เช็คให้ชัวร์! ก่อนจะซื้อรถยนต์ 5 ข้อควรระวังเมื่อทำสัญญาซื้อขายรถยนต์

ประสบการณ์ซื้อขายรถยนต์ | 25 ส.ค 2564
แชร์ 26

การซื้อขายรถเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนตามกฎหมายมาเกี่ยวข้อง ทุกครั้งที่ทำการซื้อขายไม่ว่าจะเป็นซื้อเงินสด หรือจะจ่ายแบบเงินผ่อน จำเป็นต้องมีการทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อให้ถูกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นการเก็บหลักฐานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลัง

การทำสัญญาเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นขั้นตอนที่มีเรื่องของกฎหมายเข้ามามีส่วนในการดำเนินการด้วย ดังนั้นจึงต้องมีส่วนที่ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกันเพื่อป้องกันการผิดพลาดใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการซื้อรถของคุณ ดังนั้นในวันนี้เรามีเรื่องราวมีสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์มาฝาก

สัญญาซื้อขายรถยนต์คืออะไร

ใบสัญญาซื้อขายรถ

เช็คให้ชัวร์! ก่อนจะซื้อรถยนต์  5  ข้อควรระวังเมื่อทำสัญญาซื้อขายรถยนต์

คือแบบฟอร์มซื้อขายรถยนต์ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถมือหนึ่ง มือสอง เป็นแบบผ่อนชำระ ขายดาวน์ หรือวางมัดจำเงินสด ซึ่งฉบับสัญญาสามารถดาวนโหลดหรือดูตัวอย่างได้ตามอินเตอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งเมื่อกรอกข้อมูลแล้วสามารถนำใบสัญญาไปยื่นกับกรมการขนส่งทางบกได้เลยในทันที โดยสัญญานี้จะระบุถึงราคา การส่งมอบ รวมถึงเงื่อนไขการรับประกันอีกด้วย เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ระบุรายละเอียดต่างๆ ที่ได้ตกลงไว้ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภายหลังและลดข้อโต้แย้งกันในการซื้อขาย

ดูเพิ่มเติม 5 เอกสารซื้อขายรถที่ควรเตรียมให้พร้อม เมื่อจะขายรถบ้านมือสอง

สัญญาซื้อขายรถยนต์ในเรื่องของข้อกฎหมาย

นอกจากการจดทะเบียนแปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายกันเกินกว่า 20,000 บาท หากไม่ได้มีการวางมัดจำหรือชำระเงินไปบางส่วนแล้ว จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและลงชื่อคู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้ ดังนั้นการซื้อขายยานพาหนะที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวจึงควรทำสัญญาซื้อขายกันเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เพื่อมั่นใจได้ว่าหากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา จะสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อบังคับกันได้ ในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เช่น การซื้อขาย การให้ จะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิกับนายทะเบียนด้วย เพื่อเป็นหลักฐานทางราชการ และเป็นข้อสันนิฐานตามกฎหมายว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้ใด อย่างไรก็ดี การจดหรือไม่จดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์และการโอนกรรมสิทธิ์ตามนิติกรรมสัญญาซื้อขายหากสัญญาได้ทำและลงนามทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

การทำสัญญาซื้อ-ขายรถยนต์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ควรระวังให้ดี

การทำสัญญาซื้อรถยนต์-สัญญาขายรถยนต์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ควรระวังให้ดี

ในการซื้อขายรถยนต์นั้น หากคู่สัญญาตกลงวันว่าจะยังไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทันทีและตกลงกันให้ผู้ซื้อเป็นผู้ดำเนินการเอง ให้ผู้ซื้อแน่ใจว่าผู้ขายได้จัดเตรียมและลงนามในเอกสารคำขอและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมอบอำนาจ ให้ผู้ซื้อไปเนินการเองแล้วด้วย เพื่อมั่นใจว่าจะสามารถจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่มีปัญหา โดยสามารถตรวจสอบรายการเอกสาร วิธี และขั้นตอนได้ที่ กรมการขนส่งสำหรับรถยนต์ทุกประเภท หรือ กรมเจ้าท่าสำหรับเรือ

ผู้ซื้ออาจตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบออกให้ เช่น ใบคู่มือจดทะเบียนรถ ใบทะเบียนเรือ เพื่อตรวจสอบ กรรมสิทธิ์ผู้ขาย การครองครอง ประวัติการโอนกรรมสิทธิ์ ประวัติการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางทะเบียนต่างๆ รวมถึงนำมาใช้อ้างอิงแนบในสัญญาเพื่อบ่งชี้ทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยผู้ที่จะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายซึ่งจะต้องลงนามในสัญญานั้ ผู้ซื้อต้องแน่ใจว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของยานพาหนะที่ซื้อขายกัน หรือไม่ใช่ต้องมีหลักฐานแสดงว่าผู้ขายที่เป็นคู่สัญญามีอำนาจนำยานพาหนะนั้นมาขาย เช่น ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นต้น

ดูเพิ่มเติม
>> ออกรถใหม่ต้องรู้! ขั้นตอนทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ละเอียดแต่ต้นจนจบ

>> ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงซื้อรถได้? มาดูวิธีเตรียมความพร้อมหากคิดจะผ่อนรถสักคัน

ซึ่งเมื่อเข้าใจเรื่องสัญญากันแล้ว เรามาตรวจสอบกันต่อ กับ  5  ข้อควรระวังเมื่อทำสัญญาซื้อขายรถยนต์  

1. ไม่อยากเสียเวลานานเอกสารต้องครบถ้วน

ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน

ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน

ในการทำใบซื้อขายรถ จำเป็นต้องมีเอกสารที่สำคัญที่ถูกต้องครบถ้วนคู่กันไปด้วย ถึงจะสามารถเดินทางไปดำเนินการต่อที่กรมขนส่งทางบก หากเกิดทำการเตรียมเอกสารได้ไม่ครบเราจะโดนเจ้าหน้าที่จีเอกสารกลับทำให้ต้องเสียเวลากลับไปเอาอีก และเอกสารที่จำเป็นมีดังนี้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
  • สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
  • เอกสารแบบคำขอโอนและรับโอน สามารถขอได้ที่กรมการขนส่งทางบก
  • หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีโอนลอย และผู้ขายไม่ได้มาทำการโอนกรรมสิทธิ์ด้วยตนเอง
  • สัญญาซื้อขายรถ กรอกข้อมูลให้เรียบร้อยเพื่อความรวดเร็วในการตรวจสอบเอกสาร
  • สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียนรถสีฟ้า)
  • หนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล กรณีซื้อขายในนามบริษัท

ซึ่งเอกสารทุกรายการทั้งฝ่ายซื้อและฝ่ายขายเองควรจะตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะยื่นส่งให้กรมขนส่งทางบก ดูวันที่ของเอกสารจำเป็นให้ดีว่าหมดอายุหรือยัง ตรวจเช็คให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นครบถ้วนถูกต้องแบบสมบูรณ์ ที่สำคัญผู้ซื้อต้องตรวจสอบเอกสารให้ดี เพราะถ้าหากผู้ขายไม่มีเจ้าของเล่มทะเบียนจดทะเบียน แล้วนำรถมาขายให้คุณในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ให้ระวังจะเป็นรถหนีไฟแนนซ์

2. ตรวจสภาพรถให้ชัวร์ก่อนทำสัญญา

ตรวจสภาพให้แน่ใจว่าอยุ่สภาพที่ยอมรับได้ตามข้อตกลงหรือไม่

ตรวจสภาพให้แน่ใจว่าอยุ่สภาพที่ยอมรับได้ตามข้อตกลงหรือไม่

ก่อนจะเซ็นสัญญาสิ่งที่ควรทำคือการเช็คสภาพรถที่จะซื้อให้ดี ๆ เสียก่อน โดยเฉพาะถ้าหากเป็นรถมือสอง ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ารถคันที่คุณสนใจอยู่ในสภาพที่ยอมรับได้หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน หากเกิดเจอจุดเสื่อมหรือส่วนที่ไม่น่าพึงพอใจหลังการเซ็นสัญญา  คุณไม่สามารถร้องขอหรือเรียกร้อง เพื่อขอรับการแก้ไขในจุดนี้ได้ต้องเสียเงินเพิ่มเองไปเลยฟรี ๆ นอกเสียจากว่าสามารถต่อรองเจรจาได้เอง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะโชคดีหรือเปล่า

3. ลายเซ็นต้องมีครบและชัดเจน

ลงลายเซ็นในเอกสารให้ถูกต้องและชัดเจน

ลงลายเซ็นในเอกสารให้ถูกต้องและชัดเจน

เช่นเดียวกันกับหลักการทำธุรกรรมทั่วไป การเซ็นเอกสารรับทราบใด ๆ ควรอ่านสัญญาก่อนให้แน่ใจและทำการเซ็นรับทราบลงไป ต้องเซ็นให้ถูกต้อง ชัดเจนทุกครั้ง ตรวจสอบเงื่อนไขและข้อตกลงให้ดี ส่วนที่ผู้ขายจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เอกสารทุกอย่างที่มีลายเซ็นจำเป็นต้องมีตราประทับบริษัทอยู่ด้วยเช่นกัน

4. หลักฐานต้องเก็บเอาไว้ให้ดี

ในการจัดทำสัญญาควรทำสัญญาเอาไว้อย่างน้อยสองฉบับซึ่งเป็นคู่ฉบับซึ่งกันละกัน โดยกำหนดมีข้อความเหมือนกัน เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่าย ไม่ว่าผู้ซื้อและผู้ขาย ต่างเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยทั้งสัญญาทุกฉบับที่จัดทำจะต้องลงนามโดยผู้ซื้อและผู้ขายเหมือนกัน เพื่อเก็บอ้างอิงเป็นหลักฐานป้องกันการฉ้อโกงกันในภายหลัง

5. โอนลอยเสี่ยงคดีควรระวัง

การโอนลอย คือ การทำเรื่องซื้อขายรถที่ทำกันเองระหว่างผู้ขายกับเต็นท์รถ โดยมีการลงชื่อในสัญญาการซื้อขายหรือใบมอบอำนาจเรียบร้อย แต่ไม่ได้ไปทำธุรกรรมที่สำนักงานขนส่งซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายที่ทำให้การโอนรถสมบูรณ์  เป็นการทำเอกสารไว้แต่เต็นท์รถยังไม่โอนรถมาเป็นของตัวเอง รอให้มีคนซื้อก่อนค่อยโอนกันจริงๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นั่นเอง

ซื้อขายรถโอนลอย ถูกกฎหมายหรือไม่

การโอนลอยจะไม่มีปัญหาถ้ารถมือสองที่ทำการซื้อขายไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือมีปัญหาที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะถ้ามีเมื่อไรตำรวจหรือบริษัทประกันจะพุ่งไปหาคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนรถทันที และถ้ารถคันนั้นผ่านการโอนลอยมาก่อน ชื่อเจ้าของรถจะยังเป็นคนเก่าหรือผู้ขายคนแรกนั่นเอง หรือแม้กระทั่งผู้ซื้อที่ซื้อรถจากเต็นท์มาแล้วยังไม่ได้โอนชื่อให้เรียบร้อย แต่บังเอิญว่าผู้ขายแจ้งรถหาย ตำรวจมาเจอรถอยู่ที่เรา ถ้าเราไม่มีหลักฐานการซื้ออย่างถูกต้องมายืนยัน อาจโดนข้อหารับซื้อของโจรได้ ต้องระวังเอาไว้ให้มาก

ส่วนในฝั่งผู้ขายเองนั้นถ้าหากโชคร้ายเจอกับผู้ซื้อที่ไม่โปร่งใส หรือมีเจตนากระทำผิด อาจก่อให้เกิดปัญหากับผู้ขายในภายหลังได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี, รถเกิดอุบัติเหตุ, รถถูกนำไปก่ออาชญากรรม เมื่อตรวจสอบกับระบบทะเบียน จะยังคงปรากฏชื่อเจ้าของรถรายเดิมนั่นเอง  ดังนั้นการป้องกันที่ควรทำคือการซื้อ ขายรถยนต์มือสอง ผู้ขายและผู้ซื้อควรดำเนินการด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่ง เป็นการดีที่สุด

และทั้งหมดนี้คือข้อควรระวังที่ทุกคนควรรับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นการลดการเกิดปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ก่อนจะทำการซื้อขายรถยนต์ควรศึกษาหาข้อมูล ขั้นตอน และการจัดการในด้านต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนด้วยทุกครั้งจะดีที่สุด

ดูเพิ่มเติม
>> ไฟแนนซ์ไม่มีสิทธิ์! อย่าหลงเชื่อคำขู่ ทำความเข้าใจใหม่กับสิทธิของผู้เช่าซื้อรถยนต์ตามกฎหมาย

>> เรียนรู้กฎหมาย "รถติดไฟแนนซ์" ขายต่อจะมีความผิดมั้ย?

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ