เจาะคำถาม ล้วงคำตอบ: คืนรถเช่าซื้อแล้ว ไฟแนนซ์ขายขาดทุน ไม่ต้องจ่ายค่าขายขาดทุน ???

ประสบการณ์ซื้อขายรถยนต์ | 15 ต.ค 2561
แชร์ 18

คืนรถเช่าซื้อแล้ว ไฟแนนซ์ขายขาดทุน ต้องจ่ายค่าขายขาดทุนหรือไม่ เราลองมาทำความเข้าใจกับการเช่าซื้อรถกันก่อน แล้วมาดูว่าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้เราต้องจ่ายส่วนต่างหรือไม่ ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยนะครับ

ต้องขอขอบคุณผู้ที่คิดค้นระบบการเช่าซื้อสำหรับการซื้อสินค้าต่างๆ ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆก่อน แต่ยังมีเงินไม่ครบทั้งหมด สามารถนำเงินบ้างส่วนมาวาง และที่เหลือค่อยผ่อนจ่ายให้ครบจำนวน ผู้ซื้อก็ได้สินค้าไปใช้ก่อน อาจจะใช้ในการทำมาหากินหรือใช้เพื่อความบันเทิงก็สุดแท้แต่ ผู้ขายก็ได้เงินก่อนทั้งหมดจากสินค้านั้นมาก่อนด้วย ส่วนบุคคลที่สาม(ผู้ที่เอาเงินก้อนให้ผู้ขายไปทั้งหมด)ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินก็ได้ดอกเบี้ยมาเป็นผลตอบแทน เรียกว่า Win-Win-Win กันทั้ง3ฝ่าย

เรื่องทั้งหมดมันคงเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าทุกฝ่ายทำตามข้อตกลงได้ครบทุกสิ่งไปจนถึงการผ่อนสิ้นสุดลง แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น ปัญหามันก็คงเกิดขึ้นแน่ๆ วันนี้เราจะลองมาดูว่าถ้าเกิดผู้เช่าซื้อไม่มีเงินผ่อนต่อก็เลยขอคืนสินค้าให้กับผู้ให้เงินทุนหรือที่เรียกกันติดปากว่าไฟแนนซ์ มันจะมีลักษณะของปัญหาอย่างไรออกมาได้บ้าง แล้วจะมีทางออกอย่างไรสำหรับเรื่องนี้

ความเข้าใจผิดเรื่อง การเช่าซื้อ

ก่อนจะไปถึงในรายละเอียดเรามาทำความเข้าใจกับเรื่อง “การเช่าซื้อ” กันก่อน เพราะยังมีหลายคนเข้าใจผิดอยู่มากว่ามันเหมือนกับซื้อสินค้าแบบผ่อน แต่ในความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การเช่าซื้อสัญญาจะเกิดขึ้นระหว่างเจ้าของทรัพย์สินหรือในกรณีของรถยนต์คือไฟแนนซ์ ได้นำเอารถยนต์มาให้ลูกค้าทั่วไป “เช่า” เพื่อใช้สอยหรือเพื่อประโยชน์ใดๆก็ตามของลูกค้าผู้นั้น และทางไฟแนนซ์เองก็ตกลงว่าจะ “ขาย” รถยนต์คันนั้นให้กับลูกค้าหรือกรรมสิทธิ์ของรถยนต์กลายมาเป็นของลูกค้าอย่างสมบูรณ์เมื่อได้รับเงินที่ลูกค้าชำระครบตามที่กำหนดไว้ เห็นไหมครับว่ามีทั้งคำว่าเช่าและคำว่าขาย จะแตกต่างจากการซื้อสินค้าแบบผ่อน ที่กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อหรือลูกค้าตั้งแต่วินาทีแรกที่การชำระเงินเสร็จสิ้น แต่กับกรณีเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของไฟแนนซ์จนกว่าเราจะจ่ายเงินครบตามจำนวนงวดที่กำหนดไว้ ปัญหามันมาเกิดตรงนี้ล่ะครับ ถ้าเราไม่สามารถจ่ายเงินได้ครบตามจำนวนงวด และเราก็อยากจะคืนรถยนต์ให้แก่ไฟแนนซ์แล้ว(ไม่อยากเช่าแล้ว) เงินที่ยังจ่ายไม่ครบในงวดที่เหลือจะทำอย่างไร

หลายคนยังเข้าใจผิดเรื่องการเช่าซื้อ

หลายคนยังเข้าใจผิดเรื่องการเช่าซื้อ

โดยปกติเมื่อเรานำรถยนต์ไปคืนแก่ไฟแนนซ์แล้ว ไฟแนนซ์เองก็ไม่ได้อยากได้รถยนต์มากนักอยากได้เป็นเงินคืนกลับมามากกว่า จึงนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดแปลงให้รถยนต์กลายเป็นเงิน แต่การนำไปขายทอดตลาดโดยส่วนใหญ่ราคารถยนต์จะได้น้อยกว่าจำนวนเงินงวดที่เหลือรวมกัน แล้วส่วนต่างตรงนี้จะทำอย่างไร ไฟแนนซ์มักจะมาทวงถามกับลูกค้า หรืออาจจะมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ในความจริงแล้วส่วนต่างตรงนี้ลูกค้าจำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่

กรณีที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าส่วนต่างราคามีดังนี้

1. ลูกค้านำรถยนต์ไปคืนแก่ไฟแนนซ์ก่อนผิดนัดสัญญาและก่อนไฟแนนซ์จะบอกเลิกสัญญา

กรณีนี้คือกรณีที่ผู้เช่าซื้อหรือลูกค้าผ่อนรถยนต์ต่อไม่ไหว เห็นเลยว่าไม่ไหวแน่ขอนำรถยนต์ไปคืนแก่ไฟแนนซ์ก่อนเลย และเมื่อรู้ตัวว่าผ่อนไม่ไหวแน่ในอนาคตจึงตัดสินใจรีบนำรถยนต์ไปคืนแก่ไฟแนนซ์ก่อนที่จะทำผิดสัญญาและไฟแนนซ์ก็ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาด้วย หากนำรถยนต์ไปบอกเลิกสัญญาแก่ไฟแนนซ์พร้อมกับคืนรถยนต์คันจริงได้เรียบร้อย ภายหลังมีการขายทอดตลาดเกิดขึ้น ผู้เข่าซื้อไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบส่วนต่างที่ไฟแนนซ์ขายรถยนต์ทอดตลาดไปในราคาขาดทุน (แต่จะมีเรียกร้องค่าความเสียหายอื่นหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

2. ลูกค้าโดนยึดรถยนต์ก่อนที่สัญญาเช่าซื้อจะถูกบอกเลิก

ความหมายคือ ถ้าลูกค้าใช้รถยนต์ไปอย่างผาสุก แต่แล้ววันหนึ่งเกิดวิกฤตการเงินทำให้ลูกค้าขาดส่งเงินแก่ไฟแนนซ์ ติดต่อกันเป็นจำนวน3งวดแล้ว ไม่ทันไร ไฟแนนซ์มายึดรถยนต์ไปขายทอดตลาดโดยที่ไม่ได้มีการแจ้งแก่ลูกค้าอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าลูกค้าขาดส่งมา3งวดแล้วนะ ให้นำเงินมาจ่ายภายใน 30 วันมิเช่นนั้นจะยึดรถยนต์ ถ้าไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแบบนี้แล้วนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด (ถือเป็นการยึดรถยนต์ไปโดยที่สัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้ถูกบอกเลิก) เงินที่ขายทอดตลาดได้ก็ต่ำเหลือเกินต่ำกว่ามูลค่าหนี้ที่เหลืออยู่ ส่วนต่างตรงนี้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ (ก็เล่นเอาไปขายทอดตลาดไม่บอกให้ลูกค้ารับรู้เลย)

ถ้าจะมีการยึดรถยนต์ต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าผู้ใช้รถทราบก่อน

ถ้าจะมีการยึดรถยนต์ต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าผู้ใช้รถทราบก่อน

ดูเพิ่มเติม
>>
 [Infographic] ขอไฟแนนซ์รถมือสอง ต้องทำอย่างไร
>> สินเชื่อรถแลกเงิน กับ 6 ทางเลือกก่อนตัดสินใจ

3. ไฟแนนซ์ยึดรถยนต์แล้วหลังสัญญาเช่าซื้อถูกบอกเลิกแต่ไม่แจ้งลูกค้าว่าจะขายทอดตลาด

หากไม่ได้ส่งค่างวดแก่ไฟแนนซ์แล้วไฟแนนซ์ก็มีการส่งหนังสือมาตักเตือนและบอกเลิกสัญญาในที่สุด หลังจากนั้นก็มีคนมายึดรถยนต์ไป (ซึ่งส่วนใหญ่จะจ้าง Outsource ในการยึดรถยนต์) แบบนี้ก็ถือว่าทางไฟแนนซ์ทำตามขั้นตอน แต่ถ้าหลังจากเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ยึดรถยนต์ไปแล้ว เอาไปขายทอดตลาดดื้อๆเลย โดยไม่แจ้งกับทางลูกค้าก่อน หากขายทอดตลาดแล้วได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าหนี้ ส่วนต่างตรงนี้ลูกค้าก็ไม่ต้องรับผิดชอบ (แต่ถ้าแจ้งแล้วว่าจะมีการขายทอดตลาดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีการประมูลอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น  แต่ลูกค้าไม่ทักท้วงอะไร ส่วนต่างตรงนี้ก็คงต้องรับผิดชอบ)

การขายทอดตลาดต้องมีการแจ้งให้รับรู้ทั้งสองฝ่าย

การขายทอดตลาดต้องมีการแจ้งให้รับรู้ทั้งสองฝ่าย

4. กรณีรถยนต์หาย

รถยนต์หาย โดยปกติหลายคนมักเข้าใจว่ารถยนต์หายเหลือแต่กุญแจ แต่ยังส่งค่างวดของสัญญาเช่าซื้อไม่หมด ก็ต้องผ่อนค่ากุญแจดอกนั้นไปเรื่อยๆจนหมด ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นนะครับ ปกติเมื่อรถยนต์หายแล้ว(และพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์หายจริง)ลูกค้าจะต้องไปแจ้งกับทางไฟแนนซ์ว่ารถยนต์หาย เท่ากับว่าลูกค้าไม่ได้ใช้รถยนต์คันนั้นแล้ว เมื่อไม่ได้ใช้รถยนต์คันนั้นแล้วการส่งค่าเช่าซื้อก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น สัญญาเช่าซื้อที่เกิดขึ้นก็จะเป็นอันยกเลิกไป แต่ลูกค้าบางคนไม่ทราบว่ารถยนต์หายต้องทำอย่างไร ทางไฟแนนซ์มาฟ้องเรื่องยังไม่ทันถึงศาลแต่ลูกค้ายอม ทำสัญญายอมรับผิดไปที่จะผ่อนกุญแจ มันก็เลยเกิดการพูดถึงเรื่องทีว่ารถยนต์หายกลายเป็นผ่อนแต่กุญแจที่เราๆเคยได้ยินกัน  แล้วแบบนี้ไฟแนนซ์ไม่เสียเปรียบ ธุรกิจไม่เจ๊งกันพอดีเหรอถ้ารถยนต์หายกันบ่อยๆทั้งๆที่ยังจ่ายค่าเช่าซื้อไม่ครบ นี่เองจึงเป็นที่มาของการทำประกัน การทำประกันภัยนรถยนต์โดยปกติทางไฟแนนซ์ก็จะมีการให้ลูกค้าทำประกันที่ครอบคลุมเรื่องรถยนต์หายด้วย เมื่อรถยนต์เกิดหายขึ้นมาจริงๆทางไฟแนนซ์ก็สามารถเคลมเงินประกันคืนได้จากบริษัทประกันในกรณีรถยนต์หายจริงๆ และจำนวนเงินก็มีทุนประกันระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ (กรณีนี้จะคล้ายกับกรณีกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารแล้วบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยเพราะทางธนาคารก็ต้องการลดความเสี่ยงกรณีบ้านถูกไฟไหม้จะได้เคลมเงินประกันจากทางบริษัทประกันได้)

รถหายไม่ต้องผ่อนกุญแจก็ได้ถ้ารู้จักกฎหมาย

รถหายไม่ต้องผ่อนกุญแจก็ได้ถ้ารู้จักกฎหมาย

รถยนต์กับไฟแนนซ์เป็นของคู่กันเราจึงต้องศึกษาให้ถ่องแท้

รถยนต์กับไฟแนนซ์เป็นของคู่กันเราจึงต้องศึกษาให้ถ่องแท้

เพื่อนๆชาว Chobrod พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับ หากมองเผินๆ รถยนต์ถูกขายทอดตลาดแต่ราคาไม่ถึงมูลค่าหนี้ ส่วนต่างก็ดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของลูกค้าที่ต้องหาเงินไปจ่าย ฟังแล้วก็จริงอยู่เพียงแต่ว่าต้องดูเงื่อนไขต่างๆของขั้นตอนที่เกิดขึ้นว่าทางไฟแนนซ์ได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนต่างๆหรือไม่(ถ้าถูกต้องลูกค้าก็จำเป็นต้องจ่ายส่วนต่าง) ตัวลูกค้าเองทำได้ตามที่ทางไฟแนนซ์แจ้งหรือไม่ กฎหมายจึงกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินว่าใครจะต้องรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ การรู้กฎหมายเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ไว้ก็ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เช่าซื้อทุกคน เพราะถ้าเป็นไปตามกฎหมายได้ ก็เรียกได้ว่าการรับผิดชอบไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็เกิดขึ้นอย่างขาวสะอาดแล้วครับ

Source: เพจทนายธีรวัฒน์ กฎหมายเพื่อความสุข เพื่อชาวบ้าน

ดูเพิ่มเติม
>>
 Update สินเชื่อสำหรับคนออกรถ Toyota Fortuner 2018
>> 3 ข้อดีของการรีไฟแนนซ์รถยนต์