หลากหลายเหตุผลที่สังคมรถไร้คนขับยังไกลความจริง

ประสบการณ์ใช้รถ | 22 ม.ค 2564
แชร์ 0

รถไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนกำลังรอคอยการมาถึง แต่ความฝันก็ยังดูห่างไกล ยังไปไม่ถึง มาดูกันว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เรื่องนี้ยังดูไกลเกินความเป็นจริง

จากวันที่รถยนต์ยังไม่ได้ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ใช้ไอน้ำมาเป็นแรงในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ จนพัฒนาต่อมาเป็นรถยนต์ที่มีเชื้อเพลิงที่คนทั้งโลกใช้กันมากที่สุดคือเบนซินและดีเซล และก็ยังไม่หยุดยั้งพัฒนาต่อมาเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า สามารถสร้างการคมนาคมระดับชาติให้เป็นความจริงในปัจจุบัน แม้จะยังไม่แพร่หลายเหมือนรถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแต่ก็นับว่าเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของมนุษยชาติ

"รถยนต์" นวัตกรรมยิ่งใหญ่ของโลก

การพัฒนารถยนต์ที่ใช้เวลาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันร่วม ๆ 100 กว่าปีแล้วนั้น สิ่งที่นอกเหนือไปจากการพัฒนาเรื่องพลังงานก็คือเทคโนโลยีใน ตั้งแต่เรื่องแอร์รถยนต์ เครื่องเสียง จนมาถึงระบบช่วยในการขับขี่ เช่นระบบป้องกันก่อนการชน ระบบตรวจจับรถยนต์ในจุดบอด หรือระบบควบคุมไม่ให้รถยนต์ออกนอกเลน เหล่านี้ล้วนเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน ดังนั้นก้าวต่อไปก็เลยถูกตั้งเป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้น

ภาพจินตนาการยานยนต์ในอนาคต
ภาพจินตนาการยานยนต์ในอนาคต

สิ่งที่มนุษย์เริ่มให้ความสนใจในช่วงหลายปีหลังมานี้คือเรื่องการสร้างรถยนต์ไร้คนขับ ถ้าเอานิยายวิทยาศาสตร์หรือการ์ตูนในช่วง 50 ปีหลังมานี้ คงต้องมีหลาย ๆ เรื่องที่พูดถึงสังคมของรถยนต์ที่ไร้คนขับ บางเรื่องอาจจะไม่เพียงแค่ไร้คนขับแต่เป็นรถยนต์ที่ไม่มีล้อรถยนต์แล้วด้วยซ้ำ ถึงแม้ในอดีตมันจะเป็นเพียงแค่นิยายวิทยาศาสตร์แต่ในวันนี้มันกำลังใกล้ความจริงเข้าไปทุกที แต่ถึงจะบอกว่าใกล้ความจริง คำว่าใกล้ที่ว่านั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อยร่วม 10 ปีเป็นอย่างต่ำเราถึงจะสร้างสังคมที่เป็นรถยนต์ไร้คนขับขึ้นมาจริง ๆ ได้

รถยนต์ไร้คนขับ นวัตกรรมที่หลายคนรอคอย
รถยนต์ไร้คนขับ นวัตกรรมที่หลายคนรอคอย

หลายคนอาจคิดว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่นานก็น่าจะทำได้เพราะขนาดในอวกาศมนุษย์ยังเดินทางไปมาแล้ว แต่เรื่องไม่ได้มีแค่เรื่องเทคโนโลยี เหตุผลหลายประการที่ทำให้สังคมรถยนต์ไร้คนขับยังต้องใช้เวลาอีกมากมีอะไรบ้างลองตามไปดูกัน เพราะถ้าแก้โจทย์เหล่านี้ได้หมด ความจริงของสังคมไร้คนขับจะใกล้เข้ามาแน่นอน

1. โครงสร้างพื้นฐาน

สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งในการสร้างสังคมไร้คนขับได้ คือ โครงสร้างพื้นฐาน  เพราะรถยนต์จะขับได้เองโดยไม่มีคนควบคุมโดยหลักการแล้วจะใช้เซนเซอร์ของรถยนต์ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ดังนั้นสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะต้องชัดเจนและอยู่ในสภาพที่ดีพอที่รถยนต์สามารถตรวจสอบได้

รถยนต์ไร้คนขับต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์กับโครงสร้างพื้นฐาน
รถยนต์ไร้คนขับต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์กับโครงสร้างพื้นฐาน

แล้วถนนในบ้านเราหรือว่าโลกใบนี้ หรือต่อให้ประเทศอะไรก็ได้สักประเทศหนึ่งก็มีเส้นทางยาวหลายร้อยหลายพันไปจนถึงหลักล้านกิโลเมตร ไม่เพียงแค่ความยาว สภาพท้องถนนนั้น ๆ เป็นอย่างไร ยังมีสภาพที่ดีพอให้รถวิ่งได้ไหม ป้าย สัญญาณเตือนต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพที่ดีทุกเส้นทาง ทุก ๆ กิโลเมตร ซึ่งจากประสบการณ์ในการขับรถของพวกเรากันเองนี่ถนนที่ดีสภาพสมบูรณ์พร้อมมีสัดส่วนประมาณเท่าไร ที่แน่ ๆไม่ใช่ 100% นี่ยังไม่รวมถึงสัญญาณไฟจราจรที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นแบบ  Manualอีก มีเลขนับถอยหลังบ้าง ไม่มีบ้าง ซึ่งปัจจัยแบบนี้แต่ละประเทศก็ต่างกันไป และก็ส่งผลต่อผู้ผลิตรถยนต์ในการออกแบบอีกด้วย

2. สภาพอากาศ

สภาพอากาศที่หมายถึง ไม่ใช่มีแค่ฝนตกไม่ตกแบบบ้านเราเท่านั้น แต่ในระดับโลก ยังมีสภาพถนนที่เป็นหิมะ เป็นทะเลทราย ที่ปกติคนไทยไม่ค่อยได้เจอ แต่ประเทศผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับเจอเป็นเรื่องปกติ ซึ่งกรณีของหิมะกับทะเลทรายจะส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมเอาไว้ อาจจะทำให้สภาพของโครงสร้างพื้นฐานยากต่อการตรวจสอบโดยรถยนต์ไร้คนขับ

สภาพอากาศมีผลต่อการออกแบบโครงสร้างรถยนต์
สภาพถนนที่เป็นหิมะที่อาจจะบดบังโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

เช่น หิมะบังเส้นถนนหมด บังป้ายจราจรต่าง ๆ จนมองไม่เห็น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้ ดังนั้นทางผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้การพัฒนารถยนต์เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้กินเวลาออกไปอีก

3. กฎหมาย

ในสังคมที่มีคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ยังคงเป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง เพราะเวลาเกิดความผิดทางจราจรในรถยนต์ไร้คนขับขึ้นมา การจะตัดสินว่าใครเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูกก็ยังต้องเอากฎหมายมาเป็นตัวชี้วัดอยู่ดี สำหรับกรณีที่ไม่ร้ายแรงก็คงยอม ๆ ผ่อนปรนกันได้บ้าง แต่กรณีที่เป็นอุบัติเหตุที่สัมพันธ์ต่อชีวิตคน การจะตัดสินกรณีแบบนี้จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย

4. จริยธรรม ศีลธรรม

การแยกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดสำหรับคอมพิวเตอร์หรือรถยนต์ไร้คนขับ เราจะสอนมันให้คิดอย่างไร เราจะสอนให้มันเสียสละตัวเองรวมถึงผู้โดยสารที่นั่งในรถยนต์ไร้คนขับเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เป็นกรณีที่ต้องตัดสินใจ หรือเราจะสอนให้คอมพิวเตอร์เลือกรักชีวิตของผู้โดยสารและตัวมันเองเป็นหลักไม่ว่าแวดล้อมรอบข้างจะมีผู้คนมากมายแค่ไหน

ถ้าต้องเลือกระหว่างชนคนกับหักหลบรถชนกับต้นไม้ รถยนต์ไร้คนขับจะเลือกแบบไหน?
ถ้าต้องเลือกระหว่างชนคนกับหักหลบรถชนกับต้นไม้ รถยนต์ไร้คนขับจะเลือกแบบไหน?

เช่น หากรถยนต์ไร้คนขับแล่นผ่านมายังมุมถนนที่เป็นมุมบอด ขณะเดียวกันก็มีชายแก่คนหนึ่งเดินข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลายมาพอดี หากรถไร้คนขับวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ จะต้องชนแน่ หรือจะหักหลบในเวลากระชั้นชิดที่ตรวจจับได้ว่ามีคนข้ามถนนอยู่แล้วไปชนกับกำแพงสร้างความบาดเจ็บในผู้โดยสารในรถไร้คนขับคันนั้น กรณีตัวอย่างแบบนี้ผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับจะต้องออกแบบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนจะนำออกขายจริง แต่คำถามสำคัญคือ จะเลือกทำแบบไหน และนั่นก็ยังเป็นคำถามที่ยังต้องรอคำตอบ

5. มนุษยธรรม

ความมีมนุษยธรรมนี่เองที่แบ่งเราออกจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไป แต่คอมพิวเตอร์ไม่ใช่ทั้งมนุษย์และสัตว์ เมื่อเจอกรณีที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของมนุษย์บนท้องถนน (รวมถึงคนในรถยน์ไร้คนขับ)จะทำอย่างไร ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” พฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ตอบสนองเราอย่างไร โดยปกติแล้วคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ไร้คนขับจะถูกออกแบบให้คำนวณพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดของมนุษย์ไว้ระดับหนึ่ง

แต่พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้หลากหลายจริง ๆ ดังนั้นการตอบสนองจากระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ไร้คนขับจะช้าลงด้วยหากมีรูปแบบที่คาดเดาไม่ได้มาก ๆ ทั้งๆที่เป้าหมายคือการพาผู้โดยสารไปยังสถานที่ปลายทางให้ปลอดภัยและเร็วที่สุด สร้างความสับสนให้กับคอมพิวเตอร์ว่าจริง ๆ แล้วควรจะทำให้เร็วหรือควรจะต้องช้ากันแน่

6. เงิน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนให้ความรู้ด้านการใช้รถยนต์ไร้คนขับให้เป็นสังคมในฝัน จำเป็นต้องมีเงินลงทุนจำนวนมาก เช่นทำป้ายจราจรให้ชัดเจนอยู่ตลอด ทำถนนให้เรียบ ทำสัญญาณไฟให้เด่นชัดไม่เสียหาย หากเสียหายก็รีบซ่อมบำรุง และในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมรถยนต์แบบธรรมดาอย่างทุกวันนี้ ไปเป็นสังคมที่เป็นรถยนต์ไร้คนขับ ก็จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีรองรับทั้งสองระบบ

เรื่องทุนและค่าใช้จ่ายเมื่อมีรถไร้คนขับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
เรื่องทุนและค่าใช้จ่ายเมื่อมีรถไร้คนขับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแยกถนนไปต่างหากสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ หรือว่าสร้างให้ใช้ได้ร่วมกัน แต่ปัญหาจะเกิดตรงนี้ ตรงที่ถ้ามีถนนบางเส้นให้วิ่งได้เฉพาะรถยนต์ไร้คนขับเท่านั้นเพราะถนนมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับแต่ต้องจ่ายเงินแพงกว่าปกติ (คล้ายกรณีทางด่วน) ถึงตอนนั้นจริง ๆ คนจะยอมจ่ายเงินเพื่อให้วิ่งในถนนสำหรับรถยนต์ไร้คนขับไหม เพราะว่าไม่ได้เป็นการซื้อความเร็วเหมือนทางด่วน แต่เป็นความสะดวกสบายที่ไม่ต้องขับรถยนต์เอง ซึ่งในมุมคนจ่ายเงินนั่งแท็กซี่ก็ไม่ต้องขับเองเช่นกัน ผู้โดยสารจะเลือกสิ่งไหน

จากทั้งหมดข้างต้น หลายคนคงจะเห็นแล้วว่า สังคมรถยนต์ไร้คนขับไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักเมื่อมีปัจจัยที่ละเอียดอ่อนเข้ามาพัวพัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องศีลธรรม รวมถึงเรื่องเงิน เพราะทุกอย่างมันจะไหลไปตามกระแส ไปสู่เส้นทางที่เป็นที่พึงพอใจและยอมรับได้มากที่สุดของประชากรในสังคมนั้น หากสังคมรถยนต์ไร้คนขับต้องมีการเสียเงินเพิ่มเติมเพราะต้องเอาไปบำรุงโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาจริง ๆ เวลานั้นอาจกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่ยอมไม่จ่ายก็ได้ เพราะอย่างไรก็ไปถึงที่หมายเหมือนกัน

การทำให้คุ้มค่าเงิน คุ้มค่าเวลา สำหรับสังคมรถไร้คนขับ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องขบปัญหาให้แตก เพราะต่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ทำรถยนต์ไร้คนขับออกมาได้ แต่ไม่มีถนนให้วิ่ง หรือโครงสร้างพื้นฐานรองรับ สุดท้ายก็ไม่มีคนซื้อและพับโปรเจคกลับไปอยู่ดี

ดูเพิ่มเติม
>> เงียบไปไม่เอา! EU ออกกฎใหม่ รถยนต์ไฟฟ้าต้องมีเสียงหลอกด้วย
>> นอร์เวย์ บันทึกไว้ประเทศแรกในโลก ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเกิน 50%

เข้าดู รถบ้านมือสอง ได้ที่นี่