Mazda ยื่นฟ้องลูกค้า 2 แกนนนำร้องเรียนรถ Mazda CX-5 เรียกค่าเสียหายกว่า 95 ล้านบาท อ้างยื่นข้อเสนอให้เป็นรับประกัน 6 ปี หรือ 180,000 กิโลเมตร เต็มที่แล้ว แต่ตกลงกันไม่ลงตัว บอกค่าเสียไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่เพื่อต้องการให้ยุติการกระทำซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกค้าคนอื่นๆ
Mazda ชี้แจงกรณีฟ้องลูกค้า CX-5 กว่า 95 ล้านบาท!
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 สื่อสังคมออนไลน์ต่างแชร์ภาพกันอย่างแพร่หลาย เป็นภาพเอกสารหมายศาล คดีหมายเลขดำที่ พ๖๐๑๗/๒๕๖๐ ระบุเป็นคดีแพ่งระหว่าง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประชุม เหรียญดียิ่ง กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย และในขณะเดียวกัน Facebook ของนาย นายประชุม เหรียญดียิ่ง ก็โพสภาพหมายศาลดังกล่าวลงในกลุ่ม Facebook ที่ชื่อว่า Thai Mazda CX-5 Help Club พร้อมคำบรรยายว่า "ช่วงนี้ ผมของดตอบปัญหาทางเทคนิคนะครับ เพื่อเตรียมตัวขึ้นศาล 19/3/2561 09:00น. ที่มาสด้าฟ้องผม 95 ล้านบาท สัพเพ สัตรา อเวราฯ (ต้องละทิ้งชั่วคราว) ใครใคร่พัง...ไฟกองใหญ่จะลุกโชน ทำคุณบูชาโทษ"
ภาพหมายศาลที่ทาง Mazda ฟ้องกับลูกค้าผู้ใช้รถ
หลังจากนั้นในวันที่ 5 มกราคม 2061 ทางบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรกในกรณีที่ทาง Mazda ประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องต่อลูกค้านั้นเป็นความจริง เพื่อต้องการให้ลูกค้ายุติการกระทำอันส่งผลกระทบต่อลูกค้าท่านอื่นของ Mazda โดยลูกค้าที่ถูกฟ้องเป็นสองแกนนำที่ได้ทำการเรียกร้องกับทางบริษัท ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องกับ Mazda ขอให้ยืดระยะการรับประกันเป็นเวลา 10 ปี หรือ ระยะทาง 500,000 กิโลเมตร ในส่วนของ Mazda ก็ได้ทำการเจรจาและได้แก้ปัญหาตัวรถให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับข้อเสนอเพิ่มการรับประกันเป็น 6 ปี หรือระยะทาง 180,000 กิโลเมตร เป็นเงื่อนไขที่ Mazda ให้ได้มากที่สุด แต่ทั่งนี้ทางลูกค้าไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น
อีกหนึ่งประเด็นคือจำนวนตัวเลขของเงินค่าเสียหายที่ทาง Mazda ยื่นฟ้อง เป็นการประเมินมูลค่าความเสียหายเนื่องมาจากการเสียโอกาสในการขายรถเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามทาง Mazda แจ้งว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำหรับการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพียงแค่เงื่อนไขของกฎหมายไทยที่ต้องมีมูลหนี้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีเท่านั้น
ภาพข่าวการรวมตัวกันของลูกค้าผู้เสียหาย
เริ่มแรกมาจากกรณีที่ลูกค้ารถ Mazda CX-5 จำนวน 15 ราย รวมตัวกันร้องเรียนถึงปัญหารุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ภายในงาน Motor Expo 2017 ครั้งที่ผ่านมา ด้วยปัญหาที่ตัวรถมีอาการน้ำดันและน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาปะปนกับน้ำมันเครื่อง จนนำมาสู่ประเด็นให้เป็นที่พูดถึงแก่ผู้ใช้รถ Mazda และคนที่กำลังมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากมายหลายความคิดเห็น บางความคิดเห็นก็ว่าทางผู้ร้องเรียนเรียกร้องมากเกินไปจริงๆ เกินกว่าทาง Mazda จะยอมรับได้
แต่มุมกลับกันความคิดเห็นของผู้ใช้รถ CX-5 ก็ตั้งคำถามกลับไปว่า ถ้าใช้รถเกิน 180,000 กิโลเมตรแล้วยังตัวรถยังพังอีกจากปัญหาเดิมๆ แบบนี้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมเองอีกหรือเปล่า ถึงแม้จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ใหม่ จะรู้ได้อย่างไรว่า ข้างในเครื่องยนต์แตกต่างแก้ไขแล้ว เปลี่ยนเครื่องยนต์แล้วจะไม่เจอปัญหาแบบเดียวกับที่เคยเจอ ?
ความคิดเห็นจากผู้ใช้สื่อโซเชียล
ส่วนอีกหนึ่งมุมมอง การที่ทาง Mazda ทำการยื่นฟ้องลูกค้านั้น เป็นเหมือนการทำลายภาพลักษณ์ของตัวเองเสียมากกว่า ทั้งที่ลูกค้าหลายคนเจอปัญหาเช่นเดียวกันแต่ทางค่ายไม่เคยที่จะออกมายอมรับหรือชี้แแจงกับลูกค้าว่าสาเหตุเกิดมาจากอะไร และหาทางแก้ไข แต่กลับไปฟ้องลูกค้าที่พวกเขาปกป้องสิทธิ์เพียงแค่พวกเขาต้องการรถยนต์ที่มีคุณภาพ จากเงินที่จ่ายซื้อรถไปกับทาง Mazda มูลค่าเป็นล้าน ทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ แบบนี้ใครที่ซื้อรถไปแล้วเจอปัญหาก็ไม่กล้าร้องเรียนเพราะกลัวถูกฟ้อง
บทสรุปสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรต้องติดตามอย่างต่อเนื่องกันต่อไป กับปัญหาที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องเจอ ซื้อรถใหม่สมัยนี้ ได้รถดีไม่มีปัญหาก็โชคดีไป แต่ถ้าคันไหนของใครเกิดตกสำรวจและผ่าน QC มาถึงมือ จะยื่นข้อเรียกร้องใดๆ ต้องมองการยอมรับของทั้งสองฝ่ายด้วยไม่เช่นนั้นอาจเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้
ดูเพิ่มเติม