พาไปหาคำตอบว่าทำไมรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ ที่ก็ว่าดีเหมือนกันไม่ต่างจากแบรนด์ในฝั่งเอเชีย ถึงเจาะตลาดรถอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่นเอาไม่ได้เลย เพราะเทคโนโลยี หรือเพราะตัวรถกันแน่
น่าจะเคยเกิดคำถามบางอย่างขึ้นมาในใจแน่ๆ โดยเฉพาะกับคนที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของวงการรถยนต์โลก นั่นคือ ทำไมรถยนต์สัญชาติจากฝั่งยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ถึงมาเจาะตลาดญี่ปุ่นไม่ได้เอาเสียเลย แต่ในทางตรงกันข้าม แบรนด์ญี่ปุ่นหลากหลายยี่ห้อ ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า หรือนิสสัน รวมไปถึงมาสด้าเอง ต่างเจาะเข้าไปทำการตลาดดึงเอาผู้บริโภคในตลาดรถทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกาได้อย่างไม่มีปัญหา
คำตอบที่ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีไม่เหมือนกัน ก็อาจฟังได้ แต่ในยุคปัจจุบันนี้แล้วที่ความฉลาด เงินทุน และเทคโนโลยีมันแข่งขันกันแต่ละค่ายรถยนต์แบบชนิดที่ไม่หนีกันเท่าไหร่ เหตุผลนี้จะเพียงพอที่จะทำให้ตอบคำถามเรื่องรถยนต์สหรัฐฯ เจาะตลาดญี่ปุ่นไม่ได้เชียวหรือ?
คงเกิดคำถามกันว่าทำไมจึงไม่ค่อยเห็นรถอเมริกันในถนนญี่ปุ่นสักเท่าไหร่นัก
มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจนคอรถยนต์เห็นจนชินตา แต่อาจไม่เอะใจหรือสงสัยที่จะตั้งคำถาม แม้แต่ผู้เขียนเองก็เช่นกัน กระทั่งไปเจอบทความหนึ่งที่มีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์รถยนต์ของสหรัฐฯ ทำไมเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ไม่เต็มที่นัก ทั้งๆ ที่ตลาดรถของญี่ปุ่นก็ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จะรองก็เพียงแค่จีน และสหรัฐฯ เท่านั้นเอง
บทความนี้บ่งบอกทีเดียวว่าสำหรับเรื่องนี้ "ไม่แฟร์" อย่างมาก และสอดรับกับคำพูดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่นกันที่ก็เคยออกมาพูดว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ที่ค่ายรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ผลิตรถยนต์ในแบรนด์ของตัวเองและยังเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้ง เจเนอรัลมอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ฟอร์ด และเฟียตไครสเลอร์ เข้าไปเจาะตลาดญี่ปุ่นไม่ได้เลย
แต่คำตอบคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไร เพราะแค่มันถูกออกแบบไม่ตรงกับสไตลย์การใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมากนัก
แต่บทความนี้อธิบายเอาไว้ว่า วัฒนธรรมการออกแบบ ผลิตรถยนต์ของค่ายญี่ปุ่นมันคือความเป็นเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวอย่างมาก และมันถูกออกแบบผลิตเพื่อรองรับคนญี่ปุ่นและคนเอเชียโดยเฉพาะ ประมาณว่าคนผลิต คนดีไซน์ออกแบบรถยนต์ก็รู้จักคนใช้ดี เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน เหตุผลนี้จึงสะท้อนว่า ค่ายรถญี่ปุ่นผลิตรถที่สนองความต้องการหรือรสนิยมของคนญี่ปุ่นอย่างถูกจุด และทำอย่างจริงจัง และรสนิยมนี้มันยังตรงกับจริตของคนใช้รถที่เป็นฝรั่งหัวทองเข้าให้อีก
กับอีกหนึ่งเหตุผลที่รถสัญชาติอเมริกันเจาะตลาดปลาดิบไม่ได้ อาจเป็นเพราะในเรื่องของการลงทุน ที่บริษัทรถของสหรัฐฯ ไม่ได้จริงจังในการลงทุนกับดีลเลอร์ของญี่ปุ่นมากเท่าไหร่
แต่ก็ใช่ว่ารถอเมริกันจะไม่ดี เพียงแต่มันใหญ่เกินกว่าความต้องการของตลาดรถญี่ปุ่นเท่านั้น
วกกลับมาเรื่องของการออกแบบ อาจจะเรียกได้ว่า "รถญี่ปุ่น" ก็มีความแตกต่างจาก "รถอเมริกัน" อยู่พอสมควร เพราะรถจากญี่ปุ่นมักจะถูกออกแบบมาขายในตลาดด้วยรถขนาดเล็ก แต่นั่นก็เพราะเหมาะกับท้องถนน และพื้นที่ของเมืองที่ใช้ในการสัญจร เราจึงเห็นภาพค่ายรถนยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นต่างเลือกออกแบบรถเล็กให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในชีวิตจริงของผู้คนมากที่สุด เพราะอย่างที่บอกเอาไว้ว่ามันพื้นที่เล็ก คนที่เลือกรถก็ต้องเอาที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเอง ทั้งการลัดเลาะไปพื้นที่แคบๆ จอดได้ในที่แคบๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นพื้นที่สำคัญอย่างมาก
ดูเพิ่มเติม
>> เหตุผล? ที่คนไทยส่วนใหญ่ เลือกใช้ยนตรกรรมจากญี่ปุ่น
>> ทำไมรถ BMW และ Mercedes-Benz มือสองถึงราคาถูกกว่ารถญี่ปุ่นมือสอง
แต่เมื่อมองรถอเมริกัน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบใหญ่เข้าว่า มันจึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงในการใช้งานของผู้บริโภคแดนปลาดิบเสียเท่าไหร่ แต่ก็ใช่ว่ารถยนต์สัญชาติอเมริกันจะไม่ดีหรือมีตำหนิ แต่มันอาจเหมาะกับคนที่ใช้ในแถบอเมริกาเหนือมากกว่าเอเชีย และเพียงแต่มันไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการใช้งานของคนญี่ปุ่นเท่านั้นเอง แม้ตลาดรถที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างดินแดนนี้จะมีความหลากหลายในการใช้รถยนต์เองก็ตาม เพราะตัวเลขบ่งบอกเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แต่ละปีนั้น Mercedes-Benz, BMW, Volkswagen และ Audi ขายรถได้รวมกันหลักหลายหมื่นคันในญี่ปุ่น แม้ตัวเลขนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดทั้งหมดและตลาดหลักอื่นๆ แต่ถือว่าทำได้มากแล้วสำหรับผู้ผลิตต่างชาติ
บทวิเคราะห์สะท้อนว่าหากรถอเมริกันจะเจาะตลาดญี่ปุ่น ก็ต้องปรับการออกแบบใหม่เลยทีเดียว
เพราะกว่า 95% กับรถยนต์ที่วิ่งกันบนท้องถนนญี่ปุ่น เป็นรถยนต์ของชาติตัวเองแทบทั้งสิ้น ขณะที่อีก 5% ที่เหลือก็เป็นรถนำเข้าที่สว่นใหญ่จะเป็นรถยนต์หรูต่างชาติ และรถสปอร์ต รถซูเปอร์คาร์ที่เศรษฐีซื้อเข้ามาใช้มากกว่า แต่หากค่ายรถสหรัฐฯ อยากจะเจาะตลาดอย่างจริงจัง ก็อาจต้องเพิ่มความจริงจังอย่างมากในการออกแบบเพื่อต้องตอบโจทย์คนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง แต่นั่นมันก็ต้องยอมแลกกับความเป็นเอกลักษณ์ในความเป็นตัวตนของค่ายรถไปด้วย
ถือเป็นองค์ประกอบของเหตุผลที่น่าสนใจทีเดียว และมันน่าจะตอบคำถามในใจคอรถยนต์หลายคนได้ว่าทำไมรถยนต์สหรัฐฯ ถึงไปไม่ได้สวยมากนักกับตลาดญี่ปุ่น เหตุผลคือ "มันไม่ใช่" นั่นเอง
ดูเพิ่มเติม
>> ไขข้อสงสัยรถญี่ปุ่นน่าใช้กว่ารถยุโรป จริงๆหรอ ?
>> มุมมอง “รถญี่ปุ่น หรือ อเมริกัน” ครองใจคนไทย
ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้