เช็คระยะรถยนต์ เมื่อไหร่ ? ตรวจจุดใดบ้าง

ประสบการณ์ใช้รถ | 20 พ.ย 2567
แชร์ 0

การเช็คระยะรถยนต์ จะทำให้เจ้าของรถรู้ว่ามีจุดใดบ้างที่ต้องซ่อมแซมแก้ไข จึงควรนำรถเข้าเช็คระยะตามกำหนด ซึ่งจะต้องเช็คเมื่อไหร่ และตรวจจุดใดบ้าง

หลังจากใช้งานรถยนต์ไปได้ระยะหนึ่ง แน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์จุดใดจุดหนึ่งเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา ผู้ใช้จึงควรนำรถเข้ารับการเช็ค ระยะ เพื่อตรวจสภาพรถยนต์ให้ทราบว่ามีจุดใดบ้างที่ชำรุดและควรแก้ไข โดยปกติแล้ว การเช็คระยะรถยนต์จะแสดงอยู่ในคู่มือรถว่าเมื่อไหร่ต้องนำรถไปตรวจสภาพ โดยสามารถเช็คได้ตามระยะเวลา และระยะทาง แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน

นำรถยนต์เข้าเช็ค ระยะ เพื่อการใช้งานที่ยาวนาน
นำรถยนต์เข้าเช็ค ระยะ เพื่อการใช้งานที่ยาวนาน

เช็คระยะรถยนต์ ตรวจจุดไหนบ้าง ?

  1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง: เพื่อลดการสึกหรอของชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำให้เครื่องยนต์สะอาด ไม่มีตะกอนหรือเขม่า ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. ระดับของเหลว: ของเหลวในรถยนต์ อาทิ น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันเฟือง ฯลฯ ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
  3. ไส้กรองต่าง ๆ: ไม่ว่าจะเป็นไส้กรองแอร์ กรองน้ำมันเชื้อเพลิง กรองอากาศ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และควรเปลี่ยนใหม่ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อการใช้งานที่ยาวนาน
  4. ที่ปัดน้ำฝน: ควรอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ฉีกขาด หรือมียางที่แข็งเกินไป เพราะจะทำให้รีดน้ำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  5. ระบบไฟส่องสว่าง: ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไม่ตัดหมอก หรืออื่น ๆ ต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากระบบไฟส่องสว่างเกิดการชำรุด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
  6. แบตเตอรีรถยนต์: ต้องไม่เกิดปัญหา เนื่องจากแบตเตอรีเป็นแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง คอยทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปยังไดสตาร์ตให้เครื่องยนต์เกิดการทำงาน หากชำรุดหรือแบตหมดขึ้นมา จะทำให้รถสตาร์ตไม่ติด นอกจากนี้ยังส่งผลไปยังระบบไฟส่องสว่าง และเซ็นทรัลล็อกอีกด้วย
  7. สายพาน: สายพานจะต้องไม่ขาดหรือหย่อน สภาพของสายพานจะต้องไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง นอกจากนี้ รอยต่อของสายพานต้องไม่มีรอยฉีกหรือขาด เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
  8. ยางรถยนต์: ยางรถยนต์ เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปได้ สภาพยางรถจึงต้องพร้อมวิ่งบนถนน ดอกยางต้องอยู่ในสภาพดี ยางไม่มีรอยแตกลายงา ร่องรอยการถูกเบียด รอยกระแทก รอยบาด หรือรูรั่วซึม ส่วนยางอะไหล่ต้องอยู่ในสภาพที่ดีเช่นกัน และเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ เมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง จะมีการสลับยางและถ่วงล้อ เพื่อปรับสมดุลของล้อและยางให้ใช้งานได้นานขึ้น
  9. ระบบเบรก: ตรวจเช็คสภาพผ้าเบรก จานเบรกและคาลิปเปอร์ สายอ่อนเบรก รวมถึงรอยรั่วบนท่อน้ำมันเบรกว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ หากเกิดปัญหาต้องซ่อมแซมแก้ไข
  10. ระบบส่งกำลังและช่วงล่าง: จะมีการเช็คสภาพและการรั่วซึมในหลายจุด เช่น ลูกหมากต่าง ๆ โช้คอัพและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ลูกปืนล้อ รวมถึงบู๊ชและลูกยางช่วงล่างทั้งหมด เพื่อให้ช่วงล่างทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช็คระยะรถ เพื่อให้ได้รู้จุดที่ควรซ่อมแซมแก้ไข
เช็คระยะรถ เพื่อให้ได้รู้จุดที่ควรซ่อมแซมแก้ไข

เช็คระยะรถยนต์ ตามระยะเวลา/ระยะทาง

  • ตั้งแต่ 1-6 เดือน หรือทุก ๆ 5,000 กม. : เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เช็คยางรถยนต์ และระบบเบรก
  • ตั้งแต่ 6-12 เดือน หรือทุก ๆ 10,000 กม. : เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง สลับยางและถ่วงล้อ เช็คที่ปัดน้ำฝน ระบบเบรก และช่วงล่าง
  • ตั้งแต่ 12-24 เดือน หรือทุก ๆ 20,000 กม. : เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง น้ำมันเกียร์ เช็คสายพาน ช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยว
  • ตั้งแต่ 12-24 เดือน หรือทุก ๆ 40,000 กม. : เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ น้ำมันพวงมาลัย น้ำมันเกียร์ น้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์ เช็คสายพานและใบปัดน้ำฝน
  • ไม่เกิน 36 เดือน หรือ 60,000 กม. : เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เช็คแบตเตอรี หัวเทียน กรองน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบหม้อน้ำ
  • ไม่เกิน 60 เดือน (5 ปี) หรือ 100,000 กม. : ในระยะเท่านี้ แน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์บางตุดเกิดการเสื่อมสภาพไปแล้ว ซึ่งจุดที่ควรเช็คเป็นพิเศษ จะเป็นพวกสายพาน ยางรถยนต์ รวมถึงระบบของเหลวทั้งหมด

ผู้ใช้ควรเช็คระยะรถยนต์ตามกำหนด ซึ่งจะต้องเช็คเมื่อไหร่นั้น สามารถตรวจสอบได้จากคู่มือรถ สิ่งสำคัญคือไม่ควรละเลยการเช็ค ระยะ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้จำหน่ายอาจมีสิทธิ์ไม่รับประกันความเสียหาย นอกจากนี้ เจ้าของรถยังไม่รู้อีกด้วยว่ามีจุดใดที่ควรแก้ไขบ้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้

อ่านเพิ่มเติม