วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่มีใครรู้ เพราะถ้ารู้ก่อนก็คงไม่รอให้มันเกิด วิกฤต Subprime เป็นวิกฤตที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาและส่งผลไปยังทั่วโลก วงการรถยนต์ก็ไม่รอดเช่นกัน สภาพตอนนั้นเป็นเช่นไรนะ
มนุษย์แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่มีการติดต่อสื่อสารกันแลกเปลี่ยนสิ่งของกันได้ นับตั้งแต่มนุษย์ใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกันก่อนที่จะหันมาใช้เงินเป็นตัวกลางก็ไม่มีหลักฐานบ่งบอกแน่ชัดว่าเมื่อไร และเมื่อนำเงินมาเป็นตัวกลางตั้งแต่ตอนนั้น มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมากกว่าการนำสิ่งของมาแลกกันหรือไม่ก็ไม่มีใครบอกได้ แต่ที่รู้แน่ๆคือถ้าชีวิตไม่มีเงินจะมีปัญหา
ปัญหาที่เป็นที่โด่งดังและได้รับผลกระทบกันไปทั่วโลกจนกลายเป็นวิกฤต เกิดขึ้นในช่วงปี 2008-2010 โดยต้นกำเนิดของปัญหาในครั้งนั้นคือประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการเรียกชื่อวิกฤตครั้งนั้นว่า วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์(Hamburger Crisis)ตามต้นกำเนิดของประเทศที่ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์นั่นเอง(ตอนที่ไทยเราเป็นต้นเหตุก็ได้ชื่อว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง)และมีอีกหลายๆชื่อที่คนรู้จักกันดีก็คือ subprime crisis วิกฤตซับไพรม์ หรือ วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ
นอกจากเงินแล้วสินทรัพย์ที่มีค่าเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัยก็คืออสังหาริมทรัพย์ อย่างในอเมริกาช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตซับไพรม์ ราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนที่เริ่มตั้งตัวได้หันมาซื้อบ้านหลังที่2 3 4 กันมากขึ้น โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อเอาไว้ลงทุน เนื่องจากยังไงตามสถิติซื้อบ้านเอาไว้กำไรแน่ๆ เพราะราคาขึ้นมาตลอด และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมด
อสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดวิกฤตการเงินครั้งนี้ที่ล้มครืนไปถึงเศรษฐกิจโลก
สาเหตุที่สุดท้ายทุกอย่างกลายเป็นวิกฤตได้ในความเป็นจริงมีหลายปัจจัยมาหล่อหลอมกัน เรื่องอสังหาริมทรัพย์ก็นับเป็นตัวแปรหนึ่ง นอกจากนั้นดอกเบี้ยในตอนนั้นของอเมริกาก็ต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศค่อนข้างสูง ธนาคารต่างๆเห็นว่าทุกอย่างดูดี เงินมีในระบบก็อยากจะปล่อยกู้ให้คนเอาเงินไปใช้ และก็เริ่มปล่อยกู้ง่ายขึ้นจนไปจบที่กู้ได้แม้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ตอนนั้นไม่มีใครคิดเลยครับว่าซื้อบ้านมาแล้วราคามันจะตก ของแบบนี้มีแต่จะยิ่งราคาขึ้น เก็งกำไรดีกว่า คนก็แห่กันไปกู้เอาเงินมาซื้อบ้าน เอาเงินที่กู้มาใช้เองก็มี แถมธนาคารก็ปล่อยกู้ง่ายอีก ทำให้ถึงจุดหนึ่งระบบเริ่มรับกับสิ่งที่เป็นไม่ไหว บ้านก็สร้างกันเกลื่อน แต่ความต้องการการซื้อบ้านหยุดกึก ธนาคารก็เลยเริ่มเอาสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพมามัดรวมกันให้ดูมีคุณภาพและเอามาใช้ในระบบต่อไป แต่พอคนกู้เริ่มไม่ไหว ไม่มีเงินผ่อน ก็ต้องทิ้งทุกสิ่ง และก็ทิ้งได้เสียด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังที่2 บ้านตัวเองก็ยังอยู่ พอทุกคนคิดแบบนี้ ทุกอย่างก็เลยพังหมด ไม่มีใครอยากจ่ายหนี้ ทำให้ธนาคารมีบ้านที่เป็นหนี้เสียมากมาย จนกระทั่งบริษัท Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ทุกอย่างก็พังครืนอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกันยายน 2008
สหรัฐอเมริกา
วิกฤตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้ง General Motors และ Chrysler มีการให้กู้ยืมเงินในกรณีพิเศษและพิจารณาความสามารถในการใช้คืนหนี้อย่างละเอียดยิบโดยพิจารณาไปถึงสินค้าทุกตัว คุณภาพ แรงงานที่จะจ้าง เพื่อให้การกู้ยืมเงินไปนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ในช่วงเมษายนปี 2009 Chrysler ก็ถูกบีบให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันก็เป็นคราวของ General Motors บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา คือ Chrysler, General Motors และ Ford สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดจากที่เคยมีรวมกันถึง 70% ตกลงมาเหลือ50%เท่านั้นในปี2008 ถ้ามองย้อนกลับไปบริษัทรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะทำกำไรได้ทุกปี ยกเว้นปีที่มีเหตุการณ์วิกฤตอย่างเช่น วิกฤตทางการเงินแบบนี้หรือวิกฤตทางด้านสงคราม วิกฤตสงครามที่พูดไปก็รู้จักก็มีอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องคือ สงครามเวียดนามใปนี 1971-1973, สงครามอ่าวในปี 1991-1993, สงครามอิรักในปี 2001-2003 ช่วเวลาเหล่านี้กรรมก็มาตกที่บริษัทรถยนต์ที่ไม่กำไรแถมยังเป็นหนี้อีกต่างหาก
3บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาช่วงนั้นก็ขาดทุนหนักกันหมด
แนวโน้มยอดขายรถยนต์ที่ตกต่ำในช่วงวิกฤต Subprime
ญี่ปุ่น
Toyota ช่วงปี2007-2008 ช่วงนั้นราคาน้ำมันพุ่งสูงระดับ 100 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล Toyota ประกาศผลประกอบการว่าเปอร์เซ็นต์ยอดขายลดลงเป็นเลขสองหลัก โดยปัญหามาจากการขายไม่ค่อยได้ของรถปิคอัพ Tundra ทำให้บริษัท Toyota ประกาศที่จะหยุดการผลิตรถยนต์ในโรงงานที่ผลิตรถปิคอัพ และหันมาผลิตเฉพาะรถยนต์ที่ตลาดต้องการเท่านั้น ช่วงธันวาคม 2008 Toyota ประกาศว่าบริษัทขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท (หรือจะเรียกได้ว่าขาดทุนหนักเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา) ยอดขายลดลงประมาณ 34% ส่วน Honda ในช่วงธันวาคม 2008 ก็ประกาศออกจากการแข่งขัน Formula One Racing จากผลกระทบของวิกฤตซับไพรม์ และก็หาทางที่จะลดพนักงานโดยที่จะลดพนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานสัญญาจ้างก่อน ส่วนพนักงานระดับบริหารจะมีการคิดทบทวนเรื่องโบนัสกันใหม่และมีการลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลงประมาณ10%ในช่วงต้นปี2009 ทางด้านNissanมียอดขายรถยนต์ที่ตกลงไปมาก ในช่วงไม่กี่เดือนของปี 2009 ยอดขายก็ตกลงไปถึง 80,000 คัน
Toyota ถึงกับต้องเปลี่ยนประธานบริษัทคนใหม่เป็นนาย Akio Toyoda (คนกลาง) และบริหารงานจนถึงปัจจุบัน ส่วนนาย Katsuaki Watanabe(ซ้าย)ลงจากตำแหน่ง
รถที่คาดหวังไว้ก็ขายไม่ค่อยได้ Toyota Tundra
ดูเพิ่มเติม
>> มีใครบ้างกับ 10 บรรดาเทพแห่งผู้ผลิตอุตสาหกรรมยามยนต์
>> เฟ้อเป็นกรดเกิน! ส่องราคารถเบเนซูเอล่ากลางวิกฤติเศรษฐกิจ
ยุโรป
ในเดือนพฤศจิกายน 2008 ค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส PSA Group เจ้าของแบรนด์ Peugeot และ Citroën ทั้งๆที่กั้นด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก แต่วิกฤตจากอเมริกาก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาส่งผลกระทบ ทำให้ยอดขายตกลงไปถึง 17% เป็นผลให้ต้องมีการลดคนงานลงเกือบ3,000ตำแหน่งในช่วงต้นปี 2009 และรวมเป็น 11,000 ตำแหน่งทั่วโลก แน่นอนว่าเพื่อที่จะไม่ลดตำแหน่งงานในประเทศฝรั่งเศส แต่ที่ยังคงรักษาความดีไว้ได้ต้องยกให้แบรนด์ Renault เพราะในขณะที่ยักษ์ใหญ่ค่ายอื่นขาดทุนกันเลือดสาด มีRenault นี่เองที่ทำกำไรได้ ถึงแม้ว่ากำไรจะลดลงแต่ก็ดีกว่าขาดทุน โดยที่กำไรในปี 2008 อยู่ที่ 24,000ล้านบาท จากยอดขายที่ลดลง4%ในยุโรปและ7%ทั่วโลก นี่คือผลกำไรที่ตกลงมาแล้ว70%เมื่อเทียบกับปี2007 ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีการบริหารจัดการได้ดีจนน่ายกย่อง
เกาหลีใต้
แบรนด์ดังจากเกาหลีอย่าง Hyundai กลับทำสิ่งที่เหนือความคาดหมาย สามารถทำกำไรได้ดีกว่าแบรนด์หลักจากทางอเมริกาและญี่ปุ่น เกิดเป็นผลลัพธ์สร้างการเติบโตให้กับบริษัททั้งๆที่ตลาดกำลังเป็นขาลง และสามารถทำสถิติเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ5ของโลกแซงหน้า Honda อย่างง่ายดายได้ยาวไปจนถึงปี 2009 และ Hyundai ยังใช้ช่วงเวลาวิกฤตของบริษัทในอเมริกาที่กำลังเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย สร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดโดยสร้างรถยนต์ที่ราคาจับต้องได้แต่มีคุณภาพพร้อมกับดีไซน์ที่สวยงามออกมาขายในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งดึงดูดลูกค้าได้ดีในเวลานั้น เป็นการต่อกรรถยนต์หรูๆแพงๆจากฟากฝั่งอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนีได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ในสงครามการเงินที่น่าชื่นชมจริงๆ
วงการรถยนต์นับเป็นวงการที่ใหญ่และเกี่ยวพันกับคนส่วนมากของโลกในแง่ของตลาดแรงงานด้วย เหตุการณ์นี้จึงนับว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์โลกที่ทำให้รู้ว่าแต่ละแบรนด์รถยนต์ต้องเผชิญกับตัวเลขขาดทุนอย่างไร มีใครที่เหลือรอดจากสงครามการเงินที่ทำเอาแบรนด์ต่างๆเจ็บหนักกันไปมาก ถึงแม้วันนี้แบรนด์ต่างๆจะกลับมาทำกำไรได้แล้วในสภาพเหตุการณ์ปกติ แต่วิกฤตรอบหน้าก็อาจจะปะทุขึ้นมาอีกก็ได้ คำถามอยู่ที่ว่าเมื่อไรและเกิดจากที่ไหน
ดูเพิ่มเติม
>> ย้อนรอยวิกฤตน้ำมันโลกปี1973
>> Takata ยื่นล้มละลาย หลังเผชิญปัญหาถุงลมนิรภัยมากถึง 100 ล้านคันทั่วโลก
Chobrod ขอฝากความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไว้เพียงเท่านี้และ คราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ติดตามกันได้ต่อเนื่องเลยนะคะ เเละ อย่าลืมแชร์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ของคุณให้เราด้วยโดยการให้ Comment ด้านล่างนี้ได้เลย