ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับโครงสร้างของถุงลมนิรภัยและหลักการทำงาน

ประสบการณ์ใช้รถ | 15 ก.ย 2564
แชร์ 8

เจาะให้ลึก ลงให้ละเอียด กับเรื่องราวน่ารู้ที่ควรรู้ ถึงโครงสร้างของถุงลมนิรภัย อุปกรณ์สำคัญประจำรถ รู้จักหน้าและวิธีการทำงาน เพื่อใช้ได้งานให้ได้อย่างถูกต้อง

เชื่อว่าทุกคนที่ชอบรถต้องรู้จัก หรือคุ้นเคยกับคำว่า “ถุงลมนิรภัย” กันอย่างแน่นอน และคงพอจะเข้าใจว่ามันมีไว้ทำไม? แต่วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกมากกว่านั้น ด้วยการเข้าถึงโครงสร้างถุงลมนิรภัย และหลักการทำงานของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่มีอยู่ในรถยนต์ทุกคันชิ้นนี้ มาดูกันว่า เรื่องที่ควรรู้และเข้าใจ ของถุงลมนิรภัย คืออะไรบ้าง

ถุงลมนิรภัย คืออะไร?

ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกับถุงลมนิรภัยกันก่อน สำหรับในโลกของเรานั้นสิ่งที่เรียกว่ารถยนต์ ถือว่าเป็นพาหนะประจำตัวของมนุษย์ที่ทำให้เราสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายตามใจต้องการได้อย่างง่ายดาย การพัฒนาด้านความปลอดภัยก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องควบคู่กับรถยนต์ด้วยเช่นกัน จุดประสงค์ก็หวังเพื่อช่วยในเรื่องของความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถยนต์ขณะขับรถอยู่บนถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทุกเมื่อ

ถุงลมนิรภัย
ถุงลมนิรภัย ระบบความปลอดภัยประจำรถยนต์ทุกคันในปัจจุบัน

จากเริ่มแรกมีเทคโนโลยีเข็มขัดนิรภัย ต่อมาก็เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า “ถุงลมนิรภัย” เข้ามาเสริมเป็นตัวป้องกันให้อาการบาดเจ็บของผู้โดยสารลดน้อยลง โดยถุงลมนิรภัยที่ว่านี้ หมายถึง อุปกรณ์ความปลอดภัยของยานพาหนะ ทำหน้าที่เสมือนเป็นหมอนรองผู้โดยสารที่ประกอบด้วยวัสดุห่อหุ้มที่มีความยืดหยุ่นที่ออกแบบมาเพื่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงการชนกันของรถยนต์ มีลักษณะจะคล้ายกับลูกบอลอากาศขณะใหญ่ที่โผล่ออกมาจากพื้นที่ที่มีการพับเก็บไว้อย่างดี

ถุงลมนิรภัยช่วยเซฟชีวิตคุณ
ถุงลมนิรภัยช่วยเซฟชีวิตคุณ

จุดประสงค์ของการมีถุงลมนิรภัยนั้นก็เพื่อป้องกันผู้โดยสารจากการกระแทกกับวัตถุภายในรถยนต์ เช่น พวงมาลัย และหน้าต่าง ซึ่งถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ แล้วไม่มีถุงลมนิรภัยรองรับ เมื่อผู้โดยสารเกิดกระแทกกับวัตถุภายในของรถยนต์โดยตรง จะมีอาการบาดเจ็บมากกว่า และเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตก็มีมากกว่ารถยนต์ที่ไม่มีถุงลมนิรภัย

ถุงลมนิรภัยอยู่ตรงไหน ของรถยนต์

ตำแหน่งของถุงลมนิรภัยในรถยนต์แต่ละรุ่น จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วโดยปกติรถยนต์ถ้าเป็นรถยนต์ทั่วไปราคาไม่แพงมากนัก จะมีถุงลมนิรภัยขั้นต่ำอยู่ที่ 2 ตำแหน่ง แต่ถ้าเป็นรถยนต์หรูที่มีราคาแพงขึ้นมา มักจะมีถุงลมนิรภัย 4-6 ตำแหน่ง หรือในบางรุ่นก็มีมากถึง 8 ตำแหน่งเลยทีเดียว

ข้อความที่บอกตำแหน่งของการบรรจุถุงลมนิรภัย
ข้อความที่บอกตำแหน่งของการบรรจุถุงลมนิรภัย

โดยในแต่ละตำแหน่งจะมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ถุงลมด้านหน้า (Front Airbag) จะติดตั้งอยู่บนโครงด้านหน้าขวาและซ้าย ช่วยป้องกันคนขับรถ และคนที่นั่งข้างคนขับ
  2. ถุงลมด้านข้าง (Side Airbag) จะติดตั้งอยู่ที่แผงประตูหรือที่ตัวเบาะนั่ง
  3. ม่านถุงลม (Curtain Airbag) จะช่วยป้องกันการชนจากด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลมแบบม่านจะพองตัวออกมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย มักจะติดตั้งในรถยนต์ที่มีราคาแพง
  4. ถุงลมป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag) จะซ่อนอยู่ใต้คอนโซลด้านผู้ขับขี่บริเวณหัวเข่า ช่วยป้องกันขา และหัวเข่า ไม่ให้ไปชนเข้ากับคอนโซล ด้านล่างใต้พวงมาลัย รวมทั้งสะโพก และเข่า
  5. ถุงลมที่พื้นใต้เท้า (Carpet Airbag) ปัจจุบันจะไม่ค่อยนิยมใช้เท่าไหร่นัก ทำหน้าที่ช่วยผ่อนแรงบริเวณเท้าที่จะไปกระแทกกับพื้น และผนังกั้นระหว่างห้องโดยสาร และห้องเครื่องให้เบาลง

โครงสร้างถุงลมนิรภัยและหลักการทำงาน

ถุงลมนิรภัย ถ้ามองแบบผิวเผิน ลักษณะจะคล้ายกับถุงลมที่บรรจุลมอยู่ด้านในที่พองออกมาจากด้านหน้าตัวรถ วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำถุงลมนิรภัยจะทำมาจากถุงไนลอนหรือโพลีเอไมด์ ส่วนอากาศที่บรรจุอยู่ภายในนั้นเป็นแก๊สไนโตรเจน ที่มีแก๊สประมาณ 60-70 ลิตร

โครงสร้างของถุงลมนิรภัย
โครงสร้างของถุงลมนิรภัย

โดยการทำงานของมันเมื่อมีการกระแทกที่รุนแรงจากด้านนอกเข้ามาที่รถยนต์ การกระแทกได้ไปโดนตัวลูกบอลเหล็กด้านใน จะมีการสั่งให้ถุงลมนิรภัยมีการทำงาน และพองตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งแก๊สที่ได้ถูกเก็บไว้นั้นได้ถูกเก็บในรูปแบบของของแข็งชื่อ โซเดียมเอไซด์ (Sodium Azide, NaN3) บรรจุไว้ในส่วน inflator เมื่อมีการกระแทกจะเกิดปฏิกิริยาสลายตัวกลายเป็นโลหะโซเดียม และแก๊สไนโตรเจน

หลักการทำงานของถุงลมนิรภัย

สำหรับการทำงานของถุงลมนิรภัย จะไม่ได้ถูกตั้งค่าให้มีการทำงานทุกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะผู้ผลิตแต่ละรุ่นจะมีการกำหนดการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งเพื่อนๆ สามารถศึกษาได้จากคู่มือประจำรถของรุ่นนั้นๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งโดยหลักการทำงานของถุงลมนิรภัยนั้น ส่วนใหญ่จะถูกตั้งค่าให้มีการทำงานเกิดขึ้นเมื่อมีการชนด้านหน้าอย่างรุนแรงเท่านั้น เมื่อมีการชนเกิดขึ้นในรัศมีที่กำหนด และแรงกระแทกอยู่ในค่าที่กำหนดถุงลมนิรภัยก็จะทำงาน แต่ถ้าไม่อยู่ในรัศมีที่กำหนด และแรงของการกระแทกไม่ถึงค่าที่กำหนดถุงลมนิรภัยก็จะไม่ทำงาน เพราะการป้องกันจะอาศัยโครงสร้างของตัวรถ และชุดเข็มขัดนิรภัยซึ่งก็เพียงพอต่อการป้องกันในสภาพความเร็วต่ำอยู่แล้ว การป้องกันจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยชุดถุงลมนิรภัย

อุบัติเหตุความเร็วเท่าไหร่ ถุงลมนิรภัยถึงจะทำงาน?

ทุกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นตอนไหน ทางที่ดีเราควรขับอย่างระมัดระวังจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะต่อให้เราไม่ได้ขับเร็วไปชนเขา เขาก็อาจเข้ามาชนเราได้ โดยส่วนใหญ่ถ้าเราเป็นฝ่ายชนด้วยความเร็ว จนเกิดเสียหายผิดรูป เช่น ชนกับเสาไฟฟ้า หรือชนด้านหลังรถบรรทุก ความเร็วที่จะทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวนั้น พบว่าต้องมีความเร็วมากกว่า 20 กิโลเมตร ต่อ ชม. และการทำงานของถุงลมนิรภัยจะพองตัวเมื่อรถยนต์ชนกับเสารถยนต์ประมาณ 30 กิโลเมตร ต่อชม. สำหรับการชนกับรถที่จอดอยู่กับที่ ชนกับกำแพง ชนคอนกรีต หรือชนนอกศูนย์กลางด้านหน้า ความเร็วของรถยนต์ต้องมากกว่า 40 – 50 กิโลเมตร ต่อชม. จึงจะทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวมีการทำงานเกิดขึ้น

การทดสอบถุงลมนิรภัย
รถทุกคันต้องได้รับการทดสอบถุงลมนิรภัย

และสำหรับการที่เราจะทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น คือเราควรปรับตำแหน่งเบาะนั่งให้เหมาะสม และควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะเข็มขัดนิรภัยจะลิงก์การทำงานกับถุงลมนิรภัย ทำให้ร่างกายเราอยู่ในมุมองศาที่ถูกต้อง และเกิดการบาดเจ็บที่น้อยลง นอกจากนี้ห้ามวางสิ่งของบนแป้นถุงลมนิรภัย และห้ามติดสติกเกอร์บนแป้นถุงลมนิรภัยโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ถุงลมนิรภัยอาจจะไม่มีการระเบิดเด้งออกมา จนอาจทำให้เราเกิดบาดเจ็บที่รุนแรงจากแรงกระแทกของรถยนต์ได้

สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลาที่เราขับรถยนต์ คือเราจะต้องมีสติ ขับรถยนต์ให้อยู่ในความไม่ประมาทให้มากที่สุด และควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่ดครัด การมีถุงลมนิรภัยในรถยนต์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นก้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่คาดเข็มขัดก็ได้ เพราะการเกิดอุบัติเหตุนั้นเราไม่อาจรู้เลยว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ดั้งนั้นป้องกันตัวเองด้วยความไม่ประมาทเอาไว้ก่อนดีที่สุด

ดูเพิ่มเติม
>> ยางมะตอยติดรถ ต้องทำอย่างไร ?
>> ทำง่าย ๆ ลงมือได้ด้วยตัวเอง กับวิธีตรวจสอบและเติมน้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์

เข้าดู รถบ้านมือสอง ได้ที่นี่

Sentvita