อังกฤษประกาศห้ามขายรถใหม่ทุกคันทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ภายในปี 2040 เพื่อเดินแผนป้องกันมลภาวะของประเทศอย่างจริงจัง แต่ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของยอดขายรถโดยรวมทั้งในอังกฤษและทั่วโลก
ปรับอัตราการเก็บภาษีรถ Hybrid และ EV แต่ราคารถยังเท่าเดิม
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เมืองในฝันที่มาจากการไม่ใช้รถที่ปล่อยไอเสียนี้จะทำได้จริงหรือ ให้ทันในอีกยี่สิบกว่าปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์พร้อมแค่ไหนสำหรับการข้ามกระโดดครั้งใหญ่เพื่อลดการเร่งทำลายโลกอย่างเป็นจริงเป็นจัง
เหตุผลหลักของความเด็ดขาดของทางการอังกฤษในครั้งนี้มาจากการเห็นรายงานของสภาวะมลพิษของประเทศที่นับวันมีแต่จะทวีความเลวร้ายให้กับโลกแล้วมนุษย์ที่อยู่อาศัย มลภาวะไอเสียคือความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนประเทศเขา และการที่จะช่วยให้มลพิษเหล่านี้ลดลงได้ สิ่งสำคัญก็คือจำกัดไอเสียที่ออกมาจากการเผาไหม้สันดาปของเครื่องยนต์
อังกฤษประกาศห้ามขายรถใหม่ทุกคันทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ภายในปี 2040
ข้อจำกัดนี้เฉพาะแต่เพียงเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซลล้วนๆ เท่านั้น ไม่ได้รวมกับรถประเภท Hybrid ที่เครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ยังสามารถจำหน่ายได้อยู่ซึ่งความประนีประนอมนี้ก็ด้วยเหตุผลด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ที่อาจต้องใช้งบประมาณและเวลาที่มากปี 2040 ปัจจัยแวดล้อมอาจยังไม่เอื้ออำนวยนักที่จะให้รถทุกคันบนถนนพลิกโฉมไปเป็นรถ EV (Electric Vehicle) ในทันที ยอมให้ขายรถ Hybrid ได้อยู่แต่ยังไงมลภาวะต้องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถที่ใช้เครื่องยนต์เพียวๆ ไอเสียล้วนๆ แน่นอนโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล
นอกจากนี้ยังมีอีก 4 เมืองใหญ่ที่ประกาศยกเลิกห้ามใช้รถยนต์และรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลให้ได้ภายในปี 2040 ด้วยเช่นกันทั้ง กรุงปารีส เม็กซิโกซิตี มาดริด และเอเธนส์ ทำให้หลายประเทศต้องหันมามองถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ของโลกที่จะเปลี่ยนไปกับรถ EV หรือรถพลังงานมอเตอร์ไฟฟ้า ทั้งด้านผลิตอะไหล่ แบตเตอรี่ รวมถึงสถานีชาร์จไฟ
ปัจจัยต่างๆ ของการรณรงค์ใช้รถพลังงานไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ทั้งจำนวนสถานี้ชารจ์ไฟที่แรงรับ, อะไหล่ แบตเตอรี่ที่ราคาไม่แพงเกินไปด้วย
แล้วประเทศไทยละเตรียมตัวแค่ไหน
ใช่ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเห็นดีเห็นงามกับความพยายามรักษาอากาศดีๆ ไว้ให้คนในประเทศหายใจ อย่างบ้านอื่นเมืองอื่นก็ดี หรือว่าเพราะต้องเตรียมสร้างโรงงานเพื่อผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของรองรับรถประเภท EV นี้ก็ตามแต่อย่างน้อยก็จะทำให้เมืองไทยก็ยังได้รับอานิสงค์มลพิษน้อยลงด้วย
จากประกาศการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งแบบ Hybrid ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ลบ.ซม. ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงกึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษี สรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2534 และให้รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้า (EV) ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือเพียง 2% มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2560 จนถึง 31 ธ.ค. 2568
ตอนแรกที่อ่านผ่านๆ กับประกาศนี้คิดว่ารถแบบ Hybrid จะราคาถูกลง รัฐฯ กระตุ้นให้ผู้ซื้อ หันมาใช้รถประเภทนี้มากขึ้นแ แม้กระแสและตัวเลือกยังไม่ตูมตามมากเท่าต่างประเทศอย่างเช่น อเมริกา ที่ตอนนี้ Tesla ผู้ผลิตรถที่ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ติดลมบนไปแล้วกับยอดขายกว่า 250,000 คัน
แต่ที่ไหนได้การปรับกาศลดภาษีครั้งนี้แทบไม่มีผลอะไรต่อราคาตัวรถเลยด้วยซ้ำ แม้ภาษีสรรพสามิตจะประกาศลดลงแต่ใช่ว่าราคารถที่ขายจริงให้กับผู้บริโภคจะลดตาม เพราะว่ารถ Hybrid ที่ขายอยู่ในไทยตอนนี้ไม่ได้ผลิตในเมืองไทย ซึ่งภาษีดังกล่าวที่ประกาศใช้นั้นจะมีผลแต่เฉพาะผู้ลงทุนใหม่ที่ผลิตรถประเภทนี้ในไทยเท่านั้น
การประกาศลดภาษีมีผลแต่เฉพาะผู้ลงทุนใหม่ที่ผลิตรถประเภท Hybrid หรือ EV ในไทยเท่านั้น
แล้วแบบนี้จะให้คนไทยได้สัมผัสรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และรถ Hybrid ง่ายขึ้นได้ยังไง ในเมื่อราคาก็ไม่ได้ถูกกว่ารถเครื่องยนต์ดีเซล เบนซินแต่กลับแพงกว่าซะด้วย ผู้ผลิตรถยนต์กลับนำเอาความเป็นรถแห่งเทคโนโลยีล้ำๆ มาเป็นจุดขายทางการตลาดเพื่ออัพราคา จนสุดท้ายผู้ที่จะซื้อรถ Hybrid นอกจากจะต้องยอมรับความเสี่ยงในการซ่อมบำรุงสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วยังต้องยอมจ่ายราคาค่าตัวแพงกว่าอีกด้วย กลายเป็นว่าภาครัฐฯ ก็ไม่ได้ส่งเสริมการใช้รถประเภทนี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร
ด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ผู้ลงทุนหรือค่ายผู้ผลิตต้องใช้เพื่อการพัฒนารถยนต์ประเภท Hybrid และ EV อีกทั้งเวลาในการทำวิจัยพัฒนาอีกก็ส่วนหนึ่ง การประกาศปรับรถภาษีจึงเป็นเพียงการเอื้อต่อการลงทุนในประเทศเท่านั้น หาได้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้หันมาซื้อรถเพื่อการลดมลพิษทางอากาศหรือเพื่อการประหยัดน้ำมันไม่ จะอยากให้ประหยัดทำไมก็เมื่อรัฐฯ เป็นเจ้าของบริษัทน้ำมันอันดับ 1 ของไทยอยู่
แล้วแบบนี้จะมองหาความจริงใจจากไหน เพื่อให้ประเทศนำไปสู่การตื่นตัวต่อสภาวะอากาศที่นับวันมีแต่แย่ลง ลดมลพิษไอเสียที่มากขึ้นจนเดินข้างถนนที่รถติดมากๆ ไม่ได้แล้วเพราะควันไอเสียมันมากเหลือเกิน ถ้ารัฐฯ ต้องการแสดงความจริงใจอย่างแท้จริงเพื่อให้ประชาชนได้อากาศที่บริสุทธิ์กลับมาในเมืองหลวง และสามารถเห็นผลได้เร็วกว่าทางอื่นซึ่งสามารถทำได้จริง
หลายสิบปีที่หลายองค์กรพยายามลดมลพิษทางอากาศจากการใช้รถยนต์ ตอนนี้ทางเลือกได้เกิดขึ้นแล้วคือรถ EV แต่ก็ยังต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อลดการใช้รถที่ใช้เครื่องยนต์ด้วย
ยอมลดภาษีนำเข้าสำหรับรถประเภทนี้ไปเลย กระตุ้นให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปรับราคารถ Hybrid ลง ราคาเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น ภาษีนำเข้าแบตเตอรี่หรืออะไหล่ก็ปรับให้ถูกลง ราคาอะไหล่จะได้ไม่แพง ภาษีรายปีก็ลดไปด้วยเพื่อจูงใจผู้ซื้ออีกแรง เมื่อผู้ใช้ใช้แล้วดีก็จะหันไปใช้รถประเภทนี้มากขึ้น ต่างแนะนำข้อดีกับเพื่อนให้หันมาใช้รถประเภทนี้กัน มลภาวะน้อยลง ต่อมาผู้ผลิตก็เห็นช่องทางการลงทุนที่เป็นไปได้ในตลาดเมืองไทย ตั้งโรงงานอย่างจริงจังเพื่อขายในประเทศและส่งออกได้ด้วย อย่ามัวแต่ให้เน้นขายอีโคคาร์อย่างเดียวเลย แม้ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย แต่รถก็เพิ่มขึ้น มลภาวะเพิ่มขึ้น รถติดมากขึ้น ประเทศไม่ได้พัฒนากันสักที
จะดีกว่าไหมถ้ารถเพิ่มขึ้น แต่มลพิษเท่าเดิมหรือน้อยลง คนส่วนใหญ่หันไปใช้รถประเภท Hybrid หรือ EV เดินข้างถนนก็ยังสูดหายใจได้เต็มปอดนี่แหละคือเมืองไทยในอุดมคติที่ต้องรอความชัดเจนในการพัฒนาจากผู้บริหารประเทศ หาได้หวังแต่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศแค่เพียงอย่างเดียว คนในประเทศก็ต้องการอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจเหมือนกัน