พ.ร.บ.รถขาด ญาติเด็กเทคนิคศรีสะเกษ 13 ศพ เสี่ยงอดเงินทดแทนหรือไม่ ?

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 5 ต.ค 2562
แชร์ 1

ลุ้นกันต่อจากสลดรถพลิกคว่ำบนถนนกิ่งแก้ว เป็นเหตุให้ 13 นักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษเสียชีวิตหลังทราบว่า พ.ร.บ.รถขาด อาจทำให้ญาติของกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้อดได้เงินชดเชย

พรบ.รถขาด ญาติเด็กเทคนิคศรีสะเกษ อาจไม่ได้เงินชดเชย
พรบ.รถขาด ญาติเด็กเทคนิคศรีสะเกษ อาจไม่ได้เงินชดเชย

หลังจากเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สุดสยอง เมื่อรถกระบะ ยี่ห้อ ISUZU D MAX หมายเลขทะเบียน ผจ 5322 ระยอง ที่ขนนักศึกษาฝึกงานจาก วิทยาลัยเทคนิค จังหวัดศรีสะเกษ ที่มาฝึกงานกับอู่ซ่อมรถยนต์ ที่ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว ตำบล ราชาเทวะ อำเภอ บางพลี จังหวัด สมุทรปราการ มาเต็มหลังกระบะ หลังจากไปกินเลี้ยงฉลองฝึกงานจบ และไปชมคอนเสริต์ หมอลำต่อ เกิดพลิกคว่ำ ขณะกำลังแซง ในระหว่างขากลับจากงาน คอนเสริต์ ซึ่งใกล้ถึงหอพักของกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เพียงแค่ อีกหนึ่งซอย โดยตัวรถกระบะคันดังกล่าว พลิกคว่ำ และ ไปชนกับเสาไฟฟ้าข้างทาง ทำให้ ร่างของนักศึกษา ที่อยู่ท้ายกระบะกระเด็นกันไปคนละทิศละทาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และผู้บาดเจ็บ 6 ราย

โดยอุบัติเหตุในครั้งนี้สร้างความเศร้าสลดแก่ผู้ได้พบเห็น และตามช่องทางสื่อต่างๆ รวมถึงการโพสไว้อาลัยจากเพื่อนๆ ร่วมสถาบัน ซึ่งหากกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุก็จะกลับไปศึกษาต่อ อีกไม่นานและจบออกไปประกอบอาชีพตามที่ตัวเองได้จบการศึกษามา

นอกจากความเศร้าโศกเสียใจ จากเหตุการณ์อุบัติเหตุในครั้งนี้ ก็ยังมีผลกระทบตามมาในเรื่องค่าสินไหมทดแทน แก่ครอบครัวของนักศึกษาผู้เสียชีวิต หรือ ผู้บาดเจ็บเป็น ค่อนข้างมากเพราะว่า ทุกครอบครัว ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ศพ หรือ การประกอบพิธีทางศาสนา โดยตามกฎหมายจราจร ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคนจากอุบัติเหตุ ญาติหรือครอบครัวย่อมได้รับการชดเชย ตามกฏหมาย ที่ควรจะได้ จาก พ.ร.บ.รถยนต์  หรือ จากประกันภัยรถยนต์ ของรถกระบะคันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

แต่จากการตรวจสอบรถยนต์กระบะที่พลิกคว่ำจนเป็นเหตุน่าเศร้าพบว่า กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 007-AC0118-066376 ซึ่งหมายถึง เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ของรถยนต์คันนี้ เริ่มคุ้มครองผู้ประสบภัย ตั้งแต่ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561 แต่อายุการคุ้มครองสิ้นสุดในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2562 ไปแล้ว ทั้งยังไม่พบว่ารถกระบะคันดังกล่าวทำประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้แต่อย่างใด ซึ่งกรณีแบบนี้ จึงเกิดคำถามว่า บรรดาญาติ บิดา มารดา หรือ ทายาท ของกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต จะหมดโอกาสได้รับการชดเชยหรือไม่ หากไม่ได้ จะมีช่องทางไหน ที่จะได้รับการเยียวยาจากกรณีนี้ ได้อย่างไรบ้าง โดยเรามีคำตอบตามหัวข้อด้านล่างนี้

 พ.ร.บ.รถขาด ญาติผู้ตายอาจอดได้เงินชดเชยหรือไม่ ?

พรบ.รถขาด ญาติเด็กเทคนิค อดได้เงินชดเชย
เช็ควันหมดอายุ พ.ร.บ.รถยนต์ ให้ดี

เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำ พ.ร.บ.รถยนต์ คือค่าใช้ที่รถยนต์ทุกคันต้องชำระค่าทำในทุก ๆ ปี และ ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ ต้องตรวจสอบข้อมูลในเอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ทุกครั้ง ถึงวันที่เริ่มคุ้มครอง และ วันหมดอายุ

เนื่องจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีข้อบังคับให้รถยนต์ทุกคัน ทุกประเภท ต้องขึ้นทะเบียน พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งการทำ พ.ร.บ. ถือเป็นการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ที่จะช่วยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นคนขับ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า ในกรณีได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งจะมีอายุการคุ้มครอง ตามวันที่ ที่ระบุในเอกสารเอาไว้ชัดเจน

ในกรณีที่ พ.ร.บ. รถยนต์ ขาดหรือหมดอายุ แล้วเกิดประสบอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรถชนโดยไม่มีคู่กรณี หรือมีคู่กรณี จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งในกรณี 13 นักศึกษา ที่ผู้ขับไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.บ. รถยนต์ แล้วมาเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ตาย ไม่ได้รับค่าชดเชย จาก กฎหมาย ตัวนี้

พ.ร.บ.รถขาด แล้วมีประกันแบบสมัครใจ มั้ย ?

ประกันสมัครใจ ทางเลือกด้านความคุ้มครอง
ประกันสมัครใจ ทางเลือกด้านความคุ้มครอง

โดยทั่วไป หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับเงินชดเชย จาก พ.ร.บ. รถยนต์ หมดอายุ แต่หาก ผู้ขับหรือเจ้าของรถทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไว้ เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประกันรถยนต์ชั้น 2+ หรือประกันรถยนต์ชั้น 3+ ก็ยังคงให้ความคุ้มครองตามข้อตกลงในกรมธรรม์ เพราะหลักฐานที่ต้องใช้ในการเคลมประกันไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. ขอแค่มี ใบขับขี่ ของผู้ขับ แต่ต้องตรวจสอบ ระยะเวลา คุ้มครอง และ วันอายุด้วยเช่นกัน

แต่ในกรณีนี้ ผู้ขับไม่ได้ทำประกันแบบสมัครใจไว้เช่นกัน ทำให้ไม่ได้รับการชดเชยในข้อนี้

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยทางรถ และ ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ช่วยได้ตามกฎหมาย

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยทางรถ
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยทางรถ ทางเลือกของผู้ประภัยจากรถยนต์ที่ไม่มีประกันภัย

หากเราพึ่งพาเงินชดเชยจากสองทางเลือกด้านบนไม่ได้ ช่องทางที่สามารถทำให้ ได้ค่าเงินชดเชย จากอุบัติเหตุ ตามกฎหมาย และสวัสดิการ คือ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยทางรถ ที่จะเป็น แสงสว่างปลายทางที่จะเยียวยาจิตใจและแบ่งเบาภาระ ให้กลุ่มครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิตได้

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยทางรถ ถูกจัดตั้งขึ้นโดย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ (คปภ.) ทำหน้าที่เพื่อประสานงานให้ผู้ประสบภัยได้รับการคุ้มครองและชดเชยจากอุบัติเหตุรถยนต์ กรณีผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถไม่ได้ทำประกันความคุ้มครองใด ๆ ไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งทางครอบครัวหรือญาติผู้เสียชีวิตสามารถติดต่อกับ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ที่ตั้งอยู่ตามภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิต เพื่อรับค่าเสียหายเบื้องต้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ หากผู้ประสบภัย ที่กำลังทำงานหรือศึกษา อยู่มีสวัสดิการประกันอุบัติเหตุ ก็สามารถติดต่อเพื่อรับค่าเสียหาย กรณี บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตตามเงื่อนไขได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ที่นักศึกษาผู้เสียชีวิตศึกษาอยู่ มีประกันอุบัติเหตุ ของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แบบประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ปี 2562 AEC Plus อัญมณี 1689 ที่จะรับเงินตอบแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์

อย่างไรก็ตามแม้จะมีช่องทางการได้รับการชดเชย กรณีได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ แม้ พ.ร.บ.รถยนต์ จะหมดอายุ ก็ตาม แต่ พ.ร.บ. รถยนต์เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมี ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทางที่ดีหากผู้ขับขี่ หรือ เจ้าของรถ รู้ตัวว่า พ.ร.บ. รถยนต์ของคุณใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้ว ควรรีบไปต่อ พ.ร.บ.ทันที เพราะนอกจากจะเป็นการทำถูกกฎหมายแล้ว ทุกคนที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่บนท้องถนน ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและการชดเชย เมื่อเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

ดูเพิ่มเติม

>> MG ZS เตรียมใส่ระบบขับกึ่งอัตโนมัติ ใช้เทคโนโลยีสุดไฮเทคจากเยอรมันของจริง
>> ตำรวจ-ขนส่งร่วมมือ เชื่อมข้อมูลใบสั่ง เพิ่มช่องจ่ายค่าปรับ เริ่ม 19 ธ.ค.!!

prachachat