ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องขับรถ สิ่งหนึ่งเลยที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือสัญญาณไฟจราจร เพราะมันคือพื้นฐานของการสอบใบขับขี่ด้วย ไม่ว่าการจราจรจะติดขัดหรือลื่นไหลอย่างไรก็ยังต้องมีสัญญาณไฟจราจร
ตราบเท่าที่ยังมีรถยนต์ “รถติด” ก็แทบจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และก็ขโมยเวลาชีวิตของใครหลายๆคนไปมากอยู่ สิ่งหนึ่งเลยที่คนผู้เผชิญรถติดต้องกล่าวถึงคือ สัญญาณไฟจราจร รถติดไฟแดงแทบจะเป็นปัญหาหลักของทุกคนบนท้องถนน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็คงเลี่ยงไม่ได้ตราบใดที่ถนนต่างๆยังตัดกันเกิดเป็นทางแยกขึ้นมา ในสมัยก่อนที่จะมีสัญญาณไฟเพื่อบอกว่ารถทางไหนควรไปก่อนไปหลัง มันเริ่มจากการใช้ตำรวจจราจรมาก่อน ตำรวจจะเป็นคนให้สัญญาณมือแทนการใช้สัญญาณไฟ ซึ่งทำแบบนั้นทั้งวันทุกวันคงไม่ไหวแน่ การคิดค้นสัญญาณไฟมาแทนการใช้คนจึงเกิดขึ้น จากหลักฐานที่พอจะระบุได้ว่าเริ่มมีการใช้ตำรวจจราจรมาแบ่งแยกการไหลของจำนวนรถยนต์นั้นเกิดขึ้นในปี 1722 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และก็เริ่มกลายเป็นสัญญาณไฟจราจรครั้งแรกบนโลกตั้งแต่ปี 1868 ในกรุงลอนดอนเช่นกัน แล้วค่อยแพร่หลายมายังสหรัฐอเมริกาในปี 1890
สัญญาณไฟแดงที่ยาวนานที่สุดในโลก
เมื่อเรามีสัญญาณไฟจราจรแล้ว มนุษย์ยังคงใช้มันเรื่อยมา เพื่อเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียว เขียวเป็นแดง ให้การคมนาคมหมุนวนไปอย่างไม่หยุดในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามมีสัญญาณไฟจราจรอยู่ที่หนึ่งบนโลกที่เป็นสัญญาณไฟแดงที่ยาวนานมาก มากแค่ไหน ก็ตั้งแต่ปี 1987 มันถูกตั้งให้เป็นสัญญาณไฟแดงตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้ยังไม่เปิดเป็นสัญญาณไฟเขียวเลย ไม่ใช่เพราะว่าลืมหรืออะไร แต่เป็นความตั้งใจของเขา สัญญาณไฟจราจรนี้ตั้งอยู่ในเมืองDresden ประเทศเยอรมนี ไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะเปลี่ยนไปกี่ชุด กว่า30ปีแล้วที่มันเป็นแบบนั้น
สัญญาณไฟที่ไม่เคยเป็นสีเขียวในเมือง Dresden ประเทศเยอรมนี
สัญญาณไฟนี้ตั้งอยู่บนจุดที่มีถนนตัดกันทั้งหมด4เส้นทางใต้ของแม่น้ำ Elbe โดยจุดประสงค์คือต้องการบอกให้ผู้ขับที่ต้องการขับตรงไป “หยุดรอไฟแดง” ซึ่งถ้าอยากจะตรงไปจริงๆคงต้องรอนานหน่อยถ้าคอยได้เพราะต้องใช้เวลาร่วม30ปี (แต่ก็ยังไม่เป็นไฟเขียว) แถมค่าบำรุงรักษาสัญญาณไฟจราจรนี้ตั้งแต่สร้างมันขึ้นมาก็ใช้ไปราว 5.6ล้านบาทแล้ว และในแต่ละปียังต้องมีค่าใช้จ่ายอีกราวๆ200,000บาท ดูๆแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่เสียเงินมากมายเพื่อให้มีไฟแดงค้างอยู่แบบนั้นเป็นสิบๆปี แต่ในความหมายลึกๆแล้วก็มีที่มาที่ไปอยู่ ด้วยตัวบทกฎหมายของประเทศเยอรมนีที่กล่าวไว้ว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดและแสดงสัญญาณไฟจราจรให้ชัดเจน โดยทั่วๆไป ไฟเขียว ก็คือให้ไปได้ และถ้าหยุดนิ่งก็คือไฟแดง ด้วยความหมายที่รู้กันทั่วโลกแบบนี้กับตัวกฎหมายจราจรในประเทศเยอรมัน ทำให้การมีอยู่ของสัญญาณไฟตัวนี้เป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมา เพราะ ไฟแดงหมายถึงที่แยกนี้ผู้ขับทุกคนที่เห็นต้องหยุดรถ(ไม่ให้ตรงไป) แต่เลี้ยวขวาสามารถทำได้(ตามลูกศรการเดินรถ) จึงมีการติดตั้งรูปสัญญาณไฟเขียวไว้ข้างๆไฟแดงบนพื้นหลังสีดำ ซึ่งตรงแยกนี้อนุญาตให้รถที่ผ่านมาเลี้ยวขวาได้เท่านั้น (คล้ายเลี้ยวขวาผ่านตลอด) อ้าว!แบบนี้ทำไมไม่ติดป้ายเลี้ยวขวาผ่านตลอดไปเลยแล้วที่ไม่ให้ตรงก็ทำป้ายห้ามเข้าหรือห้ามตรงแทนแบบบ้านเรา ทางการเยอรมนีให้เหตุผลว่า ป้ายหยุดหรือห้ามเข้าไม่นับเป็นระบบสัญญาณไฟจราจรนั่นทำให้ถ้าใช้ป้ายธรรมดา ที่แยกนี้จะไม่เป็นไปตามกฎหมายจราจรของเยอรมนี และนี่ก็คือเหตุผลของไฟแดงที่ยาวนานที่สุดในโลก แถมท้ายให้อีกหน่อยว่า ที่เสียค่าบำรุงรักษาสัญญาณไฟจราจรนี้ไม่ใช่แค่ไฟแดงที่เปิดตลอดเท่านั้น ไฟเหลือง ไฟเขียว ก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษาเช่นกัน
ถ้าเป็นประเทศไทยก็คงใช้ป้าย "ให้เลี้ยวขวา"
ดูเพิ่มเติม
>> อ่านด่วน ก่อนโดน! ขับตามหลังรถฉุกเฉิน ผิดกฏหมาย!
>> รวบรวมกล้องติดรถยนต์รุ่นท็อปฮิต
เอาจริงๆที่เป็นสัญญาณไฟแดงและรถติด
จากช้อมูลข้างต้นเหมือนเป็นปัญหาเชาวน์ ที่ไฟแดงนานเป็น30ปี ไม่ใช่เพราะว่ารถติด แต่เป็นหลักการของการแสดงสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกรณีรถติดจริงๆล่ะ จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้คงตอบยากเพราะแต่ละวันแต่ละแยกไฟแดงทั่วโลกมีเยอะแยะมากมายการจะมาหาว่าประเทศไหน แยกไหนรถติดไฟแดงนานที่สุดคงเปรียบเทียบกันยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ก็คือการจราจรที่หนาแน่นว่าประเทศไหนติดอันดับกันบ้าง แหล่งข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลด้านการจราจรที่หนาแน่นจากทั่วโลกคงต้องยกให้ INRIX.com ที่มีการเก็บค่าการจราจรจากเมืองต่างๆ 1,360 เมืองใน 38 ประเทศ โดยผลลัพธ์ของปี2017ทั้งปีก็ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนช้อมูลปี 2018 ยังคงเก็บกันต่อไป มาดูกันว่าในปี 2017 เมืองที่การจราจรติดมากที่สุด 5อันดับมีเมืองอะไรกันบ้างแล้วเมืองหลวงของประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไร
เมืองที่รถติดที่สุดในโลก 5อันดับแรกคือ
อันดับของ5เมืองที่การจราจรติดขัดมากที่สุดปี 2017 โดย INRIX.COM
จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาก็กวาดอันดับไปมากทีเดียว เนื่องจากเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่งาหนาแน่นและก็เป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ด้วยการจะหาซื้อรถยนต์มาขับสักคันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร นั่นคือสถิติของเมืองต่างๆที่มีการจราจรติดชัดที่สุดในปี 2017 ส่วน “กรุงเทพมหานคร” อยู่อันดับที่ 16 เมืองเล็กๆที่มีประชากรอาศัยอยู่ราวๆ10ล้านคน
กรุงเทพมหานครก็อยู่ในอันดับที่ 16 ของการจัดอันดับตารางเดียวกัน
อย่าเพิ่งดีใจกันไปว่าเราไม่ได้ติดแม้1ใน10เพราะถ้านับโดยเฉลี่ยเป็นประเทศๆไปแล้วล่ะก็ ประเทศไทยนี่อยู่อันดับที่1เรื่องรถติดเลยในปี 2017 และไม่เพียงเท่านั้นในปี 2016 ไทยเองก็ได้อันดับ1เรื่องนี้มาแล้ว เรียกได้ว่าคว้าตำแหน่งแชมป์ 2ปีซ้อน ซึ่งเวลาที่ติดอยู่บนท้องถนนเฉลี่ยต่อปีในชั่วโมงเร่งด่วนคือ 56ชั่วโมง ส่วนอันดับ 2และ3 ก็คือเพื่อนบ้านของเราเอง ประเทศอินโดนีเซียและประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะในปะรเทศอินโดนีเซียด้วยแล้ว เรียกว่าการจราจรติดขัดพอๆกับประเทศไทยเลยก็ว่าได้ จนในบางครั้งมีคนหาเงินจากการจราจรติดขัดโดยการมากั้นรถเพื่อให้เราอีกด้านกลับรถ(U-turn) ได้แล้วก็เก็บเงินกันไป แน่นอนว่าเขาทั้งหลายไม่ใช่ตำรวจ ถ้าเป็นบ้านเราเจออย่างนี้เข้าก็คงไม่มีใครให้เงินกระมัง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของน้ำใจล้วนๆ
การช่วยโบกรถแลกเงินในช่วงที่รถติดมากๆของประเทศอินโดนีเซีย
ไม่ว่าจะไฟแดงนานเป็น 30ปี หรือไฟแดงนานหลายสิบชั่วโมงต่อปีในเมืองต่างๆ ยังไงๆการจราจรที่ติดขัดก็ยังคงมีอยู่แน่ๆในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น นอกเสียจากว่าระบบขนส่งสาธารณะจะดีมากๆจนคนไม่อยากจะขับรถไปเอง ถึงวันนั้นเมื่อไรการจราจรก็อาจจะติดน้อยลง แต่ก็ยังคงมีความกังวลนิดหน่อยว่า ถ้าการจราจรติดน้อยลงแล้วจะทำให้คนหันกลับมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นอีกรึเปล่า วนเป็นลูปไปไม่จบสิ้น สิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้คือมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทางเพียงเล็กน้อยก็พอจะลดการจราจรที่ติดขัดลงได้บ้างนะครับ
ดูเพิ่มเติม
>> ถ้าจะไวขนาดนี้ !! สัญญาณไฟเขียวที่เร็วสุดในโลกอยู่ที่ไทยนี่แหละ (คลิป)
>> “ฝ่าไฟเหลือง” ผิดกฏหมายหรือไม่??
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ เชิญที่นี่