กฎหมายเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาความสงบสุขในบ้านเมือง แม้จะมีการฝ่าฝืนกันอยู่บ้างก็คงต้องปรับแก้กันไป อย่างน้อยเพื่อให้ท้องถนนสัญจรอย่างสงบสุข มาเริ่มกันที่ตัวเรากันดีกว่าครับ
เป็นที่ยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่ขับขี่รถยนต์บนท้องถนนประเทศไทย ไม่ได้จดจำกฎจราจรทุกตัวบทกฎหมายเอาไว้แน่นอน เพราะว่ามีมาตราต่างๆมากมายเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม การสอบใบอนุญาตขับขี่จะทำให้ผู้ที่ขับรถยนต์เรียนรู้กฎจราจรหลักๆที่จำเป็นในการขับรถมาแล้วระดับหนึ่งแม้จะไม่ได้ละเอียดทุกตัวอักษร แต่ก็เพียงพอที่การสอบใบอนุญาตขับขี่นั้นจะทำให้ผู้ที่สอบผ่าน เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์และปล่อยให้มันโลดแล่นออกมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้ผู้ขับขี่ยวดยานต์บนท้องถนนจะรู้กฎจราจรบางข้อเป็นอย่างดี และมีเครื่องหมายกำกับบนท้องถนนนั้นๆก็ยังมีการฝ่าฝืนกฎกันบ้างเป็นธรรมดา บางท้องที่ก็ฝ่าฝืนกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าในท้องถิ่นนั้นๆมีการอะลุ่มอล่วยกันมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ชิวิตของประชาชนในท้องที่นั้นๆและต้องไม่เดือดร้อนต่อผู้คนโดยทั่วไปด้วย
ป้ายจราจรต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตาม
หากดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง เฉพาะกรณีที่มีการรายงานเข้ามายังสำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ และนับเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระทำผิดกฎจราจรจากผู้ขับขี่รถยนต์ อ้างอิงตัวบทกฎหมายจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นฉบับหลักและมีการแก้ไขเพิ่มอีกหลายครั้งในหลายปี การฝ่าฝืนกฎจราจรเรื่องใดที่คุณคิดว่าเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
การขับรถยนต์เร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุอันดับ1ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะว่าความเร็วที่มากเกินไปในเขตการเดินรถต่างจะทำให้การหยุดรถยนต์ใช้เวลาจนกระทั่งรถหยุดแตกต่างกันไป และพื้นที่ต่างๆก็มีผู้คนและจำนวนรถยนต์รอบข้างแตกต่างกันด้วย ดังนั้นการใช้ความเร็วรถยนต์แตกต่างจากรถยนต์คันอื่นๆในบริเวณนั้นๆจะทำให้เสี่ยงต่อการเบรกและควบคุมรถได้ยากกว่าปกติ แล้วความเร็วที่กฎหมายกำหนดคือเท่าไร อ้างอิงจาก อัตราความเร็วของยานพาหนะตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับ 8 พ.ศ. 2551
และจากกฎกระทรวง ฉบับที่3 ออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 สำหรับยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข7ทางสาย กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
(1.) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน1,200กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 100กิโลเมตร
(2.) รถบรรทุกอื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน(1)รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงรถพ่วงให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80กิโลเมตร
(3.) รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน(1)หรือ(2)ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ120กิโลเมตร
พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับ ผมเองก็ไม่ได้จำรายละเอียดได้ขนาดนี้แต่ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องปฏิบัติตามสำหรับการใช้ความเร็วบนท้องถนน เพราะเรื่องความเร็วนี้เองเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุอันดับหนึ่งในรอบ10 ปีที่ผ่านมา
การขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็เสี่ยงต่อการโดนกล้องตรวจจับความเร็วด้วย
เรื่องการขับขี่กระชั้นชิดชนิดที่คนท้ายจี้ก้นมาติดๆเพื่อนๆก็คงพบเห็นกันบ่อยๆนะครับ สำหรับกฎหมายข้อนี้คือ มาตรา 49 เมื่อได้รับสัญญาณขอแซงขึ้นหน้าจากรถคันที่อยู่ข้างหลังผู้ขับขี่ซึ่งขับรถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่ใช้ความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถอื่นที่ขับไปในทิศทางเดียวกัน ต้องยอมให้รถที่ใช้ความเร็วสูงกว่าผ่านขึ้นหน้าผู้ขับขี่ที่ถูกขอทางต้องให้สัญญาณตอบตามมาตรา 37(3) หรือมาตรา 38(3) นั่นหมายความว่าถ้าคนที่ขับตามหลังเรามาใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด เราก็จำเป็นต้องหลีกทางให้เขาผ่านไปนะครับ
ขับขี่กระชั้นชิด ส่วนใหญ่ก็เพราะอยากจะแซงขึ้นหน้า
ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2017 พรบ.จราจรทางบกฉบับใหม่ก็มีผลบังคับใช้เรื่องการดื่มสุรา เมาและขับรถ ซึ่งการเมาแล้วขับยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยังคงฝ่าฝืนมาช้านาน และยังคงติดอันดับที่3 ของการฝ่าฝืนกฎจราจร แม้ว่าโทษของการขับขี่แบบเมาแล้วขับนี้จะร้ายแรงขึ้นก็ยังคงมีคนฝ่าฝืนกันอยู่ดี โดยแบ่งเป็นระดับความรุนแรง หากเมาแล้วขับและเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และยังต่อท้ายด้วยศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ได้เลย นับว่าเป็นโทษที่ไม่เบาทีเดียวสำหรับการขับขี่จากการเมาสุรา ทางที่ดี กลับแท็กซี่หรือรถเพื่อนเมื่อเมาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่านะครับ
เมาไม่ขับ เป็นกฎพื้นฐานของการขับรถยนต์
การให้สิทธิบนท้องถนน พูดแล้วเราอาจจะจำไม่ได้กันว่าทางไหนเราควรให้สิทธิ หรือทางไหนเราควรได้สิทธิ แต่ก็เพราะเรายังจำสับสนกับเรื่องนี้ มันก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จากงานวิจัยของนายธนะชาติ ปาลิยะเวทย์ และ พ.ต.อ.ญ. จินดา กลับกลาย พบว่า 47.7% ของจำนวนการข้ามถนนทั้งหมด ผู้ขับขี่ไม่หยุดรถเมื่อปรากฎสัญญาณไฟแดงเพื่อให้คนเดินข้ามถนน ซึ่งเรียกได้ว่ามีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ขับขี่เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ขับฝ่าฝืนกันอยู่บ่อยๆตามมาตรา 22 (4) ที่ว่าผู้ขับรถต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน
ที่ทางข้าม มีน้ำใจให้คนเดินถนนไปก่อน
การแซงเป็นเรื่องที่บางครั้งก็เลี่ยงได้ยาก แต่การจะแซงให้ปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมายนั้นยิ่งยากกว่า เพราะว่ากรณีช่องจราจรเป็นเลนสวนกันเมื่อเจอเส้นทึบถึงแม้ว่ารถจะโล่งแค่ไหนก็ไม่สามารถขับแซงได้ ขณะเดียวกันแม้เส้นถนนเป็นเส้นประแต่รถมีมากก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เหมือนกัน จากพรบ.จราจร มาตราที่ 36 ผู้ขับขี่ซึ่งจะเลี้ยวรถให้รถคันอื่นผ่านหรือแซงขึ้นหน้าเปลี่ยนแปลงช่องเดินรถ ลดความเร็วของรถ จอดรถ หรือหยุดรถ ต้องให้สัญญาณด้วยมือและแขนตามมาตรา 37 หรือไฟสัญญาณตามมาตรา 38 หรือสัญญาณอย่างอื่นตามข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจร ถ้าเราไม่รีบจริงๆหรือเห็นว่าแซงหน้าไปแล้วก็ติดคันหน้าต่อๆไปอยู่ดี เราก็เปลี่ยนมาเป็นใจเย็นเพลิดเพลินกับสิ่งบันเทิงในรถกันดีกว่านะครับ
แซงทุกครั้งต้องให้สัญญาณเพื่อความปลอดภัย
โดยทั่วไปแล้ว เรื่องทั้ง5เรื่องนี้ ก็เรียกว่าผู้ขับขี่ก็ล้วนผ่านมาแล้วทิ้งสิ้น แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยทั้งประเทศตลอด10ปีที่ผ่านมา ซึ่งอันดับก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกันไปในแต่ละปี แต่จากอันดับที่กล่าวข้างต้นเป็นการนับรวมระดับ10ปีเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพว่า เรื่องที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนก็เป็นเรื่องพื้นๆที่มักเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ก่อนขับขี่บนท้องถนนแล้วทั้งสิ้น หลังจากเพื่อนๆชาว Chobrod ได้อ่านบทนี้แล้ว เราก็มาทำให้การจราจรของเราน่าสัญจรและลดอุบัติเหตุกันนะครับ
ดูเพิ่มเติม
Tricks and Tips เลือกรถมือสองแบบไหนถูกใจคนในครอบครัว
เอาใจสายชิลล์ ... รวบรวมรถเปิดประทุนมือสองราคาไม่เกิน 4-5 แสนบาท
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ เชิญที่นี่