สำหรับผู้ขับรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก สามล้อ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็ต้องมีใบขับขี่สาธารณะติดตัวไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านการขับรถ ซึ่งใบขับขี่สาธารณะมีอยู่ 3 ชนิด ดังนี้
- ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (มีอายุ 3 ปี)
- ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ (มีอายุ 3 ปี)
- ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ (มีอายุ 3 ปี)
ใบขับขี่สาธารณะ
และสำหรับใครที่ต้องการทำใบขับขี่รถสาธารณะ เรามีคำแนะนำมาฝาก แต่ต้องบอกก่อนเลยว่า การจะขอทำใบขับขี่สาธารณะนั้น ผู้ขอรับจะต้องมีคุณสมบัติที่กรมการขนส่งเห็นว่าสามารถไว้วางใจให้ขับรถสาธารณะได้ เพราะต้องคำนึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารเป็นสำคัญนั่นเอง
ทำใบขับขี่รถสาธารณะ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
- ต้องได้รับใบขับขี่ส่วนบุคคลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี
- มีสัญชาติไทย
- ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- ผู้ที่จะขอรับใบขับขี่ “รถยนต์สาธารณะ” และ “รถสามล้อสาธารณะ” ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์
- ผู้ที่จะขอรับใบขับขี่ “รถจักรยานยนต์สาธารณะ” ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
- มีความรู้ความสามารถด้านการขับรถ
- มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
- ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
- ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
- ไม่มีใบขับขี่รถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สำหรับความผิดเกี่ยวกับการขับรถอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพ้นโทษครั้งสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมาย/ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น/ ในลักษณะกีดขวางการจราจร/ ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด/ โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน/ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
- รู้จักถนนและทางหลวงในจังหวัดที่ขอรับใบขับขี่พอสมควร
- ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ
- ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกในคดีเกี่ยวกับรถยนต์/ความสงบสุขของประชาชน/เพศ/ชีวิต-ร่างกาย/เสรีภาพ/ยักยอกทรัพย์/รับของโจร/ทำให้เสียทรัพย์/ยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษที่เกิดจากความประมาท หรือโทษสถานเบา หรือต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
- หากเคยเป็นผู้ได้รับโทษดังกล่าว ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า
- 6 เดือน สำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกิน 3 เดือน
- 1 ปี สำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกิน 3 เดือน ในคดีเกี่ยวด้วยการใช้รถกระทำความผิด
- 1 ปี 6 เดือน สำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี
โดยต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียน และชี้แจงเหตุผลที่ได้รับโทษ พร้อมแสดงหลักฐานว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเรียบร้อยและไว้วางใจให้ขับรถสาธารณะได้
ได้รับใบขับขี่ส่วนบุคคลมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
ใบขับขี่สาธารณะ ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
1. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)
2. ใบรับรองแพทย์ที่ได้ก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน (ฉบับจริง)
3. ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยว่า 1 ปี (ฉบับจริง 1 ฉบับ และสำเนา 1 ฉบับ)
ใบรับรองแพทย์
ใบขับขี่สาธารณะ มีขั้นตอนอย่างไร?
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th:4447/web_booking/page/ หรือแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue เพื่อจองคิวทำใบขับขี่สาธารณะ
2. ตรวจสอบเอกสารว่าครบถ้วนหรือไม่ และออกคำขอทำใบขับขี่สาธารณะ
3. ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
- ทดสอบการมองเห็นสี ที่จำเป็นในการขับรถ
- ทดสอบสายตาทางลึก
- ทดสอบสายตาทางกว้าง
- ทดสอบปฏิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรกเท้า)
ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
4. เข้ารับการอบรม
- รถยนต์/สามล้อสาธารณะ อบรม 5 ชั่วโมง
- รถจักรยานยนต์สาธารณะอบรม 3 ชั่วโมง
อบรมทำใบขับขี่สาธารณะ
5. สอบข้อเขียน โดยจะต้องสอบให้ได้ 18 ข้อขึ้นไป จาก 20 ข้อ เมื่อทำการสอบเรียบร้อยแล้ว รอรับผลทาง SMS
6. ตรวจสอบประวัติอาชญากรที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรอผลทาง SMS สำหรับบุคคลทั่วไปต้องให้ผู้บังคับบัญชาตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่ารับรองความประพฤติ
ตรวจสอบประวัติอาชญากร
7. เมื่อผลออกมาว่าประวัติดี หรือมีพฤติกรรมที่ไว้วางใจได้ สามารถชำระค่าธรรมเนียม ถ่ายรูป และรอรับใบขับขี่ได้เลย
ใบขับขี่สาธารณะ มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่?
- ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถ
- รถยนต์สาธารณะ 400 บาท
- รถยนต์สามล้อสาธารณะ 250 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ 250 บาท
- ค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวผู้ขับรถ 20 บาท
- ค่าธรรมเนียมแก้ไขรายการในใบอนุญาตขับรถ 50 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสอบใบขับขี่รถยนต์สาธารณะครั้งแรก จะต้องผ่านการทดสอบขับรถบนถนนจริงเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อน และหากใบขับขี่ที่นำมายื่นอายุเกิน 3 ปี จะต้องผ่านการสอบขับรถเพิ่มเติมด้วย
อ่านเพิ่มเติม