รถที่วิ่งบนดาวอังคารตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

ประสบการณ์ใช้รถ | 10 ก.ย 2561
แชร์ 0

ขณะที่เราใช้รถยนต์เดินทางไปไหนต่อไหนในชีวิตประจำวันติดต่อกับผู้คนต่างๆมากมาย มีรถยนต์อยู่คันหนึ่งที่วิ่งอยู่อย่างอ้างว้างบนดาวอังคารในปัจจุบัน มันมีหน้าตาและสเปกเป็นอย่างไรเราตามไปดูกันครับ

13,800 ล้านปี คืออายุของมหาเอกภพที่เราอาศัยอยู่ เป็นเรื่องที่แทบจะเหลือเชื่อที่จะค้นหาอายุของมหาเอกภพนี้ว่ามีมานานแล้วเท่าไรและมันก็เป็นการเกิดขึ้นของทุกสิ่งทุกอย่าง หลักๆที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการคำนวณคืออายุของสิ่งที่เก่าแก่ที่สุดในเอกภพและการขยายตัวของจักรวาล ส่วนพระอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรามีอายุ 4,600 ล้านปี และยังคงเผ้าไหม้ให้พลังงานแก่พวกเราจนถึงปัจจุบัน ส่วนโลกของเราเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว นับจากวันที่จักรวาลเกิดขึ้นจนถึงวันนี้ เป็นหมื่นๆล้านปี เราก็ยังไม่ค้นพบมนุษย์ต่างดาวอย่างเป็นทางการจริงๆเสียที

อาจจะดูเหมือนไกลตัว ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริกาก็กระจายตัว ขยายฐานที่อยู่ไปเรื่อยๆแล้วก็เต็มทั้งโลกอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นการคิดริเริ่มที่จะขยายอาณานิคมออกไปอีกจึงแทบจะเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอไปแล้ว และเนื่องจากดวงจันทร์ที่มนุษย์ไปมาแล้วไม่มีสภาพอากาศที่เหมาะกับการอยู่อาศัย มนุษย์จึงเลือกดาวอังคารเป็นเป้าหมายต่อไปในการขยายอาณานิคม

โลก(ซ้าย)มีขนาดใหญ่กว่าดาวอังคาร(ขวา)เล็กน้อย

โลก(ซ้าย)มีขนาดใหญ่กว่าดาวอังคาร(ขวา)เล็กน้อย

ดาวเคราะห์ที่มีความใกล้เคียงโลกมากที่สุดและมีโอกาสที่มนุษย์จะขยายอาณาจักรแล้วไปอยู่ได้คือ "ดาวอังคาร" ซึ่งอายุของมันแก่กว่าโลกของเราเล็กน้อยและอยู่ห่างจากโลกประมาณ 50ล้านกิโลเมตร ครั้นจะใช้ดาวศุกร์ที่ขนาดใกล้เคียงโลกเช่นกันก็ใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปทำให้อุณหภูมิไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยยิ่งกว่าดาวอังคารซะอีก

อาศัยบนดาวอังคารเพ้อฝันหรือความจริง

ปัจจุบันแนวคิดที่จะไปอาศัยอยู่บนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสร้างโปรเจคที่จะไปตั้งรกรากบนดาวอังคารชนิดที่ว่าจะไม่กลับมาอีกแล้ว ไปแล้วไปเลย เพราะทำได้ง่ายกว่าไปแล้วกลับ โดยโปรเจคนั้นมีชื่อว่า Mas One ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2011 มีแผนจะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ชุดแรกในปี 2031 ส่วน Elon Musk ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ก่อตั้ง SpaceX และก็มีแผนที่จะไปยังดาวอังคารเช่นกันหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ส่ง Tesla Roadster ไปที่วงโคจรของดาวอังคารก่อนแล้ว ในขณะที่ NASA (National Aeronautics and Space Administration) ผู้ที่ค้นคว้าวิจัยด้านดาราศาสตร์ก็มีการส่งยานอวกาศและรถลงไปสำรวจดาวอังคารได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Mars One โครงการที่มี Roadmap แน่นอนแล้วที่จะส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร

Mars One โครงการที่มี Roadmap แน่นอนแล้วที่จะส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร

Mars One โครงการที่มี Roadmap แน่นอนแล้วที่จะส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร

จากที่เคยไปดวงจันทร์มาแล้ว NASA ก็มีเป้าหมายต่อไปคือดาวอังคาร

จากที่เคยไปดวงจันทร์มาแล้ว NASA ก็มีเป้าหมายต่อไปคือดาวอังคาร

รถสำรวจดาวอังคาร

ที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุดในตอนนี้ก็คือการสำรวจดาวอังคารของ NASA เพราะมีการขับเคลื่อนของรถสำรวจบนดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รถสำรวจดาวอังคารของ NASA ในปัจจุบันมีชื่อว่า Curiosity แปลว่า ความสงสัยใคร่รู้ มันกำลังทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆของดาวอังคารอยู่ในตอนนี้ รถสำรวจดาวอังคารโดยปกติแล้วเรียกกันว่า “โรเวอร์”

รถสำรวจดาวอังคารมีชื่อว่า Curiosity เป็นชื่อสากลที่ใช้เรียกรถที่วิ่งอยู่บนดาวอังคารตอนนี้

รถสำรวจดาวอังคารมีชื่อว่า Curiosity เป็นชื่อสากลที่ใช้เรียกรถที่วิ่งอยู่บนดาวอังคารตอนนี้

ภาพถ่ายรถ Curiosity ที่เซลฟี่ถ่ายตัวเองแล้วส่งกลับมายังโลก

ภาพถ่ายรถ Curiosity ที่เซลฟี่ถ่ายตัวเองแล้วส่งกลับมายังโลก

Curiosity คือรถยนต์สำรวจดาวอังคารของ NASA กว่าจะได้ชื่อนี้มาก็มีการส่งประกวดเข้ามาเป็นพันๆคนและได้ผู้ชนะการประกวดเป็นเด็กอายุ12ชื่อว่า Clara Ma รางวัลของเธอคือฟรีการเดินทางจากบ้านเกิดไปยังสภาบัน JPL (Jet Propulsion Laboratory) ของNASA เพื่อที่จะเซ็นชื่อของเธอลงบนรถสำรวจที่เธอได้ตั้งชื่อเองก่อนที่จะส่งออกไปทำภารกิจ รถคันนี้มีขนาดเท่ากับรถยนต์คันหนึ่ง ถูกออกแบบมาให้ทนสภาพอากาศบนดาวอังคารได้และเคลื่อนที่โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์ขับเคลื่อนในตัวรถ มันถูกปล่อยออกจากโลกที่แหลม Canaveral ฐานปล่อยจรวดยอดนิยมในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:02 น. และไปลงจอดที่ดาวอังคารในวันที่ 6 สิงหาคม 2012 เวลา 5:07น. บริเวณลานลงจอดที่ NASA ได้เตรียมการไว้ชื่อว่า Bradbury Landing ที่มีความกว้างประมาณ 2.4 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางในการเดินทางของ Curiosity ทั้งหมด 560 ล้านกิโลเมตร โดยภารกิจของ Curiosity คือการสำรวจสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของดาวอังคารแล้วส่งข้อมูลกลับมายังโลก จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2018 Curiosity ได้ทำภารกิจมาแล้วถึง 2,223 วัน

สเปกของรถสำรวจดาวอังคาร

ขนาดและแหล่งกำเนิดพลังงาน ถึงจะเป็นรถสำหรับสำรวจดาวอังคารแต่ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นหุ่นกระป๋องตัวเล็กๆนะครับมันเป็นรถที่ขนาดเดียวกับรถยนต์ทั่วไปเลย Curiosityมีน้ำหนักประมาณ 899 กิโลกรัม มีความยาว 2.9 เมตร กว้าง 2.7 เมตร และสูง 2.2 เมตร แหล่งพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถสำรวจดาวอังคารคันนี้เป็นสิ่งที่ล้ำหน้าที่สุดกว่ารถยนต์ทุกคันบนโลก มันใช้ Radioisotope thermoelectric generator หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้การสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนี่ยมเปลี่ยนความร้อนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Thermocouple เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นคงเหลือไฟฟ้าไม่พอเป็นปีๆแน่นอน เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าแบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1954 และก็ได้นำมาใช้ในวงการวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานของดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอีกด้วย สารกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนี่ยมที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดหลักของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใน Curiosity นี้มีน้ำหนัก 4.8 กิโลกรัมและก็ยังคงสลายตัวลงไปเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน

คอมพิวเตอร์ใน Curiosity คอมพิวเตอร์ใน Curiosity มีทั้งหมดสองเครื่องหลักเรียกว่า Rover Computer Element (RCE) ซึ่งมีหน่วยความจำและไมโครโพรเซสเซอร์ต่างๆที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้สามารถต้านทานต่อการแผ่นรังสีต่างๆในอวกาศได้ CPUที่ใช้ในคอมพิวเตอร์นี้คือ BAE RAD750 ความเร็ว200Mhz และหน่วยความจำ256MB, พร้อมFlash Memroy และEEPROMอีก 2GBและ256KB ตามลำดับ  ระบบปฏิบัติการที่ใช้เรียกว่า VxWorks เป็น Real Time Operating System เหตุผลที่ต้องมีคอมพิวเตอร์2ตัวก็คือคอมพิวเตอร์ตัวที่สองจะทำหน้าที่เป็นเครื่องสำรองไว้ในกรณีที่ตัวแรกเกิดขัดข้อง และมันก็เกิดขึ้นจริงๆในปี 2013 เมื่อคอมพิวเตอร์ตัวแรกเกิดขัดข้องและก็ reboot ตัวเองไปเรื่อยๆ NASA จึงต้องหันมาใช้เครื่องสำรอง นอกจากนั้นยังมีระบบนำทางที่ประมวลผลมาจาก Inertial Measurement Unit (IMU) เป็นหน่วยที่ประมวลผลข้อมูล 3 แกนเพื่อบอกตำแหน่งปัจจุบันของ Curiosity

ระบบสื่อสาร ด้วยสิ่งที่ Curiosity กำลังทำอยู่นี้ระบบสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลกลับมายังโลกถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหากรถสำรวจวิ่งไปเรื่อยๆโดยที่ส่งข้อมูลอะไรกลับมาไม่ได้ก็ไม่รู้จะส่งไปทำไม เนื่องจากไม่สามารถใช้ระบบอินเตอร์เน็ตแบบรถยนต์บนโลกได้ ระบบสื่อสารของ Curiosity จึงใช้คลื่นความถี่ในย่าน X Band อยู่ในช่วง 8.0 ถึง 12.0 GHz ตามมาตรฐาน IEEE สื่อสารโดยตรงกับโลก และใช้คลื่นความถี่ UHF ในการสื่อสารกับดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคาร โดยหลักแล้วการสื่อสารกับโลกสามารถทำได้โดยตรงกับ Curiosity และจากดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคาร แต่การสื่อสารหลักจะทำผ่านดาวเทียมมากกว่าเพราะมีเสาอากาศที่ใหญ่กว่าและพลังงานมากกว่า ระยะเวลาในการสื่อสารของสัญญาณจากดาวอังคารกลับมายังโลกต้องใช้เวลาประมาณ 14นาที 6วินาที เพราะระยะทางไกลมาก

ระบบสื่อสารที่ใช้ความถี่ช่วง XBand และ UHF ของ Curiosity

ระบบสื่อสารที่ใช้ความถี่ช่วง XBand และ UHF ของ Curiosity

ระบบขับเคลื่อน ล้อของ Curiosity มีทั้งหมด 6ล้อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อเข้ากับช่วงล่างแบบ Rocker-Bogie ที่มีความยืดหยุ่นและทำให้ระบบกระทบกระเทือนได้น้อยที่สุด (เห็นแล้วน่าเอามาใช้ในรถยนต์บ้าง) ช่วงล่างนี้เองที่ทำให้การวิ่งของ Curiosity ง่ายขึ้นเมื่อต้องผ่านอุปสรรคต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นก้อนดิน ก้อนหิน เนินทราย ระบบช่วงล่างนี้สามารถก้าวข้ามสิ่งกีดขวางที่มีความสูง65เซนติเมตรได้สบายๆโดยมีมีความสูงจากพื้นถึงช่วงล่างประมาณ 60เซนเติเมตร ความเร็วที่ใช้ในการวิ่งของ Curiosity คือ30เมตรต่อชั่วโมง (ไม่ใช่30กิโลเมตรนะครับ) หลังจากที่ Curiosity วิ่งไปเป็นเวลาประมาณ2ปี ล้อของมันก็เริ่มจะรั่วและฉีกขาดเล็กน้อยแล้ว

ระบบช่วงล่างที่ชื่อว่า Rocker-Bogie

ระบบช่วงล่างที่ชื่อว่า Rocker-Bogie

ระบบอื่นๆ นอกจากระบบหลักๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้วที่เหลือบนตัวรถจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่นักวิทยาศาสตร์ขนไปวางไว้บน Curiosity เพื่อที่ใช้ในการเดินทางและเก็บข้อมูลต่างๆบนดาวอังคาร แน่นอนว่าอุปกรณ์พวกนี้ย่อมไม่เหมือนกับที่อยู่ในรถยนต์แน่นอนเพราะจุดประสงค์แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกล้อง, สเปกโทรมิเตอร์ที่ใช้ตรวจสอบสเปกตรัมต่างๆ, เครื่องตรวจสอบการแผ่นรังสี,  CheMinเครื่องที่ใช้ในการตรวจสอบพื้นผิวของดาวอังคารที่ติดตั้งไว้ภายใน Curiosity, แขนกลที่มีความยาวประมาณ 2.1 เมตร, เครื่องขุดเจาะพื้น เป็นต้น

แขนกลของ Curiosity ที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจยาวประมาณ 2 เมตร

แขนกลของ Curiosity ที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจยาวประมาณ 2 เมตร

เพื่อนๆขาว Chobrod คงพอจะเห็นภาพรถที่ใช้ในการสำรวจดาวอังคารกันแล้วนะครับ ว่ามันเป็นเรื่องจริงที่วิ่งอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบันและสามารถที่จะเป็นต้นแบบสำหรับรถยนต์บนโลกมนุษย์ของเราได้ ในแง่ของวิทยาการความรู้ที่ใช้ในระบบต่างๆของ Cuiosity เช่นระบบคอมพิวเตอร์ ระบบขับเคลื่อน และแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะแหล่งพลังงานที่มาจากการแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าของกัมมันตภาพรังสีทำให้รถมีแหล่งพลังงานวิ่งได้เป็นปีๆโดยไม่ต้องชาร์จเลย จากที่เราได้เห็นมาทั้งหมดนี้ก็พอจะบอกได้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสาตร์ยังคงก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งและวันหนึ่งความรู้ที่มีประโยชน์คงจะเข้ามามีบทบาทสร้างสิ่งใหม่ๆให้กับวงการรถยนต์ของเราต่อไป

ดูเพิ่มเติม
เปิดตัว! Mars Rovers Concept ยานสำรวจดาวอังคารจาก NASA
การท่องอวกาศของรถยนต์ Tesla Roadster

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่  
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์  เชิญที่นี่