ศาลเยอรมนีตัดสินแบนรถดีเซล เตรียมสั่นสะท้านกันทั้งปฐพี

ตลาดรถยนต์ต่างประเทศ | 2 มี.ค 2561
แชร์ 1

เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีครั้งสำคัญ และอิทธิพลของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วโลก เมื่อหลังจากศาลปกครองสูงสุดแห่งเยอรมนีมีคำตัดสินชี้ขาดให้เมืองสตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟ บังคับใช้กฎหมายห้ามผู้ขับขี่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่า และดีเซลบางรุ่นที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงในพื้นที่การจราจรคับคั่ง เพื่อเป็นการลดมลพิษทางอากาศ

ศาลเยอรมนีตัดสินแบนรถดีเซล เตรียมสั่นสะท้านกันทั้งปฐพี

ศาลเยอรมนีตัดสินแบนรถดีเซล เตรียมสั่นสะท้านกันทั้งปฐพี

และแม้คำคัดค้านมากมายไม่ว่าจะเป็นจากทางรัฐบาลเยอรมนีหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่ต่างพากันไม่เห็นด้วยต่อมาตรการการบังคับในครั้งนี้ ทั้งจากเกรงว่าในเมืองอื่นๆ ของประเทศจะยึดคำพิพากษานี้จนนำไปสู่การแบนรถเครื่องยนต์ดีเซลให้หมดไปจากถนนของประเทศเยรมนี

สะเทือนค่ายผู้ผลิตรถยนต์

ซึ่งก่อนหน้า มีหลายรัฐในเยอรมนีได้ทำการยื่นอุทรณ์ต่อคำตัดสินการแบนของศาลท้องถิ่นในเมืองสตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟ เพราะเป็นที่กังวลกันว่าการขาดไปซึ่งรถเครื่องยนต์ดีเซลจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไป อีกทั้งค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการปรับตัวของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในประเทศทั้ง Mercedes-Benz, BMW หรืออันดับหนึ่งอย่าง Volkswagen ซึ่งได้ออกมาพูดถึงคำตัดสินนี้ว่าเป็นคำตัดสินที่ไม่สามารถยอมรับได้ และจะทำให้ผู้ใช้รถดีเซลหลายล้านคนเกิดข้อสงสัย ข้อความในคำแถลงการจากทางค่ายยังบอกอีกว่า “จะให้ดำเนินการตามคำตัดสินได้อย่างไร ในเมื่อรูปแบบการจัดการในเรื่องมลภาวะที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนเลย”

อาจเป็นจริงตามที่ Volkswagen บ่นอุบมา เพราะถึงแม้ก่อนหน้าทางรัฐบาลของเยอรมนีจะพยายามด้วยวิธีต่างๆ มากมายเพื่อต้องการจะลดปัญหามลพิษอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกนโยบายให้ประชาชนขึ้นรถเมล์ฟรี หวังเพื่อลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลภาวะมากกว่า แต่การแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ค่อยเห็นน้ำเห็นเนื้อในเรื่องมลภาวะให้ลดลงสักเท่าไร จนมาถึงกฎการห้ามใช้รถยนต์ดีเซล และจำกัดพื้นที่การใช้ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ต้องปรับปรุงชิ้นส่วน รวมถึงซอฟต์แวร์ใหม่ให้กับตัวรถรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล หลายล้านคันเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเยอรมนีมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลอยู่ประมาณ 15 ล้านคัน แต่กลับมีเพียง 2.7 ล้านคันเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Euro 6 ในขณะเดียวกันตัวเลขความนิยมของผู้ซื้อรถยนต์ดีเซลกลับลดลงจาก 48% ในปี 2015 มาอยู่ที่ 39% ในปี 2017 ทำให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์เกิดการลังเลที่จะทุ่มงบในการปรับแก้ไขซอฟแวร์ เพราะเห็นว่ามันอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนสักเท่าไร

การแบนรถดีเซลมีแนวโน้มที่จะทำลายความต้องการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในประเทศเยอรมนี และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นวงกว้างของประเทศ มากเป็นหนึ่งในสามของรถยนต์ในเยอรมนีที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปด้วยน้ำมันดีเซล

การแบนรถดีเซลจะทำลายความต้องการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในประเทศเยอรมนี

จุดเริ่มต้นของอากาศบริสุทธิ์

ในฝั่งของกลุ่มอนรักษ์สิ่งแวดล้อม DUH ซึ่งเป็นโจทย์ฟ้องศาลในคดีนี้เผยว่า “การแบนเครื่องยนต์ดีเซล ถือเป็นเรื่องสำคัญในประเทศ จากการวัดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในอากาศพบว่ามีค่าสูงเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรป หรือ EU ประชากรที่สูดดมก๊าซนี้เข้าไปล้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจได้ง่ายๆ ”

ทันทีที่ผลการตัดสินประกาศออกมาเมือง Hamburg ก็เป็นเมืองแรกในการประกาศแผนสำหรับการแบนรถที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลบนถนนหลักที่การจราจรคับคั่งสองสาย มาตรการจะเริ่มขึ้นในช่วยปลายเดือนเมษายนปีนี้ โดยมีข้อยกเว้นให้สำหรับผู้พักอาศัยในย่านนั้น รถพยาบาล และยานพาหนะสำหรับจัดส่งก่อนในเบื้องต้น

หัวหน้าแผนก VDA (อุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี) บอกว่ามีวิธีมากมายที่จะช่วยควบคุมคุณภาพไอเสียโดยไม่ต้องแบนรถดีเซล และมาตรการแบนรถดีเซลในแง่ท้องถิ่นอาจสร้างความสับสนใจการใช้งานรถยนต์ของประชาชนได้ ทางรัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องระบุในข้อบังคับให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันกับประชาชน ส่วนทางด้านนักวิเคราะห์เกี่ยวกับอตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนี ชี้ว่าต้องเป็นรถดีเซลรุ่นใหม่ๆ เท่านั้นที่จะมีค่ามาตรฐานการปล่อยไอเสียอยู่ในระดับ Euro 6 จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายแบนรถดีเซลและใช้งานรถได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมันจะมีผลกระทบต่อรถดีเซลรถรุ่นเก่าๆ กว่าล้านคัน ที่ไม่สามารถวิ่งบนถนนได้จากคำตัดสินนี้

ทำไมต้องแบนดีเซล (ก่อน)

เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน แต่กลับได้รับความนิยมในยุโรปมานานหลายทศวรรษแล้วรวมถึงทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลในประเทศเสนอมาตรการจูงใจในด้านภาษี เพื่อหวังลดการปล่อย CO2 แต่กลับเป็นก๊าซพิษชนิดอื่น (NOx) ที่ถูกปล่อยออกมาแทน อีกทั้งในเรื่องการใช้งานก็เป็นปัจจัยหนึ่งสำคัญ ด้วยเรื่องความทนทานของเครื่องยนต์ และความประหยัดที่มีให้มากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ซึ่งยานพาหนะที่มีส่วนต่อการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) มีสูงถึง 40% ในยุโรป และตัวการสำคัญนั่นคือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน

และต่อไปในอนาคต ถ้าผลการวัดปริมาณมลพิษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รถเครื่องยนต์เบนซินคือเหยื่อรายต่อไปในการถูกพิพากษาให้ถูกแบนจากการใช้งานบนท้องถนน ในวันที่ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเต็มระบบ ค่ามลพิษที่ปล่อยออกมาเป็นศูนย์หรือรถยนต์ EV ทดแทนได้ทุกรูปแบบการใช้งานยานพาหนะของมนุษย์ วันนั้นแหละที่เครื่องยนต์สันดาปภายในด้วยน้ำมันในรถยนต์จะหมดไปจากท้องถนน

จุดเริ่มต้นจากคำตัดสินของประเทศซึ่งทรงอิทธิพลด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจเป็นคลื่นลูกใหญ่นำไปสู่การปฎิวัติวงการของพื้นที่ส่วนยุโรป และทั่วโลก คุณประโยชน์ที่หวังจะได้รับต่อประชากรของบ้านเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากอากาศที่บริสุทธิ์ และถ้าผลออกมาดี แน่นอนว่าหลายประเทศจะต้องนำไปปรับใช้ตาม จนสุดท้ายท้ายสุด เครื่องยนต์ดีเซลหรือเครื่องยนต์เบนซินอาจจะหายไปจากท้องถนนเลยก็เป็นได้ในอีกไม่ช้า

ดูเพิ่มเติม