เปิดประวัติอันเล่าลือ ที่มาของสิ่งศักดิ์ที่คนไทยเราเคารพบูชา ในบทบอกเล่าตำนานแม่ย่านาง เทวีผู้คุ้มครองนักเดินทาง สร้างความอุ่นใจ มอบความปลอดภัยในทุกเส้นทางสัญจร
ความเชื่อคือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยเรามาอย่างยาวนาน คือเรื่องของการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะคอยคุ้มครองและให้โชคแก่ผู้ที่นับถือ และหนึ่งในความเชื่อนั้นก็คือเรื่องราวของ แม่ย่านาง ที่อยู่คู่กับความเป็นไทยมาอย่างยาวนาน วันนี้เราจะพาไปเปิดประวัติว่าแท้จริงแล้ว แม่ย่านาง มีที่มาจากไหนกันนะ?
ในสมัยต้นราชวงศ์ชิง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานในท้องทะเลกล่าวไว้ว่า เมื่อใดที่เกิดคลื่นลมคับขัน ให้เอ่ยขานเรียกชื่อ มาจู่ แล้วท่านจะปรากฏกายแบบปล่อยผมมาช่วยไว้ได้ทันกาล ซึ่งมาจู่ คือเทพธิดาแห่งท้องทะเล ที่ชาวเรือเรียกขานในชื่อ พระแม่หัวเรือ มีความเชื่อกันว่าท่านสถิตอยู่หัวเรือคอยปกปักคุ้มครองผู้เดินทางทางทะเล
ศาลเจ้าแม่มาจู่ ผู้พิทักษ์ท้องทะเล
มีหลายตำนานกล่าวถึงที่มาของมาจู่ บ้างก็อ้างว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อีกตำราก็บอกว่าเป็นเทวีแห่งมหาสมุทรที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ถึงแม้จะต่างที่มา แต่ผู้คนก็ให้ความเคารพนับถือในทางเดียวกันนั่นก็คือ มาจู่ คือผู้ที่ช่วยให้ผู้สัญจรมีความแคล้วคลาดปลอดภัย
การเข้ามายังแผ่นดินสยามของแม่ย่านาง เกิดขึ้นจากผู้นำกองทัพเรือนามว่า เจิ้งเหอ ได้พาเรือของตนออกสำรวจค้นหาสมบัติด้านตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งในขณะที่กำลังล่องเรืออยู่นั้นเกิดเหตุประสบคลื่นลมทะเล จึงทำการเซ่นไหว้ให้มาจู่คุ้มครอง และก็ปรากฏร่างของเทวีมหาสมุทรออกมาตามคำอธิษฐานยืนอยู่บนเสากระโดงเรือ และคลื่นเราทะเลก็สงบเราทันที
แม่ย่านางเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อเจิ้งเหอได้เดินทางผ่านมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้จัดพิธีบวงสรวงมาจู่อีกครั้ง และได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ความเชื่อเรื่องพระแม่หัวเรือเข้าสู่แผ่นดินสยามในเวลาต่อมา กอปรกับในช่วงเวลานั้นมีชาวจีนฮกเกี้ยนที่นับถือเทพีมาจู่อยู่แล้วได้อพยพมาอยู่ไทยหลายครัวเรือน ทำให้ความศรัทธาต่อมาจู่พุ่งสูงไปอย่างรวดเร็ว และความเชื่อนี้ก็ถูกฝังหยั่งรากลึกในสังคมไทยแน่นขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกนั้น ชาวสยามเรียกชื่อทับศัพท์ว่ามาจู่มาตลอด จนภายหลังเปลี่ยนชื่อด้วยการแปลความหมายออกมาจากชื่อภาษาจีนให้เข้ากับบริบททางสังคมจึงได้ใช้ชื่อว่า แม่ย่านาง ที่เราทุกคนคุ้นเคยในทุกวันนี้
ความเชื่อฉบับไทยที่ถูกประยุกต์มานั้น กล่าวเอาไว้ว่าแม่ย่านางนั้นเป็นเทพารักษ์ที่สถิตอยู่หัวเรือ ชาวเรือได้ทำการสักการะด้วยผ้าสามสี พวงมาลัย เครื่องเซ่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูชาให้ท่านได้ช่วยคุ้มครองให้การเดินทางมีความปลอดภัย
การบูชาสักการะแม่ย่านางรถเพื่อขอให้ท่านคุ้มครอง
ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสัญจรทางบกมากขึ้น และมีการนำรถเข้ามาใช้แทนเรือ จึงมีความเชื่อว่าแม่ย่านางได้ติดมากับพาหนะแบบใหม่ด้วย ทำให้จากเดิมที่ท่านเป็นเพียงเทพีประจำเรือ ก็กลายมาเป็นเทพีประจำพาหนะทุกประเภท และจากเดิมที่เชื่อว่าท่านสถิตอยู่ที่หัวเรือ ก็มาประจำการอยู่ที่หน้าคอนโซลรถแทน จึงจะเห็นได้ว่าผู้บูชาแม่ย่านางจะผูกผ้าสามสีหรือแขวนพวงมาลัยไว้ที่กระจกหน้ารถและตั้งเครื่องรางต่าง ๆ ไว้ที่บริเวณใกล้เคียง
นอกจากเรื่องของความคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการเดินทางสัญจรแล้ว ยังมีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภ บูชาแล้วร่ำรวย ทำมาค้าขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหลาย ๆ คนเมื่อออกรถใหม่ก็จะมีการบูชาสักการะแม่ย่านางก่อนนำรถไปใช้ลงถนน เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อผู้ขับขี่ให้โชคดีปลอดภัยตลอดเส้นทางและสร้าความอุ่นใจทุกครั้งที่ขับขี่รถนั่นเอง
ดูเพิ่มเติม
>> บุคคลสำคัญของโลกในวงการยานยนต์
>> จัดเต็ม ต้องอ่าน ! รวมข้อมูลไหว้แม่ย่านางรถวันไหนดีปี 2563 ฉบับสมบูรณ์
เข้าดู รถบ้านมือสอง ได้ที่นี่