ย้อนอดีตกระบะ Mazda B-Series ถึง BT-50 เส้นทางนี้ไม่ง่าย แต่ไม่ท้อ

ประสบการณ์ซื้อขายรถยนต์ | 22 ม.ค 2564
แชร์ 18

นี่คือเรื่องราวของรถกระบะ Mazda รถกระบะผู้มาก่อน Toyota Hilux RN10 ก่อน Isuzu Faster KB20 กว่าครึ่งศตวรรษของเส้นทางสายนี้บอกเลย “ไม่ง่าย” แต่ Mazda ก็ “ไม่ท้อ”

ย้อนอดีตกระบะ Mazda B-Series ถึง BT-50 เส้นทางนี้ไม่ง่าย แต่ไม่ท้อ

 ย้อนอดีตกระบะ Mazda B-Series ถึง BT-50 เส้นทางนี้ไม่ง่าย แต่ไม่ท้อ

จากจุดเริ่มเล็ก ๆ ในเมืองฮิโรชิมา ปี 1931 รถกระบะ 3 ล้อ ที่มีชื่อว่า Mazda-Go (Mazda Type-DA) นับเป็นก้าวแรกของ Mazda สู่อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นในฐานะ “รถงาน” สำหรับการขนส่งเต็มตัว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีนับจากนั้น Mazda วางแผนจะส่งรถยนต์นั่งขนาดเล็กออกสู่ตลาด รถโปรโตไทป์สำเร็จใน ปี 1940 ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย ถ้าไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นโดนทิ้งระเบิดปรมาณูและเป็นฝ่ายแพ้ พร้อมความบอบช้ำอย่างแสนสาหัส !!!

Type-DA กระบะ Mazda  3 ล้อ รุ่นแรก ขายผ่านช่องทาง Mitsubishi จึงปรากฏตราตรีเพชรบนถังน้ำมัน
Type-DA กระบะ Mazda  3 ล้อ รุ่นแรก ขายผ่านช่องทาง Mitsubishi จึงปรากฏตราตรีเพชรบนถังน้ำมัน

เช้าที่เป็นฝันร้าย เวลา 8.16 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม 2488 (ปี ค.ศ. 1945) Little Boy ระเบิดปรมาณูลูกแรกที่อเมริกาจัดให้เพราะญี่ปุ่นดันไปแหย่รังแตน ถูกทิ้งจาก Enola Gay เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 เหนือเมืองฮิโรชิมาอันเป็นที่ตั้งของโรงงาน Mazda และตามด้วย Fat Man ที่นางาซากิ วันที่ 9 สิงหาคม 2488 ทุกอย่างพังราบ รวดเร็วเกินกว่าจะทันได้กระพริบตาเสียอีก

Mazda KC-36 ในโรงงาน Mazda ที่ฮิโรชิมาก่อน WW2
Mazda KC-36 ในโรงงาน Mazda ที่ฮิโรชิมาก่อน WW2

ระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ลูก มีพลังทำลายล้างรุนแรงอย่างที่อเมริกาเองอาจคาดไม่ถึง เพราะแม้จะเคยทดสอบแต่ก็ไม่เคยใช้จริงในสงครามมาก่อน (แต่จูจิโร มัตซึดะ ประธาน Mazda รอดเพราะออกไปตัดผม) ญี่ปุ่นจำเป็นต้องยอมแพ้สงครามทันที อีกเพียงไม่กี่เดือนต่อมา อเมริกาได้ประกาศชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในญี่ปุ่นเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม

จูจิโร มัตซึดะ รอดจากระเบิดปรมาณูเพราะไปตัดผมจ้า !!!
จูจิโร มัตซึดะ รอดจากระเบิดปรมาณูเพราะไปตัดผมจ้า !!!

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (เดือนธันวาคม ปี 1945) โรงงาน Mazda กลับมาผลิตรถกระบะ 3 ล้อ (Type-GA) และนี่คือจุดเริ่มต้นอีกครั้งของรถกระบะ Mazda ตระกูล B-Series ก่อนจะมาเป็น BT-50 ในปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ง่ายเลยที่จะเติบโตจากซากปรักหักพังในครั้งนั้น

Mazda B-Series เจเนอเรชั่น 1 : การเริ่มต้นหลังความพ่ายแพ้

กระบะ Mazda B-Series คันแรก
กระบะ Mazda B-Series คันแรก

Mazda B1500 เปิดตัวครั้งแรกช่วงปลายปี 1961 ในเวลาไล่เลี่ยกับ Nissan 320 ก่อน Toyota Hilux RN10 รวมถึง Isuzu Faster KB20 อยู่หลายปี โดยรหัส B ของ Mazda นั้นอาจหมายถึง Bonnet Truck (ในความเห็นของผู้เขียน) แต่ตัวเลข 1500 แน่นอนว่ามาจากขนาดความจุของเครื่องยนต์เบนซิน 1,484 ซี.ซี. กำลังสูงสุด 64 แรงม้า และแรงบิด 102 นิวตันเมตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 1 ตัน

Mazda B1500 ดีไซน์ทันสมัยกว่า
Mazda B1500 ดีไซน์ทันสมัยกว่า

Datsun 320 (1200 Deluxe) เปิดตัวปี 1961 ถ้าเชยเหมือน Austin ก็ไม่แปลก อังกฤษชนะสงคราม
Datsun 320 (1200 Deluxe) เปิดตัวปี 1961 ถ้าเชยเหมือน Austin ก็ไม่แปลก อังกฤษชนะสงคราม

ทั้งนี้ความเก๋ของ Mazda B1500 อีกประการคือ มีรูปแบบตัวถังให้เลือกมากถึง 4 แบบ คือแบบกระบะหัวเดี่ยว, ดับเบิ้ลแค็บ และแวกอน 2 ประตู สำหรับการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ กัน

แต่ Mazda B1500 ไม่ใช่กระบะ 4 ล้อ รุ่นแรกของ Mazda เพราะก่อนหน้ามี Mazda Romper ขนาด 1 ตัน (Short Bonnet Truck ลักษณะเหมือนรถบรรทุก ซึ่งใหญ่สำหรับยุคนั้น) ต่อด้วย D1100 และ D1500 วางจำหน่ายใน ปี 1958 ก่อนแล้ว นอกจากนี้ใน ปี 1961 ยังมี B360 กระบะจิ๋ว (รถสร้างชาติ) ด้วย

Mazda Romper
Mazda Romper

Mazda B360 กระบะจิ๋วเป็นหนึ่งในระบบ Logistic ที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ
Mazda B360 กระบะจิ๋วเป็นหนึ่งในระบบ Logistic ที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ

Mazda Familia Pickup สไตลิ่งแบบ Fiat 1300 เดินสันครีบรอบรถเก๋มากในยุคนั้น
Mazda Familia Pickup สไตลิ่งแบบ Fiat 1300 เดินสันครีบรอบรถเก๋มากในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม Mazda B1500 โฉมแรกนี้วางจำหน่ายเฉพาะญี่ปุ่นในฐานะ “รถงาน” รับใช้กิจการร้านรวง ไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ และทำตลาดอยู่เพียง 5 ปี ก็เปลี่ยนโฉมใหม่ (ระหว่างนั้นปลายปี 1964 Mazda ออกเวอร์ชั่นกระบะตระกูล Familia ด้วย เป็นตัวเล็กกว่า B1500) โดยช่วงฟื้นฟูญี่ปุ่นหลังสงครามนั้นอาศัยความสามัคคีของคนในชาติมาก รัฐมีการจัดสรรว่าให้ใครทำอะไร อุตสาหกรรมใด ผลิตภัณฑ์ใด แบ่งกันชัดเจน ไม่เน้นแย่งซีนกัน (จริง ๆ ตรา Subaru ที่ใครต่อใครมองเป็นแค่ดาวลูกไก่ แต่มีความหมายซ่อนอยู่คือความสามัคคีไปสู่จุดสุดยอดล่ะ)

Mazda B-Series เจเนอเรชั่น 2 : กระบะเครื่องโรตารี่

Mazda B1500 หรือ Proceed ในญี่ปุ่น โมเดิร์นมาก (ลองเทียบกับคู่แข่งยุคเดียวกันดู)
Mazda B1500 หรือ Proceed ในญี่ปุ่น โมเดิร์นมาก (ลองเทียบกับคู่แข่งยุคเดียวกันดู)

บันทึกของ Mazda ระบุว่า Mazda Proceed (B1500) เป็นเจเนอเรชั่นแรกของตระกูล Proceed ในญี่ปุ่น เปิดตัวปลายปี 1965 (ตามหลัง Datsun 520 โฉมก่อนช้างเหยียบ อยู่หน่อย) หรือ B-Series ในต่างแดน เพราะเริ่มส่งออกขายนอกประเทศ ส่วน Toyota Hilux RN10 เพิ่งจะลากกระบะออกมาดูโลก หลังจากนั้น 3 ปี

Datsun 520 ปี 1965 หน้าเดียวกับ Bluebird
Datsun 520 ปี 1965 หน้าเดียวกับ Bluebird

Toyota RN10 ปี 1968 ทั้งหมดมีสไตลิ่งที่ใหม่กว่ากระบะยุคแรกคือ ฝากระโปรงเรียบ
Toyota RN10 ปี 1968 ทั้งหมดมีสไตลิ่งที่ใหม่กว่ากระบะยุคแรกคือ ฝากระโปรงเรียบ

นอกจากนี้ ปลายปี 1971 Mazda ส่ง Proceed ให้ Ford ไปเปลี่ยนเป็น Ford Courier ขายควบคู่กันในอเมริกา ก่อนเกิดวิกฤติน้ำมันโลก ปี 1973 รถกระบะเล็กกลุ่มนี้จึงขายดี ช่วยพยุง Mazda ไว้ได้เยอะมาก ขณะที่ Chevrolet นำ Isuzu Faster เจนฯ แรกที่เพิ่งเปิดตัว ปี 1972 ไปขายในชื่อ LUV เช่นกัน

นี่คือ Isuzu Faster KB20 ดูใหม่กว่าเพราะมาใน ปี 1972 (กระจกหูช้างไม่อยู่บนฝากระโปรงแล้ว)
นี่คือ Isuzu Faster KB20 ดูใหม่กว่าเพราะมาใน ปี 1972 (กระจกหูช้างไม่อยู่บนฝากระโปรงแล้ว)

Mazda B-Series หรือ Proceed โฉมนี้ มีขุมพลังเบนซินหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ 1.5, 1.6 และ 1.8 ลิตร (ขึ้นอยู่กับรุ่นปีและตลาด) รหัสก็ B1500, B1600,B1800 ที่พิเศษคือช่วงวิกฤติน้ำมันโลก Proceed ออกเครื่อง 1.3 ลิตร มาให้ใช้งานด้วย

แต่ที่พิเศษและน่าทึ่งยิ่งกว่าคือ กลางยุค 70 Mazda ออกเวอร์ชั่นเครื่องยนต์โรตารี่มาด้วย ใช้ชื่อ Mazda Rotary Pickup หรือ REPU (Rotary Engine Pickup) กลายเป็นรถกระบะรุ่นแรกของโลกที่ใช้เครื่องโรตารี่ สูบวน ในการทำตลาดจริง ก่อน NSU Ro 80 เสียอีก ซึ่ง Mazda ได้ซื้อลิขสิทธิ์จาก NSU ในปี 1961 เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์อื่นอีกมากหน้าหลายตาในเวลานั้น

อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เครื่องโรตารี่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของ Mazda ไปแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นและพบปัญหาเยอะ (แต่ข้อดีก็มีนะ) จนทุกเจ้าเลิกคบ แต่ Mazda ไม่เคยทิ้งเครื่องยนต์โรตารี่ พัฒนาต่อจนได้ดีถึงปัจจุบัน ถึงเวลานี้จะลดบทบาทเป็นเพียง Range Extender ในรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม

Mazda B-Series เจเนอเรชั่น 3 : ยุคแห่งการเติบโต

ยุค 70 Mazda โตขึ้นมาก มีการตั้งโรงงานและขยายช่องทางการขายในต่างประเทศ (ส่วนไทย Mazda ตั้งโรงงานผลิต ปี 1975) เครื่องยนต์โรตารี่ก็เฟื่องฟู มีการร่วมทุนกับ Toyota และ Ford ก่อตั้งบริษัทผลิตเกียร์ (JATCO) เองแล้ว

นปี 1977 Mazda เปิดตัว Mazda B-Series โฉมใหม่ มาพร้อมดีไซน์เหลี่ยม โมเดิร์น (ก่อนรถเทรนด์เหลี่ยมจะบูมสุดในยุค 80) แถมยังหรูหราด้วยแถบตกแต่งลายไม้ (โฟเมก้า) สะดวกสบายกว่ารุ่นก่อนหน้า ส่วนขุมพลังมีทั้งเบนซิน 1.6, 1.8 และ 2.0 ลิตร ตามช่วงเวลาและภูมิภาค เพราะจำหน่ายอยู่นานราว 8 ปี ส่วน Ford เองก็ตัดสินใจร่วมทุนกับ Mazda ใน ปี 1979 หลัง Mitsubishi L200 กระบะ 1 ตัน หน้าเก๋ง รุ่นแรกของ Mitsubishi เปิดตัวราวปีเดียว (มาช้ากว่าใคร)

Mitsubishi L200 หน้าเหมือน Galant
Mitsubishi L200 หน้าเหมือน Galant

Ford Courier ฝาแฝด
Ford Courier ฝาแฝด

นอกจากนี้ ช่วงปลายอายุตลาดของ Mazda B-Series ยังมีเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร (B2200) ในอเมริกา ผลิตโดย Perkins Engines (Mazda เข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วยตั้งแต่ปี 1967) ที่ตอนหลัง Perkins Engines โดน Caterpillar เทคโอเวอร์ไป (ราวปี 1998)

Mazda B-Series เจเนอเรชั่น 4 : รถคันแรกของสมรัก

Mazda B2000 เปิดตัวในปี 1985 ปีเดียวกับที่ Mazda ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ Mazda Motor manufacturing (USA) Corporation ในอเมริกา ส่วนญี่ปุ่นนำ Mazda Proceed กลับมาทำตลาดอีกครั้งใน ปี 1990

ขณะที่ไทย Mazda เปิดตัวด้วยชื่อ Magnum ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร หลังจากนั้นไม่นานเปลี่ยนเป็น Mazda Thunder 2500Di ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.5 ลิตร จาก Isuzu มังกรทอง (ปรับโฉม ไฟเต็ม) กำลังสูงสุด 90 แรงม้า แรงบิด 172 นิวตันเมตร และยังคงมีเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร (ไม่หัวฉีด) ให้เลือกด้วย ตัวถังมี 2 แบบ คือตอนเดี่ยว และตอนครึ่ง (Super Cab)

ญี่ปุ่นมี PPV ด้วย Proceed Marvie (แต่ทั่วโลกเค้าไม่เรียก PPV นะ เรียก SUV นี่แหละ) คู่แข่ง Hilux Surf
ญี่ปุ่นมี PPV ด้วย Proceed Marvie (แต่ทั่วโลกเค้าไม่เรียก PPV นะ เรียก SUV นี่แหละ) คู่แข่ง Hilux Surf

นี่แหละรถคันแรกของสมรัก การตลาด Mazda ยุคนั้น
นี่แหละรถคันแรกของสมรัก การตลาด Mazda ยุคนั้น

ช่วงปลายอายุตลาด ปี 1997 Mazda ในประเทศไทยปรับโฉมอีกครั้ง (ต่างประเทศก็ด้วย) เปลี่ยนชื่อเป็น Mazda B2500 Fighter ดึงสมรัก คำสิงห์ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของไทยมาเป็น Presenter ก่อนปิดฉาก B-Series โฉมนี้ 

Mazda B-Series เจเนอเรชั่น 5 : ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต

หลังจาก Mazda และ Ford ตกลงกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้นใน ปี 1993 เป็นกลยุทธ์เพื่อใช้แข็งขันระยะยาว ทั้งคู่ร่วมทุนกันก่อตั้ง บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) ในปี 1995 เอาไว้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะ 1 ตัน (ภายใต้การสนับสนุนของ BOI) เพื่อจำหน่ายทั่วโลก โดยโรงงาน AAT แล้วเสร็จในปี 1997

ปี 1998 Mazda Fighter โฉมใหม่ ก็ไหลออกจากสายการผลิตของ AAT ดีไซน์โค้งมนตามกระแสการออกแบบของช่วงปลายยุค 90 (รถยนต์หลายยี่ห้อกลายเป็นทรงสบู่ก้อนไปแล้ว) ทางด้านขุมพลังในไทย มี 3 แบบ แต่เป็นดีเซลทั้งหมด (ตอนนี้ไทยหันมาดันกระบะดีเซลสุดตัว ให้เป็น Product Champion หรือรถที่มีทุกบ้าน แทนรถราคาประหยัด) คือ 2.5 ลิตร 90 แรงม้าเดิม, 2.5 ลิตร เทอร์โบ (WL-T) 121 แรงม้า และ 2.9 ลิตร (W9) 102 แรงม้า

ต่อมามีการปรับโฉมราว ปี 2002 และ ปี 2003 Mazda Fighter เพิ่มตัวถัง Freestyle Cab หรือแค็บเปิดได้ มีเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร เทอร์โบ กับดีเซล 2.9 ลิตร และ ปี 2004 Mazda กับ Ford ฉลองการครองคู่ร่วมทุนกันเต็มตัวมานานถึง 25 ปี (ปี 1979 หรือ B-Series โฉม 2) ตอนนั้นคงไม่มีใครรู้ว่านี่จะเป็นการฉลองความสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายเช่นกัน

Mazda BT-50 เจเนอเรชั่น 1 : Zoom Zoom

ซูม...ซู้ม...ซูม กลายเป็นท่อนฮิตติดปากเมื่อต้องเอ่ยถึง Mazda และนับว่า Mazda ประสบความสำเร็จกับแคมเปญใหม่ Zoom Zoom เพื่อสื่อสารความเป็นรถขับสนุก (Brand Message) มาตั้งแต่ปี 2002 หรือช่วงปลาย B-Series โฉมที่แล้ว

และนั่นทำให้ Mazda B-Series โฉมใหม่ ต้องเปลี่ยนตระกูลเป็น BT-50 เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่งาน Bangkok Motor Show 2006 ดีไซน์โดยรวมทันสมัยขึ้น แต่ตัวถังหลักต่างจากโฉมก่อนไม่มาก เน้นการขับขี่ตามแคมเปญ Zoom Zoom และภาพลักษณ์ในการเป็น “รถงาน” จึงไม่เด่นเท่าคู่แข่ง

ขุมพลังดีเซลเปลี่ยนเป็นคอมมอนเรลดีเซลแล้ว มี 2 แบบ คือขนาด 3.0 ลิตร 156 แรงม้า กับ 2.5 ลิตร 143 แรงม้า เรียกว่าตั้งแต่ไทยเริ่มดันกระบะดีเซลมาตั้งแต่ยุค 90 ขนาดความจุเครื่องดีเซลก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงปลายยุค Mazda BT-50 โฉมนี้ ก่อนโฉมต่อไปจะเปิดตัวในอีก 1 เดือน Mazda และ Ford เทเงินลงทุนอีกถึง 350 ล้านดอลลาร์ เพื่อเดินสายการผลิต Mazda BT-50 โฉมใหม่

Mazda BT-50 เจเนอเรชั่น 2 : จบ แยก

Designer ทั่วโลกต้องการแสดงออกถึงพลวัตร (Dynamic) ในงานออกแบบ สำหรับ Mazda คือ Nagare
Designer ทั่วโลกต้องการแสดงออกถึงพลวัตร (Dynamic) ในงานออกแบบ สำหรับ Mazda คือ Nagare

Mazda BT-50 Pro โฉมใหม่ เปิดตัวปลาย ปี 2010 จังหวะเดียวกับที่ Mazda ประกาศใช้ภาษาการออกแบบใหม่ KODO-Soul of Motion ผ่านรถต้นแบบ Mazda Shinari (ที่ใคร ๆ ก็ว่าสวยเหมือน Aston Martin) แต่ Mazda BT-50 Pro ยังคงใช้ภาษาการออกแบบ Nagare เดิม (ซึ่งโปรเจกต์ BT-50 ถูกเตรียมการมาก่อน) โฉมนี้ผลิตในไทย ออกแบบในสตูดิโอที่ออสเตรเลีย เพราะไทยไม่ใช่ตลาดหลักของ BT-50

Mazda BT-50 ปรับโฉม พยายามเพิ่มเหลี่ยม แต่ได้แค่ทรีตเมนต์ตรงกันชน
Mazda BT-50 ปรับโฉม พยายามเพิ่มเหลี่ยม แต่ได้แค่ทรีตเมนต์ตรงกันชน

ด้วยความตั้งใจให้ Mazda BT-50 โฉมใหม่ มีดีไซน์คล้ายรถยนต์นั่งมากไปหน่อย ถือเป็นบทเรียนที่ทีมออกแบบของ Mazda เองก็ยอมรับว่าเส้นสายมันค่อนข้างเจ้าสำอางเกินไปสำหรับรถกระบะและไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ขุมพลัง Mazda BT-50 Pro มีเพียง 2 ทางเลือก คือ ขนาด 3.2 ลิตร 200 แรงม้า กับ 2.2 ลิตร 150 แรงม้า ร่วมกับ Ford Ranger

อย่างไรก็ตาม งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา Mazda และ Ford ต้องยุติความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมายาวนานในที่สุด Mazda หันไปจับมือกับ Isuzu (ที่แยกทางกับ Chevrolet เช่นกัน) ตกลงพัฒนารถกระบะเจเนอเรชั่นใหม่ร่วมกันช่วงปลาย ปี 2016

Mazda BT-50 เจเนอเรชั่น 3 : พาร์ตเนอร์ใหม่ พลิกโลก

Mazda BT-50 เจเนอเรชั่น 3

 Mazda BT-50 เจเนอเรชั่น 3

แม้หลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ Mazda ยังคงเลือกเผยโฉม All-new BT-50 2021 ที่ออสเตรเลียก่อนเป็นแห่งแรก ตั้งแต่กลาง ปี 2020 เพราะเป็นตลาดหลักเช่นเคย ส่วนไทยเปิดตัว วันที่ 21 มกราคม 2564 บนพื้นฐานงานดีไซน์ใหม่ร่วมกับ Isuzu D-Max พาร์ตเนอร์ใหม่

ด้วยสัดส่วน บึกบึน ล่ำสันขึ้น เปลือกนอกบางจุดปรับเป็นไปในแนวทาง KODO-Soul of Motion ของ Mazda ประมาณว่า "แฟชั่นเปลี่ยน แต่จุดยืนไม่เปลี่ยน" All-new Mazda BT-50 2021 จึงมีบุคลิกพรีเมียมแบบไลฟ์สไตล์ปิกอัพ เน้นความอเนกประสงค์ เพื่อการโดยสาร ใช้ทำกิจกรรมสันทนาการวันพักผ่อน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองตามบริบทของไทยที่ยอดขายถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เส้นทางของรถกระบะ Mazda อาจไม่ได้เลิศหรูเท่าไรนัก แต่หากลองเปลี่ยนไม้บรรทัดในการวัดเสียใหม่ เราจะพบว่ารถกระบะ Mazda พยายามมีเส้นทางที่เป็นของตัวเองเสมอและกว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Mazda ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ในแบบของตัวเอง

ลองค้นหา รถมือสอง ที่ถูกใจมีให้เลือกกว่าหมื่นคัน

อ่านเพิ่มเติม : จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ Honda City ไทยเปลี่ยนไปขนาดไหน

ATS
แท็ก Mazda Mazda BT-50