ฟอร์ด ลงนามร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สานต่อโครงการ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ” รุ่นที่ 6 ประจำปี 2566 มอบทุนการศึกษาพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สานต่อโครงการ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ” รุ่นที่ 6 ประจำปี 2566 มอบทุนการศึกษาและฝึกอบรม จำนวน 27 ทุน รวม 2,000,000 บาท พร้อมหุ่นยนต์ที่เคยใช้ประกอบรถยนต์ที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์และช่างยนต์ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือช่าง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียน และภาคปฏิบัติที่โรงงานเอฟทีเอ็ม และศูนย์บริการฟอร์ด ที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเวลา 2 ปี
ในปี 2566 มีผู้ได้รับทุนโครงการดังกล่าว ในสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์ จำนวน 9 คน แบ่งเป็นพนักงาน 3 คน บุตรของพนักงานอีก 3 คน และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบอีก 3 คน ส่วนสายงานด้านช่างยนต์ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเข้าร่วมโครงการ 5 คน และมีนักศึกษาที่ได้รับทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วในทั้งสองสาขาอีกจำนวน 13 คน
ทุนการศึกษาในโครงการ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ” เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของฟอร์ด ที่ตั้งใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมทุกด้าน เริ่มจากการผลิตรถจากโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมในการเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ดด้วยการนำเสนอนวัตกรรมการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลและมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าฟอร์ดเสมือนคนในครอบครัว
นับตั้งแต่โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นในปี 2560 ฟอร์ด ได้มอบทุนการศึกษาให้กับพนักงานฟอร์ด และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบแล้วถึง 61 คน รวมเป็นเงินทุนการศึกษากว่า 6,484,000 บาท โดยมีนักศึกษาสาขาแมคคาทรอนิกส์ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการและเข้าทำงานที่โรงงานเอฟทีเอ็มแล้ว 13 คน และมีนักศึกษาสาขาช่างยนต์เข้าทำงานกับผู้จัดจำหน่ายแล้ว 4 คน
นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย ระบุว่า “ฟอร์ด มักจะสร้างกระแสให้กับวงการรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีการขับขี่ที่ทันสมัย เราจึงอยากถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ชั้นสูงของฟอร์ดให้กับวิทยาลัยเทคนิค และนักศึกษาที่ได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้การซ่อมบำรุงจริงที่ศูนย์บริการรถยนต์ฟอร์ดของเรา จะได้เปิดประสบการณ์ในการทำงานอย่างตรงจุด เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ของฟอร์ดทุกรุ่นมีฟังก์ชันการใช้งานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งที่ศูนย์บริการของเรา ยังมีนวัตกรรมการบริการที่ทันสมัย ทั้งเทคโนโลยีช่วยเหลือระยะไกลด้วยแว่นตา RealWear และ ‘ฟอร์ดพาส’ แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่รองรับงานบริการหลากหลายรูปแบบ ที่นักศึกษาจะได้สัมผัสและเรียนรู้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในการเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ดให้กับลูกค้าต่อไป”
และเสริมว่า “และเพื่อเสริมศักยภาพให้กับผู้แทนจำหน่ายของเราดูแลและมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าฟอร์ดเสมือนคนในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เราจะขยายความร่วมมือไปยังศูนย์บริการรถยนต์ฟอร์ดในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต”
โดยในปีนี้ ฟอร์ดยังได้ส่งมอบหุ่นยนต์ที่เคยใช้ประกอบรถยนต์ที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคจังหวัดระยอง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนรวม 10 ตัว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“หุ่นยนต์ที่เรามอบให้กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และสถานศึกษาในจังหวัดอื่นๆ จะเป็นประโยช์กับนักศึกษา ไม่เฉพาะผู้ที่ได้รับทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักศึกษาท่านอื่นที่ไม่ได้ร่วมโครงการ หรือเดินทางมาฝึกงานที่โรงงานของเรา เพราะหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย มีระบบการทำงานที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนที่วิทยาลัยมีความตื่นเต้นและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่เรามอบโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านช่างเมคคาทรอนิกส์ให้แก่บุตรของพนักงานในโรงงานเอฟทีเอ็ม ซึ่งแน่นอนว่าหากพวกเขาเรียนจบและอยากมาสร้างอนาคตที่ฟอร์ด เรายินดีต้อนรับเขาเข้าสู่ครอบครัวฟอร์ดเสมอ โรงงานของเราจะเติบโตต่อไปในอนาคต และพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญของเราต่อไป” มร. วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) กล่าว
อ่านเพิ่มเติม >>