บางเรื่องที่อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำอยู่บ่อยครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะคนไม่รู้ หรือคนบังคับใช้ไม่เคร่งครัดกันแน่นะ คนละเมิดกฎส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยโดนปรับก็อาจจะไม่รู้ว่าทำผิดกฎหมายอยู่ วันนี้เลยจะมาทบทวนกฎหมายจราจรกันอีกครั้ง เผื่อไปเจอคุณตำรวจสุดเข้มแล้วจะโดนปรับแบบไม่ทันตั้งตัวนะคะ
กฎจราจรหากไม่ปฏิบัติตามให้ดีอาจต้องเสียค่าปรับได้นะคะ
สำหรับวันนี้ Chobrod จะมาพูดถึงกฎจราจรที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือรู้แล้วแต่ละเลย เพื่อตอกย้ำเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนกันคะ จะมากฎอะไรบ้างมาดูกันเลย
การจอดรถขวางตู้ไปรษณีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งจดหมาย ดังนั้นควรจอดให้ห่างในระยะที่กำหนด
ตามกฎหมายในมาตรา 57 ของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่าการจอดรถริมทางให้จอดรถในระยะห่างจากตู้ไปรษณีย์ในระยะ 3 เมตร หากไปจอดโดยไม่เว้นระยะห่างอาจจะเจอใบสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นะคะ สำหรับโทษคือปรับไม่เกิน 500 บาทค่ะ
หากเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วมีรถจอดขวางหัวดับเพลิงก็อาจจะทำใหเกิดสถานการณ์เลวร้ายได้
เพราะอาจเกิดเหตุฉุกเฉินได้ตลอดเวลา ถ้าหากมีรถจอดขวางหัวดับเพลิง และกีดขวางการทำงานของพนักงานดับเพลิง จนช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ทันย่อมไม่เป็นเรื่องที่ดีแน่ๆ ดังนั้นจึงได้มีข้อกำหนดให้จอดรถในระยะห่างจากหัวดับเพลิง 3 เมตร ไม่อย่างนั้นอาจเจอใบสั่งได้เช่นเดียวกัน โดยบังคับโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
ดูเพิ่มเติม
กฎหมายประจำวัน..ที่รู้ไว้ก็สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย
ไม้แข็ง กม.จราจร ค่าปรับไม่จ่ายอาจเจอ “หมายจับ”
รถเสียต้องรีบย้ายไปจอดที่ไหล่ทาง เพื่อป้องกันการจราจรติดขัด และอุบัติเหตุซ้ำซ้อนนะคะ
หลายครั้งที่เห็นรถเสียแล้วจอดกลางถนนโดยไม่สนใจว่าจะทำให้การจราจรติดขัดขนาดไหน ตามกฎหมายจราจรทางบกมาตรา 56 ระบุว่าในกรณีเครื่องยนต์ หรืออุปกรณ์ของรถขัดข้องจะต้องจอดรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่จะต้องนำรถให้พ้นทางเดินรถโดยเร็วที่สุด ตามวรรคที่หนึ่งกล่าวว่าถ้าจำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ ผู้ขับขี่จะต้องจอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจร และต้องแสดงเครื่องหมาย หรือสัญญาณตามลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎกระทรวง ถ้าหากรถเสียแล้วไม่ชิดซ้ายโดยเร็ว นอกจากจะโดนค่าซ่อมแล้ว จะโดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทเลยอีกด้วย
ไม่ยอมให้รถที่ใช้ความเร็วสูงกว่าผ่านขึ้นหน้า เมื่อได้รับสัญญาณขอแซงโดยไม่ให้สัญญาณตอบ หรือเมื่อทางด้านหน้าปลอดภัย และไม่มีรถอื่นสวนมาในระยะกระชั้นชิด ไม่ลดความเร็ว และไม่ขับรถชิดซ้าย ตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีอัตราโทษเทียบเท่ากับผู้ที่ขับรถเร็วเกินอัตราความเร็วตามที่กระทรวงกำหนด โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
การขับรถในระยะประชิดอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้หากคันหน้าเบรกกะทันหัน
หลายครั้งเราอาจจะเจอคนขับรถนิสัยไม่น่ารัก ที่ชอบขับปาดหน้าซ้ายทีขวาที ในระยะกระชั้นชิด ซึ่งตามมาตรา 44 วรรค 2 ระบุว่าการแซงต้องแซงด้านขวา โดยมีระยะห่างจากรถที่ถูกแซงพอสมควร เมื่อเห็นได้ว่าขับผ่านขึ้นหน้ารถที่ถูกแซงไปในระยะที่ห่างเพียงพอแล้ว จึงจะขับชิดด้านซ้ายของช่องทางเดินรถ หากว่าคุณแซง และเข้าซ้ายในระยะกระชั้นชิดของรถที่แซงมาจนอาจก่อให้เกิดอันตราย เจ้าหน้าที่อาจตั้งข้อหาให้ได้หากเห็นการกระทำนี้ซึ่งหน้า โดยข้อหานี้มีระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
การเข้าเกียร์ว่าง หรือเหยียบคลัทช์ระหว่างลงเขาจะทำให้รถเสียหลักได้
เพราะการใส่เกียร์ว่างขณะขับรถลงทางลาดชันจะทำให้เสียการทรงตัว เนื่องจากรถนั้นมีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ในขณะที่การเหยียบคลัทช์จะทำให้แรงกดจากเครื่องยนต์จะถูกตัดขาด รถจะไม่เกาะถนน หากถนนลื่น หรือมีการหักเลี้ยวรถจะเสียการทรงตัว และหมุนทันที ดังนั้นการออกกฎข้อนี้จึงเป็นการออกกฎเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาตรา 126 ของ พ.ร.บ.จราจรทาง พ.ศ. 2522 ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ เจ้าหน้าที่จราจร มีสิทธิเปรียบเทียบปรับได้ในอัตราไม่เกิน 500 บาท ตามข้อหาดังกล่าว
หากขับรถในเวลากลางคืนหรือที่แสงน้นอยต้องเปิดไฟหน้าทุกครั้ง
ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่าง ไม่เพียงพอ ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่าง ตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือ การไม่เปิดไฟหน้าขับรถ ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
หากเกิดเปิดไฟตัดหมอกแบบไม่รู้ตัวโดย ไฟชนิดนี้มีทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ซึ่งด้านหลังส่วนใหญ่เป็นสีแดง มีความเข้มข้นของแสงมากกว่าไฟทั่วไป สามารถแยงตาให้รถที่ขับตามหลังมาได้เป็นระยะไกล ยิ่งเมื่อขับเข้าใกล้ก็ยิ่งสว่างมากขึ้น ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตเปิดได้ในกรณีที่มีหมอกหนาเท่านั้น หรือกรณีทัศนวิสัยไม่ดี หากเปิดไม่ถูกต้องมีความผิดปรับไม่เกิน 500 บาท
จะต้องมีไฟท้ายให้สัญญาณอย่างชัดเจนอยู่เสมอ
กรณีเบรกแล้ว ถ้ารถเกิดไฟท้ายขาดหรือให้สัญญาณไม่ชัดเจน หากเกิดการเฉี่ยวชนท้ายขึ้นมา แล้วผู้ขับขี่ที่ชนคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่า รถคันหน้ามีสัญญาณไฟเบรกไม่ชัดเจน หรือไม่มีสัญญาณไฟเบรกเมื่อหยุดรถ จะโดนข้อหาไม่ให้สัญญาณไฟสีแดงเมื่อหยุดรถทันที โดยข้อหานี้ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท แต่ถึงโทษปรับจะไม่เยอะเท่าไรนัก แต่ทางคู่กรณี ก็สามารถอ้างเหตุแห่งความผิดดังกล่าว มาเป็นข้ออ้างในการต่อสู่ทางคดีความได้ด้วย
ถ้ามีตำรวจจราจรให้สัญญาณมืออยู่ อย่าฝ่าฝืนเป็นอันขาด
หากมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณการจราจรด้วยมือ แล้วฝ่าสัญญาณนั้น อาจจะโดนข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรมือที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฏข้างหน้า” โดยข้อหานี้มีระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ต้องปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง
มีระบุไว้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 152 ซึ่งหากไม่ไปเมื่อสัญญาณไฟเขียว ก็มีโอกาสที่จะโดนข้อหา “ไม่ไปเมื่อสัญญาณไฟจราจรสีเขียว” ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ข้อ 1 ระบุว่า ทางผู้ขับขี่มีหน้าที่เตรียมหยุดรถเมื่อไฟเหลืองแสดงขึ้น หมายความว่า ไฟเหลืองแล้วต้องชะลอ แตะเบรก ไม่ไปต่อ หากไม่ปฏิบัติตามอาจโดนจับข้อหาฝ่าไฟเหลือง ปรับตามมาตรา 152 โดยมีระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
การเคารพกฎจราจรถือเป็นเรื่องเล็กๆ ในสังคมที่ถูกละเลยไปอยู่เป็นประจำนะคะ ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการจราจรที่ติดขัดเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดอันตรายกับชีวิต และทรัพย์สินอีกด้วย ฉะนั้นแล้วเราจึงควรที่จะทำตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างชัดเจนนะคะ ด้วยความหวังดีจาก Chobrod.com ค่ะ
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้