งั้นตอนการเฝ้าระวังประกันภัยรถยนต์ปลอม วิธีตรวจเช็คเบื้องต้น ขั้นตอนการทำประกันตามฉบับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
เตือนภัย ระวังซื้อประกันภัยรถยนต์ ได้แค่กระดาษเปล่า
ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆพัฒนาไปมาก จนเอื้ออำนวยความสะดวกแก่มิจฉาชีพในการหาช่องโหว่เพื่อกระทำผิดเช่น ข้อมูลประวัติลูกค้า การจัดทำเอกสารที่มีแบบฟอร์มเหมือนบริษัทประกันภัย เมื่อผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ที่โทรศัพท์มาขายประกัน โทรมาจากไหนจริง เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะอ้างว่าโทรมาจากทางบริษัทประกัน รวมทั้งจดหมายเอกสารที่ส่งมาก็มีโลโก้บริษัทประกัน ที่อยู่ เบอร์ติดต่อสำนักงาน ดูน่าเชื่อถือมากๆ แต่พอตกลงทำก็ได้เรื่องเมื่อนั้นทันที!
โดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มีวาทะศิลป์ในการขายพูดจาหว่านล้อมเป็นอย่างดี เรียกว่ามีความเป็นมืออาชีพได้เลย และเมื่อตกลงทำจะจัดส่งพนักงาน(มีชุดฟอร์มดูน่าเชื่อถือ)มาเพื่อถ่ายรูปรถ เก็บเงิน และออกหลักฐานการรับประกันภัย รวมถึงใบเสร็จรับเงิน ครบชุดบางรายมีนามบัตรให้ด้วย ซึ่งจากนโยบายในการเลือกซื้อประกันที่ว่ากัน คือ
1. ดูบัตร(ปลอม)
2. ชำระเบี้ยประกันภัย(เรียบร้อย)
3. รับหลักฐาน(ที่ทำกันขึ้นมา)
4. ติดตามกรมธรรม์ประกันภัย(ติดต่อใครๆก็ไม่ได้)
เป็นอันว่า เข้าทางมิจฉาชีพพอดี ซึ่งจริงๆแล้ววิธีการที่แนะนำกันมาก็ใช้ได้แต่ต้องเพิ่มรายละเอียดให้สมบูรณ์มากขึ้น
ดูเพิ่มเติม
>> มือใหม่-มือเก๋า ก็ต้องอ่าน “ประกันภัยรถ” แบบไหนดีได้ประโยชน์สูงสุด
>> คปภ. เพิ่มความคุ้มครองสั่งจ่ายเพิ่มประกันรถยนต์
หากต้องชำระเป็นเงินสด คือ
1. ตรวจสอบใบอนุญาต ว่ามีตัวตนหรือเปล่าสามารถตรวจสอบจากwebsite หรือ โทร1186 ติดต่อคปภ.ก็ได้
2. ตรวจสอบกับบริษัทประกันที่ลูกค้าได้ตกลงทำประกันว่าได้มอบอำนาจให้พนักงานคนนี้มาเก็บเงินได้จริงหรือเปล่า
3. ไม่ว่าจะเช็คแบบไหนสุดท้ายก็ต้องขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้มารับเงินพร้อมเบอร์โทร
ส่วนการชำระโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารก็ปลอดภัยมาขึ้น โดยเฉพาะการโอนเข้าตรงที่บริษัทประกัน และถ้าเป็นชื่อบัญชีอื่นๆก็ต้องตรวจสอบเหมือนกับการชำระเงินสด ที่สำคัญควรเก็บหลักฐานการโอนเอาไว้(สำคัญมากๆ)
ระวังซื้อประกันภัยรถยนต์ ได้แค่กระดาษเปล่า
และนี้คือขั้นตอนการทำประกันตามฉบับคปภ. ซึ่งเป็นวิธีที่ควรปฏิบัติตามจริง เพื่อป้องกันการโอนเงินไปให้พวกมิจฉาชีพที่แอบอ้างมาหากินกับผู้บริสุทธิ์
1. ดูบัตร : ขอดูบัตรใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยที่ออกโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทุกครั้งที่จะทำประกันภัย
2. ชำระเบี้ยประกันภัย : ชำระเบี้ยประกันภัยให้ครบถ้วนก่อนหรือตรงกับวันที่ประสงค์จะให้เริ่มความคุ้มครอง
3. รับหลักฐาน : เมื่อชำระเบี้ยประกันภัย ให้เรียกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันภัยเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว และการทำประกันภัยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ พ.ศ. 2535(พ.ร.บ.) หรือการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจรวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ(สมัครใจรวม พ.ร.บ) จะได้รับหลักฐานแสดงการ ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเพื่อใช้สำหรับการจดทะเบียนใหม่หรือขอเสียภาษีประจำปีต่อนายทะเบียนขนส่ง
4. ติดตามกรมธรรม์ประกันภัย : หากไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 15 วัน นับแต่วันชำระเบี้ยประกันภัย ให้ติดต่อไปที่บริษัทประกันวินาศภัยที่ท่านทำประกันภัยโดยตรง
กล่าวสรุปคือในทุกขั้นตอนของการชำระซื้อประกันภัยรถยนต์ ผู้ซื้อควรมีความรอบคอบรวมถึงมีความรู้ความเข้าใจ ของระบบประกันภัยเพื่อไม่ให้ตนเองและผู้ใกล้ชิดตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ทุกวันนี้สรรหาสารพัดวิธีในการหลอกลวง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โทร.1186 หรือ 02-515-3999
สมาคมประกันวินาศภัย โทร. 02-256-6032-8 หรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ท่านทำประกันภัย