ซื้อรถผ่านไฟแนนซ์ อย่าพลาดหลงเชื่อกับคำขู่ ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่คุณอาจไม่รู้ว่ากำลังถูกเอาเปรียบ รวมถึงเรื่องที่ไม่รู้ไม่ได้กับสิทธิผู้เช่าซื้อรถยนต์ตามกฎหมาย
หลาย ๆ คนอาจซื้อรถผ่านไฟแนนซ์ และคงได้ยินข้องบังคับว่าด้วยการชำระเงินหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ มากมายที่ฟังหรือรับรู้มาจากไฟแนนซ์ แต่คุณแน่ใจแล้วหรือ? ว่าข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้ที่กำลังทำประโยชน์ร่วมกันกับคุณนั้นถูกต้องมากน้อยแค่นั้น เคยคิดหรือไม่ ว่าข้อตกลงที่กล่าวอ้างขึ้นนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า หรือเพียงเอื้อประโยชน์แก่ทางไฟแนนซ์โดยที่คุยไม่ทันได้รู้ตัวและระวัง
ทำความเข้าใจใหม่กับสิทธิของผู้เช่าซื้อรถยนต์ตามกฎหมาย
สิ่งที่คนจะทำการเช่าซื้อรถต้องควรรู้ คือสิทธิผู้เช่าซื้อรถยนต์ตามกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนจะตัดสินใจทำการผ่อนรถกับไฟแนนซ์ เพราะมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่บางไฟแนนซ์หรือแม้แต่ทางเต้นท์รถเองจะหมกเม็ดและให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแก่ผู้ซื้อ หรือที่ร้ายแรงกว่า อาจแอบอ้างแจ้งเงื่อนไขหรือข้อกำหนดใด ๆ ที่ว่าขึ้นมาเองเพื่อยังประโยชน์ให้ผู้กล่าวอ้างด้วยก็เป็นได้ เราลองมาทำความเข้าใจและชี้แจงเป็นข้อ ๆ ในเรื่องที่สำคัญที่ควรรู้ กับวิธีรับมือที่ว่าด้วยสิทธิของผู้เช่าซื้อรถยนต์ตามกฎหมาย โดยจะยกเหตุการณ์หลัก ๆ หรือสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา
หลายคนประสบปัญหาถูกยึดเงินมัดจำและเกิดข้อร้องเรียนเรียนถามหาความจริงกันอยู่บ่อย ๆ บางคนเสียรู้ไม่กล้าไปขอคืนเพราะเข้าใจว่าเป็นข้อตกลงที่ว่ากันไว้แต่แรกแล้ว ว่าการวางเงินมัดจำนั้น เป็นการทำเพื่อการจองรถคันนั้น ๆ เอาไว้ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยมีการวางเงินไว้ในจำนวนที่ตามแต่ตกลงและยอมรับกันได้ ซึ่งถ้าหากซื้อรถได้แล้ว เงินมัดจำนั้นจะถูกคืนหรือถูกหักออกจากค่างวดรถนั้นไป แต่ถ้าเกิดซวยขึ้นมา ไม่สามารถกู้ไฟแนนซ์ได้ผ่าน คุณรู้หรือเปล่าว่าเงินมัดจำนั้น "มีสิทธิ์ที่จะเรียกคืนได้ตามกฎหมาย" อย่าได้ไปหลงเชื่อคำกล่าวอ้างของเต้นท์รถ หากจะพูดกับคุณว่าเงินมัดจำในการจองรถนั้น คุณไม่มีสิทธิ์ได้คืน
หากจัดไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เรียกเงินมัดจำคือได้ตามกฎหมาย
ทั้งนี้เราต้องมาย้อนดูกันก่อน ว่าต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไร และใครต้องดำเนินการอย่างไรถึงจะถูกต้อง
“กรณีที่ผู้เช่าซื้อได้ติดต่อกับเต็นท์รถเพื่อจะซื้อรถโดยที่ผู้เช่าซื้อได้ให้เงินไว้กับเต็นท์รถซึ่งมีการตกลงกันว่า เต็นท์รถจะดำเนินการจัดหาไฟแนนซ์ให้นั้น กรณีดังกล่าวการที่ผู้เช่าซื้อได้ให้เงินกับเต็นท์รถนั้นเป็นการให้มัดจำแก่กันไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 377 ต่อมาการที่ทางเต็นท์รถไม่สามารถที่จะจัดหาการจัดไฟแนนซ์เพื่อซื้อรถตามที่ตกลงกันให้กับผู้เช่าซื้อได้ อันเป็นการที่ฝ่ายรับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) ผู้เช่าซื้อก็ย่อมที่จะได้เงินมัดจำคืน”
ทั้งนี้เรื่องของเงินคืนมัดจำแม้ในตามกฎหมายจะระบุไว้ว่าสามารถคืนได้ แต่อย่าลืมว่าคุณได้เซ็นต์สัญญาอะไรไปถึงข้อตกลงเรื่องนี้หรือไม่เป็นข้อมูลประกอบ อันที่จริงควรมีการตกลงก่อนจองเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าบริษัทจะคืนเงินจองทุกกรณี ซึ่งต้องดูว่าตกลงไว้ว่าอย่างไร ที่สำคัญคือก่อนทำการเซ็นต์สัญญาจองรถจะต้องดูในใบจองด้วยว่าเงื่อนไขการคืนเงินมีหรือไม่ การคืนเงินจองรถได้มีการระบุอะไรไว้บ้าง
โดยส่วนมากบางยี่ห้อระบุไว้ชัดเจนในใบจองว่า หากผ่านแล้วผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาการจอง หรือข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติม อันเกิดจากการให้ข้อมูลเท็จของผู้ซื้อเองดังที่ว่าไว้ข้างต้น นี่ก็ถือว่าผิดเงื่อนไขและไม่สามารถขอคืนเงินจองได้ แต่ถ้ากรณีที่ไม่ผ่านแน่นอนว่าย่อมได้คืน หากไม่ระบุไว้ถือว่าคุณสามารถเรียกคืนมัดจำได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือข้อกำหนดในสัญญาที่คุณต้องควรอ่าน ทำความเข้าใจให้ดี ๆ ก่อนจรดปากกาเซ็นต์รับทราบหรือยินยอมลงไป
ดูเพิ่มเติม
>> สินเชื่อรถยนต์คืออะไร ? รู้เอาไว้สำหรับคนใช้รถ
>> รู้ไว้ได้ประโยชน์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
เคยไหมที่ถูกขู่หรือเรียกร้องให้ชำระค่าทวงถาม กรณีที่ทำการชำระเงินล่าช้า ให้ผู้เช่าซื้ออย่างเราเป็นคนรับผิดชอบ โดยอ้างจำนวนตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ เราควรรู้ไว้ว่า ไฟแนนซ์ไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ตามอำเภอใจ การค่าเสียหายเรียกได้ตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หากไฟแนนซ์ยังข่มขู่หรือเรียกหาความรับผิดชอบนี้ถือว่าเป็นการกรรโชกทรัพย์
ไฟแนนซ์ไม่สามารถเรียกร้องเก็บค่าทวงถามใด ๆ ได้
“คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2557 การที่จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าติดตามรถยนต์คืน หากไม่นำมาให้จะยึดรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป จึงเข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือรถยนต์กระบะของผู้เสียหายแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและยินยอมนำเงิน 2,300 บาท ให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์”
แต่อย่าชะล่าใจไป อย่าเพิ่งคิดว่างั้นฉันปล่อยไปให้โทรทวงตามอย่างนี้แหละ เพราะอย่างไรก็ไม่มีผลทางกฎหมาย หยุดความคิดนั้นเสียก่อน กลับไปดูสัญญาและข้อตกลงให้ดี ใช่ว่าทางกฎหมายจะบอกไว้ว่าไม่ให้เสีย แต่ถ้ามีการทำการตกลงระบุเอาไว้ในสัญญา และผู้ถูกทวงถามเองเป็นคนผิดสัญญา แน่นอนว่าคุณเองต้องรับผิดชอบเพราะมีผลทางกฎหมายเช่นกัน
“ถือว่ามีความผิดเช่นกันตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 3 (8) กำหนดให้ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อค่าทนายความและอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือการกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อของผู้ให้เช่าซื้อ เนื่องจากมีการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถามให้แก่ไฟแนนซ์ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร”
ดังนั้นการชำระให้ตรงเวลาถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลด้วย นอกจากจะต้องเสียค่าทวงถามกรณีที่ทำสัญญาเอาไว้ ก็อย่าลืมไปว่าเล่มทะเบียนก็ยังอยู่กับไฟแนนซ์ หากยึกยักหรือหัวหมอขึ้นมาคุณอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยไม่ใช่น้อยหากผิดข้อตกลงสัญญาเช่าซื้อ ชำระให้ตรงอย่างมีวินัยดีกว่าปลอดภัยที่สุด
บางคนอาจประสบปัญหา ไม่สามารถหาเงินจ่ายค่างวดได้ทันเวลา คุณอาจจะรอดหากไม่ได้ทำสัญญาเรื่องการคิดค่าทวงถาม และอย่าคิดว่ากฎหมายจะคุ้มครองสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อเพียงฝ่ายเดียวเพราะถ้าหากเกิดกรณีที่ทางผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด ผิดนัดชำระไม่ใช้จ่ายเงิน 2 งวดติด ๆ กัน และทางไฟแนนซ์เองก็ส่งจดหมาย หรือทวงถามกับคุณทุกครั้ง บริษัทไฟแนนซ์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่คุณเช่าซื้อ มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ชำระค่างวดให้ตรง ป้องกันปัญหาการยกเลิกสัญญาได้
“สำหรับกรณีที่ผู้เช่าซื้อส่งค่างวดไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เช่น ค้างส่งค่างวดสามงวดติดต่อกัน แต่ต่อมา ผู้เช่าซื้อนำค่างวดมาชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็ยอมรับค่าเช่าซื้อนั้นโดยไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เท่ากับผู้ให้เช่าซื้อยอมให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 3830-3831/2550)”
ตามที่กฎหมายระบุ หากคุณค้างไว้ 5 เดือนแล้ว แต่ต้องการชำระค่างวด 3 เดือนก่อนก็ขึ้นกับนโยบายของบริษัทว่ายอมรับยอดนี้และปล่อยให้สัญญามีผลต่อหรือไม่ หากไม่ก็แล้วการตกลงระหว่างผู้เช่าซื้อกับบริษัทตามแต่ในสัญญาที่ระบุไว้ ถ้ามีการระบุข้อตกลงไว้ในสัญญาแล้วว่าถ้าชำระไม่ตรงในระยะเวลาในระหว่างกี่เดือนตามที่กำหนด ไฟแนนซ์ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แม้จะนำยอดที่หลังมาปิดแล้วก็ตาม ไม่ว่าอย่างไรทางที่ดี ชำระค่างวดให้ตรงเป็นดีที่สุด
ขอบอกว่าถ้าคุณทำประกันเอาไว้ ให้สบายใจหายห่าง เพราะทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาย่อมระงับ ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องส่งค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ(ไม่ต้องผ่อนต่อ) แต่คงต้องรับผิดในงวดที่ค้างชำระเท่านั้น เช่น ผ่อน ผ่อนมาแล้ว 5 งวด รถหายในช่วงเวลาระหว่างงวดที่ 5 - 6 ต้องชำระค่างวดที่ค้างในงวดที่ 3 งวดที่ 6 เป็นต้นไปไม่ต้องผ่อนต่อ
ไม่อยากผ่อนกุญแจต่อ ศึกษากฎหมายให้ดี
เมื่อก่อนนี้ เมื่อไปแจ้งความเราคงทราบดีว่ารถที่หายดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของไฟแนนซ์ ตำรวจจะต้องให้ไฟแนนซ์เป็นคนมาแจ้งความ หรือให้ทางไฟแนนซ์มอบอำนาจมาเรามาดำเนินการเองซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8980/2555 ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า
“ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ ดังนั้นจึงไม่ต้องดำเนินการเหมือนอย่างแต่ก่อน ดำเนินการร้องทุกข์แจ้งความได้ทันที”
เมื่อแจ้งความเป็นหลักฐานกับตำรวจ แล้วนำสำเนาการแจ้งความไปมอบให้ บ.ประกันภัย และไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์จะดำเนินการเคลมประกัน เราควรตรวจสอบว่า บริษัทประกันเคลมให้ตามวงเงินที่กรมธรรม์ระบุไว้หรือไม่เคลมเท่าไหร่ ประเด็นจึงเหลือประเด็นเดียวคือค่าเสียหายมีเท่าไหร่ ? เรื่องนี้ศาลฎีกาเคยวางบรรทัดฐานว่าถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายต้องพิจาณาข้อมูลดังนี้
กรณีกลับกันค่าไม่พอกับความเสียหายที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับ ศาลก็จะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร แต่มิใช่ให้ชำระค่าเช่าซื้อจนครบเต็มตามสัญญาแต่อย่างใด
แต่ถ้ารถไม่มีประกัน ก็ใช่ว่าจะต้องผ่อนลม ผ่อนกุญแจ รับกรรมไปอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ขอชี้แจงทราบว่า ว่ารถไม่มีประกันหาย ไม่ต้องผ่อนต่อ อ้างอิงตามกฎหมายที่ว่าไว้ดังนี้
“มาตรา383วรรคแรก ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป”
“มาตรา 562 ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลาย อย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายอันเกิดแต่การ ใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ”
“มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ท่านว่า สัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย”
เทียบเคียงฎีกา 5819/2550
“เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์”
สรุป เมื่อรถยนต์หายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไป นับตั้งแต่วันที่รถยนต์คันที่เช่าซื้อนั้นสูญหาย ดังนั้นในส่วนของค่างวดที่ติดค้างไฟแนนซ์ซึ่งเป็นค่างวดหลังจากวันที่รถหายไม่ต้องผ่อนต่อ เพื่อให้ไฟแนนซ์ได้ไปใช้สิทธิทางศาลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เช่าซื้อเองที่ไม่ต้องผ่อนเต็มมูลค่าของสัญญาแต่ชดใช้อย่างสมน้ำสมเนื้อตามกฎหมายซึ่งศาลท่านมีอำนาจตามกฎหมายลดยอดหนี้ให้ผู้เช่าซื้อได้ ดังนั้นรถไม่มีประกันหายต้องหยุดผ่อน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้เข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมายอย่างเหมาะสม
อาจจะได้ยินกันมาแล้ว กับคำที่ว่า ถ้าผ่อนไม่ไหวก็ให้เอารถมาคืน ก็จะถือว่าจบ ๆ กันไป อย่าเพิ่งหลงเชื่อ! ทำแบบนี้คนที่ขาดทุนก็มีแต่คุณ เพราะหากให้ยอมยึดรถหรือคืนรถ ไฟแนนซ์จะฟ้องเรียกค่าส่วนต่าง ดอกเบี้ย ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสื่อมราคามาในภายหลังแน่นอน ดังนั้นแนะนำให้ขายดาวน์เท่านั้น กล่าวคือการซื้อขายสิทธิเช่าซื้อ ต้องเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์เท่านั้น
ผ่อนไม่ไหวก็คืนเขาไป
“การซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ในการเช่าซื้อรถหากผู้เช่าซื้อเห็นว่าจะไม่สามารถส่งค่างวดต่อไปหรือจะเปลี่ยนใจผ่อนรถคันใหม่ ถ้าจะบอกเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าซื้อ ก็จะต้องเสียเงินดาวน์และค่างวดที่ผ่อนไปแล้วไปเสียเปล่า แล้วยังจะโดนฟ้องเรียกค่าส่วนต่างนุ่นนี้นั้นตามมาอีก จึงมีการซื้อขายสิทธิที่เรียกกันว่าขายดาวน์คือ การขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยแล้ว ว่า สิทธิเช่าซื้อเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2466 /2539 (ประชุมใหญ่) เป็นกรณีซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ดิน คำพิพากษาฎีกาที่ 4503/2540 กรณีขายสิทธิเช่าซื้อรถยนต์”
นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติการทวงหนี้ฉบับใหม่ ครอบคลุมการทวงหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ครอบคลุมถึงไฟแนนซ์ด้วยดังนั้นถ้าเห็นว่าไฟแนนซ์ไม่ปฎิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว สามารถบันทึกหลัฐานและทำการร้องเรียนได้เลย ตามสิทธิผู้เช่าซื้อรถยนต์
ทั้งหมดนี้คือสิทธิผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ควรซื้อควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้ และในทางกลับกัน ไม่ได้หมายความว่าผู้เช่าซื้อจะไปทำหัวหมอหรือสร้างอำนาจการต่อรองกับไฟแนนซ์ในบางเรื่องที่คุณคิดว่าจะเปิดโอกาสให้คุณเล่นแง่ได้ สิ่งที่คุณควรทำคือส่งค่างวดรถให้ตรงและมีวินัย เพราะจะส่งผลที่ดีแก่คนในแง่ของความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน
ดูเพิ่มเติม
>> เส้นตาย! จ่ายค่างวดรถช้าได้กี่วัน ถึงจะไม่โดนยึดรถ
>> รีไฟแนนซ์รถยนต์คืออะไร? มีอะไรบ้างที่ต้องรู้
ติดตาม ข่าวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง รีวิวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง ราคารถยนต์ใหม่ๆ ได้ที่นี่
เข้าดู ราคารถมือสอง ได้ที่นี่