รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ในรถยนต์ที่เราใช้งานกันเพื่อความสะดวกสบายในการขับขี่ หลายอย่างมีที่มายาวนานแล้ว มาย้อนประวัติ 6เทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ สาระดี ๆ น่ารู้ที่คุณไม่ควรพลาด
วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ให้มีการเติบโตก้าวทันกระแสสังคมอยู่เสมอ ทางค่ายผู้ผลิตเองจึงไม่หยุดที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อที่จะให้สินค้าและบริการของตัวเองได้ขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ ของการเป็นตัวเลือกจากผู้ใช้บริการ
เทคโนโลยีในวงการอุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ไม่แตกต่างกันในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไม่หยุดสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีด้วยความตั้งใจที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่รถของทางค่ายพวกเขา เราจึงเห็นรถยนต์หลายรุ่นในปัจจุบัน ที่ถูกผลิตออกมาต่างถูกติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ รองรับการใช้งานที่ทั่วถึงและดีขึ้นยิ่งไปเรื่อย ๆ บางอย่างก็เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ บางอย่างก็เป็นเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นกันมานานแล้วและถูกวิวัฒนาการให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ เพื่อให้ทันกระแสตลอดเวลา
ย้อนดูที่มา 6 เทคโนโลยีรถยนต์ ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
และวันนี้เราจะมาพูดถึงประวัติความเป็นมาแบบกระชับสำหรับ 6 เทคโนโลยีรถยนต์ ที่มีการคิดค้นมาอย่างยาวนานและถูกใช้มาตลอดแม้กระทั่งในปัจจุบัน ที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้เช่นเดิม มาดูกันว่าใครกันที่เป็นผู้เริ่มต้นสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายให้เราได้ใช้งานกันในทุกวันนี้
Ford Zephyr คือรถรุ่นบุกเบิกที่มีการเริ่มใช้ระบบ ABS
เทคโนโลยี ABS คิดค้นมาจากเทคโนโลยีการบินที่เริ่มคิดระบบเบรกขึ้นมาโดยเป็นการต่อยอดจากระบบดรัมเบรก ซึ่งเริ่มในสมัยปีค.ศ.1929 ยุคเฟื่องฟูของดรัมเบรก เพื่อพัฒนาให้การเบรกหยุดความเร็วของเครื่องบินมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อปีค.ศ. 1960 ระบบ ABS ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเริ่มมาจากการนำมาติดตั้งใช้ในสนามแข่งรถก่อนที่จะแพร่หลายไปถูกติดตั้งในรถยนต์ทั่วไปบนท้องถนน โดยค่าย Ford เป็นผู้เริ่มบุกเบิกให้การใช้งาน ABS โดยรถรุ่นแรกที่ใช้คือ Ford Zephyr และปีเดียวกันนั้นทางค่ายรถจากญี่ปุ่น Nissan ก็มีระบบเดียวกันถูกพัฒนาออกมาในรุ่น Nissan President นับว่าเป็นรถคันแรกจากฝั่งญี่ปุ่นที่มีระบบ ABS
Ralph Teetor ผู้คิดค้นระบบ Cruise Control
เด็กชาย Ralph Teetor วัย 5 ขวบกลายเป็นผู้พิการทางสายตาจากอุบัติเหตุ และเมื่อเติบโตขึ้นเขาได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของรถยนต์ การจุดประกายคิดค้นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการรถยนต์เริ่มขึ้นเมื่อในวันหนึ่งของการเดินทางเขาสังเกตุว่าทนายความเจ้าของรถที่เขานั่งมาด้วยจะทำการชะลอรถทุกครั้งขณะที่หันมาสนทนากับเขา และกลับไปเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นเมื่อเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้รับฟัง ซึ่งจังหวะการเร่งสลับชะลอรถเช่นนี้สร้างความรำคาญให้แก่ทีเตอร์เป้นอย่างมาก เขาจึงเกิดไอเดียที่จะคิดค้นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขึ้นมาให้ได้
สิทธิบัตรอุปกรณ์ควบคุมความเร็วของรถยนต์
เวลาแห่งการศึกษาร่วม 10 ปี ผ่านมาจนถึงปี 1945 ในที่สุด ทีเตอร์ก็ได้จดสิทธิบัติอุปกรณ์ควบคุมความเร็วรถยนต์ได้สมความพยายาม โดยเทคโนโลยีนี้มีหลากหลายชื่อเลยทีเดียว ก่อนจะลงเอยมาเป็น Cruise Control และถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1958 จากการดำเนินการของบริษัทรถยนต์ชื่อดังอย่าง Chrysler และถูกพํฒนามาเป็นระบบที่เราใช้งานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ดูเพิ่มเติม
>> 8 เทคโนโลยี ยนตรกรรมแห่งโลกอนาคตที่ทุกคนเฝ้ารอคอย
>> “ระบบป้องกันล้อล็อค” คืออะไร? ทำงานอย่างไร? มาหาคำตอบกัน!
Jakob Lohner กับรถไฮบิรดคันแรกในโลกที่เขาเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา
เทคโนโลยีไฮบริดฟังดูแล้วเหมือนเป็นอะไรที่ทันสมัย หลายคนอาจคิดว่าการเริ่มต้นของไฮบริดอยู่ในยุคสมัยใหม่ ก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับรถยนต์ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นรถยนต์ไฮบริดคันแรกของโลก แต่อันที่จริงแล้วคุณหรือไม่? ว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมผสมผสานระหว่างแบตเตอรี่และเครื่องยนต์มาการคิดค้นมายาวนานกว่าที่คิด เมื่อปี 1900 นักผลิตรถยนต์ชาวออสเตรีย Jakob Lohner มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหารถยนต์เสียงดังและน้ำมันที่ส่งกลิ่นเหม็นจากการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน จึงได้ทำการหารือกับ Ferdinand Porsche ชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งรถยนต์ Porsche และเกิดแนวคิดสร้างระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ผสานเข้ากันในรถยนต์ และได้มีการติดตั้งก่อนนำไปแสดงโชว์ครั้งแรกที่กรุงปารีสใรปี 1900 และนั่นก็ถือว่าเป็นรถยนต์ไฮบริดคันแรกของโลก
John W Hetrick และสิทธิบัตรของเขา
ระบบความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานในรถยนต์ทุกคันในปัจจุบัน ถูกบันทึกเอาไว้ถึงจุดเริ่มต้น โดยกล่าวอ้างเอาไว้ว่าถุงลมนิรถัยที่ใช้ในรถยนต์นั้นถูกผลิตออกมาครั้งแรกเมื่อปี 1941 ในลักษณะเป็นถุงที่เต็มไปอากาศ และจากในรายงานปี 1951 เผยข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น โดยมีรายละเอียดบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1953 วิศวกรอุตสาหกรรมและสมาชิกของกองทัพเรือสหรัฐฯ อเมริกัน จอห์น แฮทริค ได้มีการออกสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการจดทะเบียนถุงลมที่เขาออกแบบบนพื้นฐานของประสบการณ์ของเขาเองด้วยการบีบอัดอากาศจากตอร์ปิโด ระหว่างการให้บริการของเขาในกองทัพเรือ บวกกับความปรารถนาที่จะให้ความคุ้มครองแก่ครอบครัวของเขาเองในรถยนต์ของพวกเขาในระหว่างที่มีการเกิดอุบัติเหตุ
ภาพการทดสอบถุงลมนิรภัยในสมัยโบราณ
จนกระทั่งหลังจากสิทธิบัตรหมดอายุลงในปี 1971 มันได้ถูกติดตั้งให้ทำการทดลองใช้งานในรถยนต์ยี่ห้อ Ford เพียงไม่กี่คันเท่านั้น ซึ่งในระหว่างเดียวกัน การคิดค้นและออกแบบถุงลมก็มีการพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่องจนได้มาเป็นแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สิทธิบัตรซ้าย : ต้นฉบับ / สิทธิบัตรขวา : ฉบับปรับปรุงใหม่
แรกเริ่มของระบบความปลอดภัยในรถยนต์ สมัยที่ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 2 จุดอย่างแพร่หลาย กลับพบปัญหามากมายที่ผู้ใช้งานรถยนต์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านอกจากจะป้องกันความปลอดภัยได้ไม่ดีแล้ว เหมือนว่าจะสร้างปัญหาให้มากขึ้นอีกด้วยซ้ำ จึงเกิดการคิดค้นเข้มขัดนิรภัยขึ้นมา เป็นการต่อยอดเข็มขัดแบบ 2 จุดเป็น 3 จุด โดยผู้คิดค้นเป็นชาวอเมริกันสองคนคือ Roger Griswold และ Hugh DeHaven ซึ่งรูปแบบของเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดใหม่มีชื่อเรียกว่า CIR หรือ Griswold restrain แต่อย่างไรก็ตามผลงานของทั้งคู่ยังไม่ได้นำมาถูกใช้งานในรถยนต์
Nils Bohlin ผู้นำแนวคิดรูปแบบเดิมไปต่อยอดและได้มาเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด
จนกระทั่งเมื่อทาง Nils Bohlin วิศวกรชาวสวีดิชซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ Volvo ได้นำแนวคิดไปต่อยอดและถูกพัฒนาออกมาเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้สะดวกกว่ารูปแบบเดิม และถูกจดสิทธิบัตรในอเมริกาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1962 และรถคันแรกที่ได้ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดคือ หรือ Volvo Amazon ซึ่งการค้นพบนวัตกรรมใหม่นี้ ทาง Volvo ไม่จดลิขสิทธิ์เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของคนเองเพียงผู้เดียว ทางค่ายได้อนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบใหม่นี้ด้วยเเพราะยึดมั่นในหลักอุดมการณ์ว่าความปลอดภัยของผู้ใช้นั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด จนถึงปัจจุบันผ่านมานานร่วม 50 ปีแล้ว สิ่งที่ Volvo สร้างไว้กลายมาเป็นบทบาทหลักสำคัญในวงการรถยนต์ไปอย่างเต็มภาคภูมิ
สองพี่น้องตระกูล Galvin
ย้อนความกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1928 บริษัทผู้ผลิต Battery Eliminators นามว่า Galvin Manufacturing Corporation ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้การจัดตั้งของสองพี่น้องตระกูล Galvin นั่นคือ Paul V. Galvin และผู้เป็นพี่ชายนามว่า Joseph Galvin โดยบริษัทผลิตแบตเตอรี่นี้ ได้ทำให้เครื่องวิทยุที่ใช้กระแสไฟในบ้านสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ แต่ธุรกิจนี้ดำเนินการไปได้เพียงแค่ปีเดียว ก็เผชิญภาวะตลาดหุ้นล่มสลายจากพิษเศรษฐกิจอันตกต่ำในยุคนั้น และนั่นทำให้ Battery Eliminators มีบทบาทในตลาดน้อยลงและกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปในที่สุด สองพี่น้องจึงต้องมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจของตนดำเนินการต่อไปได้เพื่อความอยู่รอด
วิทยุรถยนต์เครื่องแรกที่ถูกผลิตภายใต้ชื่อ Motorola
จนเมื่อทั้งคู่ได้ศึกษาและมองเห็นความต้องการตามยุคสมัยของผู้บริโภคที่ประเมินไว้แล้วว่าจะมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง อย่างทางเทคโนโลยีด้านวิทยุที่อยู่ในกระแสได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก Galvin จึงเข้าสู่การพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขและประยุกต์ให้มีการติดตั้งวิทยุในรถยนต์และได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม ประสบความสำเร็จสูงสุด โดยวิทยุติดรถยนต์เครื่องแรก ถูกผลิตขึ้นภายใต้ชื่อ Motorola และพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจนกระทั่งแปรผันกลายมาเป็นระบบเครื่องเสียงที่มีออฟชั่น ส่วนเสริมต่าง ๆมาสร้างความสมบูรณ์แบบให้แก่รถยนต์ในปัจจุบัน
วิวัฒนาการของเทคโลยีต่างสร้างสรรค์ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ในยุคสมัยที่ความล้ำหน้าและอุปกรณ์รองรับทางเทคโนโลยียังเทียบไม่เท่ากับปัจจุบัน แต่ความคิดของคนในยุคนั้นต้องยอมรับว่าสร้างสรรค์มาก ๆ และกลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้คนยุคหลังได้นำมาพัฒนาต่อยอดและกำเนิดสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชีวิตได้อย่างทรงคุณค่าและเต็มประสิทธิภาพ และวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์เราก็จะคงดำเนินไปอย่างไม่รู้จบควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุดขับเคลื่อนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเช่นกัน
ดูเพิ่มเติม
>> ฮุนไดสุดเจ๋ง พัฒนา AI ประเมินข้อมูลอุบัติเหตุส่งถึงมือแพทย์ให้ช่วยเหลือ
>> มาทำความรู้จักกับระบบกระจายแรงเบรก (EBD) คืออะไร? และทำงานอย่างไร?
ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้