหล่านี้มีปัญหาขึ้นมา (เช่น ล้มละลาย) รถเราก็อาจจะได้รับผลกระทบตามมาได้

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับบุคคลธรรมดาจะมีทั้งสินเชื่อรถมือหนึ่งและมือสอง

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับบุคคลธรรมดาจะมีทั้งสินเชื่อรถมือหนึ่งและมือสอง

2.สินเชื่อรถมีกี่แบบ

ตอบ โดยทั่วไป สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับบุคคลธรรมดาจะมีทั้งสินเชื่อรถมือหนึ่ง (ซื้อรถจากค่ายรถ หรือดีลเลอร์) สินเชื่อรถมือสอง (ซื้อรถจากเต็นท์รถ หรือรถบ้าน) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (ขอสินเชื่อเช่าซื้อที่หนึ่งมาโปะอีกที่หนึ่ง) ทั้งนี้ เงื่อนไขของบริษัทให้สินเชื่อแต่ละที่ก็จะต่างกันไปสำหรับแต่ละประเภท ทั้งนี้ ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า เวลาเราพูดถึงสินเชื่อรถมักจะหมายถึงใน 2 แบบคือ แบบแรกคือการที่เราเช่าซื้อรถ (ไม่ว่าจะรถมือหนึ่ง มือสอง หรือรีไฟแนนซ์) ส่วนแบบที่สองคือ การที่เราเป็นเจ้าของรถอยู่แล้ว แต่เอารถไปขอ หรือแลกเป็นเงินสดออกมา (ซึ่งพวกนี้จะเรียกกันหลากหลาย เช่น Car for Cash หรือจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น) ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันตรงที่ แบบแรกเป็นเรื่องของ เช่าซื้อ คือเรายังไม่ได้เป็นเจ้าของรถ และขอสินเชื่อโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเจ้าของรถเมื่อจ่ายค่างวดครบ ส่วนแบบที่สองเป็นเรื่องของกู้เงิน คือเราเป็นเจ้าของรถอยู่แล้ว และเอารถไปขอ หรือแลกสินเชื่อเงินสดออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเงินสดไปใช้จ่ายอย่างอื่น โดยบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะสินเชื่อแบบแรกนะ ไม่ใช่แบบที่สอง

>>> ดูเพิ่มเติม ค่าโอนรถ ใครจ่าย

สินเชื่อได้กับรถทุกประเภท

สินเชื่อได้กับรถทุกประเภท

3.สินเชื่อเช่าซื้อรถใช้ได้กับรถทุกประเภท?

ตอบ ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ หรือรถบรรทุก ธนาคาร หรือบริษัทไฟแนนซ์รถเหล่านี้ก็สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ท่านได้หมดเลย

4.ขอวงเงินได้สูงแค่ไหนและนานแค่ไหน

ตอบ วงเงิน และระยะเวลากู้มักจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บริษัทไฟแนนซ์ แล้วแต่ช่วงเวลา (เช่น มีโปรโมชั่นอยู่หรือเปล่า) หรือประเภทของรถ โดยเฉลี่ยวงเงินสินเชื่อรถยนต์ก็จะอยู่ประมาณ 75-85% ของราคารถ และระยะเวลากู้ก็จะประมาณ 12-72 เดือน เป็นต้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเลขที่ผันแปร และมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยว่าจะมาก หรือน้อยด้วย เช่นหากต้องการวางเงินดาวน์น้อย แต่ระยะเวลากู้นานๆ ดอกเบี้ยก็อาจจะแพงขึ้นตามลำดับ เป็นต้น แต่ในบางช่วงเวลา บริษัทไฟแนนซ์อาจมีการจัดโปรโมชั่นสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นครั้งคราว (เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือระยะเวลาผ่อนนานเป็นพิเศษ)

ดูเพิ่มเติม
>> 
รถยน์ที่จะสร้างความฮ็อทฮิตในตลาดไทยปี 2019 นี้ มีรุ่นไหนบ้าง
>> โตโยต้ายังคงครองแชมป์! พาไปส่องยอดขายรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2561

เรื่องดอกเบี้ย

เรื่องดอกเบี้ย

5.ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือค่าต่างๆ อะไรบ้าง

ตอบ สินเชื่อเช่าซื้อรถจะใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) คือ ดอกเบี้ยถูกคิดจากเงินต้นเริ่มแรกเพียงครั้งเดียว และทั้งก้อนแบบเต็มจำนวน (โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ลดลง) แล้วจึงเฉลี่ยจ่ายจำนวนที่เท่ากันในแต่ละงวดบวกเข้าไปกับเงินต้นแต่ละงวด (ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อบ้านที่จะคิดแบบลดต้นลดดอก) โดยปกติอัตราดอกเบี้ยแต่ละที่จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตลาด และสภาวะการแข่งขันของบริษัทให้สินเชื่อด้วยกันเอง มูลค่าของรถแต่ละยี่ห้อที่จะลดลงไม่เท่ากัน ตลาดมือสองของรถบางยี่ห้อที่คล่องตัวกว่า อาชีพของผู้ขอสินเชื่อ รถกระบะมักจะแพงกว่ารถเก๋ง ดอกเบี้ยของผู้ขอสินเชื่อที่อยู่ต่างจังหวัดอาจแพงกว่ากรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าลืมว่า ปกติบริษัทให้สินเชื่อจะคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บนค่างวดด้วย เช่น 7% บนค่างวดซึ่งประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย (ไม่ได้คิดแค่บนเงินต้นอย่างเดียว) ดังนั้น เราต้องพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่มก้อนนี้ประกอบด้วย เพราะถือว่าเป็นภาระเงินที่เราจะต้องจ่ายให้บริษัทไฟแนนซ์รถทุกๆ เดือนด้วย โดยสินเชื่อรถใหม่ VAT จะรวมผสมเข้าไปในค่างวดแต่ละเดือนแล้ว แต่ถ้าเป็นสินเชื่อรถมือสอง VAT จะคิดโปะเข้าไปทีหลังบนค่างวดแต่ละเดือน

นอกจากดอกเบี้ยแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะอย่างอื่นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ต้องไม่ลืมที่จะเตรียมเงิน หรือเตรียมเช็คสั่งจ่ายให้บริษัทไฟแนนซ์ด้วย เช่น

1. ค่าโอนทะเบียนรถ (ต่างจังหวัดจะสูงกว่ากรุงเทพ)

2. ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของยอดจัด หรือราคาประเมิน

3. ค่าเบี้ยประกันภัย (บริษัทไฟแนนซ์มักกำหนดให้ทำประกันภัยชั้น 1)

4. ค่าภาษีรถยนต์

5. ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ เช่น ค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมทวงถาม และค่าปรับกรณีชำระเงินค่างวดล่าช้า เป็นต้น

ลูกค้ามีเครดิตดี ไม่มีประวัติการชำระหนี้ล่าช้า

ลูกค้ามีเครดิตดี ไม่มีประวัติการชำระหนี้ล่าช้า

6.จะเข้าเกณฑ์กู้ไหม

ตอบ คุณสมบัติ หรือเกณฑ์ให้สินเชื่อที่สำคัญที่บริษัททุกที่มองคือ ลูกค้ามีเครดิตดี ไม่มีประวัติการชำระหนี้ล่าช้า หรือประวัติการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งดูได้จากข้อมูลในเครดิตบูโร รวมถึงพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบเช่น อาชีพการงานปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นงานประจำ ต้องมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ถ้าเป็นอาชีพอิสระต้องทำมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีรายได้ที่สม่ำเสมอเพียงพอจะชำระค่างวดได้ เป็นต้น ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ทั่วไป เช่น อายุ ถิ่นพำนักที่อยู่อาศัย แต่ละที่ก็จะคล้ายๆ กัน เช่น มีอายุระหว่าง 20-65 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทไฟแนนซ์มักกำหนดให้มีบุคคลที่สามซึ่งมีเครดิตดีเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกัน หรือผู้กู้ร่วมด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้ผู้กู้เอง ข้อแนะนำคือ หากจะเพิ่มโอกาสให้มีผ่านการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เราควรมีรายรับสม่ำเสมออย่างน้อย 3 เท่าของเงินค่างวดที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน นอกจากนี้ บางทีหากเราไม่ต้องการรบกวนคนอื่นให้เป็นภาระมาค้ำประกันเรา หรือหาคนค้ำประกันไม่ได้ เราอาจยอมจ่ายเงินดาวน์ในจำนวนที่สูงระดับหนึ่ง บริษัทไฟแนนซ์ก็อาจจะยอมให้ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทไฟแนนซ์แต่ละรายไป

เรามีเงินสดก้อนหนึ่งมากพอในจำนวนที่จะจ่ายค่ารถเต็มจำนวนหรือไม่

เรามีเงินสดก้อนหนึ่งมากพอในจำนวนที่จะจ่ายค่ารถเต็มจำนวนหรือไม่

7.ไม่ขอสินเชื่อแต่ซื้อสดดีกว่ามั้ย?

ตอบ คำถามที่ถามกันบ่อยก่อนเริ่มขอสินเชื่อคือ เราควรซื้อเงินสด หรือขอสินเชื่อเช่าซื้อดี ปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่เราต้องถามตัวเองน่าจะมีอยู่ 3 เรื่อง

1. เรามีเงินสดก้อนหนึ่งมากพอในจำนวนที่จะจ่ายค่ารถเต็มจำนวนหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงพวกค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมรถ ค่าทะเบียนรถทุกๆ ปีด้วย ถ้าเรามีเงินพอ และไม่อยากเสียดอกเบี้ย หรือเป็นหนี้ใครก็อาจซื้อเงินสดไปเลย

2. บางทีถึงแม้เราจะมีเงินสดมากพอที่จะซื้อเงินสด และพร้อมที่จะแบกค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเกี่ยวกับรถได้ แต่อาจลองตรวจสอบกับบริษัทให้สินเชื่อก่อนก็ได้ว่าเบ็ดเสร็จแล้ว จะต้องเสียดอกเบี้ย (บวก VAT) เท่าไหร่ ซึ่งหากในช่วงเวลาการผ่อน เช่น 2-5 ปี เรามั่นใจว่าสามารถเอาเงินสดก้อนหนี้ไปหาประโยชน์อื่นได้ในระดับที่มากกว่าดอกเบี้ย+VAT เช่น ไปเล่นหุ้น หรือลงทุนอย่างอื่น เราก็อาจตัดสินใจไม่ซื้อเงินสด แต่มาขอสินเชื่อเช่าซื้อแทนก็ได้

3. หากไม่มีเงินสดมากพอที่จะชำระทั้งก้อน หรือมีพอแต่ถ้าชำระแล้วจะต้องกินอยู่อย่างตระหนี่ถี่เหนียว หรือเลี้ยงดูครอบครัวด้วยความยากลำบาก การขอสินเชื่อเช่าซื้อก็น่าจะเหมาะกว่านะ

สินเชื่อที่ธนาคาร

สินเชื่อที่ธนาคาร

8.จะขอสินเชื่อเช่าซื้อจากไหนได้บ้าง

ตอบ แหล่งเงินกู้สินเชื่อเช่าซื้อหลักๆ ก็จะเป็นธนาคาร (เช่น แผนกสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาติ) บริษัทไฟแนนซ์ในเครือของธนาคาร เช่น Kasikorn Leasing, Krungsri Auto หรือบริษัทไฟแนนซ์ของค่ายรถต่างๆ เช่น Honda Leasing, Nissan Leasing, Toyota Leasing ซึ่งรายละเอียดในแง่ตัวเลขของการให้สินเชื่อของแต่ละที่ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวงเงิน ดอกเบี้ย ระยะเวลา เป็นต้น) ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยปกติเวลาพิจารณาแหล่งสินเชื่อ ก็มักจะดูรายละเอียดพวกวงเงิน ดอกเบี้ย ระยะเวลาเป็นหลัก แต่เราขอแนะนำเพิ่มเติมว่าควรดูรายละเอียดบางเรื่องที่สำคัญอื่นประกอบด้วย เช่น

1. รายละเอียดการปิดบัญชีเช่าซื้อก่อนกำหนด หากเรามีเงินก้อนเข้ามาแล้วต้องการจ่ายค่างวดเต็มจำนวนเพื่อปิดบัญชี แต่ละที่กำหนดให้เราได้ส่วนลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ และต้องชำระอย่างต่ำมาแล้วกี่งวด เป็นต้น ทั้งนี้ตามกฎพื้นฐานของสคบ. นั้น กำหนดว่า ถ้าลูกค้าต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้ส่วนลดแก่ลูกค้าในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเสมอ

2. ขอให้พิจารณาสถาบันที่มีชื่อเสียงในด้านบริการที่ดีระดับหนึ่งก็ดีนะคะ เพราะเราอาจต้องมีการติดต่อกับสถาบันพวกนี้อยู่เรื่อยๆ (เช่น ขอใบเสร็จรับเงินค่างวดในทุกๆ เดือน หรือให้โอนทะเบียนรถเมื่อผ่อนครบ หรือแม้กระทั่งโดนทวงถามให้จ่ายหนี้!!) ดังนั้นถ้าเลือกได้ก็เลือกแหล่งเงินกู้ที่บริการทันใจ มีประสิทธิภาพ หรือทวงถามหนี้อย่างมืออาชีพก็จะดีกว่าแน่นอน

3. ความสะดวกในการชำระค่างวด หากมีช่องทางการชำระได้หลากหลาย และสะดวก ย่อมทำให้เราชำระค่างวดได้สะดวก และตรงเวลามากขึ้น

ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคหลายๆ ท่านก็อาจไม่ได้ใช้วิธีขอสินเชื่อเช่าซื้อจากแหล่งเงินกู้ดังกล่าว แต่อาจพิจารณาใช้วิธีขอเงินกู้ Personal Loan หรือพวกสินเชื่ออเนกประสงค์จากธนาคารต่างๆ เพื่อเอาเงินสดมาซื้อรถแทน (ในรูปของ "เงินกู้" ไม่ใช่ "เช่าซื้อ") ทั้งนี้ ก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันออกไปจากสินเชื่อเช่าซื้อ เช่น อัตราดอกเบี้ย Personal Loan ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลดต้นลดดอก ซึ่งดีตรงที่ว่าหากคุณมีเงินก้อน ก็สามารถนำมาจ่ายคืนก่อนกำหนดได้ แต่อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่า และอาจมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่สั้นกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นต้น

ขั้นตอนการสินเชื่อ

ขั้นตอนการสินเชื่อ

ขั้นตอนการสินเชื่อ

9.ขั้นตอนขอสินเชื่อเริ่มอย่างไร

ตอบ หากตัดสินใจแล้วว่าจะขอสินเชื่อเช่าซื้อรถ และเลือกแหล่งเงินกู้ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ควรปฏิบัตินั่นก็คือ

1. ผู้กู้แจ้งยี่ห้อ รุ่น ปี รถที่ต้องการเช่าซื้อ และเตรียมเอกสารขอกู้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อประเมินยอดจัดวงเงินสินเชื่อให้ เมื่อลูกค้าตกลงที่จะจัดสินเชื่อ ก็จัดเตรียมเอกสารของผู้กู้ และผู้ค้ำประกันเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อ

2. นัดเซ็นสัญญาเช่าซื้อ และส่งมอบเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะขอถ่ายรูปรถ และลอกลายเลขเครื่อง เลขตัวถังรถเพื่อประกอบการทำสัญญาเช่าซื้อด้วย หลังจากนั้นให้รอผลการอนุมัติประมาณ 2-5 วันทำการ

3. เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะแจ้งผลการอนุมัติ เพื่อขอเล่มทะเบียนตัวจริงไปโอนที่กรมขนส่ง บริษัทไฟแนนซ์จะจ่ายเงินค่ารถให้ผู้ขายรถ พร้อมกันนั้นผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทไฟแนนซ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และระบุชื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองรถในสมุดคู่มือทะเบียนรถ

นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ สำหรับใครที่ยังรู้ไม่มากเท่าที่ควร หรือยังไม่เข้าใจตรงไหน หวังว่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ ยังไงก็ขอให้ได้รถที่ถูกใจขับขี่สบายใจ ไม่มีปัญหานะค้าา คราวหน้าเราจะนำเกร็ดความรู้อะไรดีๆมาฝากอีกติดตาม Chobrod.com ให้ดีนะ

ดูเพิ่มเติม
>> 
ปีใหม่นี้ขับรถกลับบ้านทางไกล คาดเข็มขัดนิรภัยแบบไหนปลอดภัยที่สุด?
>> เเนะนำวิธีการซื้อรถ Honda โดยวิธีผ่อนจ่ายดีที่สุดตอนนี้

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่