การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย คืออะไร ?

ประสบการณ์ใช้รถ | 20 ธ.ค 2565
แชร์ 1

หลังซื้อรถมือสอง หรือได้รับรถเป็นมรดกมาจากพ่อแม่ จะต้องโอนรถเปลี่ยนกรรมสิทธิ์โดยเร็วที่สุด แล้วการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย ทำได้อย่างไร ที่นี่มีคำแนะนำ

การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย คืออะไร ?

เมื่อซื้อรถมือสองมาใช้ หรือได้รับรถเป็นมรดกจากพ่อแม่ หรือญาติมา จะต้องทำการโอนรถเพื่อเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ผู้ถือครอง ซึ่งการโอนรถ คือ การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เจ้าของรถจากคนหนึ่ง มาเป็นอีกคนหนึ่ง สามารถทำได้ที่สำนักงานขนส่งทางบก สาขาที่ผู้โอน (หรือผู้ขาย) มีที่อยู่ปรากฏในเล่มทะเบียนรถ หรือขอแจ้งใช้รถไว้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 

  • การโอนรถยนต์โดยตรง เจ้าของเก่าและเจ้าของใหม่ไปโอนรถต่อหน้านายทะเบียนที่สำนักงานขนส่งทางบก
  • การโอนลอย ผู้โอนส่งเอกสารที่เซ็นชื่อกำกับให้ผู้รับโอนไปดำเนินการเองที่สำนักงานขนส่งทางบก 

การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย คืออะไร ?

เอกสารชุดโอนรถ

  • ใบคู่มือจดทะเบียน หรือเล่มทะเบียนรถ
  • เอกสารการโอนรถ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้โอน และผู้รับโอน
  • กรณีเจ้าของรถยนต์เดิมเสียชีวิตให้นำใบมรณะบัตรของเจ้าของรถยนต์มาด้วย
  • ต้องนำรถยนต์ไปยื่นเรื่องติดต่อที่กรมขนส่งทางบก
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประชาชนผู้มีอำนาจลงนาม (กรณีนิติบุคคล)
  • หลักฐานการซื้อขายรถ เช่น สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี
  • แบบคำขอโอนและรับโอน 
  • หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่ได้มาโอนด้วยตัวเอง)
  • สำเนามรณบัตรเจ้าของเดิม (กรณีเจ้าของเสียชีวิต)

ชุดโอนรถ
ใบคู่มือจดทะเบียน หรือเล่มทะเบียนรถ

ใบโอนลอย
แบบโอน-รับโอน

 

ขั้นตอนในการโอนรถ

1. ไปที่สำนักงานขนส่งทางบกสาขาที่ผู้โอนมีที่อยู่ปรากฏในเล่มทะเบียน หรือขอใช้รถไว้

2. นำรถเข้ารับการตรวจสภาพ ที่สถานตรวจสภาพรถ 

สถานตรวจสภาพรถ
สถานตรวจสภาพรถ 

3. ติดต่อเจ้าหน้าที่ และยื่นเอกสารหลักฐาน พร้อมแบบคำขอโอนและรับโอนกรรมสิทธิ์

4. ชำระเงินค่าธรรมเนียม ดังนี้ 

  • ค่าคำขอ 5 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมิน 100,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการโอนรถ 100 บาท
  • ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 บาท (หากต้องการเปลี่ยน)
  • หากเล่มทะเบียนชำรุดเสีย ต้องเสียค่าเปลี่ยน 100 บาท

5. รอรับเอกสารต่าง ๆ คืน 

หลังยื่นเรื่องโอนรถเรียบร้อยแล้ว จะได้เล่มภายใน 15 วัน (ทำการ) และต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันโอน หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว จะมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท 

เอกสารโอนลอย
สำนักงานขนส่งทางบก

การโอนลอย

การโอนลอย ได้รับความนิยมมาก เพราะสร้างความสะดวกให้กับทางผู้ขาย ไม่ต้องไปดำเนินเรื่องเองที่ขนส่ง แค่เซ็นเอกสารให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนรถเอง ที่สำนักงานขนส่งทางบกสาขาที่ผู้ขายมีที่อยู่ปรากฏในเล่มทะเบียน หรือขอใช้รถไว้ โดยต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

เอกสารโอนลอย 

  • สัญญาซื้อขาย
  • เล่มทะเบียนรถ
  • ใบโอนลอย แบบคำขอโอน-รับโอนกรรมสิทธิ์รถ
  • สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ พร้อมลายเซ็น
  • สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของรถ พร้อมลายเซ็น
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อ พร้อมลายเซ็น
  • หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่ได้ไปโอนด้วยตนเอง)

การโอนลอย นอกจากจะสร้างความสะดวกให้เจ้าของรถไม่ต้องเสียเวลาดำเนินเรื่องเองแล้ว ผู้ขายยังสามารถรับเงินได้เลย หลังส่งเอกสารโอนลอยให้ผู้ซื้อ นอกจากนี้ ยังทำให้การซื้อ-ขายรถผ่านคนกลางเป็นไปได้ง่ายขึ้น หากต้องการขายรถต่อหรือฝากขายกับเต็นท์ คนกลางไม่จำเป็นต้องเซ็นรับโอนในทันที เมื่อขายได้ค่อยนำเอกสารที่คนขายเซ็นไว้ ให้ผู้ซื้อเซ็นรับโอนในภายหลัง 

โอนลอย

ทว่า แม้จะสร้างความสะดวกสบายแค่ไหน แต่การโอนลอยก็มีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ด้วยเช่นกัน คือ ผู้ขายต้องเตรียมเอกสารอย่างรัดกุม กรอกวันที่และสัญญาให้ครบถ้วน เมื่อเซ็นชื่อ ต้องกำกับไว้ชัดเจนว่าใช้ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งใด พร้อมระบุในสัญญาซื้อขายให้ชัดเจนด้วยว่า ยังไม่ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ หากผู้ซื้อยังไม่ได้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานขนส่งฯ แต่นำรถที่ยังเป็นชื่อผู้ขายไปกระทำความผิด เช่น ฝ่าฝืนกฎจราจร หรือนำไปก่อเหตุอาชญากรรม ฯลฯ ผู้ขายที่มีชื่ออยู่ในเล่มทะเบียน จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นเจ้าของรถอยู่นั่นเอง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง จึงควรไปโอนรถโดยตรงที่สำนักงานขนส่งพร้อมผู้ซื้อเลยดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >>