ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องค่าใช้จ่ายนำ้มันเชื้อเพลิงของรถยุคนี้ ถ้าอยากให้รถประหยัดค่าเดินทางถูกกว่าเดิมคือการ “ติดแก๊ส” แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้รถต้องรู้ ลืมไม่ได้เลยว่าหลังจากติดแก๊สมาแล้วนั้นประกันจะยังให้การคุ้มครองปกติไหมหรือถ้ารถเกิดไฟไหม้ขึ้นมาประกันจะจ่ายค่าสินไหมให้เหมือนเดิมหรือไม่
รถติดแก๊สถ้าไฟไหม้ประกันจ่ายไหม?
สุดท้ายก็ต้องกลับมามองที่รายละเอียดของกรมธรรม์ ต้องอ่านเนื้อหาประกันรถของคุณให้ดี ว่าเป็นประเภทไหนแบบไหน ถ้าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นมาจากการดัดแปลงโดยนำรถไปติดแก๊สแล้วจะได้ยังอุ่นใจด้วยความคุ้มครองของประกันได้หรือไม่
ประกันแบบชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 2+
ถ้ารถของคุณมีประกันประเภทนี้อยู่ สามารถอุ่นใจได้ว่าแม้จะนำรถไปติดตั้งแก๊ส แต่ยังไม่ได้ทำการแจ้งกับทางบริษัทหรือแจ้งกับทางกรมขนส่งฯ ยังไงทางบริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดกับรถคุณตามวงเงินคุ้มครองที่ทำไว้บริษัทอยู่ ไม่ว่าฝั่งคุณจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูกก็ตาม
แต่หนึ่งสิ่งสำคัญคือคุณต้องระวังคือเล่เหลี่ยมของเหล่าบริษัทประกันที่จะบ่ายเบี่ยงปัดความรับผิดชอบ ถ้าคุณนำรถไปติดแก๊สมาแล้วไม่แจ้งกับบริษัทประกัน ดังนั้นหลังจากนำรถไปติดแก๊สเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปที่คุณควรจะรีบทำคือการแจ้งกับบริษัทประกันและกรมขนส่งฯ ให้เรียบร้อยเพื่อความสบายใจในการขับขี่
ใช้ประกันชั้น 1 สบายใจได้ถ้ารถเกิดไฟไหม้ขึ้นมา
ประกันชั้น 3, 3+
รายละเอียดของประกันประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่คุ้มครองเหตุการไฟไหม้ ไม่ว่ารถของคุณจะติดแก๊สหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เอาประกันจะยังได้รับความคุ้มครองส่วนของอุปกรณ์แก๊สอยู่ ในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อนี้คือ
ส่งเอกสารแจ้งกับบริษัทประกันหลังติดแก๊สเรียบร้อย
แจ้งจดแก๊สกับทางกรมขนส่งฯ เรียบร้อย
ติดตั้งระบบแก๊สที่ได้รับมาตรฐาน มอก.
ถ้าผู้เอาประกันแจ้งรายละเอียดข้างต้นเรียบร้อย ประกันจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดกับอุปกรณ์ต่างๆ ในตัวรถคุณให้
ต้องบอกใครบ้างหลังติดตั้งแก๊ส?
เมื่อรถเปลี่ยนรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็นการใช้ร่วมระหว่างน้ำมันกับแก๊ส ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ LPG, NGV ก็ต้องมีการแจ้งให้ทั้งกรมขนส่งฯ และบริษัทประกันได้ทราบ โดยการแจ้งจดแก๊สกับกรมขนส่งฯ ทำได้ง่ายๆ แค่ขับไปตรวจสภาพได้เลยที่ช่อง Drive Thru ที่กรมขนส่งฯ ทุกสาขา จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพเข้ามาตรวจรถของคุณหลังติดตั้งระบบแก๊ส พร้อมให้เอกสารยืนยันว่ารถได้ทำการติดตั้งถูกต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ใช้เวลาไม่นาน
จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการแจ้งกับบริษัทประกันก็สามารถทำได้ง่ายๆ หลายช่องทาง โดยมีวิธีขั้นตอนดังต่อไปนี้
แจ้งผ่านตัวแทน นายหน้าประกันหรือสามารถแจ้งได้โดยตรงกับทางบริษัท
ส่งเอกสารสำเนารายการจดทะเบียน ที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงจากกรมขนส่งฯ ไปยังบริษัทประกัน รวมไปถึงสำเนาใบเสร็จ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
ด้วยรูปแบบของเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไปจากแค่เป็นน้ำมันมาเป็นแก๊ส แต่การเผาไหม้ภายในเครื่องยนต์โดยใช้แก๊สนั้นจะทำให้เครื่องยนต์ต้องรับภาระหนักกว่าปกติด้วยความร้อนที่มาก
กว่า ชิ้นส่วนบางตัวของรถก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับทนต่ออุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้น จึงทำให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าเวลาปกติได้
เมื่อแจ้งครบทั้งกรมขนส่งฯ และบริษัทประกันของรถคุณก็ขับใช้งานรถแก๊สได้อย่างมั่นใจ
ถ้ารถของคุณติดแก๊สมาแล้วหรือกำลังวางแผนที่จะใช้พลังงานทางเลือกประเภทนี้ Chobrod ขอแนะนำวิธีการดูแลรถยนต์ติดแก๊สมีดังต่อไปนี้
สังเกตกลิ่น
แก๊สเป็นเชื้อเพลิงที่มีกลิ่น ถ้าระบบเกิดรั่ว ณ จุดใดจุดหนึ่ง ในขณะที่ใช้รถคุณจะได้กลิ่นนั้นภายในห้องโดยสารทันที อย่าเมินเฉยต่อกลิ่นที่อยู่ในรถ รีบนำรถเข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้กลิ่นนั้นออกมา
ใช้สารหล่อเย็นช่วย
นอกจากต้องหมั่นตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในระบบให้อยู่ในระดับมาตรฐานอยู่เสมอแล้ว ควรเลือกใช้สารหล่อเย็นคุณภาพ เพื่อช่วยรักษาระดับอุณหภูมิความร้อนภายในเครื่องยนต์ให้ทำงานได้ปกติ
เลือกน้ำมันเครื่องให้ตรงประเภทเชื้อเพลิง
เมื่อเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถ ก็ควรจะเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะกับเครื่องยนต์ที่เป็นแก๊ส LPG หรือ NGV ด้วย และที่สำคัญคือระยะเวลาการเปลี่ยนถ่าย ควรลดเวลาให้การเปลี่ยนถ่ายบ่อยกว่าเดิม เช่นจากที่เปลี่ยนทุกระยะ 10,000 กิโลเมตร ก็ปรับมาเป็นทุก 8,000 กิโลเมตร เป็นต้น
หัวเทียน
ควรหมั่นตรวจสอบและเปลี่ยนหัวเทียนทุกๆ 20,000 กิโลเมตร หรือน้อยกว่านั้นก็จะยิ่งดี
อย่าลืมถ่ายน้ำมันแก๊ส
การถ่ายน้ำมันแก๊สหรือที่เรียกอีกชื่อว่าขี้แก๊ส ควรทำทุก 20,000- 30,000 กิโลเมตร
ไส้กรองอากาศ
หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดไส้กรองอากาศเป็นประจำทุกๆ 4,000-5,000 กิโลเมตร หรือถ้าสกปรกเกินไปก็เปลี่ยนไส้กรองใหม่ไปเลยจะดีที่สุด
อุปกรณ์ต่างๆ ของระบบแก๊สต้องหมั่นตรวจเช็ค
ไม่ว่าจะเป็นติ๊กแก๊ส ติ๊กน้ำมัน บ่าวาล์ว ควรเข้ารับการตรวจเช็คทุกๆ 40,000-60,000 กิโลเมตร และที่สำคัญในการใช้งานรถแก๊ส LPG นั้นควรสลับใช้งานน้ำมันบ่อยๆ เพื่อให้เครื่องยนต์ได้เผาไหม้จากน้ำมันอยู่เป็นประจำจะช่วยไม่ทำให้เครื่องยนต์โทรมเร็ว
อุปกรณ์เดิมของเครื่องยนต์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทนกับการใช้แก๊สทุกชิ้น
ตรวจหารอยรั่ว
แม้จะไม่ได้กลิ่นแก๊สรั่วออกมา แต่แม้รอยรั่วเพียงนิดเดียวแก๊สก็สามารถออกมาได้ จำเป็นต้องคอยหมั่นตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์เชื่อมต่อตามจุดต่างๆ ของระบบ ทำได้ง่ายๆ โดยการใช้น้ำสบู่ที่มีฟองมาหยอดตามข้อต่อในขณะที่สตาร์ทรถเปิดใช้ระบบแก๊ส เพื่อเป็นการตรวจเช็คหาจุดรั่วซึมได้ง่ายขึ้น
รักษาระดับน้ำมันเชื้อเพลิง
อย่าปล่อยให้น้ำมันในถังเหลือน้อยเกินไป ควรมีติดถังไว้สัก 1 ส่วน 4 ของถัง นอกจากคุณจะมั่นใจได้มากขึ้นแม้แก๊สหมดก็ยังตัดไปใช้ระบบน้ำมันได้อยู่ ยังช่วยไม่ให้ถังน้ำมันเกิดตะกอนค้างอยู่ในถังได้อีกด้วย
ตอนสตาร์ทใช้น้ำมัน
ใช้ระบบน้ำมันในตอนสตาร์ท แล้วค่อยปรับเปลี่ยนไปใช้แก๊ส หรือถ้าวิ่งในเส้นทางที่ระยะทางไม่ไกลนักใช้น้ำมันวิ่งอย่างเดียวได้ก็จะดี เพื่อให้เครื่องยนต์ได้เผาไหม้หล่อลื่นจากน้ำมันอยู่เป็นประจำ
เติมแก๊สจะทำให้คุณไม่ต้องสนใจกับความผันผวนของราคาน้ำมันอีกต่อไป
หลักสำคัญของการใช้รถที่ติดแก๊ส เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันไฟไหม้รถทั้งคัน คือต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของระบบอยู่เป็นประจำ พบเจอปัญหาก็รีบนำรถเข้าแก้ไข อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนอาจทำให้ตัวรถเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้
แม้รถคุณจะใช้รถประกันชั้น 1 ที่คุ้มครอง การจ่ายค่าสินไหมให้เมื่อรถเกิดเพลิงไหม้ แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับรถของตัวเองกันทั้งนั้น ความรู้ในเรื่องไฟไหม้แล้วประกันจ่ายหรือไม่นั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเมื่อรถไฟไหม้แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงความเสียอาจไม่ได้เป็นแค่ที่รถอย่างเดียว อาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นการใช้รถติดแก๊สต้องหมั่นดูแลระบบแก๊สให้พร้อมกับใช้งาน นอกจากจะใช้งานรถได้แบบประหยัดแล้วยังช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยขณะขับขี่อีกด้วย
แล้วรถของคุณละ ติดแก๊สหรือเปล่า? แล้วมีวิธีการดูแลรถติดแก๊สของคุณอย่างไร แชร์ประสบการณ์การใช้รถติดแก๊สของคุณให้ Chobrod ได้รู้กันหน่อย
ดูเพิ่มเติม