สงสัยกันไหมทำไม Honda ไม่มีรถกระบะ แล้ว Isuzu ไม่มีรถเก๋ง

ประสบการณ์ใช้รถ | 13 ส.ค 2561
แชร์ 59

เป็นที่คุ้นชินกันในจิตใจไปแล้วว่ารถฮอนด้าเป็นรถเก๋ง ส่วนรถอีซูซุเป็นรถกระบะหรือรถบรรทุก ทั้งสองแบรนด์นี้เขาต่างก็เก่งในสิ่งที่ไม่เหมือนกัน แล้วเก่งๆแบบนี้ฮอนด้าสร้างรถกระบะและอีซูซุสร้างรถเก๋งบ้างได้ไหม

สำหรับลูกค้าผู้ใช้รถยนต์คงเคยมีคำถามที่เกิดขึ้นว่าระหว่างแบรนด์ ฮอนด้า (Honda) และอีซูซุ (Isuzu) เหตุใดจึงไม่มีไลน์การผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล4ประตูตามลำดับ ออกมาให้เห็นในตลาดบ้าง ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถามนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงศัพท์บางคำและกลยุทธ์บางอย่างที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างๆใช้กันอย่างแพร่หลาย

Branding และ Positioning

2สิ่งสำคัญในทางการตลาดที่ทำให้องค์กรๆหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน คือการสร้างแบรนด์และการวางตำแหน่งของแบรนด์ หรือในทางการตลาดเรียกกันว่า Branding and Positioning

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าเชื่อถือและติดตลาดจนลูกค้าจงรักภักดีแทบจะไม่เปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์อื่นเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบกันได้ยากและจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานในการสร้างมันขึ้นมา ส่วนเรื่องการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Positioning) หรือจุดยืน เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันที่เปลี่ยนไป ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องการวางตำแหน่งของแบรนด์พอจะอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆได้ดังนี้  Positioningก็คือจุดยืนหรือจุดที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ที่องค์กรนั้นๆมีฝีมือโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันง่ายๆเช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังบางเจ้าที่ใช้การวางตำแหน่งของตัวเองว่า เสิร์ฟร้อนอร่อยเร็ว นั่นคือเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่สามารถทำอาหารญี่ปุ่นได้ไวและเน้นอาหารจานร้อนเป็นหลัก เรียกได้ว่ายกกระทะร้อนๆมาเสิร์ฟกันตรงหน้าเลยและมีให้เลือกหลายเมนูจานร้อน โดยจะไม่ได้เน้นอาหารที่เป็นจานเย็นเช่นซูชิหรือปลาดิบ ในขณะที่อีกแบรนด์หนึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นเช่นกันแต่ใช้การวางตำแหน่งที่ว่า อร่อยทุกอย่าง นั่นคือถ้าจะรับประทานอาหารญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่นอะไร ก็มีมาเสิร์ฟให้ได้หมดทุกเมนู สิ่งนี้เองคือความแตกต่างของแบรนด์จากการวางตำแหน่งหรือจุดยืนและสื่อออกไปสู่ผู้บริโภคไม่เหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น 2 แบรนด์นี้ ที่มีการวางตำแหน่งต่างกัน นั่นคือแบรนด์ฮอนด้า (Honda) และอีซูซุ (Isuzu)

ทำไม Honda ไม่มีรถกระบะ แล้ว Isuzu ไม่มีรถเก๋ง

แบรนด์ Honda เน้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคุล

แบรนด์ Isuzu เน้นรถกระบะ รถบรรทุก

แบรนด์ Isuzu เน้นรถกระบะ รถบรรทุก

ดูเพิ่มเติม
เอาล่ะสิ..ISUZU มือหนึ่ง กับ มือสอง จะเลือกแบบไหนดี ?
ปรับเป้าปีนี้เฉียดล้านคัน ตลาดรถยนต์ขาขึ้น ครึ่งปีขายเกือบ 5 แสนคัน

เพราะเหตุใดฮอนด้าจึงไม่นิยมผลิตรถกระบะ

ตั้งแต่ปี 1949 ที่บริษัทฮอนด้าได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยนาย โซอิจิโร่ ฮอนดะ ช่วงนั้นผลิตภัณฑ์หลักของเขาคือรถจักรยานยนต์และต่อมาจึงโด่งดังขึ้นไปอีกจากการผลิตรถเก๋ง “ฮอนด้า ซีวิค” และ “ฮอนด้า แอคคอร์ด” ที่เรารู้จักกันอย่างในทุกวันนี้ ซึ่งกว่าจะถึงจุดโด่งดังในตอนนั้นก็กินเวลาเป็น 20ปีเข้าไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความรู้ประสบการณ์ต่างๆก็จะทุ่มเทลงไปให้กับรถจักรยานยนต์และรถเก๋งทั้งหมด สินค้าประเภทรถยนต์ไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วจบ มันเป็นสินค้าที่มีความสลับซับซ้อน ต่อให้ผลิตออกมาแล้วก็ยังมีจุดด้อยบางอย่างที่ยังต้องตามแก้กันต่อไป ไม่เหมือนสินค้าที่ไม่ซับซ้อนเช่นขันน้ำ จาน ชาม ช้อนส้อม ที่ผลิตแล้วผลิตเลยใช้แล้วเสียก็ซื้อใหม่

Honda Civic รุ่นแรก

Honda Civic รุ่นแรก

Honda Accord รุ่นแรก

Honda Accord รุ่นแรก

ดังนั้นคำตอบที่สามารถตอบได้ชัดเจนอย่างหนึ่งที่ไม่นิยมผลิตรถกระบะคือเรื่องการวางตำแหน่งของแบรนด์ฮอนด้าหรือจุดยืนของแบรนด์ จากประวัติฮอนด้านั้นต้องยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องยนต์เบนซินมาช้านานซ้ำยังมีผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องยนต์ (ที่ไม่ใช่รถยนต์) ออกมาอย่างมากมายจนลูกค้ารับรู้ได้ และยังสามารถผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกตลอดเวลาหลายทศวรรษ รวมถึงการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้รถยนต์เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ด้วยความรู้ความสามารถในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนี่เอง ทำให้ฮอนด้าเน้นไปที่รถยนต์นั่งอย่างเดียว (จุดยืนคือฉันจะเอาดีด้านรถเก๋ง รถยนต์นั่ง รถมอเตอร์ไซด์เพราะว่าฉันเก่ง) ไม่ได้เอาความรู้ความสามารถหรือทรัพยากรแบ่งไปทำรถกระบะหรือรถบรรทุกมากนัก เข้าทำนองว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” การใช้ทรัพยากรที่มีเน้นไปที่การทำสินค้าที่ตัวเองถนัดก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจต่อลูกค้าและสร้างผลกำไรให้บริษัทได้ นำมาซึ่งความยั่งยืนขององค์กรด้วย

แบรนด์ฮอนด้ากับรถกระบะ

ก่อนที่จะตัดสินใจวางจุดยืนของแบรนด์เป็นรถเก๋ง รถมอเตอร์ไซด์ได้แบบนั้น ฮอนด้าเองในอดีตก็ทำรถกระบะมาก่อน แต่ผลตอบรับจากลูกค้าไม่ดีเท่าที่ควร พูดง่ายๆคือขายไม่ค่อยได้ รถยนต์กระบะคันแรกของฮอนด้า คือ T360 ผลิตครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี1963 เป็นรถกระบะสองประตู เครื่องยนต์เบนซิน 356ซีซี 30แรงม้า ที่ 8,500รอบต่อนาที ขับเคลื่อนล้อหลังและทำความเร็วได้สูงสุด 100 กม./ชม.

รถยนต์กระบะ Honda T360

รถยนต์กระบะ Honda T360

เพราะเหตุใดอีซูซุไม่นิยมผลิตรถเก๋ง

อีซูซุนับเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน นานกว่าแบรนด์ดังอย่างฮอนด้าและโตโยต้าเสียอีก เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1916 ที่บริษัท โตเกียวอิชิกาวาจิม่าชิปบิลดิงก์แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เกิดอยากจะสร้างรถยนต์ขึ้นมา ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นเขาถนัดสร้างเรือ โดยไปร่วมมือกับบริษัท โตเกียวแก๊สแอนด์อิเล็กทริคอินดรัสเตรียล จำกัด และ บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ชื่อว่า วอล์สลี่ มอเตอร์ จำกัด สร้างรถยนต์สำเร็จในที่สุดและกลายเป็นบริษัทอีซูซุในปัจจุบัน โดยรถยนต์คันแรกนั้นมีชื่อว่า Wolseley A9 เป็นรถบรรทุก ซึ่งในขณะนั้นชิ้นส่วนบางชิ้นยังต้องนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ มีเครื่องยนต์ 2.6ลิตร 4สูบ สร้างแรงม้าได้ 15.6แรงม้า เนื่องจากมีชิ้นส่วนนำเข้ามาประกอบและยังต้องมีทีมพัฒนาที่ยังต้องเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างทำให้ต้นทุนรถแพงกว่ารถยนต์ที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาถึง 40% ลูกค้าจึงไม่ค่อยมีเท่าไรและยังเจอผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ในสต็อกอีกด้วย

รถยนต์ Wolseley A9 ความร่วมมือของแบรนด์ญี่ปุ่นและอังกฤษ

รถยนต์ Wolseley A9 ความร่วมมือของแบรนด์ญี่ปุ่นและอังกฤษ

หลังจากนั้นทางบริษัทก็ยังคงพัฒนารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก และรถยนต์บรรทุกอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ความสามารถและประสบการณ์เทไปที่รถกระบะเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่นั้นมา ครั้นจะหันหน้ามาผลิตรถยนต์นั่ง ก็มีฮอนด้าที่เกิดขึ้นมาหลังจากอีซูซุไม่กี่ปีมีฝีมือด้านรถยนต์นั่งและเครื่องยนต์เบนซินแซงหน้าไปแล้ว นั่นทำให้อีซูซุหันไปเอาดีทางด้านรถกระบะและรถบรรทุก สร้างให้เป็นจุดยืนที่สำคัญของตัวเอง ว่าถ้าใครอยากจะบรรทุกของไม่ว่าจะเล็ก ใหญ่ หรือถึกทนแค่ไหน ก็ให้นึกถึงอีซูซุที่เชี่ยวชาญในรถยนต์กระบะและรถบรรทุกที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล

แบรนด์อีซูซุกับรถเก๋ง

รถยนต์นั่งส่วนบุคคุลก็เคยผ่านมืออีซูซุมาตั้งแต่ปี 1961 และมันได้ชื่อว่า Isuzu Bellel (Isuzu ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่ากระดิ่ง50ใบ จึงเอาคำว่า Bell ที่แปลว่ากระดิ่ง รวมกับอักษร L ที่แปลว่า50ในภาษาโรมัน ออกมาเป็น Bellel) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กแบบซีดาน4ประตู เครื่องยนต์เบนซิน 1.5ลิตร 72แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด132กม./ชม. และเครื่องยนต์เบนซิน 2.0ลิตร 84แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด136กม./ชม.

รถยนต์ Isuzu Bellel รถเก๋งคันแรกจากอีซูซุ

รถยนต์ Isuzu Bellel รถเก๋งคันแรกจากอีซูซุ

รถยนต์ที่ไม่นิยมในฮอนด้าและอีซูซุ

เมื่อทั้งสองค่ายนี้เป็นส่วนเติมเต็มกันคือฝ่ายหนึ่งไม่ถนัดรถยนต์กระบะ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ถนัดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การร่วมมือกันของทั้งสองบริษัท ฮอนด้าและอีซูซุจึงเกิดขึ้น เพราะว่าในแง่ของไลน์ผลิตภัณฑ์ก็ต้องเติบโตสร้างสินค้าให้กว้างขึ้น (เหมือนขนมที่ต้องมีหลายๆรสชาติ) เกิดเป็นรถยนต์สองคันที่มีชื่อว่า Honda Tourmaster และ Isuzu Vertex คือ รถยนต์กระบะที่ฮอนด้าอยากจะขาย(แต่ไม่ถนัดผลิต)ก็ให้อีซูซุผลิตให้และเดี๋ยวมาทำตราสินค้าใหม่เป็นฮอนด้า ส่วนอีซูซุที่อยากขายรถเก๋ง(ที่ตัวเองม่ถนัดผลิต)ก็ให้ฮอนด้าผลิตให้แล้วมาเปลี่ยนตราสินค้าเป็นอีซูซุ แต่เรื่องมันไม่ง่ายแบบนั้นเพราะว่าที่บอกว่าผลิตให้ก็จะทำให้รูปร่าง สเปคไปคล้ายกับรถที่แบรนด์นั้นผลิตขายเองอยู่แล้วคือ Honda Tourmaster ก็ถอดแบบมาจาก Isuzu TFR Spacecab แต่ติดโลโก้ฮอนด้า ส่วน Isuzu Vertex ก็ถอดแบบมาจาก Honda Civic แต่ติดโลโก้อีซูซุ เห็นแบบนี้แล้ว เป็นคุณเองจะซื้อคันไหนครับ ก็ในเมื่อลูกค้ารู้อยู่แล้วว่าอีซูซุเก่งรถกระบะจะยอมวัดใจไปซื้อฮอนด้าที่หน้าตาคล้ายๆกันไหม หรือลูกค้าก็รู้ว่ารถเก๋งฮอนด้าซีวิคไว้ใจได้อยู่แล้วจะยอมใจไปซื้อรถเก๋ง Isuzu Vertex ก็คงใช่ที่ โปรเจคความร่วมมือนี้ก็มีอันต้องยุบไปตามระเบียบ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ต่างเดินหน้าไปสู่เส้นทางที่ตัวเองถนัด ยืนหยัดบนจุดยืนที่แข็งแกร่งของตัวเองตราบจนปัจจุบัน

Honda Tourmaster รถกระบะจากฮอนด้าที่ผลิตโดยอีซูซุ

Honda Tourmaster รถกระบะจากฮอนด้าที่ผลิตโดยอีซูซุ

Isuzu Vertex รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจากอีซูซุที่ผลิตโดยฮอนด้า

Isuzu Vertex รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจากอีซูซุที่ผลิตโดยฮอนด้า

เพื่อนๆชาวChobrodคงเห็นแล้วนะครับว่า การคิดการใหญ่มันไม่ได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือเลย เพราะสิ่งที่แบรนด์ต่างๆคิดว่าน่าจะทำได้แต่ลูกค้าที่จำภาพ จำแบรนด์ ติดอยู่ในใจไปแล้วกลับไม่ตอบสนองอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็ทำให้โปรเจคที่ฝันไว้ล้มเหลวได้ง่ายๆ ดังนั้นการมุ่งหน้าโฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมักให้ผลที่ชัดเจนทั้งต่อลูกค้าและต่อองค์กรได้อย่างยั่งยืน เหมือนกับที่ฮอนด้ามุ่งเน้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และอีซูซุมุ่งเน้นพัฒนารถยนต์กระบะ รถบรรทุก จนเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้อย่างสำเร็จเช่นปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติม
ประวัติความเป็นมาของค่ายยักษ์ “ISUZU ยกระดับมาตรฐาน นำความเชื่อมั่นสู่สากล”
สี่งที่คุ้นเคยเเต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบเกี่ยวกับ Honda แบรนด์รถยนต์แห่งความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสารรถยนต์เชิญที่นี่  
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์  เชิญที่นี่