ก.อุตสาหกรรมเผยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าครึ่งปีแรกขายได้ 1.3 หมื่นคัน แต่กระจุกแค่ไฮบริด พลังไฟฟ้าล้วนยังน้อย เล็งหาทางปรับลด “ราคา” พร้อมปรับเกณฑ์ใหม่เอื้อค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ลงทุนอีวีมากขึ้น
อาจเรียกได้ว่าเป็นอนาคตที่สดใสก็ว่าได้สำหรับ "ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า" ของเมืองไทย ที่กำลังจะไปได้สวยอย่างแน่นอนสำหรับอนาคตอันใกล้ เพราะสิ่งที่สะท้อนออกมาคือตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่แต่ละค่ายรถยนต์ไฟฟ้าปล่อยรุ่นรถยนต์ของค่ายตัวเองที่เป็นของใหม่สำหรับถนนเมืองไทยไปแล้วถึง 1.3 หมื่นคัน แม้จะเป็นการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเครื่องยนต์ไฮบริดมากที่สุดเองก็ตาม
แต่สิ่งที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีสำหรับตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแม้จะเป็นกลุ่มเครื่องยนต์ไฮบริดมากที่สุด นั่นคือผู้บริโภคเมืองไทยเห็นแล้วถึงความสำคัญ และความน่าสนใจของเทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมันช่วยดันให้ยอดขายในกลุ่มรถยนต์กลุ่มนี้โตไปมากถึง 46% เลยทีเดียว
และน่าจะเป็นทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงอุุตสาหกรรมคนใหม่ อย่างนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็รุดไปมอบนโยบายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. และพุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นและทบทวนาตรการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ภายในประเทศ และต้องเน้นให้หนักมากขึ้นกว่าเดิมเพราะผ่านมาตรการกระตุ้นมาแล้ว 2 ปี แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงสูงอยู่ และระบบสนับสนุน เช่นสถานีชาร์จไฟฟ้ายังน้อยเกินไป
ซึ่งหลังจากนโยบายจากรมว.อุตสาหกรรมออกมาให้พุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สศอ.ก็รับลูกในทันทีทีเดียว โดย นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ออกมาระบุว่า สศอ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ คือ 1.รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาสูงเกินไป ดังนั้น จะต้องออกมาตรการเข้ามาเสริมเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 8 แสนบาทต่อคัน จากราคาเฉลี่ยปัจจุบัน 1.2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งในมาตรการใหม่นี้ จะเพิ่มการส่งเสริมเพื่อให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมไปถึงรถสามล้อไฟฟ้าและรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อให้มีราคาต่ำลงจนคนทั่วไปเข้าถึงได้
2.มาตรการเดิมไม่สามารถดึงดูดเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าหลักเข้ามาลงทุนในไทยได้ โดยมาตรการใหม่จะปรับกฎเกณฑ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนในชิ้นส่วนหลักๆ อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบควบคุมการขับรถ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นเพียงการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า
และ 3. ส่งเสริมให้เกิดการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะส่งเสริมให้เน้นการผลิตรถยนต์ที่มีระบบชาร์จไฟฟ้า เช่น รถยนต์ปลักอินไฮบริด ที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
ดูเพิ่มเติม
>> หมดยุคเสือนอนกิน GM เตือนแรงงานผลิตรถยนต์ ไม่ปรับตัวสู่รถยนต์ไฟฟ้าอาจ “ไม่รอด”
>> โตโยต้าลุยเต็มสูบจับมือ BYD ให้พาลุยตลาดรถไฟฟ้า "จีน"
"ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่จะมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ ไฮบริดเป็นหลักทำให้มีปริมาณรถยนต์ ไฟฟ้าที่มีปลั๊กเสียบชาร์จไฟฟ้าค่อนข้างน้อย ดังนั้น จึงต้องปรับมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่มีปลั๊กชาร์จไฟฟ้าให้มาก จึงจะเกิดการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าตามมา รวมทั้งจะต้องหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้อาคารจอดรถในคอนโดมิเนียมสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ ซึ่งหากมีสถานีชาร์จไฟฟ้ามาก ก็จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น" นายณัฐพล กล่าว
ถือเป็นอีกความคืบหน้าอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะประเด็นแรกที่หน่วยงานภาครัฐเห็นความสำคัญคือปรับลด "ราคา" ของรถยนต์ไฟฟ้าให้ลดลงเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มจุดชาร์จพลังงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก็ต้องมาลุ้นกันว่าแผนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน
ดูเพิ่มเติม
>> เบอร์หนึ่ง Mitsubishi ร่วมคุยรัฐบาลไทย พร้อมทุ่ม 7 พันล้านลุยรถยนต์ไฟฟ้า
>> Mitsubishi Outlander PHEV เปิดขายไทยปีหน้า รถเอสยูวีที่เสียบปลั๊กชาร์จได้
ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่