โตโยต้า สร้างเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลประสบผลสำเร็จ เป็นเครื่องแรกของไทย พร้อมดำเนินการแล้ววันนี้

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 24 ต.ค 2566
แชร์ 0

เครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลเครื่องแรกของไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมดำเนินการ โดย บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ภายใต้ความร่วมมือของ Commercial Japan Partnership Technologies

เครื่องผลิตไฮโดรเจน

โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (TDEM) ประกาศความพร้อมเพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แนวคิด การใช้แหล่งพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศ แนะนำเครื่องจักรผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซ ชีวมวลที่ได้จากฟาร์มไก่เครื่องแรกของประเทศไทย เริ่มดำเนินการผลิตพลังงานได้จริงภายในเดือนตุลาคม 2566

เครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลดังกล่าวทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผ่านการดำเนินโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

โตโยต้า ตระหนักดีว่าสิ่งที่สำคัญคือการลดการปล่อย CO2 ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงาน เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้การวางแผนร่วมกันกับ Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายในภาคการขนส่งยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ด้วยการใช้เทคโนโลยี CASE (Connected, Autonomous, Shared and Electrified) อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่มเติม - Toyota จับมือ CP สร้างเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พัฒนารถขนส่งพลังงานสะอาด

ในเดือน ธันวาคม 2565 โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (TMC) จับมือกับ CJPT และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ประกาศความร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวล ที่ได้จากมูลสัตว์ในฟาร์มไก่ของซีพี

เครื่องผลิตไฮโดรเจน

โดยพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะนำไปใช้กับรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เพื่อขนส่งระยะไกล ช่วยให้การขนส่งด้วยรถบรรทุกมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ในระยะแรกของการทดลองพบว่าเครื่องจักรขนาดเล็กที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถแปรรูปก๊าซชีวภาพเป็นไฮโดรเจนได้ที่ปริมาณ 2 กิโลกรัม/วัน (1 ลูกบาศก์เมตรมาตรฐาน/ชั่วโมง)

เครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลที่ติดตั้งอยู่ภายใน บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟค เจอริ่ง ผลิตโดย บริษัท มิตซูบิชิ คาโคกิ  ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อสนับสนุนให้มีการพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานในทุกประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

นอกจากนี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และโตโยต้า ทูโช จะประสานความร่วมมือกันเพื่อมุ่งผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศของไฮโดรเจน ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้าง และการริเริ่มระบบโดยรวมสำหรับการบีบอัด จัดเก็บ และขนส่งก๊าซชีวภาพและไฮโดรเจน ตลอดจนการจัดตั้งระบบปฏิบัติการ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการแถลงให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนจากภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดก่อนหน้างาน Japan Mobility Show มร.มาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CJPT เปิดเผยว่า 

“เรากำลังจะก่อตั้งบริษัท คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี เอเชีย จำกัด ขึ้นในเดือนนี้ เพื่อเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นว่าโครงการที่เราทำร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นรุดหน้าไปได้ดีทีเดียว  โดยเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลเครื่องนี้คืออีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นต่างมุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยี และสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงทั้งพลังงาน การขับเคลื่อนและข้อมูล ตลอดจนผู้ผลิตชิ้นส่วนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับโครงการนี้ ทุกภาคส่วนใน CJPT รวมถึงมิตซูบิชิ คาโคกิ และโตโยต้า ทูโช ต่างตั้งใจที่จะแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเราสามารถลงมือทำสิ่งที่จะมอบการขับเคลื่อนสำหรับทุกคนโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งใช้งานได้จริงผนวกกับจุดแข็งที่แต่ละประเทศมีอยู่”

ข้อมูลภาพรวมของคอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี เอเชีย

  • ชื่อบริษัท                        บริษัท คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี เอเชีย จำกัด (Commercial Japan Partnership Technologies Asia Co., Ltd.)
  • สถานที่                         กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • มูลค่าการลงทุน      2,500,000 บาท
  • ตัวแทนบริษัท                 ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น)
  • ลักษณะธุรกิจ                 วางแผนเทคโนโลยี CASE และบริการสำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ในเอเชีย (ตามที่วางแผนไว้)
  • วันที่ก่อตั้ง                      ตุลาคม 2566

เกี่ยวกับโตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง

บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการทุกส่วนงานที่สำคัญ เช่น การเตรียมการผลิต การควบคุมการผลิต และโลจิสติกส์ รวมถึงการบริการหลังการขาย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค ตลอดจนนำเสนอแนวทางการดำเนินงาน และเพิ่มมูลค่าให้บริษัทที่ดำเนินงานด้านการขาย และการผลิตในเอเชียของเรา (ASMCs) เพื่อส่งมอบต่อลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) นอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนายนตรกรรมที่ดียิ่งกว่าสำหรับลูกค้าในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็รักษามาตรฐานขั้นสูงของโตโยต้าในด้านความปลอดภัย คุณภาพ และสิ่งแวดล้อม

เกี่ยวกับ Commercial Japan Partnership Technologies  

ในเดือนเมษายน 2564 บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ จำกัด บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์​ จำกัด และ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้ง Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งดำเนินการและเผยแพร่การใช้เทคโนโลยี CASE เพื่อช่วยจัดการปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรมการขนส่ง ตลอดจนช่วยผลักดันให้สังคมบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย นับตั้งแต่การก่อตั้ง CJPT เราได้ทราบปัญหาที่เกิดจริงในพื้นที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ โดยสิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ถึงความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่อุตสาหกรรมการขนส่งกำลังเผชิญอยู่ เช่น ต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับจากความเป็นกลางทางคาร์บอน  ภาระที่คนงาน และผู้ขับรถขนส่งต้องรับผิดชอบ และความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ CJPT จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเร่งความพยายามในการเดินหน้าทำงานโดยมุ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ตลาดรถมือสอง มีรถมากมายให้เลือกในราคาที่ถูกใจ