6 ข้อควรรู้ก่อนติดตั้งที่ชาร์จไฟรถยนต์ EV

ประสบการณ์ใช้รถ | 14 ก.ย 2565
แชร์ 1

ที่ชาร์จไฟรถยนต์ เป็นอุปกรณ์ที่มีพิกัดกระแสไฟฟ้าสูง ควรติดตั้งอย่างถูกวิธี และเช็กระบบไฟฟ้าให้พร้อม ทั้งยังต้องคำนึงถึงข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV (Electric Vehicle) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ด้วยข้อดีที่ความเงียบและอัตราเร่งที่ตอบสนองได้ดั่งใจ ไม่ต้องเติมน้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ลดมลภาวะและมลพิษทางอากาศอันเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งยังสามารถชาร์จได้เลยที่บ้าน แต่จะต้องเตรียมบ้านให้พร้อมกับระบบที่จะใช้ชาร์จไฟ และติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้ถูกวิธี 

ชาร์จไฟรถยนต์

การชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ มีกี่รูปแบบ

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า การชาร์จไฟรถยนต์ EV สามารถทำได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่

  • Quick Charge : การชาร์จไฟด้วยกระแสไฟฟ้าตรง (DC Charging) จากตู้ชาร์จ EV Charger ใช้เวลาประมาณ 40 - 60 นาทีเท่านั้น โดยจะมีเฉพาะที่สถานีบริการ ห้างสรรพสินค้า หรือจุดแวะพักรถต่าง ๆ 
  • Normal Charge (Wall Box) : การชาร์จไฟกระแสสลับ ใช้เวลาประมาณ 4-7 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดของแบตเตอรี่
  • Normal Charge : AC Charge ชาร์จจากเต้ารับในบ้าน ใช้เวลาประมาณ 12-16 ชั่วโมง สำหรับการติดตั้ง จะต้องจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ที่สำคัญ มิเตอร์ไฟบ้านคุณต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ขั้นต่ำ 15(45)A และต้องติดตั้งเต้ารับไฟที่ใช้สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเต้าธรรมดาไม่สามารถใช้ชาร์จรถยนต์ได้

วิธีชาร์จรถไฟฟ้า ทำได้อย่างไร

1. เช็กขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า 

ที่บ้านต้องมีมิเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 1 เฟด (30/100) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า 30 แอมป์ หากมีน้อยกว่านี้ต้องไปขอเปลี่ยน สำหรับไฟ 3 เฟส จะต้องเป็น 15/45 เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอกับการชาร์จไฟในปริมาณมาก 

2. เช็กขนาดสายไฟเมน

หากที่บ้านยังใช้สายทองแดงขนาด 16 มิลลิเมตร จะต้องเปลี่ยนไปใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร เป็นขนาดหน้าตัดของสาย ส่วนตู้ Main Circuit Breaker (MCB) จะต้องเป็นตู้ที่สามารถรองรับกระแสได้สูงสุดที่ 100 แอมป์ 

3. เช็กตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB)

เช็กตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ว่ามีช่อง Circuit ว่างหรือไม่ เพราะต้องแยกตัวจ่ายไปให้ปลั๊กที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถ EV ต่างหาก หากไม่มีช่องว่างจะต้องเดินแยกอีกตัวหนึ่ง

ชาร์จรถไฟฟ้า

4. ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD (Residual Current Device)

เครื่องตัดไฟรั่ว จะใช้ตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดไฟไหม้ได้นั่นเอง หากสายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติม ทั้งนี้ เครื่องชาร์จไฟฟ้าที่ดี ควรมีระบบตัดไฟ RCD Type A โดยมีระบบตรวจจับ DC Leakage Protection 6 มิลลิแอมป์ สำหรับป้องกันกระแสไฟตรงรั่วไหล

5. เต้ารับสำหรับที่ชาร์จไฟรถยนต์

เต้ารับของรถยนต์ EV จะแตกต่างจากเต้ารับทั่วไปในบ้าน โดยจะเป็นชนิด 3 รู มีสายต่อลงดิน และควรต่อสายดินแยกออกจากสายดินของบ้าน ส่วนตัวเครื่องชาร์จจะต้องทนกระแสไฟฟ้าต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 16 แอมป์ 

6. เช็กตำแหน่งก่อนติดตั้งเต้ารับ

ตำแหน่งติดตั้งเต้ารับ ควรติดตั้งให้ระยะของสายชาร์จยาวไม่เกิน 5 เมตร เพื่อความสะดวกในการใช้งาน แม้จะเป็นรุ่นที่ใช้ภายนอกบ้านก็ควรติดตั้งให้อยู่ในที่ร่ม ป้องกันแดดและฝนได้ในระดับหนึ่ง 

การชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่

ข้อควรระวังในการติดตั้งเครื่องชาร์จ รถไฟฟ้า

1. ปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อม

เครื่องชาร์จไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีพิกัดกระแสไฟฟ้าแรงสูง ก่อนติดตั้งจึงต้องพิจารณาโหลดการใช้ไฟฟ้าเดิมของบ้าน และเครื่องชาร์จ หากรวมกันแล้วเกินกว่าพิกัดกระแสไฟฟ้าของ MCB ต้องทำการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมกับการติดตั้งก่อน โดยติดต่อการไฟฟ้าเพื่อขอเพิ่มหรือเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้เรียบร้อย

2. เดินวงจรไฟฟ้าสำหรับชาร์จไฟรถยนต์แยกต่างหาก

ในการติดตั้งที่ชาร์จ รถไฟฟ้า จะต้องเดินวงจรไฟฟ้าสำหรับชาร์จไฟแยกต่างหาก และต้องทำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ห้ามต่อพ่วงหรือใช้พาวเวอร์ของสายเดิมเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 

ขอบคุณข้อมูลจาก คุยกับลุงช่าง, การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย

ชาร์จ รถไฟฟ้า

อ่านเพิ่มเติม >>