รถแต่งใส่ชิ้นส่วนยื่นออกนอกตัวรถแบบนี้ ต้องแจ้งดัดแปลงสภาพรถ ทำยังไงไม่ให้โดนด่า มาดูกัน

ประสบการณ์ใช้รถ | 9 พ.ค 2563
แชร์ 0

มีรถแต่งซิ่งคันหนึ่ง ใส่ชิ้นส่วนยื่นยาวขนาดใหญ่ ถ่ายภาพมาอวดลงโซเชียล หลายคนว่าสวย หลายคนไม่ยอมรับ แต่ที่แน่ๆ แต่งแบบนี้สามารถยื่นแจ้งดัดแปลงสภาพรถได้ ทำยังไงถึงจะถูกกฎหมาย มาดูขั้นตอนกันที่นี่

>> รวมภาพรถ OFF ROAD และเรื่องราวของรถ OFF ROAD ที่น่ารู้
>> 5 ของแต่งรถซิ่งที่ (อาจ) ผิดกฎหมาย แต่ติดรถไว้ “โคตร” จะมีประโยชน์

รถแต่งซิ่ง ก็มักจะมีชิ้นส่วนตัวถังที่เน้นเพิ่มสมรรถนะให้กับรถ ช่วยแหวกอากาศที่ความเร็วสูง และสร้างแรงยึดเกาะถนนด้วยแรงกดอากาศ ดังนั้นรถแข่งในสนามก็ต้องมีสารพัดครีบดัดอากาศ บังคับลมไปใช้งานตามต้องการ ทำให้รถบ้านหลายคันที่อยากแต่งให้ดูเหมือนรถแข่ง ก็มักจะพยายามใส่ชิ้นส่วนตัวถังให้ดูเหมือนหลุดมาจากสนามแข่งมากที่สุด จนบางทีอาจจะมากเกินไปเบอร์ไปในบางครั้ง

รถแข่งในสนามมักจะมีสปอยเลอร์ขนาดใหญ่
รถแข่งในสนามมักจะมีสปอยเลอร์ขนาดใหญ่

รถแต่งใส่พาร์ทมโหฬาร

ในโลกโซเชียล ปรากฎภาพรถ Toyota Yaris รุ่นล่าสุด ถูกแต่งซิ่งด้วยล้อแม็กซ์ ยางซิ่ง เบรคใหม่ ค่ำตัวถังหลายจุด จุดสำคัญที่เป็นประเด็นคือ ตัวถังที่ถูกใส่ชิ้นส่วนหลายแบบ เป็นครีบดัดอากาศขนาดใหญ่มหึมา เช่น สเกิร์ตหน้า สปลิตเตอร์ คานาด และสปอยเลอร์ มีความใหญ่โตมากกว่ารถแต่งทั่วไป จนยื่นออกมานอกตัวรถยาวหลายนิ้ว

รถยาริส ดัดแปลงสภาพรถ แต่งพาร์ทขนาดใหญ่
รถยาริส ดัดแปลงสภาพรถ แต่งพาร์ทขนาดใหญ่

ดราม่ารถแต่งบังเกิด

เนื่องจากภาพรถแต่งนี้ถูกถ่ายนอกสนามแข่ง กับตัวรถสีขาวล้วน พร้อมทะเบียนติดท้ายรถ ทำให้ชวนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่รถแข่ง เป็นรถใช้งานบนถนนสาธารณะทั่วไป จึงเกิดเป็นคอมเม้นท์ตำหนิว่า ไม่ควรเอามาวิ่งบนถนน เพราะจะเกี่ยวฉุดรถคันอื่นๆ ที่อยู่รอบๆได้ แต่ภายหลังคนรู้จักเจ้าของรถแจ้งว่า รถคันนี้เตรียมทำลงสนามเป็นรถแข่งในอนาคต

รถแต่งที่มีชิ้นส่วนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น กรมขนส่งไม่ถูกใจสิ่งนี้
รถแต่งชิ้นส่วนอาจก่ออันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น กรมขนส่งไม่ถูกใจสิ่งนี้

รถแต่งสามารถแจ้งดัดแปลงได้

การแต่งรถบ้านขับประจำวัน ที่มีตัวถังยื่นยาวออกมาขนาดนี้ ผิดพรบ.กรมขนส่งที่ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ หรือการดัดแปลงรถ หรือ การเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ให้เจ้าของรถยื่นขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงก่อนดำเนินการในกรณีดังต่อไปนี้ 1.โครงคัสซี 2.ตัวถัง 3.ระบบบังคับเลี้ยว 4.ระบบรองรับน้ำหนักและช่วงล่าง 5.ช่วงล้อ”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแต่งไว้ขับหรือแข่ง ก็สามารถยื่นเอกสารขออนุญาตดัดแปลงรถยนต์ได้ โดยเจ้าของรถต้องเตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถ หรือหนังสือรับรอง นิติบุคคลและเอกสารประจำตัวของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล

2. หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

3. เล่มทะเบียนรถ

4. รายละเอียดการแก้ไขดัดแปลงรถ จากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป

5. ภาพถ่ายตัวรถแบบเดิมทั้งสี่ด้าน (ด้านหน้า ด้านข้างซ้าย ด้านข้างขวา ด้านท้าย)

6. ภาพถ่ายอุปกรณ์ส่วนควบของรถที่จะดัดแปลง เช่น สปอยเลอร์ สเกิร์ต คานาด ฯลฯ

รถดัดแปลงสามารถแจ้งตรวจให้ขนส่งฯ รับรองได้
รถดัดแปลงสามารถแจ้งตรวจให้ขนส่งฯ รับรองได้

กฎหมายการใส่สปอยเลอร์ และทำ Wide Body

ใส่สปอยเลอร์ และทำ Wide Body จัดเป็นการใส่ชิ้นส่วนยื่นออกมานอกรถ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่า ส่วนที่ยื่นต้องมีลักษณะเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถ หรือถ้าแยกชิ้นกัน ต้องมีการยึดติดอย่างแน่นหนา ส่วนจะยื่นออกมามากเท่าใดไม่ได้กำหนด แต่หากยื่นออกมาจนเกินปรกติรถทั่วไป เจ้าหน้าที่มีสิทธิขอตรวจดูสำเนาการจดทะเบียน ว่ามีการดัดแปลงเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ โดยอ้างอิงจากบริษัทผู้ผลิตถึงขนาดตัวรถ และฐานล้อ พูดง่ายๆคือ หากมีการดัดแปลงเกินสเปคเดิมไปมาก ต้องใช้วิศวกรรับรองการดัดแปลง และต้องแจ้งกับกรมขนส่งทางบก หากตรวจไม่ผ่านก็ต้องกลับไปแก้ไขใหม่

กฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับการดัดแปลงรถยนต์

  • ป้ายทะเบียนยาวป้ายปลอม ป้ายทะเบียนที่นำมาตัดต่ออัดกรอบใหม่เป็นป้ายยาว ผิดข้อหาดัดแปลง เปลี่ยนแปลงเอกสารของทางราชการเจ้าหน้าที่มีสิทธิเรียกปรับ ระบุโทษไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงการติดป้ายเอียง แบบแหงนขึ้น-ลง มีวัสดุมาปิดทับ เจ้าหน้าที่อาจฟันธงว่า มองเห็นไม่ชัดเจนก็มีโทษปรับเช่นเดียวกัน ส่วนการติดป้าย ที่ทำขึ้นเอง เช่นทำด้วยกระดาษ หรือใช้การเขียน แต่หมายเลขตรงกับทะเบียนรถ ผิดข้อหา ไม่ใช้เอกสารที่ทางราชการกำหนด แต่ถ้าเป็นป้ายปลอม (ไม่มี ข.ส. ) ขอดูสำเนาแล้วไม่ตรงกับป้าย ผิดต้องคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ โดยระบุโทษไว้ที่ 100,000 บาท และถ้าหมายเลขป้ายไม่ตรงกับ ป้ายวงกลมและสำเนารถ จะถูกยึดรถได้เลย
     
  • การโหลดเตี้ย จะทำช่วงล่างต่ำแค่ไหนก็ได้  ยึดหลักเพียงการวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร ถ้าต่ำกว่าถือว่าผิด  แต่ถ้าไฟหน้าสูงกว่าแต่รถใส่สปอยเลอร์จนเตี้ยต่ำแทบจะลากพื้น จะใช้กฎการพินิจ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจนายช่างตรวจสภาพกรมขนส่ง และผู้วินิจฉัยผล ต.ร.อ. ว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ ถ้าฟันธงว่าเสี่ยงก็ถือว่าผิดได้เช่นกัน
     
  • การยกสูง ต้องวัดระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร แต่ถ้าไฟหน้าสูงไม่เกิน แต่รถสูงมาก มีการดัดแปลงสภาพมาก ต้องมีวิศวกรรองรับการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมขนส่งทางบกให้เป็นที่เรียบร้อย 
     
  • ใส่ล้อยางใหญ่ จะใส่ล้อแม็กซ์ใหญ่ หน้ากว้าง เช่น ขอบล้อ 22 นิ้ว กว้าง 9 นิ้ว  ก็ไม่ผิด แต่ห้ามใส่ยางเกินออกมานอกบังโคลนล้อมากๆข้างละหลายๆนิ้ว เพราะอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และห้ามใส่ล้อใหญ่จนต้องแบะล้อเพื่อหลบซุ้มแล้ววิ่งจนยางสึกเห็นผ้าใบ เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่อตนเอง
     
  • ฝากระโปรงหน้า–หลังดำ ฝากระโปรงไฟเบอร์ ถ้าทำเป็นสีเดียวกับสีรถที่จดทะเบียนไว้ถือว่าไม่ผิด  แต่ถ้าเปลี่ยนสีฝากระโปรงเป็นสีดำ หรือสีอื่น ที่ไม่ตรงกับสีตัวรถ ต้องมีไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้  เช่นในกรณีรถระบุไว้ในทะเบียนว่าเป็นสีขาวแต่ฝากระโปรงหน้าเป็นสีดำ เจ้าหน้าพินิจแล้วไม่เกินครึ่งหนึ่งก็ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าดำทั้งฝากระโปรงหน้า-หลังและหลังคา ถือว่าเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของสีหลัก ซึ่งเจ้าของรถต้องนำรถเข้าไปแจ้งเปลี่ยนสี ว่าเป็นรถสองสี (ทูโทน) กับกรมขนส่งทางบกเสียก่อน ถ้าไม่แจ้งก็อาจต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
     
  • เปลี่ยนท่อไอเสียเสียงดัง ท่อไอเสียจะขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้ หากวัดปลายท่อไอเสียด้วยเครื่องวัดเสียงในระยะห่างครึ่งเมตร สำหรับเครื่องยนต์เบนซิลวัดที่ 3/4 รอบเครื่องที่ให้แรงม้าสูงสุด และสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลวัดที่รอบเครื่องสูงสุด ผลที่ได้ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล หากเครื่องตรวจวัดแล้วเกินจริง ก็ต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
     
  • ไฟซีนอน ไฟท้ายขาว โคมขาว โคมดำ ติดตั้งแล้วเมื่อเข้าเครื่องมือทดสอบโคมไฟ ลำแสงต้องมีองศาตกลงจากแนวระนาบ ไม่น้อยกว่า 2 องศาและต้องไม่เบนไปทางขวา ถึงเรียกว่าผ่าน สวนเรื่องสีของ แต่โคมไฟหน้าทางกรมกำหนดไว้เพียง2 สี เท่านั้นคือ สีเหลืองอ่อน และสีขาว ถ้าเป็นสีอื่น เช่นสีฟ้า สีม่วง สีเหลืองเข้มหรือสีเขียว มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟเบรก ต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ไฟส่องป้ายต้อเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไกลไม่น้อยกว่า 20 เมตร หากเปลี่ยนโคมไฟเป็นสีขาวหรือพ่นโคมเป็นสีดำ ต้องพิจารณาขณะเปิดไฟเลี้ยว ไฟเบรก ถ้าไฟที่แสดงออกมาชัดเจนและเป็นสีที่กำหนดก็ถือว่าผ่าน ถ้าผิดสีก็โดนปรับสูงสุด 2,000 บาท
     
  • ไฟสปอตไลท์และไฟตัดหมอก โคมไฟสปอร์ทไลท์หมายถึงโคมไฟแสงพุ่งไกล แบบกระจายวงกว้าง แบบนี้ห้ามติดโดยเด็จขาดแม้จะมีฝาครอบปิด ผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟตัดหมอกมีลักษณะเป็นไฟแสงพุ่งต่ำล่าสุดปี พ.ร.บ. 2536 อนุญาตให้รถยนต์ติดไฟสปอร์ตไลท์หรือไฟตัดหมอกเพิ่มได้ ข้างละ 1 ดวง ในระดับแนวเดียวกัน ความสูงจากพื้นถนนไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตรและไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร ต้องเป็นแสงสีเหลือง หรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ จุดรวมแสงต้องต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะห่าง 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา ส่วนการเปิดไฟตัดหมอกนั้นทำได้เมื่อมีอุปสรรค์ในการขับขี่ เช่น มีหมอกควัน หรือฝนตกหนัก มองเห็นสิ่งกีดขวางหรือรถที่สวนทางมาในระยะไม่เกิน 150 เมตร ถ้าเปิดไฟพร่ำเพื่อมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท รวมถึงการติดไฟนีออนใต้ท้อง หรือไฟไอติม ก็เป็นสิ่งต้องห้าม ผิดอีกเช่นเดียวกันโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
     
  • ดัดแปลงเป็นขับเคลื่อน 4 ล้อ ถ้ามีการดัดแปลงเป็นระบบขับสี่ล้อต้องแจ้งกับกรมการขนส่งเสียก่อน ซึ่งต้องใช้หลักฐาน ใบเสร็จอะไหล่ ใบรับรองวิศวกร นำรถเข้าตรวจหาความถูกต้องปลอดภัยแข็งแรง ก่อนที่อาจจะมีการส่งรถเข้าช่างน้ำหนัก ส่งต่อให้กรมสรรพสามิตคำนวณอัตราภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม มีตั้งแต่หลักหลายพันจนถึงหลักหมื่นบาทเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่า เป็นการดัดแปลงรถยนต์ให้ผิดจากการจดทะเบียนโดยมิได้ขออนุญาต

รถที่มีส่วนประกอบตัวถังไม่ครบ และใส่ท่อเสียงดัง มีสิทธิ์ตรวจสภาพไม่ผ่าน
รถที่มีส่วนประกอบตัวถังไม่ครบ และใส่ท่อเสียงดัง มีสิทธิ์ตรวจสภาพไม่ผ่าน

  • เปลี่ยนดิสเบรกหลัง การเปลี่ยนดรัมเบรก เป็นดิสเบรกหลัง เรื่องนี้ไม่มีกฎออกมาชัดเจนจึงอาศัยการพินิจจากเจ้าหน้าที่กรมขนส่ง ซึ่งแต่ละเขตขนส่งต่างก็มีดุลพินิจไม่เหมือนกัน ถ้าเจ้าหน้าที่พินิจว่าไม่น่าผ่านก็ต้องหาใบเสร็จติดตั้ง และใบวิศวกรมาแจ้งเช่นเดียวกัน
     
  • ใส่หลังคาซันรูฟ การเปลี่ยนหลังคาซันรูปส่วนมากต้องมีการดัดแปลงเช่น การเจาะหลังคา หรือเปลี่ยนหลังคาใหม่แบบนี้ทางกรมขนส่งจะมองว่า เป็นการแก้ไขดัดแปลง ซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของตัวรถ แบบนี้ต้องมีใบเสร็จหลังคา รูปถ่ายขั้นตอนการติดตั้ง และใบรับรองวิศวกร และต้องแจ้งกรมขนส่งทางบกก่อนถึงจะไม่ผิด
     
  • ตีโรลบาร์แบบรถแข่ง การตีโรลบาร์ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับจึงไม่ผิด แต่การถอดเบาะหลังออกแล้วตีโรลบาร์ จะผิดกฎหมายเรื่องการระบุลักษณะรถ และจำนวนตอน ถือว่าผิดครับ  รวมถึงการความแน่หนา(เช่นเอามือจับแล้วโยกได้)ความเสี่ยงต่ำการเกิดอุบัติเหตุ เช่น มีส่วนแหลมคมพุ่งเข้าหาผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ก็ถือว่าผิดได้อีกเช่นกัน ยิ่งถอดเบาะออกเหลือตัวเดียวหรือตัดตัวถังรถออกบางส่วน แล้วตีโรล์บาร์ยึดแบบ Space Frame แบบนี้ถือว่าผิด ขอหาดัดแปลงสภาพที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถ
     
  • ใส่กระจกมองข้างแบบซิ่ง กฎหมายไม่ได้ระบุถึงขนาดและรูปแบบ ถ้าเปลี่ยนเป็นกระจกมองข้างแบบไฟเบอร์ หรือแบบกระจกซิ่งทรงแข่ง ถ้ามี 2 ด้าน หรือด้านเดียวก็ถือว่าถูกกฎหมาย แต่ถ้าไม่มี กระจกมองข้าง หรือกระจกมองหลัง หรือเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพ ฟันธงว่า มีเครื่องส่องหลังจริง แต่ชำรุดหรือมองเห็นไม่ชัดเจน (กระจกแตก เล็กมาก) ก็จะถือว่าผิด
     
  • เปลี่ยนเบาะซิ่งใส่เซฟตี้เบล 4 จุด ทาง พ.ร.บ. จริงๆแล้วได้ระบุขนาดความกว้างยาวของเบาะเอาไว้ด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องในการระบบุจำนวนผู้โดยสาร การใส่เบาะแต่ง หรือเบาะไฟเบอร์ ส่วนมากมีความถูกต้องในเรื่องขนาด แต่ถ้าถอดเบาะออกไม่ว่าเบาะหลัง ถอดเหลือตัวเดียว หรือสั่งทำเบาะขนาดใหญ่พิเศษแบบนี้จะถือว่าผิด  ส่วนเซพตี้เบลทางกรมก็ได้ทำหนด มาตรฐานเอาไว้อีกเช่นกัน เบล 4 จุดแม้ว่าจะไม่ถูกต้องในเรื่องของมาตรฐาน แต่ถ้ามีการยึดแน่นหนา ก็อนุโลมว่าผ่าน แต่ถ้าใส่เบล 4 จุด 8 จุด แล้วไม่คาด แบบนี้ถือว่าไม่ผิดพระราชบัญญัติหรอกครับ แต่ผิดกฎหมายจราจรแทน
     
  • ดัดแปลงเครื่องยนต์ขยายซีซี การจะมาวัดกำลังอัด หาขนาดความจุนั้นทำได้ยาก จึงอาศัยการตรวจดูหมายเลขเครื่องยนต์ว่าถูกต้องตามทะเบียนที่แจ้งไว้หรือไม่เท่านั้น ถ้าเลขเครื่องตรงกับเล่มถือว่าไม่ผิด จะขยายความจุ เปลี่ยนลูก ยืดข้อ เสริมเสื้อสูบก็ไม่ผิด หรือไม่ว่าจะเปลี่ยนเทอร์โบใหญ่ ใส่กรองเปลือย ตีเฮดเดอร์ เปลี่ยนหัวฉีด โมกล่องจนได้กี่แรงม้าก็ไม่ผิด เพียงแต่อุปกรณ์ภายในห้องเครื่องต้องดูแล้วแน่นหนาและมีความปลอดภัย และผ่านการตรวจวัดควันดำ ค่า CO (คาร์บอนมอนออกไซต์) และค่า HC (ไฮโดรคาร์บอน) ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียเป็นข้อกำหนดถึงสภาพเครื่องยนต์ 
     
  • มาตรฐานควันดำ โดยรถยนต์ที่จดทะเบียนก่อน 1 พค 2536 ต้องวัดค่า Co ไม่เกิน 4.5 เปอร์เซนต์ และค่า Hc ไม่เกิน 600 PPM และรถยนต์ที่จดทะเบียนหลัง 1 พค 2536 ต้อง วัดค่า Co ไม่เกิน 1.5
    เปอร์เซนต์ และค่า Hc ไม่เกิน 200 PPM ส่วนถ้าเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลแต่ง มาตรฐานการวัดควันดำ ต้องไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเครื่องวัดแบบกระดาษกรอง และ 45 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเครื่องวัดแบบหาความทึบแสง ซึ่งรถยนต์ที่มีอายุเกิน7 ปี ต้องได้รับการตรวจวัดค่า Co และ Hc จาก ต.ร.อ ดังนั้นจะโมเครื่องแค่ไหนแต่งเครื่องอย่างไร ถ้าการเผาไหม้หมดจด Co และ Hc ผ่านก็ถือว่าถูกกฎหมาย

การดัดแปลงแต่งรถนั้น ย่อมทำได้โดยเสรี แต่ต้องมีการแจ้งดัดแปลงและตรวจสอบ ที่รับรองโดยวิศวกรมาแล้ว เพื่อเป็นความมั่นใจว่ารถของเรา จะไม่โดนตำรวจเรียกปรับ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ถนนร่วมกันด้วยครับ

ติดตาม ข่าวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง รีวิวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง ราคารถยนต์ใหม่ๆได้ที่นี่

Mr.Argus