3 ประเทศที่สถานีไฮโดรเจนมากที่สุด

ประสบการณ์ใช้รถ | 23 ส.ค 2561
แชร์ 3

รถยนต์Fuel Cell นับเป็นรถที่เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริงอีกประเภทหนึ่งเพราะของเสียที่ได้นั้นแทนที่จะเป็นควันเหม็นๆกลับเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่เกิดจากการรวมตัวของออกซิเจนและไฮโดรเจน แล้วสถานการของสถานีเติมไฮโดรเจนในโลกนี้เป็นอย่างไรบ้างนะ

การจับคู่กันระหว่าง2ก๊าซที่สำคัญของโลกระหว่าง ไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) ทำให้เราได้พลังงานที่นำมาใช้ในรถยนต์ Fuel Cell ดังเช่นปัจจุบัน ก๊าซไอโดรเจนมีคุณสมบัติพิเศษคือติดไฟได้ นั่นหมายความว่าถ้ามีก๊าซไฮโดรเจนลอยอยู่ในอากาศแล้วเราจุดไม้ขีดขึ้นมาแม้เพียงก้านเดียว ตูม!!! มันก็ระเบิดได้เหมือนกัน อีกด้านหนึ่งก๊าซออกซิเจนเป็นเหมือนผู้ช่วยที่ถึงแม้ว่าตัวมันเองจะไม่ติดไฟเหมือนก๊าซไฮโดรเจนแต่ถ้าไม่มีออกซิเจนไฟที่มีก็ไม่ติดเหมือนกันเพราะมันเป็นก๊าซที่ช่วยให้ไฟสามารถติดค้างอยู่ได้

การทำงานของปฏิกิริยาภายใน Fuel Cell ที่ทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า

หลังจากที่มนุษย์รู้ถึงการรวมพลังกันของก๊าซสองตัวนี้ การพัฒนาต่อยอดดังเช่นปัจจุบันทำให้เราได้รถยนต์ Fuel Cell ที่เป็นเซลล์พลังงานอย่างหนึ่งที่สามารถให้พลังงานได้จากการทำปฏิกิริยากันทางเคมีไฟฟ้า โดยปฎิกิริยานั้นเปลี่ยนโมเลกุลของไฮโดรเจนและออกซิเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยแทบจะไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ใดๆเลน นั่นหมายความว่า ท่อไอเสียของรถยนต์ Fuel Cell จะไม่มีไอเสีย ได้ผลของปฏิกิริยาเป็นน้ำด้วยซ้ำ เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง (ส่วนเรื่องการผลิตเซลล์ขึ้นมาจะมีกากสารพิษหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) และประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แบบ Fuel Cell ในทางทฤษฎีแล้วให้ประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันประมาณ2-3เท่า

ปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ

ปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ

สถานีเติมพลังงานของ Fuel Cell

รถยนต์ Fuel Cell ในปัจจุบันก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันในระดับโลก แม้ในบ้านเราจะยังห่างไกลและอนาคตก็ไม่แน่ว่าจะรุ่งหรือไม่ เพราะการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าก็ค่อนข้างเปลี่ยนโฉมวงการรถยนต์เช่นกัน รถยนต์ Fuel Cell ที่รู้จักและเห็นกันง่ายหน่อยของพี่ใหญ่อย่างโตโยต้าก็คือรถยนต์ Fuel Cell ที่ชื่อว่า MIRAI ที่แปลว่า “อนาคต”

ปัญหาหนึ่งของการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่น้ำมันคือ สถานีเติมพลังงาน เพราะต่อให้รถยนต์คันนั้นจะสมรรถนะดี คุ้มค่าเงินมากแค่ไหน แต่หาสถานีเติมพลังงานยาก ก็ลำบากแก่การใช้งาน จะวิ่งไปไกลก็กลัวเชื้อเพลิงจะหมดอีก สำหรับรถยนต์ Fuel Cell สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Hydrogen Station ในประเทศไทยนั้นคงไม่ต้องถามกันว่าหาเติมกันยากง่ายแค่ไหน ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันว่า ระดับโลก 3อันดับประเทศที่มีสถานีไฮโดรเจนมากที่สุดเขามีสถานีแบบนี้กันหรือไม่ และที่เขาใช้กันนั้นเป็นอย่างไร

ญี่ปุ่น

ประเทศที่มีสินค้าเป็นรถยนต์Fuel Cell ถ้าไม่มีนโยบายการขยายสถานีไฮโดรเจนก็จะเป็นเรื่องที่แปลกมาก สถานีเติมพลังงานไฮโดรเจนในญี่ปุ่นมีกันมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว และมีหัวเรือใหญ่คือ JHFC (Japan Hydrogen & Fuel Cell Demonstration Project) เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดตั้งสถานีไฮโดรเจนในประเทศญี่ปุ่น ตอนปลายปี2012 ก็มีสถานีรวมถึง17สถานี และก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้หากรัฐบาลไม่สนับสนุนก็คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่รัฐบาลจะสนับสนุนก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ลงทุน และประชาชนผู้ใช้งานด้วยว่าเขาต้องการพลังงาน และรถยนต์Fuel Cell มากน้อยแค่ไหน ในประเทศญี่ปุ่นรัฐบาลมีนโยบายที่จะตั้งสถานีไฮโดรเจนให้มากถึง100สถานี ด้วยงบประมาณสนับสนุนราว 16000 ล้านบาท ปัจจุบันนี้ก็มีสถานีไฮโดรเจนถึง 91 แห่งแล้วในญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถานีไฮโดรเจนมากที่สุดในโลกในปัจจุบัน บริษัทที่เข้าร่วมโปรเจคในการขยายสถานีไฮโดรเจนในฝั่งบริษัทผลิตรถยนต์ก็เช่น Honda, Nissan Motor ส่วนบริษัทด้านพลังงานอื่นๆเช่นบริษัท Idemitsu Kosan, Iwatani Corp, Tokyo Gas, Toho Gas, Air Liquide Japan Ltd, Toyota Tsusho. เราก็รู้จักชื่อกันไว้อนาคตอาจเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในประเทศไทยก็ได้

สถานีไฮโดรเจนในประเทศญี่ปุ่นที่ดูกว้างขวางสะอาดตาตามไสตล์ญี่ปุ่น

สถานีไฮโดรเจนในประเทศญี่ปุ่นที่ดูกว้างขวางสะอาดตาตามไสตล์ญี่ปุ่น

แบรนด์ENEOSชื่อดังในญี่ปุ่นก็มีสถานีไฮโดรเจนเช่นกัน

แบรนด์ENEOSชื่อดังในญี่ปุ่นก็มีสถานีไฮโดรเจนเช่นกัน

แบรนด์ENEOSชื่อดังในญี่ปุ่นก็มีสถานีไฮโดรเจนเช่นกัน

หัวจ่ายของสายเติมไฮโดรเจนสู่รถยนต์   Fuel Cell

หัวจ่ายของสายเติมไฮโดรเจนสู่รถยนต์   Fuel Cell

เยอรมนี

อันดับต่อมายกให้ประเทศเยอรมนีที่มีสถานีไฮโดรเจนมากเป็นอันดับ2ของโลก ต้นปี2018ก็มีถึง56สถานีแล้ว แม้ว่าจะมีสถานีไฮโดรเจนมากเป็นอันดับสองแต่อัตราการเติบโตของจำนวนสถานีไฮโดรเจนกลับมากเป็นอันดับ1 ช่วง1ปีที่ผ่านมานี่มีอัตราการขยายตัวของจำนวนสถานีที่สูงมากกว่า2เท่าตัว ทั้งๆที่เมื่อปี 2013มีแค่ 15 สถานทีเท่านั้น ส่วนใหญ่สถานีไฮโดรเจนในประเทศเยอรมนีจะดำเนินการโดยกลุ่ม Clean Energy Partnership เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขยายสถานีไฮโดรเจน องค์กรนี้เป็นองค์กรที่รวมอีกหลายๆบริษัทเข้าไว้ด้วยกันโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างโลกที่ยานยนต์ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์แบบ Fuel Cell นี่ล่ะ โดยองค์กรใหญ่ๆส่วนมากก็เป็นบริษัทรถยนต์ อย่าง Toyota หรือ BMW เป็นต้น เพราะยังไงๆบริษัทรถยนต์ก็ต้องอยากให้มีสถานีไฮโดรเจนมากๆเพื่อที่ตัวเองจะได้ขายรถยนต์ Fuel Cell ได้ นอกจากนั้นบริษัทต่างๆหลายบริษัทในเยอรมนียังประกาศกร้าวที่จะร่วมมือกันสร้างสถานีไฮโดรเจนให้ครบ 100แห่งในปี 2019 ด้วย ซึ่งทางบริษัทเหล่านั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังงานจาก Fuel Cell ว่าไม่ได้มีดีแค่เพราะว่ามันให้ไอเสียเป็นศูนย์เท่านั้น แต่มันยังใช้เวลาน้อยในการเติมแถมยังวิ่งได้ไกลอีกด้วย ซึ่งก็ยังเป็นการคาดเดายากกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะโลกเราก็มีพลังงานรูปแบบอื่นๆอีกมากมายซึ่งในอนาคตการใช้พลังงานน่าจะออกมาในรูปแบบผสม คือหลายๆผลิตภัณฑ์ก็มีการใช้พลังงานในหลายๆรูปแบบ คงไม่มีพลังงานรูปแบบใดที่ตายหายไป ทางบริษัทต่างๆในเยอรมนีเชื่อแบบนั้นจึงเร่งพัฒนาด้าน Fuel Cell มาจนถึงทุกวันนี้และก็ยังก้าวต่อไป โดยเป้าหมายสำคัญคือขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการพัฒนา Fuel Cell พร้อมกับสถานีไฮโดรเจนของโลกใบนี้

สถานีไฮโดรเจนที่ดูสะอาดสะอ้านในเยอรมนีช่างต่างจากปั๊มน้ำมันในบ้านเรา

สถานีไฮโดรเจนที่ดูสะอาดสะอ้านในเยอรมนีช่างต่างจากปั๊มน้ำมันในบ้านเรา

ป้ายที่เขียนว่า Wasserstoff ในภาษาเยอรมันแปลว่าไฮโดรเจน

ป้ายที่เขียนว่า Wasserstoff ในภาษาเยอรมันแปลว่าไฮโดรเจน

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศอันดับ3ที่มีสถานีไฮโดรเจนมากที่สุด คือมีทั้งหมด39สถานีในต้นปี2018 และรัฐที่มีสถานีมากที่สุดคือรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ในบรรดา39สถานีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสถานีแบบรีเทลคือเปิดให้ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ Fuel Cell รายใดก็ได้เข้ามาเติมไฮโดรเจนลักษณะเหมือนปั๊มน้ำมันทั่วๆไป และอีกแบบเป็นสถานีไฮโดรเจนที่อนุญาตให้เฉพาะการเติมโดยใช้อุปกรณ์พิเศษจากผู้ผลิตเท่านั้น ถึงจำนวนสถานีจะไม่เท่ากับประเทศญี่ปุ่นแต่จำนวนก๊าซไฮโดรเจนที่ใช้ไป แค่ครึ่งปี2017ก็มีการจ่ายออกไปถึง276,535 kg ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลย้อนหลังด้วยนับว่าเป็นการเติบโตของการใช้ไฮโดรเจนที่ชัดเจน นอกจากนั้นด้วยความทันสมัย ผู้ขับขี่รถยนต์ Fuel Cell สามารถเช็คสถานะ แผนที่ ที่ตั้งของสถานีไฮโดรเจนจากเว็บไซต์ได้ด้วย แถมยังมีบอกรายละเอียดเสร็จสรรพไม่ว่าจะเป็นชนิดความดันก๊าซไอโดตรที่เปิดให้บริการ เพราะปัจจุบันรถยนต์ Fuel Cell ส่วนใหญ่จะรองรับการเติมก๊าซที่ใช้แรงดัน 10,000psi (เป็นชนิดH70) ส่วนอีกความดันที่อ่อนลงมาคือความดัน 5,000psi (ชนิดH35) ถ้ารถใครที่รองรับแบบเก่าก็สามารถเช็คดูจากเว็บไซต์ได้ นอกจากนั้นยังมีบอกเวลาเปิดปิดสถานี ข้อมูลของเว็บไซต์เจ้าของสถานีและเบอร์โทรติดต่อด้วย

Shell ก็มีสถานีไฮโดรเจนในสหรัฐอเมริกาเช่นกันและก็เติมเองโดยผู้ใช้รถตามไสตล์ฝรั่ง

Shell ก็มีสถานีไฮโดรเจนในสหรัฐอเมริกาเช่นกันและก็เติมเองโดยผู้ใช้รถตามไสตล์ฝรั่ง

ชาวอเมริกันสามารถหาสถานีไฮโดรเจนได้จากเว็บไซต์พร้อมข้อมูลของสถานี

ชาวอเมริกันสามารถหาสถานีไฮโดรเจนได้จากเว็บไซต์พร้อมข้อมูลของสถานี

หลังจากเห็นหัวเรือใหญ่ทั้ง 3 ประเทศออกมาแสดงตัวเรื่องการขยายสถานีไฮโดรเจนแล้วทำให้พวกเราคนไทยรู้สึกว่ามีความคาดหวังกับรถยนต์ Fuel Cell ที่ในอนาคตน่าจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา พร้อมกับแผนในการขยายสถานีไฮโดรเจนอีกด้วย เพราะว่าเท่าที่เห็นตอนนี้การใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงสถานีชาร์จไฟดูจะมาแรงกว่า เพราะตามห้างสรรพสินค้าก็เริ่มมีจุดจอดรถยนต์พร้อมที่ชาร์จไฟเตรียมไว้ให้แล้วด้วย นับว่ามวยคู่เด็ดระหว่างรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างรถยนต์Fuel Cell และพลังงานไฟฟ้าแบบรถEVเป็นมวยคู่ที่น่าสนใจมาก เพราะไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ แพ้ หรือแม้แต่เสมอ ผลที่ได้ก็มีแต่จะทำให้คนใช้รถใช้ถนนได้สูดอากาศบริสุทธิ์กันมากขึ้นเท่านั้นจริงไหมครับ

ดูเพิ่มเติม  
บรรพบุรุษของรถยนต์คันแรกของโลก

ย้อนรอยวิกฤตน้ำมันโลกปี1973

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่  
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์  เชิญที่นี่