Hilux เกิดจากคำว่า High กับ Luxury สำหรับรถกระบะ 1 ตัน รุ่นใหม่ของ Toyota ในปี 1968 ปัจจุบัน Toyota Hilux ผ่านโลกมากว่าครึ่งศตวรรษและเป็นมากกว่ารถที่คนไทยยอมรับ
Toyota Hilux
Toyota Hilux อาจไม่ใช่รถกระบะรุ่นแรกของ Toyota แต่ชื่อเสียงและความนิยมของ Hilux นั้นกลับมั่นคงยาวนานกว่ารถกระบะรุ่นใด ๆ ที่ Toyota มี แน่นอนว่า “ไทย” เป็นส่วนหนึ่งของกลไกแห่งความสำเร็จนี้อย่างมาก
ทั้งนี้ชื่อ Hilux คือการผสมระหว่างคำสองคำ คือ “High” และ “Luxury” เพื่อใช้สำหรับรถกระบะพิกัด 1 ตัน ไลน์อัพใหม่ของ Toyota ในปี 1968 ที่พยายามสะท้อนภาพลักษณ์แบบรถยนต์นั่ง ปัจจุบัน Hilux ข้ามผ่านเวลามาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งนิยามของกระบะถูกขยายขอบเขตและขีดความสามารถไปไกลกว่าคำว่า “รถขนของ” ส่วนการเปลี่ยนแปลงของ Hilux แต่ละเจเนอเรชั่นจะเป็นอย่างไร เราจะพาย้อนอดีตไปชมกัน
อ่านเพิ่มเติม : ย้อนอดีตกระบะ Mazda B-Series ถึง BT-50 เส้นทางนี้ไม่ง่าย แต่ไม่ท้อ
Toyota Hilux (RN10)
Toyota Hilux (RN10) เปิดตัวปี 1968 (รวมถึงไทย) เป็นรถกระบะน้ำหนักเบาแบบ Bonnet Truck ไลน์อัพใหม่ พิกัดบรรทุก 1 ตัน เพิ่มเติมจาก Toyopet Masterline Pickup (พื้นฐาน Toyota Crown วางตำแหน่งไว้ต่ำกว่า จำหน่ายผ่านช่องทาง Toyopet) และ Toyopet Corona Mark II Pickup ส่วน Toyopet Stout จะเป็นกระบะกลุ่ม Heavy Duty ขนาด 1.5 ตัน
Toyota Crown Pickup
Toyota Corona MK II Pickup
Toyota (Hino) Briska
อย่างไรก็ตาม Toyota Hilux (RN10) เกิดจากการที่ Toyota เข้าไปเทคโอเวอร์ Hino แล้วนำ Hino Briska (เจเนอเรชั่น 2) มาจำหน่ายภายใต้ชื่อ Toyota Hilux และดันให้ Hino ไปโฟกัสตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่
ซึ่ง Hino Briska เดิม (เจเนอเรชั่น 1) ก็เป็นการนำเอา Renault 4CV ของฝรั่งเศสที่ชนะสงครามมาพัฒนา จริง ๆ การที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามนั้นทำให้ได้รับเทคโนโลยีจากฝ่ายผู้ชนะมาเยอะ เช่น Mitsubishi ต้องผลิตรถให้ Jeep จึงมีรถ Mitsubishi หน้าตาเหมือน Jeep หรือ Nissan ผลิต Austin ที่ทำให้ Nissan มีรถหน้าตาแบบ Austin จำหน่ายช่วงหลัง WW2 อยู่หลายรุ่น
ภายใน Toyota Hilux ยุคนั้นจัดว่าหรูหราหมาเห่า
ดังนั้น การที่ Toyota เลือกตั้งชื่อ Hilux (High Luxury) เพื่อแยกวัตถุประสงค์การใช้งานให้ต่างจาก Toyota Stout (เดิมเป็น Toyopet) ซึ่งมีขนาดใหญ่ โดยช่วงยุค 60 Stout เพิ่มพิกัดบรรทุกเป็น 1.75 ตัน เน้นการขนส่งสิ่งของเป็นหลัก ต่างจาก Hilux ซึ่งเล็กกว่า พิกัดบรรทุกน้อยกว่าและมีไว้เพื่อการโดยสารด้วย
Toyota Stout ยุคเดียวกัน
เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 70 แรงม้า
Toyota Hilux (RN10) แรกเริ่มใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 70 แรงม้า มีรุ่นย่อยให้เลือกทั้งแบบ Standard (มาตรฐาน) และ Deluxe (หรู) รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 1 ตัน ต่อมาราวปี 71 เปลี่ยนเป็นเครื่องเบนซิน (12R) 1.6 ลิตร 83 แรงม้า เป็นช่วงตั้งไข่ของ Hilux ยอดขายทั่วโลกยังไม่ได้สูงมากมายนัก
Toyota Hilux เจเนอเรชั่นที่ 2
Toyota Hilux เจเนอเรชั่นที่ 2 เปิดตัวในปี 1972 ซึ่งเป็นปีเดียวกับ Datsun 620 (หรือที่คนไทยเรียกช้างเหยียบ เพราะโฆษณาเอาช้างขึ้นท้ายกระบะกลายเป็นภาพจำ) ดีไซน์คล้ายรถยนต์นั่งและได้รับการพัฒนาขีดความสามารถทั้งการขับขี่ รวมถึงการบรรทุกให้เหนือกว่ารุ่นก่อน
โดย Toyota Hilux ใหม่ มีการขยายความยาวฐานล้อ กระบะท้ายจึงมีปริมาตรมากขึ้น (แต่น้ำหนักบรรทุกเท่าเดิม) ส่วนขุมพลังยังเป็นเบนซิน รหัส 12R ขนาด 1.6 ลิตร ยกมาจากรุ่นก่อน จับคู่กับเกียร์ 4 สปีด
นอกจากนี้ยังเพิ่มขุมพลังใหม่ 2.0 ลิตร (18R) 105 แรงม้า ระบบเบรกพัฒนาให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับการเดินทางยาว ๆ เพราะยุค 70 ถนนหนทางดีขึ้น ทำความเร็วได้มากขึ้น ในต่างประเทศมีเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ให้ใช้ด้วย ซึ่งในไทยยังเป็นของสูง แม้มีในรถฝรั่งหรู ๆ ยุคนั้นแล้ว
แต่สำหรับรถธรรมดาของคนทั่วไป เกียร์อัตโนมัติ ถูกกำหนดความนิยมโดยผู้ผลิตรายหลัก โดยการไม่ขาย ไม่ต้องเลือก ได้ความแน่นอน (เพราะไม่จุกจิก) แม้ในรถยนต์นั่งเองในยุคหนึ่งเกียร์อัตโนมัติก็ไม่ได้เป็นที่นิยม จน Honda เอาเกียร์อัตโนมัติมาเบิกเนตร นับเป็นความกล้าอย่างหนึ่ง แต่ตอนนั้นต้องต่อสู้กับความเชื่อเดิมพอควร
Toyota Hilux เจเนอเรชั่น 3
เดือนกันยายน ปี 1978 Toyota เปิดตัว Hilux โฉมใหม่ ด้วยสไตลิ่งคล้ายรถยนต์นั่งเช่นเคย และยังยกระดับความสบายในการขับขี่เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายยุคนั้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังนิยมใช้รถกระบะเพื่อการโดยสารและการสันทนาการ ซึ่งสภาพแบบนี้ยังไม่เกิดในไทย รถกระบะยังถูกใช้ในฐานะรถงานเป็นหลัก แต่ Hilux เริ่มผลิตในไทยแล้ว (ตั้งแต่ ปี 1975) และโฉมนี้มีรุ่น SR5 จำหน่ายด้วย
ช่วงปลายอายุตลาด Toyota Hilux มีเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร 63 แรงม้า ให้เลือกเป็นครั้งแรก นอกเหนือจากเครื่องเบนซินเดิม ขนาด 1.6 ลิตร ไปจนถึง 2.4 ลิตร ส่วนฉายา “ม้ากระโดด” ก็มาจากการคาดสติ๊กเกอร์ตกแต่งจากโรงงาน ก่อนที่โฉมต่อมาจากม้า ก็กลายเป็น “เฮอร์คิวลิส ฮีโร่” ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก
Toyota Hilux เจเนอเรชั่น 4
โฉมที่ 4 ของ Toyota Hilux เปิดตัวช่วงปลายปี 1983 ซึ่งเทรนด์การออกแบบรถยนต์เริ่มเข้าสู่ยุคเหลี่ยม ดังนั้น ดีไซน์ใหม่ของ Hilux จัดว่าทันสมัยพอตัว และยังมีจุดเด่นคือการยกสันบังโคลนซุ้มล้อ เสริมบุคลิกให้ดูแข็งแกร่ง แต่ภายในห้องโดยสารทันสมัย คล้ายรถยนต์นั่ง (ในยุคนั้น) หลังการเปิดตัว ยอดขาย Hilux ทั่วโลกก็พุ่งกระฉูดขึ้นเลยทันที
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ Hilux แตกไลน์ SUV ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Hilux Surf (นอกญี่ปุ่นใช้ 4Runner) ดีไซน์คล้ายการนำเอาหลังคาไฟเบอร์กลาสมาครอบด้านท้าย ส่งผลให้ในเวลาต่อมาการครอบหลังคาไฟเบอร์กลาสกระบะท้ายกลายเป็น “ของมันต้องมี” อยู่นาน
Hilux Surf
นอกจากนี้ Hilux ในไทยยังมีรุ่น SR5 (Sport Runabout 5 Speed) แบบหัวเดียว ช่วงยาว ขับเคลื่อน 4 ล้อ เช่นเคย ขณะที่ขุมพลังมีหลายทางเลือก ทั้งเบนซิน 1.6, 2.0 และ 2.2 ลิตร และดีเซล (2L) ขนาด 2.4 ลิตร 84 แรงม้า โดยปลายยุค 80 (ราว พ.ศ. 2530) ไทยเริ่มแนวคิดสนับสนุนเชื้อเพลิงดีเซลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว
Toyota Hilux เจเนอเรชั่น 5
Toyota Hilux โฉมใหม่ เจเนอเรชั่นที่ 5 ที่จะมาสานต่อความสำเร็จของ Hilux Hero เปิดตัวปลายปี 1988 ส่วนไทยมาราว ๆ ปี 1989 เห็นจะได้ ด้วยชื่อ Toyota Hilux Mighty X ชนกับ Isuzu Faster Z 2500Di (TFR) หรือมังกรทอง ผู้มาก่อนและได้รับความนิยมสูงจัด
ยุคนี้รถกระบะในไทยถูกใช้โดยสารแทนรถยนต์นั่งมากขึ้น ความกว้างขวางของ “แค็บ” จึงกลายเป็นจุดขาย (ทั้งที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้โดยสาร แต่คนไทยไม่ได้มีทางเลือกมากนัก รถยนต์นั่งแพง รถกระบะคุ้มค่ากว่า ด้วยราคาจำหน่ายเพียง 2-3 แสนบาท อเนกประสงค์ดีด้วย และยังไม่มีใครตระหนักถึงปัญหามลพิษ) ส่วนการต่อเติม “หลังคาไฟเบอร์พร้อมตกแต่งภายใน มีติดตั้งแอร์หลัง” ก็ได้รับความนิยมถึงขีดสุด
Toyota Mighty X จึงตกเป็นรอง Isuzu มังกรทอง ที่ดีไซน์ทันสมัยและแค็บกว้างขวางสะใจในตอนนั้นอยู่บ้าง ส่วนยอดขายทั่วโลกพีคน้อยกว่าโฉมก่อน (เล็กน้อย) แต่ถ้าหากเทียบงานดีไซน์ภายใน Mighty X ให้ความรู้สึกคล้ายรถยนต์นั่งมากกว่า
อันนี้เป็นความตั้งใจ เพราะ Toyota Hilux ได้รับการพัฒนาภายใต้การรวมแนวคิด 3 ด้าน คือ พละกำลัง (Power) ความทนทาน (Sturdiness) และความสบาย (Comfort) เพื่อขยายขอบเขตการใช้งานสู่การเป็นรถเพื่อกิจกรรมสันทนาการ (recreational vehicle) ไทยเองยังมี Toyota Hilux Station Wagon ประกอบโดย TAW บริษัทลูกของ Toyota ไว้วางขายบนโชว์รูมด้วยและยังไม่ยกสูงเป็น SUV แบบยุคนี้
ภาพจาก J-Rio Production
ทางด้านขุมพลังรถกระบะยุค Mighty X ยังคงมีทั้งเบนซิน 1.8 กับ 2.2 ลิตร และดีเซล 2.4 ลิตร แล้วก็ยังมี Toyota Hilux 4WD (ไม่เรียก Mighty X) สำหรับกิจกรรมที่ต้องลุยหนัก หน่วยงานราชการใช้เยอะ มีตัวถังทั้งแบบตอนเดียวและตอนครึ่ง (X-tra Cab) ขุมพลัง 2 แบบ คือ เบนซิน 2.2 ลิตร กับ ดีเซล 2.8 ลิตร
อย่างไรก็ตามยุคนี้ตัวเลขแรงม้ายังไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดนัก (แน่นอนว่ามีบ้าง) แต่สงครามแรงม้ากำลังจะเริ่มต้นขึ้น
Toyota Hilux Tiger (ไมเนอร์เชนจ์)
หลังจากทำตลาด Toyota Mighty X ไปนานถึง 9 ปี (นานกว่าทุกเจนฯ ที่ผ่านมา) ปลายปี 1997 Toyota ได้เปิดตัว Hilux โฉมใหม่ ดีไซน์ใหญ่โตขึ้นพอที่จะบลัฟคู่แข่งอย่าง Isuzu โฉมมังกร (ซึ่งยังไม่เปลี่ยนโฉมก็ขายสู้ได้) อีกทั้งยังตั้งชื่อต่อท้าย Hilux (ในไทย) ว่า Tiger ราวกับเอาจะมาปราบมังกร
Toyota Hilux Tiger โฉมนี้ เพิ่มดีกรีความเป็นรถอเนกประสงค์มากขึ้นอีก ตั้งใจออกแบบมาเพื่อโดยสารและการบุกลุยสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ มีการปรับปรุงเรื่องเสียงรบกวน เพิ่มความกว้างขวางของห้องโดยสาร
นอกจากนี้ ปี 1998 Toyota ยังปล่อย Hilux Sport Rider ภายใต้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เอื้อให้กับรถกลุ่มพิเศษที่ไทยล็อกสเปกไว้ให้เป็นรถนั่งพื้นฐานกระบะ ด้วยคำจำกัดความว่า PPV (Pick-Up Passenger Vehicle) ประกอบโดย TAW (Toyota Auto Works) เจ้าเดิม
Toyota Hilux Sport Rider คือฮือฮามาก
โบ๊ะบ๊ะกันเป็นจังหวะซิตคอมขนาดนี้ Sport Rider จะไม่ฮิตยังไงไหว เพราะความต้องการในไทยมีอยู่ เพียงแค่ก่อนหน้า SUV ไม่ใช่ของถูก ด้วยกำแพงภาษีรถนำเข้าหรือผลิตในประเทศก็เสียภาษีสูง (เพราะเครื่องไม่เล็ก) การสร้างโอกาสด้วยคำว่า PPV ทำให้ราคาขายต่ำลงได้แบบไม่บังเอิญ Toyota จึงครองตลาด PPV ส่วน Honda ก็มี CR-V ครองตลาด Crossover SUV
อย่างไรก็ตาม ขุมพลังดีเซล 2.4 และ 3.0 ลิตร (รหัส 2L และ 5L) ของ Hilux Tiger ช่วงแรกพละกำลังและความประหยัดยังไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก หลัง ปี 2000 Toyota จึงปล่อย D4D ขนาด 2.5 ลิตร กับ 3.0 ลิตร เทอร์โบ และทำให้ยุคต่อไปนอกจากรถกระบะต้องมากความสามารถแล้ว สมรรถนะยังต้องสูงทัดเทียมรถเก๋งด้วย อย่างไรก็ตาม Hilux Tiger กลับไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายในตลาดโลกเมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านมา ทั้ง Hilux Hercules Hero และ Mighty X
Toyota Hilux Vigo
รอบนี้ Toyota เล่นใหญ่กับ Toyota Hilux Vigo เปิดตัวปี 2004 ภายใต้โปรเจกต์ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) ของ Toyota มุ่งหวังที่จะพัฒนารถ 3 รูปแบบ บนแพลตฟอร์มเดียว คือ Hilux (กระบะ), Innova (MPV) และ Fortuner (SUV หรือ PPV แบบไทยแลนด์โอนลี่นั่นแหละ) ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลก แม้ต่อมา Toyota จะเปิดโรงงานในต่างประเทศเพื่อผลิตรถในโครงการ IMV เพิ่มด้วย แต่ไทยผลิตมากสุด
ทั้งนี้ชื่อ Vigo มาจากคำว่า Vigorous ที่แปลว่าแข็งแกร่ง แต่อีกนัยหนึ่งคือ Value, Innovative, Global และ Outstanding ซึ่ง Toyota คิดถูก Hilux Vigo ประสบความสำเร็จ พลิกเกมได้สวยมากในโฉมนี้ ทำเอา Isuzu D-Max เหนื่อยจัดและเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่ Isuzu ก็โชว์สเตปต่อสู้ Vigo ได้อย่างน่าทึ่ง
ส่วนขุมพลัง Hilux Vigo มีเบนซิน ขนาด 2.7 ลิตร กับดีเซล 2.5 กับ 3.0 ลิตร เทอร์โบ ภายหลังเพิ่มเทอร์โบแปรผันช่วงปรับโฉม (ปรับหลายรอบเพราะขายดี) และตอนนี้รถกระบะไทยกลายเป็นรถบ้าพลัง เข้าสู่ยุครถกระบะแข่งแรงม้าโดยสมบูรณ์
Toyota Hilux Revo
จากความสำเร็จของ Vigo ซึ่งลากขายได้นานถึง 11 ปี Toyota Hilux โฉมใหม่ พร้อมชื่อห้อยท้าย Revo เปิดตัวในปี 2015 ในยุคที่รถกระบะมีแรงม้าใกล้ 200 ตัว และกลายเป็นพาหนะที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน โดยการแตกไลน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ กัน ทั้งเชิงพาณิชย์ แต่งซิ่ง ใช้งานทั่วไป และกิจกรรมสันทนาการ
โดยคำว่า Revo มาจาก Revolution รวมถึง Robust, Elegant, Visionary และ Optimum ประมาณว่านอกจากเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังสื่อถึงความแข็งแกร่ง สง่างาม ล้ำหน้า ดีงามอย่างที่สุด…แต่มันกลับไม่สุด ความปังของ Revo กลับไม่แรงเท่า Vigo และไม่สามารถชนะคู่แข่งอย่าง D-Max ได้แบบขาดลอยแม้จะเป็นโฉมใหม่ โดยสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า Toyota Hilux Revo ไม่ฮอตดังคาด (สำหรับ Toyota ที่สุดแล้วคือการเป็นเบอร์ 1) คือการปรับปรุงอุปกรณ์และปรับโฉมต่อเนื่องภายในระยะเวลาอันสั้น
ทางด้านขุมพลัง Toyota Hilux Revo แรกเริ่มเดิมทีมีเครื่องยนต์เบนซิน 2.7 ลิตร 166 แรงม้า ให้เลือก แต่ปรับไปปรับมาสุดท้ายตัดเบนซินออก เหลือเฉพาะดีเซล 2.4 ลิตร 150 แรงม้า กับ 2.8 ลิตร 177 แรงม้า ซึ่งตัวเลขแรงม้าสูงมากจากการแข่งขันทางการตลาด
ปัจจุบันหลังจากที่ Toyota Hilux Revo ปรับโฉมครั้งล่าสุด เวอร์ชั่น Rocco ได้ปรับพละกำลังเครื่องดีเซล 2.8 ลิตร ให้ทะลุ 200 แรงม้า ตาม Ford Ranger Wildtrak ไปอีกราย สร้างจุดขายความเป็นกระบะทรงพลังต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ Toyota Hilux จนสามารถครองใจผู้ใช้กระบะทั่วโลกและยืนหยัดมาได้นานกว่าครึ่งศตวรรษได้นั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่ความอเนกประสงค์หรือพละกำลังที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย แต่ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจในระยะยาว คือหนึ่งในจุดขายสำคัญที่ Toyota Hilux นำเสนอมาตลอดโดยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้น้อย เท่าที่จำเป็น "คงประมาณว่าคบแล้วไม่หวือหวา ไม่โลดโผน แต่สบายใจตามสไตล์ Toyota"
ลองค้นหา รถมือสอง ที่ถูกใจมีให้เลือกกว่าหมื่นคัน