กรกฎาคม 2024 ทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ด้วยสถิติใช้เชื้อเพลิงเพียง 1 ลิตร วิ่งได้ 892.5 กิโลเมตร ด้วยประเภทรถต้นแบบ (Prototype Category) ด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024
ทีม RMUTP RACING มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารองชนะเลิศ หมวด Prototype (ICE) สถิติ 892 km/l
เยาวชนไทยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกครั้ง จากสนามการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 โดยทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารองชนะเลิศ ประเภท รถต้นแบบ (Prototype Category) ด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล เพียง 1 ลิตร วิ่งได้ระยะทางเทียบเท่า 892 กิโลเมตร
การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทีมเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางวิศวกรรม ในการประดิษฐ์ยานพาหนะที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การแข่งขันในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
การแข่งจัดขึ้นที่ สนามแข่งรถนานาชาติมันดาลิกา ในเมืองลอมบอก จังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย มีทีมจากสถาบัน การศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 78 ทีมจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม จีน อินโดนีเซีย อินเดีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ทีมจากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา
ทีมวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร
ทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ทั้งหมด 4 ทีม ประกอบด้วย ทีมจากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
RMUTP RACING จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หนึ่งในทีมเยาวชนไทยที่ได้พัฒนานวัตกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงาน ประเภทรถต้นแบบ (Prototype Category) หมวดเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เชื้อเพลิงประเภท เอทานอล 100 คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการใช้เชื้อเพลิงเพียง 1 ลิตร วิ่งได้เทียบเท่าระยะทาง 892.5 กิโลเมตร ไต่อันดับ ขึ้นจากที่ 4 ของการแข่งขันรายการเดียวกันเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
ผลงานของทีมเยาวชนไทยในครั้งนี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมและนวัตกรรม แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพความพร้อม ของเยาวชนไทยในเวทีการแข่งขันระดับสากล
ในการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 แต่ละทีมจะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นตอน ทางเทคนิคเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย จึงจะลงแข่งขันในสนามได้
การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
รถต้นแบบ – Prototype ซึ่งมี 3 ล้อ น้ำหนักเบา ออกแบบรูปร่างของรถโดยเน้นการลดแรงต้านทาน เพื่อใช้พลังงานได้น้อยที่สุด
รถประเภทแนวคิด เมือง-Urban Concept มี 4 ล้อ ลักษณะรูปร่างใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้งานจริงบนท้องถนนทั่วไป ผู้เข้าแข่งขันแต่ละประเภทจะสามารถเลือกใช้พลังงาน ได้ 3 ประเภท ได้แก่ แบตเตอรี่ไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และ เครื่องยนต์สันดาปภายใน (น้ำมันเบนซิน เอทานอล หรือดีเซล)
การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2025 กำลังจะมีขึ้นอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ พร้อมเปิดรับเยาวชนไทยที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ให้มาร่วมการแข่งขัน เพื่อโชว์ศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับภูมิภาคด้วยกันอีกครั้ง
นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า
“การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับความท้าทายในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เยาวชนจากทั่วภูมิภาคนำความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) มาออกแบบ สร้างยานพาหนะที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเราหวังว่านวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการปฏิวัติการใช้พลังงานในอนาคต สอดคล้องกับกลยุทธ์ Powering Progress ที่สนับสนุน เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน"
ตลาดรถมือสอง มีรถมากมายให้เลือกในราคาที่ถูกใจ