ประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักเดินทางที่ต้องการไปยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร มีสถานที่สวยงามมากมายแต่หลายคนคงไม่รู้ว่าเค้ามีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศนะ
ไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรืออย่างไร พื้นที่ของประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 513,120 ตร.กม. ส่วนประเทศบริเตนหรือสหราชอาณาจักรที่รวม อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์, และไอร์แลนด์เหนือเข้าไว้ด้วยกันหรือที่เราเรียกกันว่า United Kingdom นั้นมีพื้นที่รวมกันประมาณ 242,495 ตร.กม. ตีความง่ายๆว่าประเทศไทยมีพื้นที่ใหญ่เป็นประมาณ2เท่าของสหราชอาณาจักร ถึงแม้พื้นที่จะต่างกันถึงเพียงนี้แต่สิ่งที่คล้ายคลึง กันคือจำนวนประชากรรวมและจำนวนรถยนต์ จำนวนประชากรรวมทั้งประเทศของไทยและสหราชอาณาจักรมีใกล้เคียงกันประมาณ 68 ล้านคน ส่วนจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมก็มีใกล้เคียงกันคือ 32 ล้านคัน นั่นแปลว่า การปล่อยก๊าซหรือไอเสียจากรถยนต์ในสหราชอาณาจักรมีมากกว่าประเทศเราในแง่ของความหนาแน่นของก๊าซและความหนาแน่นของประชากรเนื่องจากมีพื้นที่เล็กกว่า ประเทศไทยที่มีพื้นที่มากกว่าประชากรหนาแน่นน้อยกว่ายังมีปัญหาด้านมลพิษแล้วคนในสหราชอาณาจักรเขาอยู่กันอย่างไร
ลอนดอนทั้งหนาวทั้งมลพิษทางอากาศสูง
ด้วยความที่ประชากรหนาแน่นและปริมาณรถยนต์ก็ไม่ใช่น้อยๆ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรหรือกรุงลอนดอน ตั้งแต่ช่วงปี2000ถึงปี2007 ปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศที่มาจากท่อไอเสียรถยนต์ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นและก็เกินจากค่ามาตรฐานทางอากาศที่กำหนดโดยEUหรือสหภาพยุโรป และมีการประเมินจากรัฐบาล(ในตอนนั้น)ว่ามลพิษที่เกิดขึ้นนั้นจะคร่าชีวิตผู้คนให้เสียชีวิตก่อนกำหนดถึง1000คน และอีก1000คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการสร้างเขตไอเสียต่ำขึ้นในกรุงลอนดอน (London Low Emission Zone)
ดูเพิ่มเติม
การสอบใบขับขี่ของประเทศต่างๆในโลก
เปิด Warp! เส้นทางลัด 4 ภูมิภาคเลี่ยงรถติด Confirm! ถึงเร็วก่อนใครๆ
หอนาฬิกาบิ๊กเบนที่มีชื่อเสียงของลอนดอนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ
ก่อนจะไปถึงเขตไอเสียต่ำ ในลอนดอนมีการเก็บเงินค่าจราจรหนาแน่นกรุงลอนดอนมาก่อนแล้วตั้งแต่ 17 ก.พ. 2003 เขตนี้จะมีการเก็บเงินในช่วงเวลา 7.00 น.-18.00น. ในวันทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ อัตราการจัดเก็บอยู่ที่วันละประมาณ500บาท การจัดเก็บก็สะดวกสบายและทันสมัยเพราะใช้ระบบจดจำป้ายทะเบียนอัตโนมัติ รถที่วิ่งเข้าเขตนี้ก็จำเป็นต้องจ่ายเงินแน่ๆเพราะสามารถเรียกเก็บไปยังเจ้าของรถยนต์ได้โดยตรง นับได้ว่าเป็นเขตเก็บเงินค่าจราจรหนาแน่นที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของโลก จุดประสงค์ที่มีนโยบายนี้ขึ้นมาก็เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน คนจะได้หันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เมื่อจำนวนรถยนต์ลดลงมลพิษทางอากาศก็จะได้ลดลงด้วย แต่แล้วมันก็ยังไม่ลดจึงเกิดเป็นนโยบายต่อมาคือ เขตไอเสียต่ำในลอนดอน
ป้ายบอกเขตเก็บเงินค่าจราจรหนาแน่นในลอนดอน
เขตไอเสียต่ำในลอนดอนเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2008 ก็คือหลังจากที่ค่าไอเสียในอากาศมีมากกว่าที่ควรจะเป็นจึงเกิดมาตรการนี้ขึ้น หลักการของเขตไอเสียต่ำในใจกลางกรุงลอนดอนคือรถยนต์ที่มีการปล่อยค่าไอเสียเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเข้าเขตนี้ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติม อัตราค่าปรับประมาณ 500-8000 บาทแล้วแต่ขนาดของรถยนต์ ส่วนคันที่อัตราการปล่อยค่าไอเสียไม่เกินก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ ปกติแล้วจะมีป้ายบอกขอบเขตดังรูปด้านล่าง
ป้ายบอกเขตไอเสียต่ำในลอนดอน
รถส่วนใหญ่ที่สามารถเข้าเขตไอเสียต่ำในลอนดอนได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับนั้น ในช่วงปี2008ต้องเป็นรถที่มีเครื่องยนต์มาตรฐานยูโรทรี (Euro3) และตั้งแต่ปี 2012 มีการปรับให้รถบรรทุกหรือรถบัสบางประเภทต้องมีเครื่องยนต์มาตรฐานยูโรโฟร์ (Euro4) ตั้งแต่ช่วงตุลาคมปี 2017มีการปรับเปลี่ยนระบบเล็กน้อยโดยจะจัดเก็บเป็นระบบภาษีที่เรียกว่า ทีชาร์จ (T-Charge) โดยมีการจัดเก็บที่ราคาประมาณ 500 บาทต่อวันสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่จดทะเบียนก่อนปี 2006 ที่ไม่ได้มีเครื่องยนต์มาตรฐานยูโรโฟร์ (Euro4) ส่วนวิธีการจัดเก็บนั้นก็ยังคงคล้ายกับการจัดเก็บค่าจราจรหนาแน่นซึ่งเท่ากับว่าต้องจ่ายซ้อน 2 ต่อสำหรับผู้ที่มีเครื่องยนต์ไม่ผ่านมาตรฐานและยังต้องการวิ่งในเขตที่กำหนดในเวลาเร่งด่วน กฎที่ดูเข้มงวดแบบนี้ฟังแล้วดูเหมือนว่ารัฐบาลช่างใจร้ายกับประชาชน แต่จริงๆแล้วก็ไม่ใช่เสียทีเดียวเพราะว่าหากรัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ทำแบบนี้ทางสหภาพยุโรปจะส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมยุโรป ซึ่งกรณีที่ผิดเต็มๆเมื่อศาลตัดสินแล้วสหราชอาณาจักรจะต้องถูกปรับเป็นเงินมากโขทีเดียว อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เรื่องมลพิษทางอาการไม่ได้มีเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ประเทศอื่นๆในแทบยุโรป เช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สเปน ฯลฯ ก็มีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกันขึ้นอยู่ว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร
นับตั้งแต่ปี 2008 มาตรการที่จะลดปัญหามลพิษในสหราชอาณาจักรดูจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังมีแผนการที่กำลังทำต่อเนื่องไปจากตอนนี้ก็คือการสร้าง “เขตไอเสียต่ำพิเศษขึ้นในกรุงลอนดอน (Ultra-Low Emission Zone)“ โดยคาดการณ์กันว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้ในวันที่ 8 เม.ย. 2019 จะมีการกำหนดประเภทเครื่องยนต์ที่เป็นมาตรฐาน หากผู้ขับขี่คนใดมีรถยนต์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานนั้นจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน และก็จะขยายขอบเขตให้กว้างออกไปเรื่อยๆให้ครอบคลุมเกือบทั้งกรุงลอนดอนเป็นลำดับต่อไปจนถึงปี2021
สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานใหม่ในปี2019 คือรถยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยูโรโฟร์(Euro4)สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และรถยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยูโรซิกซ์(Euro6)สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยอัตราค่าปรับสำหรับรถยนต์นั่งทั่วไปประมาณวันละ 500 บาท และอัตราค่าปรับราว 4000บาท สำหรับรถขนาดใหญ่เช่นรถบัส นโยบายเหล่านี้เมื่อมองแล้วเห็นได้ชัดว่าต้องการให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้รถยนต์ใหม่ๆที่มีศักยภาพของเครื่องยนต์ที่ปล่อยมลพิษทางอากาศคือก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์น้อยๆ ซึ่งนั่นจะเป็นการเชื่อมโยงให้คนเริ่มทยอยไปใช้รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต เรียกได้ว่าเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของวงการอุตสาหกรรมบางส่วนก็มาจากกฎหมายที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน หาใช่แต่พฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว
เครื่องยนต์ Euro6 ที่ปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงกว่ารุ่นก่อนๆ
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่มีการสุ่มตรวจคุณภาพของอากาศในเขตเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยพบว่าตลอด5ปี คือช่วง 2012-2016 ปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่สหราชอาณาจักรมีจนเกินมาตรฐานนั้น สำหรับประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษทั้งหมด
เพื่อนๆชาว Chobrod คงจะเห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่ารถยนต์กับมลพิษทางอากาศเป็นของคู่กันมาช้านานโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าๆ จึงมีการพัฒนาเครื่องยนต์จากผู้ผลิตให้นอกจากประหยัดน้ำมันแล้วยังต้องมีการเผาไหม้ที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ในสหราชอาณาจักรใช้วิธีการเสียค่าปรับเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ถึงแม้ว่าในบ้านเราจะยังไม่มีกฎหมายแบบนั้นแต่การใช้รถยนต์และเชื้อเพลิงอย่างประหยัดนอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าแล้วยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ เชิญที่นี่