มูลนิธิเมาไม่ขับออกโรงค้านต่ออายุ "รถตู้" ชู 4 ข้อขอรัฐกันตายบนท้องถนน

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 21 ส.ค 2562
แชร์ 0

เหยื่อเมาแล้วขับยื่นหนังสือถึงรมว.คมนาคม วอนหยุดขยายเวลาอายุรถตู้ เหตุหวั่นเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย หนุนใช้มินิบัสตามกฎหมายดีที่สุด

อย่างที่มักจะบอกเอาไว้อยู่บ่อครั้งว่าความปลอดภัยบนท้องถนน นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกชีวิตที่เดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว หรือรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ การเดินทางไม่ว่าใกล้ไกลจะต้องสมควรที่จะอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นสำคัญ

และสำหรับท้องถนนเมืองไทยก่อนหน้านี้มีประเด็นที่ต้องให้ขบคิดกันตั้งแต่ระดับล่างคนหาเช้ากินค่ำที่เดินทางสัญจรด้วย "รถตู้โดยสาร" ไปจนถึงคนระดับบนในการบริหารประเทศในฐานะรัฐบาล เพราะข้อเรียกร้องของคนขับรถตู้ที่พุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมอย่าง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" โดยเฉพาะประเด็นการขอขยายเวลาการใช้งาน "รถตู้" ออกไปอีก จากเดิมกฎหมายกำหนดเอาไว้ที่ 10 ปีเป็น 15 ปี

ข้อเรียกร้องนี้ของกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้มันนำไปสู่ความกังวลของหลายหน่วยงานเกี่ยวกับความปลอดภัย เพราะหวั่นเกรงว่ารถตู้ที่เก่าและไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วก็ยากจะเอาชีวิตรอดสำหรับผู้โดยสาร และทางออกควรจะยกเลิกรถตู้ไปเสีย และหันมาใช้มินิบัสำหรับการบริการโดยสารสาธารณะแทน

>> สำรวจเพิ่มเติม รถตู้มือสอง ที่นี่

กลุ่มมูลนิธิเมาไม่ขับ และเหยื่ออุบัติเหตุทางท้องถนน รุดยื่นหนังสือขอความปลอดภัยบนท้องถนน

กลุ่มมูลนิธิเมาไม่ขับ และเหยื่ออุบัติเหตุทางท้องถนน รุดยื่นหนังสือขอความปลอดภัยบนท้องถนน 

ล่าสุดข้อกังวลยังแผ่กว้างออกไปอีก เพราะนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ กรุงเทพฯ พร้อมด้วยนางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผ่านทาง นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ ภายหลังเกิดเหตุสลด รถตู้พุ่งชนรถพ่วงที่จังหวัดสระแก้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 11 คน บาดเจ็บ 4 คน

นายเจษฎา กล่าวว่า หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมบ้านบึง ที่รถตู้ข้ามไปชนปิกอัพช่วงปีใหม่ 2560 จนมีผู้เสียชีวิต 25 ศพ ทำให้มีมาตรการต่างๆออกมาต่อเนื่อง ทั้งการใช้ GPS เข้มงวดกับความเร็วไม่เกิน 90 กม/ชม.และควบคุมพนักงานขับรถห้ามขับต่อเนื่องเกิน 8-10 ชม./วัน รวมถึงมาตรการจำกัดอายุรถตู้ห้ามเกิน 10 ปี และจะทยอยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสแทน ถือเป็นมาตรการที่ดีๆทั้งสิ้น แต่ล่าสุดมีข่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ยอมถอย เลื่อนอายุใช้งานรถตู้ไปอีก 2 ปี และเปลี่ยนมาเป็นมินิบัสแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ในฐานะของผู้เป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย

ดูเพิ่มเติม

>> ดีเดย์ 1 ต.ค.ขนส่งสั่งเปลี่ยน “รถตู้” เป็น “รถโดยสารขนาดเล็ก”ชี้เพื่อความปลอดภัย

>> งานเข้ารัฐบาล! รถตู้วินดังโพสต์ตัดพ้อ ปิดกิจการเพราะมาตรการของคสช.

รถตู้ถูกพูดถึงในแง่ข้อกังวลถึงความปลอดภัยในการเดินทางอีกครั้ง จึงนำไปสู่การยับยั้งขอให้หยุดขยายเวลาการใช้งาน

รถตู้ถูกพูดถึงในแง่ข้อกังวลถึงความปลอดภัยในการเดินทางอีกครั้ง จึงนำไปสู่การยับยั้งขอให้หยุดขยายเวลาการใช้งาน 

“ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารมาจากการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ เพราะต้องวิ่งทำรอบ หรือเป็นพฤติกรรมส่วนตัวในการขับรถเร็ว แตกต่างกับมินิบัสที่สามารถทำความเร็วหรือการแซงได้ช้ากว่ารถตู้ ดังนั้นอุบัติเหตุรถตู้จึงเกี่ยวข้องกับยานพาหนะโดยตรง เมื่อเกิดการชนเกิดขึ้น ถังน้ำมันและท่อน้ำมัน ซึ่งอยู่ข้างหน้าจะแตกทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ ผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บอยู่แล้วจึงไม่สามารถหลบหนีออกจากเปลวเพลิงได้ ขณะที่มินิบัสเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ภายในมากกว่า จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมทบทวนเรื่องรถตู้สาธารณะให้ดีๆ ไม่ควรมีมาตรการที่ถอยหลังลงคลอง” นายเจษฎา กล่าว

ด้านนางสาวเครือมาศ กล่าวว่า จากเหตุรถตู้รับจ้างเอกชน เสียหลักพุ่งชนรถพ่วง 18 ล้อ ทำให้ผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว เครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1.มาตรการที่มุ่งเน้นลดอุบัติเหตุ ถือเป็นสิ่งที่ดีและควรดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการติด GPS เพื่อกำกับความเร็ว ชั่วโมงทำงานเกินกำหนด การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ฯลฯ แต่มาตรการสำคัญควบคู่กันคือ เกิดเหตุแล้วทำอย่างไรไม่เสียชีวิต ซึ่งการนำรถที่โครงสร้างแข็งแรง ไม่เกิดเพลิงลุกไหม้ง่าย สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้รวดเร็ว ฯลฯ จึงเป็นคำตอบที่ไม่ควรจะมองข้าม

2.ในเส้นทางระยะไกลเช่น กทม.-ต่างจังหวัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีรถประจำทางและระบบกำกับที่ปลอดภัย จึงไม่ควรเลื่อนอายุใช้งานรถตู้จาก 10 ปี เป็น 12 ปี และไม่ควรเปลี่ยนเป็นมินิบัสแบบสมัครใจ มาตรการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารไม่ควรถูกทำให้ถอยหลัง หรือย่ำอยู่กับที่ ควรมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆไปเท่านั้น

หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงมินิบัส ว่าน่าจะเป็นทางออกสำหรับการเดินทางบนท้องถนน

หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงมินิบัส ว่าน่าจะเป็นทางออกสำหรับการเดินทางบนท้องถนน 

3.ควรเร่งพัฒนาระบบตรวจสอบประวัติการดูแลรักษา การเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนดมีมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสภาพเข้มงวดก่อนอนุญาตอย่างเข้มงวด มีการตรวจทุก 6 เดือน รวมทั้งการสุ่มตรวจบนถนนด้วย

และ 4.กำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับรถสาธารณะ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขับเร็วเร่งทำรอบ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนน้อยต้องไม่มี และเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบรถและคนขับรถทุกคน อย่างเข้มงวด ไม่มีการละเว้น บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน

ท้ายสุดถือเป็นอีกข้อเรียกร้องที่สวนทางกับกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้ ที่ต้องการขยายเวลาการใช้งาน แต่อีกฝ่ายก็เอาเรื่องความเป็นความตาย ที่สำคัญอย่างยิ่งมาเป็นเรื่องต่อรองเช่นกัน อยู่ที่รัฐบาลจะเห็นความสำคัญของสิ่งใดมากกว่ากัน 

ดูเพิ่มเติม

>> ถึงคิวอ้อนบ้าง "รถตู้" ขอคมนาคม "ปลดจีพีเอส-ยืดอายุรถเก่าเป็น 15 ปี"

>> ขนส่งติดเบรกรถตู้ หลังเจอประชาชนร้องเรียน "แอบขึ้นราคา"

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้

Cop