การจับมือกันของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั้งคู่ส่วนใหญ่แล้วผลดีมักจะมีมากกว่าผลเสียเพราะสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต่างคนต่างถนัดกันและต่อยอดไปยังสิ่งที่ก้าวหน้ามากขึ้น เหมือนที่ Renault-Nissan-Mitsubishi ประกาศร่วมมือGoogle ในครั้งนี้เพื่อความบันเทิงของผู้ขับขี่ที่มากขึ้น
บริษัทผู้พัฒนารถยนต์และนำออกขายสู่ตลาดรถโลก แม้ในทางวิศวกรรมแล้วจำเป็นต้องใส่ใจกับการขับเคลื่อนของรถยนต์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ ช่วงล่าง หรือระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ทั้งหมด แต่เรื่องเทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวของกับยานยนต์ในปัจจุบันที่สมัยก่อนไม่น่าจะนำมาเกี่ยวกับรถยนต์ได้ บริษัทผู้พัฒนารถยนต์ก็จำเป็นะจะต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่นพัฒนาเครื่องเสียงรถยนต์ที่มีคุณภาพ การเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทโฟนให้ได้ดี เป็นต้น เพราะมนุษย์กับสมาร์ทโฟนทุกวันนี้เป็นสิ่งที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว
รถยนต์กับสมาร์ทโฟนอนาคตยิ่งจะมีบทบาทต่อกันมากยิ่งขึ้น
เมื่อพูดถึงสมาร์ทโฟนนอกจากการทำตัวเครื่องให้มีประสิทธิภาพที่มีหลากหลายแบรนด์เข้ามาเล่นในตลาดแล้ว ระบบปฎิบัติการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหัวใจหลักของตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งระบบปฏิบัติการหลักๆในสมาร์ทโฟนของโลกใบนี้ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองค่ายยักษ์ใหญ่นั่นคือ Andriod จาก Google และ iOS จาก Apple ดังนั้นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อผนวกรวมกับสมาร์ทโฟนของตนเอง โดย Andriod เป็น Open Source ที่ยอมให้ผู้อื่นพัฒนาระบบลงไปสู่สมาร์ทโฟนแบรนด์ต่างๆได้ นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทรถยนต์ชั้นนำต่างๆเริ่มที่จะต้องคิดและตัดสินใจว่าจะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองเพื่อใช้ในรถยนต์ หรือจะยืมมือคนอื่นพัฒนาแล้วหยิบยกมาใช้ เพราะต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป
สัดส่วนของระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนทั่วทั้งโลกปี2018พอจะแยกได้ดังนี้
อันดับ1 ระบบปฏิบัติการ Andriod มีสัดส่วนถึง 74.92%
อันดับ2 ระบบปฏิบัติการ iOS มีสัดส่วนถึง 22.2%
ระบบปฏิบัติการอื่นๆที่สัดส่วนไม่มากนักและแตกต่างกันไปอีกราว 2.88%
เห็นสัดส่วนทางการตลาดแบบนี้แล้วหากเราเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์และอยากร่วมมือกับระบบปฏิบัติการใดระบบหนึ่งขึ้นมาก็คงต้องเลือกระบบปฏิบัติการ Andriod ไว้ก่อน
ระบบปฏิบัติการ Andriod ที่ครองส่วนแบ่งของระบบปฏิบัติการในสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก
การจับมือกันของยักษ์ใหญ่วงการรถยนต์และสมาร์ทโฟน
ข้อดีของระบบปฏิบัติการ Andriod นั้นมีมากตรงที่ว่ามีแอพพลิเคชั่นต่างๆรวมเอาไว้มากมายอยู่ก่อนแล้ว ทางบริษัทรถยนต์ไม่จำเป็นต้องมานั่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นบางตัวขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านความบันเทิงด้านเสียงเพลงหรือภาพยนตร์หรือการบริการต่างๆ จนลูกค้าบางคนเองก็อยากจะให้เครื่องเสียงหรือวิทยุในรถยนต์ทำงานได้เหมือนกับสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งเลย ทาง Renault-Nissan-Mitsubishi ก็คิดเช่นเดียวกัน และก็ชั่งใจแล้วว่าการเลือกระบบปฏิบัติการที่มีผู้พัฒนาอยู่ก่อนแล้วจะประหยัดเวลาและต้นทุนมากกว่าแม้จะต้องยอมแลกกับข้อมูลบางอย่างในทางเทคนิคของรถยนต์ก็ตาม จึงตัดสินใจจับมือกับบริษัทแม่ของ Google ซึ่งก็คือ Alphabet เพื่อที่จะนำเอาระบบปฏิบัติการ Andriod มาติดตั้งในรถยนต์รุ่นใหม่ของพวกเขาที่จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป จุดประสงค์ก็เพื่อยกระดับความบันเทิงภายในรถยนต์ของพวกเขาเองและเป็นช่องทางในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นอื่นๆที่สามารถเข้าถึงลูกค้าบนแพลทฟอร์มนี้ที่อยู่หลักพันล้านคนของ Alphabet ได้ด้วย
Renault-Nissan-Mitsubishi รวมพลังกับ Alphabet เพื่อระบบความบันเทิงในรถยนต์ที่ดีขึ้น
ดูเพิ่มเติม
>> Renault พร้อมเปิดตัวรถแบบพลังงานไฟฟ้าแบบใหม่หลายรุ่นในปีนี้
>> Renault เดินหน้านำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มในกลุ่มมินิแวน-รถตู้
ระบบปฏิบัติการ Andriod ถ้ามาอยู่ในรถยนต์แล้วดีอย่างไร
แอพพลิเคชั่นนับเป็นพระเอกสำคัญของระบบปฏิบัติการ เพราะไม่ว่าระบบปฏิบัติการจะดีแค่ไหนแต่ไม่มีใครพัฒนาแอพพลิเคชั่นมารองรับก็ไร้ควาหมาย ในAndriodก็มีแอพพลิเคชั่นที่น่าใช้หลักๆอย่าง Google Maps, Google Assistant ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ เหมาะกับการนำมาใช้ในขณะขับรถอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีแอพพลิเคชั่นใน Google Play อีกหลายพันตัวให้ลูกค้าได้ใช้อีกด้วย โดยที่ต้นทุนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของRenault-Nissan-Mitsubishiจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่กลับทำให้ลูกค้ามีบริการให้เลือกใช้มากขึ้น การจับมือกันในครั้งนี้ทางผู้บริหารของ Renault-Nissan-Mitsubishi ยังออกมาให้ความเห็นว่าจะเป็นการร่วมมือกันครั้งยิ่งใหญ่เพื่อความสมบูรณ์แบบของไลฟ์ไสตล์ที่เชื่อมโยงทั้งสมาร์ทโฟนและรถยนต์เข้าด้วยกัน และทาง Renault-Nissan-Mitsubishiก็มีการพัฒนาระบบ Cloud เพื่อรองรับการอัพเดตระบบต่างๆไว้ด้วย
Hey Google คำสั่งด้วยเสียงอย่างหนึ่งที่ใช้กับ Google
ผลกระทบของการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Andriodในรถยนต์
ในแง่ของผลกระทบส่วนใหญ่มักไม่ได้เกิดแก่บริษัทผู้พัฒนารถยนต์ (มิเช่นนั้นก็คงไม่เลือกใช้) แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมักจะไปเกิดกับผู้ผลิตวิทยุหรือSupplierที่ป้อนวิทยุต่างๆขายให้กับรถยนต์เพราะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อไล่ให้ทันกับกระแสที่แต่ละแบรนด์จะหันมาใช้ระบบปฏิบัติการนี้และก็คงแผ่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อีกบริษัทหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆก็คือ บริษัททำแผนที่ต่างๆ อย่างเช่น บริษัท Here, บริษัท Tomtom เพราะทุกวันนี้บริษัททำแผนที่เหล่านี้ก็ทำแผนที่และพัฒนาระบบนำทางในรถยนต์นำเสนอให้กับค่ายรถยนต์ต่างๆและแบ่งส่วนแบ่งจากการขายกัน หากค่ายรถยนต์และลูกค้าส่วนใหญ่หันไปใช้ระบบปฏิบัติการ Andriod ที่มาพร้อมกับ Google Map และสภาพการจราจรแบบ Real-time แล้วล่ะก็ อนาคตทุกคนอาจจะเคยชินกับ Google Map และเลิกใช้ระบบนำทางรถยนต์ของค่ายอื่นๆเลยก็เป็นได้
บริษัททำแผนที่สำหรับรถยนต์ต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ
ค่ายอื่นๆที่ไม่ใช้ระบบปฏิบัติการ Andriod
ณ ปัจจุบันสามารถบอกได้เลยว่า การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนกับรถยนต์นั้นแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะคุ้มค่าที่สุดก็อยู่ที่การบริหารจัดการของแต่ละค่ายรถยนต์ บริษัทอีกหลายบริษัทที่ยังมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองก็ยังคงมีอยู่ เช่น แบรนด์รถยนต์หรู BMW และ Mercedes-Benz ตัดสินใจที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง รวมถึงแอพพลิเคชั่นสั่งงานด้วยเสียงที่เรียกว่า Vocal Assistant และพวกเขาเองก็ทำได้ดีเช่นกัน ในรถยนต์ Mercedes-Benz ก็มีระบบ MBUX ที่ใช้งานได้มากมายหลายภาษาสร้างความบันเทิงคุ้มค่าความหรูหราทีเดียว บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Toyota ในตลาดปัจจุบันยังไม่มีการทำวิทยุที่จะมารองรับระบบปฏิบัติการ Andriod อย่างเป็นทางการ (แต่ในอนาคตคาดว่าก็คงมีเช่นกัน) ส่วนฝั่ง Apple CarPlay นั้นสุดท้าย Toyotaก็ยอมที่จะพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับรถยนต์ของ Toyota หลังจากที่ทนกระแสการพัฒนาระบบความบันเทิงในรถยนต์ของตลาดไม่ไหวและหากพัฒนาเองก็จะใช้เงินทุนและเวลาอีกมาก แต่เมื่อโลกกำลังจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าอนาคตก็อาจจะยอมใช้ระบบปฏิบัติการ Andriod ด้วยก็เป็นได้
Mercedes-Benz มีระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งเลยว่าหลังจากที่ Alphabet พัฒนา search engine ชื่อดังที่เรียกว่า google แล้ว และยังหันมาพัฒนาระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน ลามไปยังระบบรถยนต์ไร้คนขับ ทำเอาบริษัทอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมไอทีได้รับความสั่นสะเทือนเช่นกัน วงการรถยนต์เองก็เริ่มที่จะไม่อยู่เฉยแล้ว เพราะถ้ามีหนทางที่จะทำให้ธุรกิจของตนขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้นก็คงต้องคว้าไว้ สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเอาไว้ก็ย่อมดีกว่าสร้างศัตรูขึ้นมา อย่างที่ Renault-Nissan-Mitsubishi ได้จับมือกับทาง Alphabet แล้วในวันนี้เพื่อรถยนต์ของพวกเขาในวันข้างหน้า ถึงวันนั้นคุณอาจจะสื่อสารกับรถยนต์ด้วยเสียงโดยทักทายพวกมันว่า Hey! Teana ก็เป็นได้
ดูเพิ่มเติม
>> เปรียบเทียบรถพลังไฟฟ้า!!! Hyundai IONIQ กับ Nissan leaf
>> เปรียบเทียบ Tesla Model 3 vs Nissan Leaf รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นไหนดี?
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้