กฏหมายรถแต่ง 2566 ถ้าอยากแต่งรถไม่รู้ไม่ได้ !

ประสบการณ์ใช้รถ | 21 ก.พ 2566
แชร์ 6

กฏหมายรถแต่ง 2566 ดัดแปลงรถแบบไหนไม่ให้ผิดกฎหมายแต่งรถ รู้ขอบเขตการแต่งรถที่สามารถทำไม่ได้ และทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

การแต่งรถนั้น ทำให้บอดี้ภายนอกสวยงามขึ้น ลดน้ำหนักตัวรถ และทำให้รถแรงขึ้นกว่าเดิมก็จริง ทว่าการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม หรือการดัดแปลงแก้ไขบางชิ้นส่วนในรถอาจสร้างความเดือดร้อน หรือสร้างอันตรายกัยผู้ร่วมถนนคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน จึงควรทำแต่พอดี รู้ขอบเขตในการตกแต่งดัดแปลง หากฝ่าฝืนกฏหมายรถแต่ง จะต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด แล้วกฎหมายการแต่งรถ มีอะไรบ้าง มาดูกัน !

กฏหมายรถแต่ง 2566 มีอะไรบ้าง ?

การเปลี่ยนสีรถ หรือติดสติกเกอร์

กฏหมายรถแต่ง

หากเปลี่ยนสีรถทั้งคัน หรือเกิน 30% ของตัวรถ อาทิ เปลี่ยนสีกระโปรงหน้ารถ ฯลฯ หรือติดสติกเกอร์จนทำให้เข้าใจผิดว่าจุดนั้น ๆ เป็นสีของตัวรถ เจ้าของรถจะต้องแจ้งขนส่งภายใน 7 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานเปลี่ยนแปลงสีรถให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ ตามพ.ร.บ รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 60 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 

กฎหมาย ท่อไอเสีย รถยนต์ 2566

กฎหมายท่อไอเสียรถยนต์

การเปลี่ยนท่อไอเสียไม่ผิดกฎหมายแต่งรถ เพราะไม่ใช่การดัดแปลงสภาพรถให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ เพียงแต่ระดับความดังของท่อไอเสียจะต้องไม่เกิน 95 เดซิเบลตามที่กฎหมายกำหนด หากมีระดับเสียงดังเกินกว่านี้จะถือว่าผิดกฎหมายเต็ม ๆ และต้องโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท

การใส่ไฟไอติม

กฎหมายแต่งรถ

การติดไฟไอติมหรือไฟหลากสีแทนไฟรถที่มาจากโรงงาน นอกจากจะส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ของผู้อื่น ทำให้ผู้ชที่ขับตามหลังหรือสวนมาปวดตา มองเห็นเส้นทางไม่ชัดแล้ว ยังมีความผิดตามพ.ร.บ. จราจรทางบก มาตรา 38 ที่ระบุไว้ว่า ไฟเลี้ยวต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน, ไฟหยุด (ไฟเบรก) ต้องเป็นแสงแดงเท่านั้น รวมถึงมีอุปกรณ์ภายในรถไม่ครบถ้วน หรือมีการเพิ่มเข้าไปจนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ตามพ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ระวางโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท

การถอดเบาะหลังติดโรลบาร์ 

กฎหมายการแต่งรถ

การติดโรลบาร์ในรถไม่ผิดกฎหมายแน่นอน ก็ต่อเมื่อเบาะนั่งในรถยังมีจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด กรณีที่ถอดเบาะหลังออกเพื่อติดโรลบาร์ จะถือว่ามีความผิดฐานมีอุปกรณ์ภายในรถไม่ครบถ้วน หรือมีการเพิ่มเข้าไปจนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตราที่ 12 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

การยกสูง หรือโหลดเตี้ย

การยกสูง หรือโหลดเตี้ย

การยกสูงจะต้องไม่เกิน 135 เซนติเมตร ส่วนการโหลดเตี้ย ต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เมื่อวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนน หากมีการดัดแปลงสภาพช่วงล่างเพิ่มเข้ามา จะต้องขอหนังสือรับรองจากวิศวกร และต้องแจ้งขนส่งด้วย หรือถ้าใส่สปอยเลอร์จนตัวรถเตี้ยลงแทบจะติดไปกับพื้น จะตัดสินจากพิจารณาของเจ้าหน้าที่และช่างตรวจสภาพรถที่ขนส่ง 

การเสริมแหนบ หรือเบิลโช้ค

การเสริมแหนบ หรือเบิลโช้ค

หากเสริมแหนบหรือเบิลโช้คมาแล้วไม่แจ้งทางขนส่ง จะมีความผิดตามพ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่บัญญัติไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

หากต้องการแต่งรถ ต้องรู้ขอบเขตด้วยว่าควรทำเท่าไหนจึงจะไม่ผิดกฏหมายรถแต่ง และไม่สร้างความเดือดร้อนหรือทำอันตรายให้กับผู้อื่น หากปฏิบัติภายใต้ข้อบังคับทางกฎหมาย และแจ้งขนส่งทุกครั้ง จะไม่มีใครเอาผิดกับคุณได้ 

อ่านเพิ่มเติม >>